xs
xsm
sm
md
lg

‘โอบามา’ต้องปรับกระบวนใหม่ในการบริหารความสัมพันธ์กับจีน

เผยแพร่:   โดย: จอร์จ คู

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Obama needs new start with China
By George Koo
3/12/2008

ถ้าคณะรัฐบาลของบารัค โอบามา ปฏิบัติต่อจีนในฐานะหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน คุณประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่สหรัฐฯ จะเกิดขึ้นหลายสถาน อาทิ การช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการทหาร และการเพิ่มโอกาสที่ดีขึ้นแก่เสถียรภาพของโลก ใช่แต่เท่านั้น ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นจะช่วยระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ในภาวะบอบช้ำ

รัฐบาลบารัค โอบามา จะเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม บนคำมั่นที่จะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สหรัฐอเมริกา และหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดที่โอบามาจะสร้างได้ คือการปรับกระบวนใหม่ทั้งหมดในเรื่องความสัมพันธ์ที่มีกับจีน โดยให้ตั้งอยู่บนความเคารพซึ่งกันและกัน ตลอดจนผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ การสร้างพันธมิตรกับจีนในเชิงบวกและให้เป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับขณะนี้มากยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา

โดยการปฏิบัติต่อจีนในฐานะหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน รัฐบาลโอบามาจะได้ตระหนักถึงความเป็นจริงว่าจีนมีตำแหน่งแห่งที่แท้จริงอย่างไรภายในระเบียบโลกใหม่ อีกทั้งยังจะได้พันธมิตรที่สามารถเอื้อคุณประโยชน์ในหลายทาง อาทิ การช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการทหาร การสนับสนุนทางการทูตในหลายพื้นที่ของโลกที่จำเป็นต่อความมั่นคงในทางระหว่างประเทศ และการช่วยกอบกู้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่บอบช้ำด้วยปัญหาสาหัส

เหตุผลที่ 1: ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

จีนต่างจากสหรัฐฯ ในข้อที่ว่าจีนไม่ได้ต่อสู้ขึ้นไปเป็นอภิมหาอำนาจของโลกหรือตำรวจโลก นโยบายของจีนคือการเดินหน้าไปด้วยกันกับทุกๆ ฝ่าย ดังนั้น จีนสามารถรักษาความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ กับประเทศอย่าง รัสเซีย อิหร่าน คิวบา เวเนซูเอลา ปากีสถาน และเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นชาติที่สหรัฐฯ ไม่ยอมเป็นมิตรด้วย ไม่ว่าจะในระดับประชาชน ไปจนถึงระดับของการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ

ในแนวทาง“ร่วมเดินหน้าไปด้วยกัน”ที่จีนใช้มาอย่างสม่ำเสมอนี้ จีนแทบจะไม่ใช้สิทธิวีโต้ที่มีอยู่ในฐานะสมาชิกถาวรของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทั้งนี้ นับจากที่เข้าร่วมกับองค์การระหว่างประเทศแห่งนี้มา จีนเคยใช้สิทธิวีโต้แค่ 6 ครั้งเท่านั้น ขณะที่ชาติสมาชิกถาวรของสภาความมั่นคงฯ รายอื่นๆ มีการใช้สิทธิวีโต้กันอย่างมากมาย ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ อาทิ สหภาพโซเวียต/รัสเซียใช้ 123 ครั้ง สหรัฐฯใช้ 80 ครั้ง อังกฤษใช้ 32 ครั้ง และฝรั่งเศสใช้ 18 ครั้ง

นับจากปี 1990 จีนให้ความร่วมมือส่งกำลัง 9,000 นายเข้าร่วมในกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็นภายในปฏิบัติการของยูเอ็นรวม 22 ภารกิจ ซึ่งมากกว่าการให้ความร่วมมือทั้งหมดที่ชาติสมาชิกถาวรของสภาความมั่นคงฯ ทั้ง 4 ชาติเคยให้ไป สิ่งที่จีนยังไม่ได้ดำเนินการคือ การส่งกองกำลังเข้าร่วมภารกิจคว่ำบาตรใดๆ บนแผ่นดินนอกชายแดนของตนที่ไม่ได้ทำในนามของยูเอ็น กับไม่ได้เข้าครอบครองดินแดนใดๆ ที่เป็นของรัฐเอกราชอื่น

