xs
xsm
sm
md
lg

นาโต้บุกเข้ามหาสมุทรอินเดีย (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

NATO reaches into the Indian Ocean
By M K Bhadrakumar
20/10/2008

องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) เคลื่อนกำลังทางนาวีเข้าไปในมหาสมุทรอินเดีย โดยอ้างเหตุผลต่อภายนอกว่าเพื่อต่อสู้ปราบปรามโจรสลัด ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือเป็นหลักหมายสำคัญในการเปลี่ยนโฉมองค์การพันธมิตรทางทหารแห่งนี้ นอกจากนั้น การที่อินเดียได้ตัดสินใจส่งเรือรบลำหนึ่งเข้าไปยังอาณาบริเวณดังกล่าวด้วย ก็ไม่ได้เป็นเหตุพ้องกันโดยบังเอิญเลย หากแต่แดนภารตะกำลังกลายเป็นตัวเชื่อมโยงอันสำคัญยิ่งยวด ในสายโซ่แห่งอิทธิพลที่สหรัฐฯวางแผนสร้างขึ้น ซึ่งจะรวมเอาศรีลังกา และสิงคโปร์เข้ามาด้วย อย่างไรก็ตาม ทางด้านรัสเซียไม่ได้อยู่เฉย หากดำเนินการตอบโต้ในทันที เพื่อแสดงให้เห็นว่า มอสโกก็มีสมรรถนะและมีเจตนารมณ์ที่จะสู้รบใน “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” ในย่านมหาสมุทรอินเดียเช่นกัน

*รายงานนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**รัสเซียฟื้นชีพฐานทัพเรือยุคโซเวียต**

แน่นอนทีเดียว บรรดารัฐริมมหาสมุทรอินเดียย่อมต้องสังเกตเห็นความรีบร้อนของนาโต้และอินเดีย ในการส่งกำลังนาวีไปยังเส้นทางทะเลซึ่งมีความสำคัญยิ่งยวดสำหรับประเทศในเอเชียทั้งหลาย การค้าและการนำเข้าน้ำมันของจีนจะต้องกระทำผ่านสายเดินเรือทะเลสายนี้ แต่กระนั้นจีนก็เพียงรายงานข่าวการเคลื่อนกำลังของนาโต้โดยไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ตรงกันข้ามกับรัสเซีย ซึ่งไม่แยแสที่จะรายงานข่าว ทว่ามุ่งดำเนินการตอบโต้อย่างรีบด่วนมากกว่า

ในวันอังคารที่ 14 ตุลาคม ขณะที่กองเรือรบของนาโต้กำลังออกเดินทางมุ่งสู่มหาสมุทรอินเดียนั้นเอง ก็มีรายงานในกรุงมอสโกว่า เรือฟรีเกตติดขีปนาวุธลำหนึ่งจากกองกำลังนาวีภาคพื้นทะเลบอลติกของรัสเซีย –ซึ่งมีชื่ออย่างเหมาะเจาะกับสถานการณ์มากว่า “เนอูสตราชิมี” [ไร้ความกลัว]-กำลังมุ่งหน้าไปมหาสมุทรอินเดียแล้ว “เพื่อต่อสู้ภัยโจรสลัดบริเวณนอกชายฝั่งโซมาเลีย” ทั้งนี้มอสโกอ้างว่ารัฐบาลโซมาเลียได้ขอร้องให้รัสเซียไปช่วยเหลือ

อีกสองวันต่อมา คือวันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม ขณะที่กระทรวงกลาโหมอินเดียกำลังแถลงข่าวการส่งเรือรบของตน ก็มีการเปิดเผยโดยประธานสภาสูงแห่งรัฐสภารัสเซีย เซเกย์ มิโรนอฟ นักการเมืองทรงอิทธิพลผู้ใกล้ชิดกับวังเครมลิน ว่ารัสเซียอาจจะรื้อฟื้นกลับไปใช้ฐานทัพเรือในยุคโซเวียตของตนที่ตั้งอยู่ในเยเมน น่าสนใจมากว่ามิโรนอฟพูดเรื่องนี้ขณะกำลังเยือนกรุงซานา เมืองหลวงของเยเมน เขากล่าวว่าเยเมนขอความช่วยเหลือจากรัสเซียในการต่อสู้กับโจรสลัดตลอดจนภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ก่อการร้าย และจะมีการตัดสินใจกันในมอสโกเพื่อตอบสนองคำขอนี้โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับ “ทิศทางใหม่” ของนโยบายการต่างประเทศและนโยบายกลาโหมของรัสเซีย

“มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการพิจารณาไม่เพียงแง่มุมของการส่งเรือรบรัสเซียมาเยี่ยมเยียนเมืองท่าต่างๆ ของเยเมนเท่านั้น แต่ยังเรื่องการใช้เมืองท่าเหล่านี้เพื่อเป้าหมายทางยุทธศาสตร์กว้างไกลยิ่งขึ้นอีกด้วย” มิโรนอฟกล่าว เขายังเปิดเผยต่อไปว่า ประธานาธิบดี อาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ ของเยเมน มีกำหนดจะไปเยือนมอสโกในอนาคตอันใกล้นี้ และวาระที่จะหารือกันเรื่องหนึ่งก็คือความร่วมมือทางการทหารและเทคนิคระหว่างสองประเทศ สิ่งที่ต้องถือว่าสำคัญก็คือ มิโรนอฟอธิบายว่า เยเมนกำลังรู้สึกถึงภัยคุกคามจากกลุ่มต่างๆ ที่โยงใยกับอัลกออิดะห์ ซึ่งอาจจะกำลังซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่โซมาเลีย (สหภาพโซเวียตเคยมีฐานทัพเรือขนาดใหญ่ในอดีตเยเมนใต้ ซึ่งได้ผนวกรวมกับเยเมนเหนือในปี 1990 และกลายเป็นประเทศเยเมนในปัจจุบัน)

โดยเนื้อหาสาระแล้วย่อมเท่ากับว่า มอสโกกำลังส่งสัญญาณถึงวอชิงตัน (รวมทั้งนิวเดลีและเมืองหลวงของรัฐริมมหาสมุทรอินเดียอื่นๆ) ว่ารัสเซียก็สามารถเล่นเกมของนาโต้ได้ อีกทั้งมีสมรรถนะและเจตนารมณ์ที่จะสู้รบใน “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” ในย่านมหาสมุทรอินเดียเช่นกัน

ประเด็นมีอยู่ว่า โซมาเลียนั้นไม่ได้มีรัฐบาลที่ทรงประสิทธิภาพเอาเลย และข้ออ้างของนาโต้ (ตลอดจนอินเดีย) ที่ว่าได้รับการอนุญาต/คำขอ จากกรุงโมกาดิชูให้ดำเนินการลาดตระเวนทางนาวีในเขตน่านน้ำของประเทศนี้ได้ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องพูดว่าฟังไม่ขึ้นเลย ขณะเดียวกันก็ต้องถือเป็นเรื่องที่ยังคลุมเครือว่าการลาดตระเวนดังกล่าวเมื่อกระทำในเขตทะเลหลวง จะสอดคล้องต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ นาโต้ยังพยายามป้องกันตัวโดยใช้บริบทที่ว่าการเคลื่อนกำลังทหารคราวนี้เป็นการตอบสนองคำขอของ บันคีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ แต่ก็นั่นแหละ บันไม่เคยกระทำอะไรโดยที่ไม่มองถึงความปรารถนาของวอชิงตันก่อนเลย

เห็นชัดเจนว่า รัสเซียกำลังสร้างที่ยืนเล็กๆ ของตนขึ้นมาโดยถือเป็นเรื่องหลักการ ด้วยการยืนยันกับนาโต้และ “หุ้นส่วน” ในภูมิภาคแถบนี้ว่า พวกเขาไม่สามารถที่จะสงวนบทบาทการเป็นตำรวจในมหาสมุทรอินเดีย เอาไว้แสดงเฉพาะในหมู่พวกเขาเองได้หรอก

