xs
xsm
sm
md
lg

“พระพุทธเจ้าน้อย”ในเนปาลที่มีรัฐบาลเป็นพวกเหมาอิสต์?

เผยแพร่:   โดย: ธรุบา อธิการี และ ชาร์ลส์ แมคเดอร์มิด

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

A Buddhist messiah in Maoist Nepal?
By Dhruba Adhikary and Charles McDermid
14/11/2008

ชาวเนปาลเป็นหมื่นๆ กำลังเร่งรุดไปยังหมู่บ้านห่างไกลแห่งหนึ่ง เพื่อให้ได้เห็นประจักษ์แก่ตาใน “พระพุทธเจ้าน้อย” ซึ่งเป็นหนุ่มวัยรุ่นลึกลับผู้อ้างตัวว่าได้อดอาหารอยู่ในป่าลึกตลอดช่วงไม่กี่ปีก่อนพร้อมกับครุ่นคิดพิจารณาถึงความตาย โดยเขากำลังออกมาปรากฏกายอีกคำรบหนึ่งหลังจากหายสูญไปนาน พวกที่มีจิตศรัทธาบอกว่าเขาเป็นองค์อวตารของพระพุทธเจ้า ขณะที่พวกอื่นๆ บอกว่าเขาเป็นแค่คนลวงโลกที่หวังฮุบผลประโยชน์เงินทองและที่ดินเท่านั้นเอง เมื่อมองพินิจให้กว้างไกลออกจากการถกเถียงเหล่านี้ ก็จะพบว่าในประเทศเนปาลวันนี้แม้รัฐบาลผู้ปกครองจะนำโดยพวกเหมาอิสต์ แต่ก็ยังคงเต็มไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาอันพิลึกพิสดาร

กาฐมัณฑุ – “พระพุทธเจ้าน้อย” (Buddha Boy) ของเนปาล ในความเชื่อของผู้มีจิตศรัทธา ได้กลับออกมาจากป่าเขาเพื่อเผยแพร่ “ความรู้แจ้ง” ให้แก่มวลชนแล้ว ดุจเดียวกับศาสดาพยากรณ์ผู้ทรงธรรมท่านอื่นๆ ที่ได้รับความเคารพนบนอบอย่างสูงล้ำ

ผู้ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ เพิ่งปรากฏกายขึ้นมาใหม่หลังจากหายตัวอย่างลึกลับไปนาน เขาคือ ราม บาฮาดูร์ บัมจัน มีคนจำนวนมากทีเดียวเชื่อว่า เขาเป็นองค์อวตารของเจ้าชายสิทธัตถะ โคตมะ ที่ต่อมาได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ผู้คนส่วนข้างมากในประเทศเนปาลนั้นนับถือศาสนาฮินดู แต่กระนั้นความเชื่อทางศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธก็มักมีการปะปนล้ำเหลื่อมกันอยู่ ชาวฮินดูนั้นเชื่อเรื่องอวตาร ขณะที่ชาวพุทธที่นี่ก็ยอมรับเรื่องการกลับชาติมาเกิดใหม่ โดยที่ในประเทศนี้ ศาสนิกชนของทั้งสองฝ่ายต่างก็ยังผูกจิตผูกใจอยู่กับเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์และความลี้ลับต่างๆ ปัจจุบันในจำนวนประชากร 25 ล้านคนของเนปาล มีเพียงประมาณ 50% เท่านั้นที่รู้หนังสือ ยิ่งในพื้นที่ชนบทด้วยแล้วผู้คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้หนังสือกันเอาเลย

ในพื้นที่ชนบทห่างไกลนั่นแหละที่ บัมจัน ซึ่งมองดูจากรูปร่างลักษณะภายนอกทุกกระเบียดนิ้ว ก็เหมือนกับหนุ่มวัยรุ่นผมเผ้ากระเซิงคนหนึ่ง ได้ปรากฏตัวออกมาจากป่าลึกในวันที่ 10 พฤศจิกายน จากนั้นก็เริ่มต้นทำงานทันที นั่นคือเที่ยวเทศนาสั่งสอนประชาชนที่อาศรมแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงกาฐมาณฑุไปทางใต้ราว 150 กิโลเมตร