จีนเข้าไปยึดพื้นที่ในอัฟริกาและลาตินอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ แต่จีนก็ยืนบนฐานของผลประโยชน์ทางการค้าที่เป็นคุณแก่กันและกัน โดยทั่วๆ ไป การลงทุนและการเข้ามีส่วนร่วมต่างๆ ของจีนช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเจ้าบ้าน ตลอดจนฝึกสร้าวทักษะฝีมือแก่คนพื้นเมือง และสร้างความร่วมมือในการสำรวจและพัฒนาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ

จีนแสดงบทบาทสำคัญโดยรับเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจา 6 ฝ่าย และเปิดประตูห้องประชุมให้แก่เกาหลีเหนือ พัฒนาการน่าจะเกิดขึ้นได้มากมายกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากสหรัฐฯ ไม่ตั้งป้อมชิงไหวชิงพริมมากนัก

เนื่องจากจีนสามารถไปกันได้ดีกับทุกชาติ ปักกิ่งจึงอยู่ในฐานะที่สามารถโน้มน้าวความร่วมมือระหว่างประเทศได้อย่างคล่องตัวกว่าฝ่ายวอชิงตัน และด้วยความช่วยเหลือจากจีน สหรัฐฯ จะสามารถลดความตึงเครียดของโลกโดยไม่ต้องแบกค่าใช้จ่ายพิเศษจำพวกคณะทูตวิ่งเจรจา หรือการตั้งงบประมาณเพื่อการเข้าแทรกแซงทางการทหารในที่ต่างๆ

เหตุผลที่ 2: การลดค่าใช้จ่ายทางการทหาร

เพนทากอนและเครือธุรกิจอุตสาหกรรมการทหารมักที่จะสร้างภาพให้จีนเป็นอาณาจักรชั่วร้ายที่กำลังก่อร่างสร้างอำนาจ เพือสร้างความชอบธรรมแก่การใช้งบประมาณเพื่องานกลาโหมมหาศาลได้มากกว่าปีละ 5 แสนล้านดอลลาร์ เงินทองส่วนใหญ่มิได้ใช้เพื่อกิจกรรมต่อต้านการก่อการร้าย หากจะหมดไปกับการพัฒนาอาวุธก้าวหน้าขึ้นมาเรื่อยๆ โดยอ้างว่าเพราะจีนกำลังทวีความแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม จีนไม่ใช่รัฐที่ชอบรุกรานประเทศอื่น อีกทั้งไม่ใช่มหาอำนาจทางการทหารที่จะไปแข่งกับสหรัฐฯ นโยบายด้านการกลาโหมของจีนวางไว้ในเชิงการเตรียมหนามแหลมเพื่อป้องกันตัวเองแบบเม่น มากกว่าจะเสริมเขี้ยวเล็บเข้าขย้ำคนอื่นแบบสุนัขพิตบูล

จีนเต็มใจที่จะเปิดเผยพัฒนาการด้านอาวุธนิวเคลียร์แก่คณะนักวิทยาศาสตร์อเมริกันที่เดินทางไปเยี่ยมชม เรือดำน้ำของจีนไปโผล่เผยโฉมในท่ามกลางกองเรือคิตตี้ฮอว์ก เพียงเพื่อจะแสดงให้เห็นศักยภาพของเรือดำน้ำนี้ ทหารจีนยอมสอยดาวเทียมของตนเพื่อช่วยให้สหรัฐฯ ได้อัปเดทข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพของจีน

แรงจูงใจดูว่าจะไม่มีอะไรมากไปกว่าการยืนยันว่า สหรัฐฯ จะไม่คิดการณ์ผิดๆ ถึงความสามารถของจีนในการตอบโต้กับสหรัฐฯ

จีนต่างกับอดีตสหภาพโซเวียต เพราะจีนไม่ได้แสดงแนวโน้มใดๆ ที่จะแข่งกับสหรัฐฯ เพื่อมีอิทธิพลครองโลก อีกทั้งไม่ได้แสดงการคุกคามที่จะเข้าแข่งสะสมอาวุธกับสหรัฐฯ ด้วยการศึกษาและเข้าใจจีนที่แท้ สหรัฐฯ จะสามารถประหยัดงบประมาณได้หลายแสนล้านดอลลาร์ที่ถมไปกับการระบบทางการทหารอันล้ำยุค