**ยะเยือก“สงครามเย็น”ครั้งใหม่**

พูดกันตามหลักเหตุผลแล้ว ในส่วนของสหรัฐฯและอินเดียนั้น ก่อนที่จะดำเนินการเรื่องเหล่านี้ น่าที่จะพิจารณากันดูก่อนว่า ปัญหาภัยโจรสลัดในทะเลเช่นนี้ควรที่จะจัดการโดยอาศัยความริเริ่มระดับภูมิภาคของบรรดารัฐชายฝั่งในอาณาบริเวณนี้เสียก่อนเป็นเบื้องแรกหรือไม่ อันที่จริงแล้วอินเดียมีเวทีความร่วมมือกับพวกประเทศริมมหาสมุทรอินเดียอยู่แล้ว ทว่ากลับไม่ได้มีการศึกษาทางเลือกนี้กันเลย ตรงกันข้าม นาโต้-อินเดียและรัสเซียกลับเร่งรีบที่จะเข้ารับบทบาทเป็นตำรวจ ทั้งๆ ที่อย่างน้อยที่สุดก็ควรต้องมีการปรึกษาหารือระดับภูมิภาคกันเสียก่อน เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยร่วมกัน แต่นี่ก็ดูเหมือนจะไม่เกิดชึ้นเช่นเดียวกัน

ปรากฏชัดเจนว่า ระลอกแรกๆ ในการระเบิดเข้าใส่กันของสงครามเย็นครั้งใหม่ ปะทุขึ้นในเขตมหาสมุทรอินเดียเช่นนี้โดยที่มีฉากหลังเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ

กองบัญชาการทหารระดับเขตแห่งใหม่ของสหรัฐฯ นั่นคือ แอฟริคอม (Africom) เพิ่งเข้ารับมอบหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯทั้งหมดในแอฟริกาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นมา ก่อนหน้านี้ แอฟริกาอยู่ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการทหารเขตกลาง (Central Command) ความรับรู้เข้าใจกันอย่างกว้างขวางในแอฟริกาก็คือ แอฟริคอมเป็นสัญญาณแสดงถึงวาระแอบแฝงของสหรัฐฯที่จะช่วงชิงทรัพยากรต่างๆ ภายใต้ข้ออ้างเรื่อง “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย”

สำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “แรงต่อต้านแอฟริคอมในหมู่รัฐบาลต่างๆ ของแอฟริกาอยู่ในระดับแข็งแกร่งมาก จนกระทั่งบรรดาผู้บัญชาการทหาร [สหรัฐฯ] ต้องยกเลิกความทะเยอทะยานในตอนแรกๆ ของพวกตน ที่จะก่อตั้งกองบัญชาการขึ้นในทวีปนี้ เวลานี้จึงต้องไปตั้งที่เมืองชตุทท์การ์ท (ประเทศเยอรมนี) โดยที่มีนายทหารติดต่อของแอฟริคอมราวยี่สิบคนไปรับตำแหน่งอยู่ตามสถานทูตต่างๆ”

รายงานข่าวนี้กล่าวต่อไปว่า “ความระแวงสงสัยของชาวแอฟริกันบางส่วนก็มีรากเหง้าจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต มรดกยุคสงครามเย็นของวอชิงตันที่มีการสนับสนุนพวกเผด็จการผู้โหดเหี้ยม เมื่อสมทบกับประวัติศาสตร์สมัยอาณานิคมอันน่าเศร้าของแอฟริกา จึงกลายเป็นการหว่านเพาะความไม่ไว้วางใจชาวต่างชาติขึ้นมา และคนจำนวนมากทีเดียวเชื่อว่ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลยที่แอฟริคอมถือกำเนิดขึ้น ในขณะที่พวกทรงอำนาจอิทธิพลที่กำลังผงาดขึ้นมาใหม่เฉกเช่นจีนและอินเดีย กำลังเริ่มดำเนินการช่วงชิงครั้งใหม่ต่อทรัพยากรณ์ที่กำลังมีคุณค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของทวีปนี้”

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯยอมรับอย่างเป็นทางการว่า แอฟริคอมและนาโต้ได้รับการคาดการณ์ไว้ว่าจะมีการเชื่อมโยงกันในระดับสถาบันในระยะต่อไป ยุทธศาสตร์โดยรวมของสหรัฐฯจึงปรากฏชัดว่า คือ การนำเอานาโต้เข้าไปในแอฟริกามากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้องค์การนี้แสดงบทบาทในอนาคตในเขตมหาสมุทรอินเดีย (และตะวันออกกลาง) ในฐานะเครื่องมือสำหรับบรรลุวาระด้านความมั่นคงปลอดภัยระดับโลกของสหรัฐฯ อย่างบังเกิดผลอันน่าพึงพอใจที่สุด