เขาอ้างว่าเขาเริ่มการเสาะแสวงหาส่วนที่หายไปของจิตวิญญาณในตอนต้นปี 2005 และคำเทศนาช่วงแรกๆ ของเขาก็ขรึมขลังดุดันทีเดียว “เหตุการณ์เกี่ยวกับการตายและการสูญเสียต่างๆ กำลังมีเพิ่มมากขึ้นทุกที เพราะคนเรากำลังทอดทิ้งไม่แยแสกับคำสอนทางศาสนา” เขาประกาศต่อหน้าผู้ศรัทธาที่มีรายงานว่ามีจำนวนราว 10,000 คน โดยคนเหล่านี้ต่างรีบแห่กันไปยังอาศรมดังกล่าวในวันที่เขาออกมาปรากฏตัวอีกคำรบหนึ่งนี้

บัมจันซึ่งมีการระบุอายุเอาไว้ต่างๆ กันระหว่าง 17 จนถึง 20 ปีผู้นี้ เติบโตขึ้นมาในหมู่บ้านตามาง ซึ่งเป็นชุมนุมชาวพุทธที่มีศรัทธาในศาสนาอย่างแน่นแฟ้น ตัวเขาเองกลายเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนมาตั้งแต่ปี 2005 ตอนที่มีผู้พบเขากำลังนั่งทำสมาธิในท่าดอกบัว อยู่ตรงโคนต้นไม้เก่าแก่โบราณต้นหนึ่ง ตามตำนานที่เล่าขานกันในท้องถิ่นระบุว่า เขานั่งสมาธิอยู่ในท่านั้นเป็นเวลานานถึง 10 เดือนโดยไม่ได้แตะต้องอาหารหรือน้ำดื่มใดๆ เลย

อย่างไรก็ตาม ในการกลับคืนปรากฏกายออกมาเที่ยวล่าสุดของเขาคราวนี้ บัมจันไม่ได้มีการนั่งสมาธิตามโคนต้นไม้อีกแล้ว เขาอยู่ในชุดผ้าสีขาวอันวาววับน่าเลื่อมใส และดูมีสุขภาพแข็งแรงกระปรี้กระเปร่าทีเดียวสำหรับผู้บำเพ็ญตนเป็นฤาษีอยู่ตามป่าเขามายาวนาน บัมจันเริ่มต้นการเทศนาครั้งแรกของเขาด้วยการเล่าเรื่องการติดตามแสวงหา “เหตุผลของความตาย” ของเขา โดยเขาอธิบายว่า ทั้งหมดเริ่มต้นมาจากการที่เขาได้เห็นกับตาถึงการเผาศพคนศพหนึ่งเมื่อตอนที่เขาอายุได้ 6 ขวบ

น่าสนใจมากที่เรื่องเล่าของเขาดูเป็นไปในแนวเดียวกับพระพุทธประวัติในความเชื่อของชาวพุทธ ซึ่งระบุว่าก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะทรงออกบวชเพื่อแสวงหาธรรมจนกระทั่งได้ตรัสรู้นั้น พระองค์ได้ทรงเห็นความตาย, ความเจ็บ, และความแก่ชรา กระนั้นก็ตาม บางคนในหมู่ผู้ที่มาฟังคำสอนของบัมจัน ก็เกิดความรู้สึกสงสัยข้องใจขึ้นมา เมื่อพวกเขาเห็นบัมจันผู้มีผมดกดำยาวสลวย ต้องหยุดชะงักครั้งแล้วครั้งเล่า ระหว่างการเทศน์นาน 45 นาทีของเขา

แต่ละครั้งที่บุรุษผู้ถูกอวดอ้างเป็นพระพุทธเจ้าน้อยหยุดพูด ก็จะมีผู้ติดตามคนหนึ่งเข้ามากระซิบที่ข้างหูของเขา ดูเหมือนกับว่ากำลังเร่งให้เขากระตุ้นเตือนผู้ฟังให้มีความตั้งใจถ้าหากต้องการได้รับความสุข ผู้ศรัทธาที่เคารพนบไหว้และถวายผ้า “คาดา” (ผ้าคลุมไหล่) ให้แก่เขา ก็จะได้รับการอำนวยพร โดยที่เขาจะวางมืออันงามสง่าน่าเลื่อมใสไว้บนศีรษะของคนเหล่านั้น

