xs
xsm
sm
md
lg

ชาวมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพิธีฮัจญ์แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้แสวงบุญชุมนุมอยู่ ณ ทุ่งอะรอฟะฮ์
อัลอราบียะห์/เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - คลื่นมนุษย์ขนาดมหึมามุ่งหน้าสู่หุบเขาอะรอฟะฮ์ในเช้าวันนี้ (7) ระหว่างที่ผู้แสวงบุญชาวมุสลิมจำนวนหลายล้านชีวิตชุมนุมกันอยู่ที่ซาอุดีอาระเบียเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์อันศักดิ์สิทธิ์

อัลอราบียะห์ รายงานว่า ปีนี้ชาวมุสลิมทั่วโลกจำนวนกว่า 2 ล้านชีวิต มุ่งหน้าสู่นครมักกะฮ์ตั้งแต่วันเสาร์ (6) เพื่อทำพิธีฮัจญ์ ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นพิธีแสวงบุญประจำปีครั้งใหญ่ที่สุดในโลก

ทั้งนี้ ศาสนาอิสลามกำหนดให้ชาวมุสลิมทั้งหญิงและชายต้องเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮ์ของซาอุดีอาระเบียอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต หากมีความสามารถในด้านร่างกาย ทรัพย์สิน และการเดินทาง พิธีฮัจญ์เป็นหนึ่งในห้าศาสนกิจของชาวมุสลิม นอกเหนือจากการปฏิญาณตนต่อพระผู้เป็นเจ้า, การละหมาดวันละ 5 เวลา, การบริจาคทาน และการถือศีลอดในเดือนรอมฏอน

อย่างไรก็ตาม ปีนี้มีชาวมุสลิมจำนวนหลายพันคนกลับพลาดโอกาสเดินทางไปแสวงบุญ เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องวีซ่า ขณะที่คนอื่นๆ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างจังจากวิกฤติการเงินโลก มีเงินไม่เพียงพอสำหรับการเดินทาง

**ขั้นตอนการทำฮัจญ์**

ก่อนจะเริ่มพิธี ผู้แสวงบุญต่างเดินทางมายังนครมักกะฮ์ เพื่อทำการครอง “เอี๊ยะรอม” ซึ่งหมายถึงการปฏิญาณตนว่าจะทำพิธีฮัจญ์ ตลอดจนตั้งมั่นว่าจะรักษากฎต่างๆ อาทิเช่น การไม่ร่วมประเวณี, การไม่ล่าสัตว์ การไม่ตัดเล็บหรือผม รวมทั้ง การไม่เสริมสวยหรือใช้น้ำหอม และสวมชุดขาวโพลนในระหว่างที่ประกอบพิธี

พิธีฮัจญ์เริ่มขึ้นในวันเสาร์ (6) เมื่อผู้แสวงบุญเดินเท้าหรือนั่งรถโดยสารมาถึงเมืองมีนา ซึ่งอยู่ห่างจากนครมักกะฮ์ 16 กิโลเมตร ตลอดวันแรกนี้ชาวมุสลิมจะทำละหมาด และ “วุกุฟ” หรือการพักสงบสำรวมจิตใจ ช่วงนี้นครมีนาจะแปรเปลี่ยนสภาพกลายเป็นเมืองที่เรียงรายด้วยเต็นท์ที่พักยาวเหยียด

เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นในวันอาทิตย์ (7) ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จะมุ่งหน้าไปยังทุ่งอารอฟะฮ์ อันเป็นสถานที่ซึ่งมูฮัมมัด ศาสดาขององค์สุดท้ายของศาสนาอิสลามกล่าวเทศนาครั้งสุดท้าย ก่อนเสียชีวิต เพื่อหยุดพักและทำวุกุฟ