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ประสบความสำเร็จในเขตมหาสมุทรอินเดีย นาโตจำเป็นจะต้องผูกเป็นพันธมิตรกับรัฐริมชายฝั่งที่สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ อินเดีย, ศรีลังกา, และสิงคโปร์ ทั้งนี้สิงคโปร์คือพันธมิตรของสหรัฐฯมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลจุดคอขวดอันสำคัญยิ่ง อันได้แก่ช่องแคบมะละกา

**ปิดเกมการก่อความไม่สงบของพวกทมิฬ**

สำหรับศรีลังกานั้น ในทัศนะมุมมองของสหรัฐฯแล้ว การที่ประเทศนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญยิ่ง โดยสามารถจับตามองช่องทางทางทะเลที่เชื่อมโยงระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับช่องแคบมะละกา ถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างใหญ่หลวง เกาะแห่งนี้มีความเหมาะสมมากที่จะแสดงบทบาทเป็นเสมือนเรือบรรทุกเครื่องบินประจำที่ถาวร วอชิงตันกำลังผลักดันให้ศรีลังกาจัดการแก้ไขปัญหาชาวทมิฬ ด้วยการใช้กำลังทหารไม่ว่าจะต้องสิ้นค่าใช้จ่ายกันเท่าใดก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้ชนชั้นนำทางการเมืองชาวสิงหลซึ่งฝักใฝ่ฝ่ายตะวันตก สามารถที่จะมุ่งความสนใจไปในเรื่องการผูกพันศรีลังกาให้เข้ากับยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคของสหรัฐฯ และปฏิบัติการโดยประสานสอดคล้องกับอินเดียและสิงคโปร์

เห็นกันได้ง่ายๆ เลยว่าการเล่นเพื่อปิดเกมการก่อความไม่สงบของพวกทมิฬได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เพราะหากการก่อความไม่สงบเช่นนี้ดำเนินต่อไป ก็มีแต่จะบังคับศรีลังกาให้ต้องแสวงหาความช่วยเหลือจากฝ่ายต่างๆ ภายนอก รวมทั้งแหล่งภายนอกอย่างเช่น อิหร่าน, ปากีสถาน, และจีน ชนชั้นนำชาวสิงหลยินดีที่จะเลิกราการพึ่งพาดังกล่าวนี้ และหันไปดำเนินนโยบายในทิศทางเดินตามตะวันตก ถ้าหากมีโอกาสอำนวยให้ทำเช่นนี้ได้

สหรัฐฯกับอินเดียมีการประสานร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในนโยบายต่างๆ ของพวกเขาที่มีต่อสถานการณ์ในศรีลังกา โดยที่ต่างก็ขบคิดคำนึงถึงยุทธศาสตร์เชิงภูมิรัฐศาสตร์ในมหาสมุทรอินเดีย การกวาดล้างการก่อความไม่สงบของพวกทมิฬ และฟื้นฟูสมรรถนะของศรีลังกาที่จะทำงานประสานไปกับยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในมหาสมุทรอินเดีย จึงกำลังกลายเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งวอชิงตันและนิวเดลีต่างกระจ่างชัดเจนในเรื่องนี้

ทว่าเมื่อพิจารณาถึงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในมหาสมุทรอินเดียโดยภาพรวมแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าอินเดียนั่นแหละคือเพชรประดับยอดมงกุฎ ข้อเท็จจริงธรรมดาๆ มีอยู่ว่า เฉกเช่นเดียวกับสิงคโปร์และศรีลังกา อินเดียก็มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ชนิดไร้ที่ติ นอกจากนั้นยังแถมมีมัดกล้ามทางทหารอันสำคัญมากอีกด้วย สหรัฐฯตั้งอกตั้งใจบ่มเพาะพวกนายทหารระดับสูงในกองทัพอินเดียมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกองทัพเรือแดนภารตะ วอชิงตันฉลาดมากในการเล่นกับความทะเยอทะยานและผลประโยชน์แบบบรรษัทของกองทัพเรืออินเดีย โดยเฉพาะความปรารถนาที่จะแสดงบทบาทอันสำคัญและขยายตัวออกไปในมหาสมุทรอินเดีย กองทัพเรืออินเดียนั้นหลงใหลได้ปลื้มอยู่กับแนวความคิดที่จะได้เข้าถึงเทคโนโลยีด้านกลาโหมของสหรัฐฯ และนิวเดลีเพิ่งตระหนักในตอนหลังๆ มานี้เองว่า กองทัพเรือของตนนี่แหละ เป็นเครื่องมือทรงอำนาจมากสำหรับการเดินนโยบายการต่างประเทศและการทูต