พวกชาวบ้านในตำบลราทันบุรี เขตบารา ไปชุมนุมรวมตัวกันเป็นพันๆ ณ บริเวณซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าหัลโฆริอะ เพื่อเฝ้าชม “ท่านผู้ศักดิ์สิทธิ์” ผู้นี้ ฝูงชนยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นอีกมากเมื่อกลุ่มชาวพุทธท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ต่างๆ ตลอดจนทางเครือข่ายวิทยุกระจายเสียง และเรื่องนี้ก็เป็นที่สนอกสนใจของพวกสื่อมวลชนภายในประเทศกันในทันที แล้วต่อมาพวกสำนักข่าวระหว่างประเทศรายใหญ่ๆ ก็ร่วมวงติดตามเสนอข่าวเช่นเดียวกัน

ยังไม่มีองค์การชาวพุทธใดๆ ออกมารับรองเรื่องราวการเล่าอ้างของ ราม บาฮาดูร์ บัมจัน หรือที่เรียกขานกันในอีกชื่อหนึ่งด้วยว่า ปัลเดน ดอร์จี ตลอดจนของพวกบรรดาสานุศิษย์ของเขา ชาวพุทธบางกลุ่มได้ส่งคนไปสืบข่าวสอบสวนยังพื้นที่ดังกล่าวแล้ว และกำลังรอรับฟังรายงานอยู่ ขณะที่พวกนักปราชญ์ชาวพุทธเองมีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปคนละทางสองทาง

“บัมจันดูน่าจะเป็นคนที่ได้รับประทานพรจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์” เบคา รัตนา ชัคยา ชาวพุทธผู้เคร่งครัดและอดีตนายกเทศมนตรีตำบลลาลิตปุระ บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์

เคดาร์ ชัคยา นักเขียนและอดีตอาจารย์ของมหาวิทยาลัยลุมพินี ก็แสดงทัศนะสนับสนุนว่า บัมจันมีความศักดิ์สิทธิ์น่าเลื่อมใสจริงๆ แต่เขาบอกด้วยว่า ควรจะปล่อยให้บัมจันได้ปฏิบัติทำสมาธิต่อไปดีกว่า

การกลับมาปรากฏตัวอีกครั้งของบัมจัน ยังทำให้ชาวเนปาลจำนวนมากหวนระลึกถึงเหตุการณ์หนึ่งเมื่อหลายๆ ปีก่อน ตอนที่ทั่วทั้งประเทศต่างแตกตื่นกับข่าวลือที่ว่า รูปพระพิฆเนศที่ทำจากหินรูปหนึ่ง สามารถที่จะดื่มน้ำนมได้

**จับแพะชนแกะในสไตล์เนปาล**

ในเนปาลนั้น ความแตกต่างระหว่างชาวพุทธกับชาวฮินดู บ่อยครั้งทีเดียวมักเป็นเพียงในนามเท่านั้นเอง มีวัดหลายแห่งในเนปาลที่รูปปั้นศิลารูปเดียวกัน ได้รับการเคารพบูชาทั้งจากพระฮินดูและพระสงฆ์พุทธ ประเพณี “กุมารี” ก็เป็นตัวอย่างอันน่าตื่นใจตัวอย่างหนึ่งในเรื่องเช่นนี้ ตามประเพณีนี้ เด็กสาวแรกรุ่นผู้หนึ่งจะได้รับคัดเลือกให้เป็น “กุมารี” หรือเทวดาผู้หญิงของทางฮินดู ทว่ากฎเกณฑ์การคัดเลือกระบุว่า เธอต้องมาจากครอบครัวที่เป็นชาวพุทธเท่านั้น กุมารีจะปรากฏตัวในที่สาธารณะอย่างน้อยปีละครั้ง และทำหน้าที่ประสาทพรแด่กษัตริย์ผู้ปกครองประเทศ