แง่มุมตลกเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอยู่ว่า หากสหรัฐฯ จะต้องหาเงินไปจับจ่ายมหาศาลดังกล่าว สหรัฐฯ ก็ต้องไปขอกู้ยืมจากจีนนั่นเอง

เหตุผลที่ 3: จีนในฐานะของหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ

จีนถือเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ในมือมากกว่าหนึ่งล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่บริษัทธุรกิจของจีนมีความสนใจอย่างมากที่จะลงทุนในตลาดอเมริกัน ไม่ว่าจะในเรื่องของโรงงานอุตสาหกรรม ตรายี่ห้อ หรือโนว์-ฮาวทางเทคโนโลยีและการบริหารจัดการ คนจีนสามารถไปสหรัฐฯ ซื้อหาลิขสิทธิ์ สรรหาจัดตั้งพันธมิตรธุรกิจและธุรกิจร่วมทุน ตลอดจนเข้าไปเทคโอเวอร์โรงงานที่ปิดกิจการแล้ว

เครือธุรกิจไห่เอ้อเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนรายใหญ่ของจีน และเป็นรายแรกที่ตั้งโรงงานขึ้นในสหรัฐฯ การลงทุนของไห่เอ้อในเซาท์ แคโรไลนา สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างในเมื่อบริษัทจีนรายอื่นๆ แห่ตามเข้าไปแสวงประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่นแห่งนี้ ผลกระทบหนึ่งที่เกิดตามมาคือ ท่าเรือปอร์ต ออฟ ชาร์ลสตัน กลายเป็นท่าเรือใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐฯ ที่มีการขึ้นลงตู้คอนเทนเนอร์อย่างคึกคักสุดสุด ทางปอร์ต ออฟ ชาร์ลสตันโอ่อวดถึงอุปกรณ์การจัดการขึ้นลงคาร์โก้ที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทำจากจีนนั่นเอง คนในเซาท์ แคโรไลนา ทราบถึงเรื่องนี้ แต่คนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ยังไม่ทราบ

บริษัทจีนสามารถลงทุนในสหรัฐฯ พร้อมกับสร้างงานในระบบเศรษฐกิจอเมริกัน แต่คนอเมริกันควรมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติพื้นฐานต่อการที่จีนเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ในระบบเศรษฐกิจของพวกตน รัฐบาลใหม่และรัฐสภาควรแสดงท่าทีชัดเจนออกไปว่า เงินดอลลาร์ในมือจีนเป็นที่ต้อนรับเท่าๆ กับเงินดอลลาร์ในมือคนชาติอื่นๆ

มีการเปลี่ยนแปลงมากมายในด้านนโยบายที่รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการ เพื่อส่งสัญญาณถึงปักกิ่งว่า วอชิงตันไม่ใช่แหล่งของทัศนคติที่เป็นศัตรูหรือหวาดระแวงจีน คณะกรรมาธิการของรัฐสภาชุดต่างๆ ที่มุ่งแต่จะโจมตีจีนควรถูกยุบทิ้งเสีย

เพื่อที่จะเชื้อเชิญการลงทุนทางตรงจากจีน จำเป็นต้องสร้างความโปร่งใสในเรื่องของแนวทางการลงทุนที่สามารถทำได้ เพื่อที่บริษัทธุรกิจจากจีนจะทราบล่วงหน้าได้ว่าพวกเขาสามารถหยั่งขาลงตรงไหนได้บ้าง

จีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในเดือนนี้ว่า จะลงทุนราว 6 แสนล้านดอลลาร์ในด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ พร้อมกันนี้ จีนยังเสาะหาโอกาสทางเศรษฐกิจในที่อื่นๆ นับเนื่องได้ตั้งแต่ออสเตรเลีย ไปถึงอัฟริกา และถึงอเมริกาใต้ มันจะต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลโอบามาที่จะส่งสัญญาณใหม่ออกสู่จีนว่า สหรัฐฯ ยินดีต้อนรับการลงทุนของจีนในสหรัฐฯ

การเริ่มต้นที่ดีน่าจะเริ่มจากการที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ สั่งการให้สำนักงานด้านวีซ่าในจีน เลิกปฏิบัติต่อผู้ไปยื่นขอวีซ่าเข้าสหรัฐฯ ในแบบที่ให้ความรู้สึกราวกับว่าคนจีนนั้นมาจากประเทศอันน่าเหยียดหยามรังเกียจ การปรับให้กระบวนการยื่นขอวีซ่ามีความเรียบง่ายสำหรับนักธุรกิจจากจีน จะช่วยส่งเสริมการแปลกเปลี่ยนทางการค้าได้มากขึ้น รวมทั้งช่วยเอื้อแก่การลงทุนในประเทศได้ด้วย

