เอเอฟพี - องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ตัดสินใจคงโควตาการผลิตน้ำมันเอาไว้เท่าเดิม ภายหลังการหารืออย่างไม่เป็นทางการในกรุงไคโรเมื่อวันเสาร์ (29 พ.ย.) กระนั้น เหล่ารัฐมนตรีโอเปกก็ประกาศจะดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อฟื้นความสมดุลของตลาดกลางเดือนธันวาคมนี้
ดีมานด์ที่ซบเซาตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดราคาน้ำมันดำดิ่งลงมาถึงสองในสาม จากที่เคยพุ่งทะลุทำสถิติสูงสุด ณ ระดับ 147 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว
“บรรดารัฐมนตรีตกลงกันว่าจะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมในการประชุมวันที่ 17 ธันวาคมนี้ (ที่เมืองโอราน ประเทศแอลจีเรีย) เพื่อฟื้นสมดุลอุปสงค์และอุปทานน้ำมัน รวมถึงฟื้นเสถียรภาพตลาด” ชากิบ เคลิล รัฐมนตรีพลังงานแอลจีเรีย ซึ่งเป็นประธานโอเปกในวาระปัจจุบัน แถลงที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์
การตัดสินใจคงกำลังการผลิตซึ่งเป็นที่คาดหมายกันล่วงหน้าอยู่แล้ว บังเกิดขึ้นแม้ราคาน้ำมันจะตกจนเฉียดระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ส่งสัญญาณเตือนแก่บรรดาสมาชิกโอเปกว่ารายได้ที่เคยได้กันมากมายมหาศาล จะต้องถดถอยลง
แม้โอเปกประกาศลดกำลังผลิตลงแล้ว 2 ระลอก คือ ในเดือนกันยายนและตุลาคม ส่งผลให้โควตาอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 27.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ไม่รวมอิรัก) แต่ไม่สามารถหยุดยั้งราคาน้ำมันขาลงได้
“เราตระหนักถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เสื่อมถอยรุนแรงและผลกระทบเลวร้ายที่มีต่อราคาน้ำมัน” เคลิล สำทับ
นอกจากนั้น อับดัลเลาะห์ ซาเลม เอล-บาดรี เลขาธิการโอเปก ที่ผลิตน้ำมันออกสู่ตลาด 40% ของปริมาณการผลิตทั่วโลก ยังคาดว่าราคาน้ำมันจะยังไม่ขยับขึ้นจนกว่าจะถึงกลางปีหน้า
ในระหว่างแถลงข่าว เคลิล ยอมรับว่า วิกฤตการเงินโลกและแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจะบั่นทอนความต้องการน้ำมันในช่วงครึ่งแรกของปี 2009 และจะยิ่งลดลงในช่วงหกเดือนหลัง
บาดรี เสริมว่า รัฐมนตรีโอเปกบรรลุฉันทามติที่จะลดกำลังผลิตกันในการประชุมนัดหน้าที่โอราน
บิลล์ ฟาร์เรน-ไพรซ์ นักวิเคราะห์จากเมดเลย์ โกลบัล แอดไวเซอร์ส แสดงทัศนะว่า โอเปกต้องการลดกำลังผลิตอย่างน้อย 1 ล้านบาร์เรล ในเดือนธันวาคมนี้ แต่คงต้องขึ้นอยู่กับว่าจริงๆ แล้วมีการปฏิบัติตามมติลดกำลังผลิตก่อนหน้านี้มากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้ บาดรียังยืนยันว่าผู้ผลิตสำคัญนอกกลุ่มโอเปกอย่างรัสเซีย นอร์เวย์ และเม็กซิโก จะร่วมประชุมที่โอรานด้วย
ต้นสัปดาห์ที่แล้ว รัสเซีย หนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่สุดของโลก กล่าวว่า ราคาพลังงานที่ดิ่งฮวบลงกระทบอย่างแรงต่อผู้ผลิต และรัสเซียจะดำเนินกลยุทธ์ร่วมกับโอเปก
เคลิล ยังกล่าวโดยอ้างอิงแหล่งข่าวในอุตสาหกรรม ว่า สมาชิกโอเปกบรรลุอัตราการปฏิบัติตามถึง 85% สำหรับมติการลดกำลังผลิตสองระลอกในเดือนกันยายนและตุลาคม
โอเปกเรียกร้องให้มีการประชุมเพื่อหารือถึงวิธีการฟื้นราคาที่หล่นจากสถิติสูงสุดของปีนี้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกซึมเซาที่กระทบต่อความต้องการพลังงาน
ต้นเดือนที่แล้ว ราคาน้ำมันเบรนต์ของตลาดลอนดอนร่วงลงไปอยู่ที่ 47.40 ดอลลาร์ และไลต์สวีตครูดของนิวยอร์กตกไปอยู่ที่ 48.35 ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นสถิติต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปีของทั้งสองตลาด เทียบกับที่เคยขึ้นไปทำสถิติสูงสุดที่ 147.50 ดอลลาร์ และ 147.27 ดอลลาร์ตามลำดับเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม เมื่อเกิดความกังวลว่าซัปพลายอาจสะดุด
ขณะเดียวกัน กษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงมีพระราชดำรัสในการสัมภาษณ์ที่เผยแพร่ในคูเวตว่า ราคาน้ำมันที่ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถือเป็นราคาที่เป็นธรรม บ่งชี้ว่าอาจมีการผลักดันให้ลดเพดานการผลิตเพื่อฟื้นราคาน้ำมันเร็วๆ นี้
ซาอุดีอาระเบียนั้น เป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่สุดของโลก จึงถือเป็นผู้เล่นสำคัญในโอเปก โดยผลิตน้ำมันดิบออกมา 40% ของปริมาณรวมทั่วโลก
อาลี อัล-ไนมิ รัฐมนตรีน้ำมันของซาอุดีฯ กล่าวก่อนการประชุมที่ไคโรเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า การตัดสินใจเรื่องปริมาณการผลิตจะมีขึ้นในเดือนธันวาคมนี้
อนึ่ง สมาชิกโอเปกประกอบด้วยแอลจีเรีย แองโกลา เอกวาดอร์ อิหร่าน อิรัก คูเวต ลิเบีย ไนจีเรีย กาตาร์ ซาอุดีฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ เวเนซุเอลา
อินโดนีเซีย สมาชิกอันดับที่ 13 ของกลุ่ม ได้ขอระงับสมาชิกภาพและจะออกจากโอเปกอย่างเป็นทางการปลายปีนี้ ขณะที่อิรักยังไม่ได้รับจัดสรรโควตาการผลิต เนื่องจากประเทศยังอยู่ระหว่างฟื้นตัวหลังสงคราม