xs
xsm
sm
md
lg

ยังผวา ศก.แย่หลังน้ำมันดำดิ่ง-หุ้นโลกทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการค้าหุ้นในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ
เอเจนซี/เอเอฟพี - ความหวาดผวาเศรษฐกิจก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยทั่วโลก ยังทำให้ตลาดหลักทรัพย์ดำดิ่งอย่างแรงวานนี้ (23) แม้รัฐบาลหลายประเทศออกมาตรการใหม่ๆ มุ่งปกป้องธุรกิจและธนาคาร ด้านน้ำมันดิบ ราคารูดลง 7% จนไม่ถึงบาร์เรลละ 67 ดอลลาร์แล้ว ก่อนดีดกลับขึ้นไปได้บ้าง รับการประชุมโอเปกวันนี้ ที่คาดจะมีการลดเพดานผลิต

หลังจากวอลล์สตรีทปิดเมื่อวันพุธ (22) ทรุดฮวบอยู่ในแดนสีแดงเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ -5.69% เอสแอนด์พี 500 -6.10% และแนสแดค 4.77% ข้ามมาทางฟากเอเชียวานนี้ ทุกตลาดก็อยู่ในอาการย่ำแย่เช่นกัน

ดัชนีนิกเกอิของโตเกียวมีอยู่ช่วงหนึ่งหล่นลงมาถึงกว่า 7% จนอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2003 ก่อนที่จะกลับกระเตื้องดีขึ้นบ้าง และปิดวานนี้ที่ -2.46% ทางด้านตลาดฮ่องกง -3.6%, สิงคโปร์ -4.14%, ซิดนีย์ -4.4%, โซล -7.4%, เซี่ยงไฮ้ -1.07%, และมุมไบ -3.92%

"ตลาดก็ยังคงอยู่ในอาการน่าอับอายเท่านั้นเอง" เป็นความเห็นอย่างท้อแท้ของริก คลุสแมน ดีลเลอร์แห่งบริษัทหลักทรัพย์ เอกุส ซีเคียวริตีส์ ในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย "ตอนนี้ยังคงมองไม่เห็นแสงสว่างจากทางปลายอุโมงค์อีกฟากหนึ่งเลย"

ทางด้านยุโรป ในช่วงใกล้ๆ เที่ยงวานนี้ ลอนดอน -1.78%, ปารีส -3.11%, และแฟรงเฟิร์ต -2.91% ขณะที่วอลล์สตรีทเปิดตลาดวานนี้ สามารถขยับขึ้นอยู่ในแดนบวก ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ขยับขึ้น 1.53% ในช่วง 5 นาทีแรกของการซื้อขาย

ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกยังคงตกกราวรูด ถึงแม้มีความพยายามของรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่จะประกาศมาตรการใหม่ๆ ในการรับมือกับปัญหา ตั้งแต่ทำเนียบขาวประกาศความคืบหน้าของการจัดประชุมระดับผู้นำของโลกเพื่อหารือกันถึงวิธีต่อสู้กับวิฤต โดยที่จะประชุมซัมมิตกลุ่ม จี20 กันในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้

ทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น แจ้งว่า ได้อัดฉีดเงินสดอีก 600,000 ล้านเยน (6,200 ล้านดอลลาร์) เข้าไปในตลาดเงินระยะสั้น,แบงก์ชาติสวีเดนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยสำคัญลงมา 0.5%, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตรียมตัวปล่อยเงินกู้เพื่อช่วยปากีสถานที่ทำท่าจะต้องหยุดพักการชำระหนี้ต่างประเทศ โดยคาดกันว่าเงินกู้ที่ไอเอ็มเอฟจะปล่อยให้คราวนี้อาจจะเท่ากับ 15,000 ล้านดอลลาร์

รอเบิร์ต เฮนเดอร์สัน นักวิเคราะห์ของเอ็นเอบี แคปิตอล ชี้ว่า เนื่องจากมีความกังวลใจเพิ่มขึ้นทุกทีเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจจะจมลงสู่ภาวะถดถอยกันทั่วโลก นักลงทุนจึงพากันทิ้งสินทรัพย์ที่มีความอ่อนไหวกับภาวะเติบโตขยายตัว