ยุโรปและประเทศที่เร่งดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งหลายได้ประจักษ์กันดีแล้วว่า นับวันจีนจะเป็นชาติที่นิยมการท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังกลายเป็นชาติที่มีนักท่องเที่ยวไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากที่สุด อาทิ ฝรั่งเศสและเยอรมนีได้พบแล้วว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนมีการจับจ่ายในการท่องเที่ยวในต่างประเทศมากกว่านักท่องเที่ยวญี่ปุ่นหรืออเมริกัน ด้วยนโยบายวีซ่าที่ชาญฉลาด สหรัฐฯ ก็จะกลายเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากความชื่นมื่นอยากจับจ่ายใช้สอยขณะท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจีนเป็นกันอยู่

เหนือสิ่งอื่นใด คงต้องอ้างคำพูดของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เอ่ยไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า “นี่มันเรื่องเศรษฐกิจนะ โง่ไปได้”

เหตุผลที่ 4: การขยายการส่งออกไฮเทคไปจีน

โดยทั่วไปแล้ว จีนชอบเครื่องมือเครื่องจักรไฮเทคจากสหรัฐฯ มากกว่าจากคู่แข่งอื่นๆ ไม่ว่าจะฝั่งยุโรปตะวันตก จีน หรือรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ก็ไม่มีชาติไหนที่บีบให้ผู้ซื้อต้องตะกายไขว่คว้าหาช่องทางเข้ามาซื้อแบบที่รัฐบาลสหรัฐฯ ทำกับจีน

นโยบายควบคุมการส่งออกไปจีนที่สหรัฐฯ ใช้อยู่นั้น ควรปรับปรุงกันใหม่ เพื่อที่ว่าจีนจะได้รับความนับถือเหมือนลูกค้ารายอื่นๆ ของสหรัฐฯ ทัศนคติที่ว่าสินค้าที่ขายให้พลเมืองแต่อาจนำไปใช้ประโยชน์ในทางการทหาร จำต้องใช้ความเข้มงวดเมื่อจะส่งออกไปยังจีนนั้น เป็นทัศนคติที่ล้าสมัยและเหยียดหยามโดยไม่สมควรด้วยเหตุผลใดๆ

กระบวนการออกใบอนุญาตส่งออกไปจีน นับเป็นต้นทุนในด้านการบริหารจัดการ และเพิ่มภาระแก่ทั้งผู้ผลิตชาวอเมริกันและผู้ซื้อชาวจีนที่ต้องปฏิบัติตาม นโยบายมิได้ทำให้สหรัฐฯ มีเสถียรภาพมากขึ้น แต่กลับเป็นอุปสรรคแก่การขายสินค้าออกต่างประเทศ พร้อมกับทำให้สินค้าสหรัฐฯ มีความน่าซื้อน้อยลงเมื่อเทียบกับสินค้าของคู่แข่ง

กระบวนการควบคุมการส่งออกถูกจัดทำขึ้นในช่วงสงครามเย็นเพื่อป้องกันเทคโนโลยีอเมริกันตกสู่มือของโซเวียต คุณค่าของนโยบายนี้เคยเป็นเรื่องที่น่าเคลือบแคลงสำหรับยุคนั้นเพียงใด ขณะนี้มันก็ยิ่งน่าเคลือบแคลงมากยิ่งขึ้น

จีนเป็นตลาดสำคัญสำหรับการรองรับสินค้าไฮเทคจากอเมริกา และสำคัญเกินกว่าที่คนอเมริกันจะอดทนได้กับนโยบายที่เป็นการบั่นทอนความสามารถเชิงการแข่งขันของพวกตน