จนกระทั่งวันรุ่งขึ้น (8) ก็ตรงกับวันสำคัญทางศาสนาที่เรียกว่า “อีด อัลอัฎฮา” ชาวมุสลิมทั่วโลกที่ไม่ได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ ก็จะปฏิบัติละหมาดครั้งใหญ่, จัดงานเฉลิมฉลอง, บริจาคทานและ “ทำกรุบาน” ซึ่งคือการเชือดสัตว์เพื่อแจกจ่ายให้กับคนยากจน รวมทั้งการขออภัยในสิ่งที่ได้ล่วงเกินพี่น้องชาวมุสลิมด้วยกัน ส่วนผู้ที่ประกอบพิธีฮัจญ์จะเดินทางกลับมาที่เมืองมีนาเพื่อทำกรุบาน อันเป็นการรำลึกถึงความมุ่งมั่นของนบีอิบรอฮิม ศาสดาผู้หนึ่งของศาสนาอิสลาม ที่ยอมสละแม้แต่ลูกชายของตนเองตามคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า

อีก 2 วันที่เหลือยังคงอยู่ที่เมืองมีนา ผู้แสวงบุญต้องทำพิธีขว้างเสาหินที่มีอยู่ 3 ต้น โดยขว้างก้อนกรวด 7 ลูก ครั้งละ 1 ลูก ติดๆ กัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้กับเหล่ามารร้ายและความชั่วร้าย ทั้งนี้ ขั้นตอนดังกล่าวถือเป็นช่วงอันตรายที่สุดของการประกอบพิธีฮัจญ์ เนื่องจากผู้แสวงบุญต้องเบียดเสียดกัน เพื่อขว้างก้อนหินไปให้ถูกเสาหิน

จากนั้นผู้แสวงบุญก็จะเดินทางกลับมายังนครมักกะฮ์อีกครั้ง เพื่อ “ตอวาฟ” หรือการเดินวนรอบ กะบะห์ หรือ บัยตุลลอห์ สิ่งก่อสร้างรูปทรงลูกบาศก์ อันเป็นเสมือนเสาหลักของชุมทิศ ซึ่งตั้งอยู่ใน มัสญิด ฮะรอม (มัสยิดต้องห้าม) หลังจากนั้นจะ “ซะแอ” คือ การเดินจากเนินเขาศอฟา สู่เนินเขามัรวะหฺ ซึ่งมีระยะทาง 450 เมตร ไปมาจนครบเจ็ดเที่ยว ระหว่างที่เดินก็จะกล่าวคำขอพรและคำวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้า จากนั้น ผู้แสวงบุญก็จะประกอบพิธีในลักษณะเช่นเดิม ไปอีก 2 วันก่อนที่จะสิ้นสุดพิธี และเมื่อเสร็จพิธีนี้แล้ว ผู้แสวงบุญก็จะขลิบผมหรือโกนหัว ถือเป็นการสิ้นสุดการครองเอี๊ยะรอม

**ความปลอดภัย**

ปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่ทางการซาอุดีอาระเบียสั่งระดมกำลังพล 100,000 นาย พร้อมทั้งนำเฮลิคอปเตอร์สหรัฐฯ มาลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยตลอดการประกอบพิธีฮัจญ์เพื่อป้องกันการโจมตีที่อาจจะเกิดขึ้น

ก่อนเข้าสู่การประกอบพิธีฮัจญ์ เจ้าชายนายิฟ บิน อับเดล อาซิซ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของซาอุดีอาระเบียบอกกับผู้สื่อข่าว ว่า “การก่อการร้ายยังไม่สิ้นสุด ยังคงดำเนินต่อไป”

อย่างไรก็ตาม คลื่นมวลชนจำนวนมโหฬารที่ชุมนุมอยู่ในพื้นที่อันจำกัดเช่นนี้ สร้างความหวั่นวิตกว่าอาจเกิดเหตุเหยียบกันตาย ดังเช่นที่เกิดมาแล้วในปี 2006 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 364 ราย หรือ 251 รายในปี 2004 และมากถึง 1,426 ราย เมื่อปี 1990




บริเวณทุ่งอะรอฟะฮ์
กำลังโหลดความคิดเห็น