เอเอฟพี - แม้คำพิพากษาของศาลวันนี้ (2) ที่เขี่ย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันกระเด็นตกเก้าอี้ จะเข้าทางตามข้อเรียกร้องสำคัญของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่นักวิชาการหลายคน มองว่า ไม่ช่วยคลี่คลายวิกฤตการเมืองที่ยืดเยื้อ
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนของนายกฯ สมชาย ตลอดจนพรรคชาติไทย และ มัชฌิมาธิปไตย ในวันนี้ (2) 1 สัปดาห์ หลังผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เคลื่อนขบวนปิดล้อมสามบินหลัก 2 แห่ง
“ผลกระทบที่ขจรขจายไกล (จากคำพิพากษาครั้งนี้) จะทรงอิทธิพล, อันตราย และอาจเปลี่ยนแปลง หรือสร้างหายนะอย่างฉับพลันและรุนแรง” อาจารย์ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์เอเอฟพี
อาจารย์ฐิตินันท์ กล่าวว่า คำพิพากษาครั้งนี้ “ถอนรากถอนโคนนักการเมืองไทยเกือบจะหมดชั่วอายุคนเลยก็ว่าได้”
พลังประชาชน, ชาติไทย และ มัชฌิมาธิปไตย ถูกตัดสินยุบพรรค ในความผิดฐานทุจริตเลือกตั้งในปี 2007 พร้อมกันนี้ ศาลยังลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองคณะผู้บริหารพรรคดังกล่าวนาน 5 ปีด้วย
ต่อจากนี้ หากซีกรัฐบาลอยากจะอยู่รอด บรรดา ส.ส.สังกัดพรรคทั้งหลายที่ถูกยุบ แต่แคล้วคลาดจากโทษตัดสิทธิการเมือง จำต้องดิ้นรนหาพรรคหลบภัยใหม่ และจัดประชุมรัฐสภา เพื่อเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
คริส เบเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไทย ชี้ว่า สถานการณ์อาจลุกโชนขึ้นอีกครั้ง หากฝ่ายพันธมิตรฯ ยังไม่ยอมรับตัวเลือกผู้นำประเทศคนใหม่
“ผู้นำคนใหม่ต้องเผชิญกับปัญหาเดิมๆ อย่างไม่ทันตั้งตัว” คริส กล่าว “จากนั้นผมคิดว่ากองทัพจะเคลื่อนไหวอะไรซักอย่าง”
อย่างไรก็ตาม หากวิกฤตการเมืองไทยยังลากยาวยืดเยื้อออกไปอีก เช่นที่นักวิเคราะห์หลายคนพูด ทั้งประเทศจะหันไปจับจ้องแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างการแสดงพระราชดำรัส ในวันพฤหัสบดีนี้ (4) ก่อนถึงวันคล้ายวันพระราชสมภพ
อาจารย์ฐิตินันท์ กล่าวว่า สิ่งที่หวั่นวิตกที่สุด คือ ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลที่ “กริ้วโกรธอย่างเดือดดาล” จะปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ อันจะนำมาซึ่งการนองเลือดอย่างกว้างขวาง
ด้าน อาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ จากรัฐศาสตร์จุฬาฯ เรียกคำตัดสินครั้งนี้ว่า “การรัฐประหารของตุลาการ” และชี้ให้เห็นความสมัครใจที่พอกพูนขึ้นของศาลในการรุกล้ำเข้าสู่การเมือง