ทำนองเดียวกัน วอชิงตันก็หลักแหลมยิ่งในการทำงานกับความหวาดกลัวของอินเดีย ในเรื่องที่อาจจะถูก “ขีดวงล้อม” โดยจีน ขณะที่ยังอาจจะไม่ถึงกับมีฉันทามติกันเสียทีเดียวเกี่ยวกับเรื่องขนาดขอบเขต, ความเร็ว, และผลลัพธ์ จากการเคลื่อนเข้าไปในมหาสมุทรอินเดียของจีน แต่ประชาคมด้านยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯและอินเดียก็เห็นพ้องต้องกันว่า จีนเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จำเป็นต้องคอยติดตามจับตา พลานุภาพ, ความตั้งใจ, และบาทที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของจีนในมหาสมุทรอินเดีย ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะกลายเป็นหัวข้อ “ร้อนๆ” ในการขบคิดพิจารณาของสหรัฐฯ-อินเดีย

เราพอจะนึกภาพออกว่า ข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ในกิจการพลเรือนระหว่างสหรัฐฯกับอินเดียที่เพิ่งทำกันไปเมื่อเร็วๆ นี้ น่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือกันทางทหาร โดยที่การจับมือกันระหว่างกองทัพเรือกับกองทัพเรือ ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นอย่างยาวนานเก่าแก่ที่สุดและแข็งแกร่งที่สุดอยู่แล้ว วอชิงตันยืนยันว่าการที่ตนเองยินดีต้อนรับอินเดียนั้น ก็โดยที่ถือว่านิวเดลีเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาคและเป็นผู้เล่นที่มีความเป็นอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นมหาอำนาจทางนาวี อีกทั้งแรงกระตุ้นที่ทำให้ตนต้องการคบหาอินเดีย ก็มีมากมายกว่าเพียงเรื่อง “การถ่วงดุล” หรือ “การปิดล้อม” จีนเท่านั้น ทั้งนี้บางภาคส่วนที่ทรงอิทธิพลในประชาคมทางยุทธศาสตร์ของอินเดีย ย่อมมีความโน้มเอียงที่จะเชื่อถือในถ้อยคำเหล่านี้ของวอชิงตัน

ดังนั้น เมื่อวินิจฉัยดูแล้ว ก็เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้โดยตลอดว่า นิวเดลีเคลื่อนกำลังทางเรือของตน โดยที่มีการปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ภายในกรอบโครงแห่ง “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ที่ทั้งสองประเทศต่างยกย่องสรรเสริญกันไว้มาก ขณะเดียวกันก็มีการพิจารณาถึงสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากการตัดสินใจของนาโต้ ตลอดจนจากการเปิดตัวกองบัญชาการเขตแอฟริคอมอย่างเป็นทางการของเพนตากอน

การตัดสินใจของอินเดียนั้นให้น้ำหนักแก่การปราบปรามโจรสลัดโซมาเลียมากน้อยแค่ไหน และให้น้ำหนักแก่การเป็นส่วนหนึ่งในความเคลื่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์เพื่อครอบงำมหาสมุทรอินเดียมากน้อยเพียงใดนั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการคาดเดากันเท่านั้น

แม้กระทั่งโจรสลัดในทะเลแคริบเบียนที่เฉลียวฉลาดมากอย่าง กัปตัน แจ๊ก สแปร์โรว์ ก็ยังต้องถูกปล่อยให้สงสัยว่า ควรใช้ไหวพริบปฏิภาณและทำการเจรจาต่อรอง หรือว่าควรที่จะต่อสู้รบราดีกว่า -หรือว่าควรจะต้องหลบหนีออกไปจากสถานการณ์ที่มีอันตรายอย่างที่สุด

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยทำงานเป็นนักการทูตอาชีพของกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยไปประจำตามประเทศต่างๆ จำนวนมาก อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี

  • นาโต้บุกเข้ามหาสมุทรอินเดีย(ตอนแรก)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น