เขาเตือนด้วยว่า ขณะที่พวกเศรษฐกิจสำคัญๆ ของโลกไม่ได้มีความสดใสเลยนั้น แต่ "ภาพของพวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่กลับจะยิ่งน่าเกลียดไปกว่านั้นอีก"

คำเตือนเช่นนี้มีข้อเท็จจริงรองรับชัดเจน นั่นคือนักลงทุนกำลังทิ้งหุ้นของประเทศตลาดเกิดใหม่กันขนานใหญ่ เห็นได้จากดัชนีหุ้นตลาดเกิดใหม่หลักๆ ของ เอ็มเอสซีไอ ปรากฏว่าเมื่อวานนี้ติดลบไป 4.3% อยู่ในระดับเกือบจะทำสถิติต่ำสุดใหม่ในรอบ 4 ปี หลังจากที่ได้ดำดิ่งอย่างแรงมาในวันพุธรอบหนึ่งแล้ว เฉพาะในเดือนนี้ มูลค่าหุ้นที่อยู่ในดัชนีตัวนี้ ได้หดหายไปแล้วเกือบ 35% ทีเดียว

"เวลานี้แทบไม่มีข้อโต้แย้งกันอีกแล้ว ในเรื่องที่ว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับช่วงเวลาเจริญเติบโตต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะยอมรับ และภาวะถดถอยในระบบเศรษฐกิจที่เจริญก้าวหน้าจำนวนมาก ก็ดูมีความเป็นไปได้เพิ่มมากขึ้นอีก" โกลด์แมนแซคส์กล่าวไว้ในรายงานการวิจัยส่งถึงลูกค้า

รอยเตอร์ บอกว่า พวกนักลงทุนได้ถอยหนีออกจากบรรดาตลาดเกิดใหม่กันตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา และยิ่งเร่งตัวขึ้นอีกในสัปดาห์นี้ สภาพเช่นนี้มีส่วนผลักดันให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าแข็งโป๊กสู่ระดับใหม่ เนื่องจากทั้งมีการนำเอาเงินกลับจากต่างประเทศเข้ามาในสหรัฐฯ ตลอดจนมีแรงเข้ามาซื้อสินทรัพย์พวกพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ยังคงถือกันว่ามีความมั่นคงปลอดภัยกว่าสินทรัพย์อื่นๆ

**ราคาน้ำมันดำดิ่งก่อนดีดขึ้น**

ทางด้านราคาน้ำมันดิบของโลก ปรากฏว่าเมื่อวันพุธดิ่งรูดภายในวันเดียวกว่า 5 ดอลลาร์ หรือราว 7 เปอร์เซ็นต์ลงมาอยู่ที่ระดับ 66 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ภายหลังกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ แถลงปริมาณน้ำมันดิบในคลังทั่วประเทศเพิ่มเกินคาด ซึ่งยิ่งตอกย้ำสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก อาจชะลอความต้องการพลังงานลงอีก ก่อนจะมีแรงดีดกลับขึ้นมาอีกกว่า 1 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี (22) เนื่องจากตลาดกลับมาสนใจข่าวการตั้งท่าจะลดกำลังการผลิตของโอเปก

ทั้งนี้เมื่อวันพุธ (22) สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ ขยับลงมา 5.43 ดอลลาร์ ปิดที่ 66.75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยที่มีช่วงหนึ่งของการซื้อขายราคาน้ำมันถอยลงไปจนถึง 66.20 ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์ของลอนดอนขยับลงมา 5.20 ดอลลาร์ ปิดที่ 64.52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ต่อมาระหว่างการซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์วานนี้ (23) เมื่อถึงเวลา 11.10 น.จีเอ็มที (18.10 น.เวลาเมืองไทย) น้ำมันดิบไลต์สวีตครูดดีดขึ้นมา 1.19 เหรียญสหรัฐฯ ขึ้นมาอยู่ที่ 67.94 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเบรนต์เพิ่มขึ้น 1.20 ดอลลาร์ อยู่ที่ 65.72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