เหตุผลที่ 5: ยุติการสร้างภาพในทางเชื้อชาติ

ความเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งที่ต้องบ่งชี้ออกมา แม้จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความสัมพันธ์กับจีน คือการยุติพฤติกรรมสร้างภาพในเรื่องเชื้อชาติที่ดำเนินอยู่โดยพวกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เมื่อคนอเมริกันเชื้อสายจีนนึกถึงแผ่นดินเกิดของบรรพบุรุษ นึกถึงบรรพบุรุษรุ่นแรกๆ ที่มายังอเมริกา ความรู้สึกโดยธรรมชาติเลย มักเป็นความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรมชาติและทำให้รู้สึกเหมือนไม่จงรักภักดี

อคติเชิงเชื้อชาติระอุอยู่ลึกๆ ในหลายส่วนของรัฐบาลอเมริกัน นโยบายควบคุมการส่งออกแบบเหวี่ยงแหและคลุมเครือเป็นยันต์คุ้มครองที่สร้างความชอบธรรมแก่การสร้างภาพโจมตีจีนในเชิงเชื้อชาติโดยพวกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย บางครั้ง เป้าหมายการสอบสวนของเอฟบีไอจะดำเนินการในแนวคิดว่าเมื่อฝ่ายพลเรือนเอาเทคโนโลยีไปใช้งานก็สามารถเอาไปประยุกต์เป็นประโยชน์ทางการทหารได้ และอีกหลายๆ ครั้ง พวกนี้ก็ไม่ได้ทำสิ่งอันเป็นประโยชน์อันใดนอกจากการข่มเหงเป้าหมายเพียงเพราะเหตุผลเรื่องการเป็นคนเชื้อสายจีน

เอฟบีไอมักเชื่อแนวคิดที่ว่า จีนใช้วิธีแทรกซึมเพื่อสืบความลับ พูดตรงๆ ได้เลยว่า พวกเอฟบีไอเชื่อกันว่าคนเชื้อสายจีนในสหรัฐฯ เป็นสายลับของประเทศจีน

แนวคิดที่ว่าจีนหมั่นสะสมรวบรวมข้อมูลน้อยใหญ่จากแหล่งข่าวนับล้าน แล้วสั่งสมขึ้นเป็นคลังข้อมูลที่มีพลังการทำลายล้าง นับเป็นแนวคิดที่ไร้สาระเต็มที กระนั้นก็ตาม ทฤษฎีอย่างนี้นี่เองที่ถูกใช้เป็นข้อแก้ตัวเมื่อเอฟบีไอไม่สามารถจับกุมใครได้ แล้วจึงไล่จับกุมคนอเมริกันเชื้อสายจีนแบบสุ่มๆ

แม้การส่งออกสินค้าไปจีนเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าข่ายจารกรรม แต่การส่งออกสินค้าไปจีนกลับเป็นเรื่องที่ทำให้คนเดือนร้อนได้อย่างเหลือเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากบุคคลนั้นๆ เป็นคนเชื้อสายจีน

รัฐบาลโอบามาควรล้างอคติต่อต้านเชิงเชื้อชาติในบรรดาผู้นำของเอฟบีไอ และถอดถอนพวกอคติรุนแรงเชิงเชื้อชาติออกไป ตลอดจนล้างวัฒนธรรมที่ครอบคลุมด้วยอคติเชิงเชื้อชาติที่ถูกปลูกฝังไว้ตั้งแต่ยุคที่ เจ เอ๊ดการ์ ฮูเวอร์ การสร้างภาพโจมตีเชิงเชื้อชาติภายใต้แนวคิดเรื่องแทรกซึมคือเครื่องแสดงถึงความเขลา และในกรณีของเอฟบีไอ มันสะท้อนถึงความไร้ความสามารถ

การยุติพฤติกรรมคุกคามรังแกชาวอเมริกันเชื้อสายจีนจะสร้างคุณประโยชน์ในทางที่เสริมสร้างบรรยากาศดีๆ กับจีน และจะปรับกระบวนให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายได้ทุ่มเททรัพยากรไปสู่การสร้างความมั่นคงภายในประเทศได้โดยตรง ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ทุกคนให้ความสนับสนุน

ดร.จอร์จ คู เป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจซึ่งปัจจุบันเกษียณอายุงานแล้ว และเป็นคนอเมริกันเชื้อสายจีนที่ได้เดินทางไปประเทศต่างๆ กว่า 60 ประเทศทั่วโลก ดร.คู เขียนหนังสือชื่อ New America Media ดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ www.newamericamedia.org นอกจากนั้น ดร.คู มีเว็บไซต์เผยแพร่ความรู้เป็นของตนเองที่ www.georgekoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น