ทว่าวัฒนธรรมกำลังเป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้นในเนปาลเวลานี้ ดังนั้น ภายหลังมีการเลิกล้มระบอบกษัตริย์ในเดือนพฤษภาคม เวลานี้กุมารีจึงหันมาทำหน้าที่ประสาทพรให้แก่ประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้ง

เมื่อพิจารณาจากทัศนคติของชาวเนปาลที่ทั้งมีความเลื่อมใสศรัทธาอิทธิปาฏิหาริย์ และทั้งมีความเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ผสมปนเปกันไปหมด เรื่องราวของบัมจันจึงก่อให้เกิดแง่คิดคำนึงในทางเหน็บแนมเสียดสีอยู่ไม่ใช่น้อย

รัฐบาลยุคหลังระบอบกษัตริย์ในชุดปัจจุบันนี้ ประกอบไปด้วยชาวคอมมิวนิสต์ที่ไม่ได้สนับสนุนส่งเสริมเรื่องศาสนาเลย ตัวอย่างเช่น ประจันตา ผู้นำกลุ่มเหมาอิสต์ ก็คอยหลีกเลี่ยงพิธีเฉลิมฉลองและเทศกาลฮินดูอยู่เรื่อย ถ้าหากเขาต้องเข้าร่วมงานพิธีทางศาสนาใดๆ ขึ้นมาแล้ว ก็มักเป็นที่รับรู้เป็นที่เข้าใจกันว่านั่นคือแบบฝึกหัดทางการประชาสัมพันธ์ ซึ่งมุ่งมองไปที่คะแนนเสียงจากชุมชนใดชุมชนหนึ่ง (ครั้งหนึ่งหนังสือพิมพ์หลายฉบับเคยตีพิมพ์ภาพที่เขาอยู่ท่ามกลางชาวมุสลิมผู้สวมหมวกที่ใส่กันในตอนทำละหมาด)

ในขณะที่เนปาลกำลังแปรเปลี่ยนจากระบอบกษัตริย์ศาสนาฮินดู ไปเป็นสาธารณรัฐที่แยกศาสนาออกจากการเมืองเช่นนี้ พวกผู้สังเกตการณ์ก็เชื่อว่า ประเทศนี้กำลังเปิดตัวเองอย่างไม่เจตนาให้แก่พวกนักชักชวนให้เปลี่ยนศาสนาที่มาจากกลุ่มลัทธิศาสนาต่างๆ จำนวนมาก แม้กระทั่งชาวเหมาอิสต์หลายคนที่ถือว่าพวกตนเป็นพวกอเทวนิยม หรือเป็นพวกไม่เชื่อเรื่องพระเจ้ามีจริง ก็ยังมีเสียงเล่าขานกันว่าผู้นำระดับสูงของกลุ่มนี้บางคนกำลังถูกเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวโดยพวกองค์การลัทธิศาสนาที่มั่งคั่งร่ำรวย อย่างเช่น ยูนิฟิเคชั่น เชิร์ช (โบสถ์แห่งความสามัคคี หรือบางทีก็เรียกกันว่าลัทธิมูน) ของสาธุคุณ ซันเมียงมูน

**ฤา“พระพุทธเจ้าน้อย”ก็แค่เล่ห์กลลวงโลก**

ผู้เลื่อมใสศรัทธาจำนวนมากที่กำลังแวดล้อมบัมจันอยู่ในเวลานี้ ต่างพูดถึงประสบการณ์ของพวกเขาด้วยถ้อยคำในลักษณะเทิดทูนบูชา (“ช่างป็นประสบการณ์ที่น่าอัศจรรย์เหลือเกินที่ได้ยินเสียงของท่านได้เห็นตัวท่าน” ผู้หญิงชื่อ ซังกีตา ลามา บอกกับสำนักข่าวแอสโซซิเอเต็ดเพรส)