บรรดารัฐมนตรีน้ำมันของกลุ่มโอเปกเริ่มทยอยเดินทางไปถึงกรุงเวียนนาแล้ว เพื่อประชุมฉุกเฉินกันในวันนี้ ซึ่งเป็นการเลื่อนให้เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมที่จะหารือในวันที่ 18 พฤศจิกายน

ในสภาพที่ราคาน้ำมันลดฮวบลงอย่างรวดเร็ว จนเวลานี้ซื้อขายกันในระดับแค่ครึ่งเดียวของราคาที่เคยทำสถิติสูงสุดที่ 147.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อเดือนกรกฎาคม จึงเป็นที่คาดหมายกันว่าการประชุมโอเปกคราวนี้ น่าจะมีมติลดเพดานการผลิตลงมา เพียงแต่ว่าจะลดลงมากน้อยขนาดไหน

บุคคลสำคัญที่สุดที่ถูกจับตามองว่าจะมีท่าทีอย่างไรในการประชุมโอเปก ย่อมต้องเป็นรัฐมนตรีน้ำมันซาอุดีอาระเบีย อาลี อัล นาอิมี แต่ปรากฏว่าตอนที่ไปถึงกรุงเวียนนาวานนี้ เขาเพียงแต่พูดว่าราคาน้ำมันควรต้องตัดสินโดยตลาด และไม่ยอมปริปากว่าเขาเห็นว่าจำเป็นต้องลดการผลิตลงหรือไม่

ขณะที่ก่อนหน้านั้น รัฐมนตรีน้ำมัน โกลัมฮอสเซน โนซารี ของอิหร่าน ที่ถือเป็นผู้นำของสายเหยี่ยวในโอเปก ได้กล่าวย้ำว่า โอเปกจำเป็นต้องลดการสูบน้ำมันอย่างน้อย 2 ล้านบาร์เรลต่อวันทีเดียว

แหล่งข่าวหลายรายในโอเปก มองว่า คงจะต้องมีการตัดลดปริมาณการผลิตอย่างน้อย 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วน ชาคิบ เคลิล ประธานโอเปกวาระปัจจุบันซึ่งเป็นรัฐมนตรีน้ำมันของแอลจีเรีย ได้แถลงว่า คงจะต้องมีการพบปะประชุมกันมากกว่า 1 ครั้ง จึงจะได้ภาวะสมดุลที่ถูกต้องเหมาะสมระหว่างอุปสงค์กับอุปทาน และระหว่างความต้องการของผู้ผลิตและของผู้บริโภค

แต่เขาก็บอกด้วยว่า ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่โอเปกอาจสามารถตกลงกันได้เพื่อลดการผลิตกันครั้งเดียวโดยมีผลบังคับในทันที

"ความเป็นห่วงของบรรดาประเทศผู้ผลิตก็คือ ไม่ว่าการตัดสินใจจะออกมาในทางไหน จะต้องไม่ไปส่งผลกระทบเพิ่มความเจ็บปวดให้แก่ประเทศผู้บริโภค" เคลิลบอก

อย่างไรก็ตาม "การตัดสินใจนี้ก็ไม่ควรปล่อยให้ทางประเทศผู้ผลิตต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่พวกเขาจะต้องไปเข้าร่วมกลุ่มของประเทศที่เวลานี้กำลังบาดเจ็บจากวิกฤตการเงินคราวนี้อยู่แล้ว"

เคลิล บอกด้วยว่า เขาอยากจะให้ราคาตะกร้าน้ำมันดิบอ้างอิงของโอเปกอยู่ในระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพื่อเป็นหลักประกันว่า โครงการพลังงานต่างๆ สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ ราคาตะกร้าน้ำมันโอเปกอยู่ที่ 60.82 ดอลลาร์เมื่อวันพุธ
กำลังโหลดความคิดเห็น