ทว่าคนอื่นๆ แสดงความรู้สึกแคลงใจสงสัยมากกว่านั้น รวมทั้งทางฝ่ายรัฐบาลด้วย เจ้าหน้าที่รัฐบาลหลายรายบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า ทางตำรวจกำลังสอบสวนเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนว่า คนชาติเกาหลีผู้หนึ่งเป็นผู้วางแผนประสานงานสร้างเรื่องราวทั้งหมดเหล่านี้ขึ้นมา ขณะเดียวกัน คนในท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งก็เรียกความคลั่งไคล้ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ว่า เป็นเพียงฉากกำบังการเข้ายึดพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์ผืนใหญ่ พวกเขาอ้างว่าศาสนาของพวกเขากำลังถูกหยิบฉวยนำมาใช้หาประโยชน์อย่างมิชอบ

ยังคงมีความข้องใจกันอย่างไม่รู้คลายเช่นกัน ในเรื่องที่ว่าทำไมจึงยังไม่ได้มีการให้แพทย์มาตรวจร่างกาย เพื่อวินิจฉัยกันให้ชัดๆ ไปเลยว่า บัมจันนั้นงดเว้นอาหารและน้ำดื่มในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจริงหรือเปล่า นอกจากนั้น หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมจึงมีการสั่งห้ามผู้ฟังเทศน์ อย่าได้ถามคำถามใดๆ เกี่ยวกับวิธีการทำสมาธิของบัมจัน

มีรายงานชิ้นหนึ่งอ้างว่า นักหนังสือพิมพ์ชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งได้บันทึกภาพที่บัมจัน “กำลังแทะผลไม้กินในช่วงเวลาที่อ้างกันว่าอยู่ระหว่างการอดอาหาร” และตามรายงานของชาวออสเตรเลียผู้หนึ่ง ได้กล่าวว่า “ผู้สื่อข่าวอีกคนหนึ่งพบว่าเขาหลับไปในขณะที่อ้างกันว่าเขากำลังนั่งสมาธิอยู่”

รายงานของสื่อต่างๆ ยังระบุด้วยว่า ตอนที่บัมจันปรากฏตัวขึ้นมาในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ครั้งแรกเมื่อ 3 ปีก่อน ได้ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสบริจาคเงินให้เขาเป็นจำนวนรวมแล้วประมาณ 700,000 รูปี (ราว 9,022 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ในเวลานั้น พวกเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบพบว่ามีคนของกลุ่มเหมาอิสต์กำลังทำเงินทำทองจากความเชื่อถือไสยศาสตร์อย่างงมงายในอาณาบริเวณนั้น เวลาต่อมาตำรวจก็ได้ยึดเงินบริจาคเหล่านั้นไป

อย่างไรก็ตาม การปรากฏขึ้นมาของบัมจัน ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ หรือเป็นพวกนักต้มตุ๋นก็ตามที ย่อมนับเป็นเหตุการณ์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับประเทศเนปาลที่กำลังเปลี่ยนแปลง กระแสตื่นตูมและความเกินเลยทั้งหลายที่มีแรงบันดาลใจจากตัวเขา ควรจะต้องพินิจพิจารณาไปพร้อมๆ กับความสุขความปีติที่เขานำมาให้แก่ผู้เลื่อมใสศรัทธา

ด้วยการมีรัฐบาลที่ประกอบด้วยนักอเทวนิยมในระบอบประชาธิปไตย ขณะที่สายตาอันระแวดระวังตัวก็ต้องจับจ้องไปที่ความขัดแย้งทางศาสนาในบรรดาชาติเพื่อนบ้าน ประเทศเนปาลใหม่ยังคงไม่มีความกระจ่างชัดเจนว่า จะให้บทบาทอย่างไรแก่เรื่องศาสนา

แต่ถึงอย่างไร หนุ่มวัยรุ่นนาม รัม บาฮาดูร์ บัมจัน ก็ยังอาจจะนำความรู้แจ้งบางอย่างบางประการมาให้แก่ประเทศนี้อยู่นั่นเอง

ธรุบา อธิการี เป็นอดีตผู้อำนวยการสถาบันหนังสือพิมพ์เนปาล เวลานี้เขาเป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งพำนักอยู่ที่กรุงกาฐมาณฑุ

ชาร์ลส์ แมคเดอร์มิด เป็นผู้สื่อข่าวของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งพำนักอยู่ในประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น