xs
xsm
sm
md
lg

IMF พร้อมอัดฉีดเงินช่วย ปท.ประสบวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แถลงเมื่อวันพฤหัสบดี (9) ว่าพร้อมจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสภาพคล่องระหว่างประเทศขาดแคลน ขณะเดียวกันก็ประกาศฟื้นฟูกลไกการให้เม็ดเงินช่วยเหลือแก่ประเทศที่ต้องการแบบเดียวกับที่เคยใช้ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในเอเชียเมื่อปี 1997

กองทุนยังได้ส่งคณะทำงานไปไอซ์แลนด์ เพื่อวางแผนให้ความช่วยเหลือ หลังจากรัฐบาลของประเทศเกาะทางแอตแลนติกเหนือแห่งนี้ ต้องเข้าโอนธนาคารใหญ่ที่สุดของประเทศมาเป็นของรัฐ นอกจากนี้ไอเอ็มเอฟก็ยังได้เตือนด้วยว่าวิกฤตการเงินครั้งนี้ซึ่งถือว่าร้ายแรงสุดในรอบมากกว่า 70 ปี อาจจะดำเนินต่อไปอีกนานและส่งผลต่อเศรษฐกิจของโลกโดยรวม

"เมื่อวันพุธ (8) ผมได้ฟื้นกระบวนการฉุกเฉินที่จะทำให้ไอเอ็มเอฟสามารถโต้ตอบกับปัญหาได้อย่างรวดเร็ว" โดมินิก สเตราส์-คาห์น กรรมการผู้จัดการของไอเอ็มเอฟกล่าวในการแถลงข่าวที่กรุงวอชิงตัน "เราพร้อมแล้วที่จะตอบสนองความต้องการของประเทศต่าง ๆที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหา" นอกจากนี้เขายังบอกอีกว่าไม่มีประเทศใดที่มีภูมิคุ้มกันจนไม่ได้รับความกระทบกระเทือนจากวิกฤตครั้งนี้

สเตราส์-คาห์น ย้ำว่า ไอเอ็มเอฟต้องการที่จะให้ความช่วยเหลือไม่เพียงแต่กับประเทศที่กำลังพัฒนาหรือเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่เท่านั้น ยังรวมไปถึงประเทศตะวันตกทั้งหลายอีกด้วย

"ไม่มีใครรู้ว่าบรรดาเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าแล้วยังจะต้องการความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟอีกหรือไม่" เขากล่าว และเพิ่มเติมว่าหากต้องการจะขอยืมเงินเพื่อนำไปประคองสถานการณ์ของประเทศแล้ว ก็จะต้องยอมทำตามเงื่อนไขที่เข้มงวดมากกว่าปกติ แต่ก็จะได้เม็ดเงินเข้าไปอย่างรวดเร็ว "คำว่ารวดเร็วหมายความว่าเงินทุนน่าจะเข้าไปได้ในเวลาสองสัปดาห์"

หลังจากว่างเว้นวิกฤตใหญ่ๆ ในประเทศเฟื่องฟูใหม่มานานหลายปี ความเคลื่อนไหวของสเตราส์-คาห์น ก็คือทำให้บรรดาประเทศที่เป็นสมาชิกของคณะกรรมการบริหารของไอเอ็มเอฟ ตลอดจนพวกเจ้าหน้าที่ของกองทุน อยู่ในสภาพเตรียมพร้อมหากว่ามีประเทศร้องขอความช่วยเหลือทางการเงินมา

นอกจากนี้คำประกาศของสเตราส์-คาห์นก็ยังทำให้หน่วยงานบรรเทาวินาศภัยทางการเงินแห่งนี้เข้าไปอยู่ในแนวหน้าของการต่อสู้กับวิกฤตการเงินปัจจุบัน หลังจากที่เฝ้าดูอยู่ข้าง ๆมาเป็นเวลาหลายเดือน

ความตื่นตระหนกเกี่ยวกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เน่าและไร้สภาพคล่องของสหรัฐฯส่งผลให้ความเชื่อมั่นในบรรดาสถาบันการเงินต่าง ๆมลายไปด้วย และบีบให้รัฐบาลหลายแห่งต้องให้คำมั่นว่าจะนำเอาเงินของผู้เสียภาษีหลายแสนล้านดอลลาร์มากอบกู้ภาคการเงิน รวมทั้งลากเอาธนาคารกลางต่าง ๆทั้งในประเทศตะวันตกและภูมิภาคอื่นเข้ามาประกาศลดอัตราดอกเบี้ยโดยพร้อมเพรียงกัน

ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกจะหารือกับบรรดาผู้นำการเงินโลกที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งสเตราส์-คาห์นบอกว่า เรื่องใหญ่สำหรับบรรดาผู้กำหนดนโยบายก็คือการฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับมารวมทั้งทำให้บรรเทาความตื่นตระหนกในตลาดโลก

ทั้งนี้การหารือดังกล่าวจะเริ่มต้นในวันศุกร์ ด้วยการประชุมของบรรดารัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางจากประเทศจี 7 โดยหัวข้อสำคัญที่สุดย่อมไม่พ้นการพิจารณาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาวิกฤตคราวนี้

สำหรับช่องทางช่วยเหลือฉุกเฉินของไอเอ็มเอฟ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1995 เพื่อเป็นหนทางในการเร่งอนุมัติสินเชื่อสำหรับประเทศที่กำลังเผชิญกับหายนะทางการเงิน

กลไกนี้ถูกใช้ครั้งแรกในปี 1997 เพื่อช่วยเหลือฟิลิปปินส์,ไทย,อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ซึ่งกำลังต้องการเม็ดเงินอย่างหนัก หลังถูกกองทุนเก็งกำไรค่าเงินถล่มหลายระลอกในช่วงวิกฤตการเงินแห่งเอเชีย

ไอเอ็มเอฟซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพลิกฟื้นสถานการณ์ของประเทศในเอเชียและลาตินอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1990 ใช้รายได้จากการให้สินเชื่อเหล่านี้มาใช้ในการดำเนินงาน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีวิกฤตใหญ่ ๆเกิดขึ้นน้อยมากทำให้ไอเอ็มเอฟขาดรายได้ และตอนนี้ไอเอ็มเอฟกำลังประสบกับภาวะขาดเงินที่ใช้ในการดำเนินงานอย่างรุนแรง ทำให้ต้องทำข้อตกลงที่จะขายทองคำสำรองบางส่วนออกมาในเดือนเมษายน รวมทั้งนำเอากำไรไปลงทุนในพันธบัตรของรัฐบาลและหุ้นกู้ของบริษัทต่าง ๆ

ณ.ขณะนี้ไอเอ็มเอฟมีเงินราว 200,000 ล้านดอลลาร์ ที่จะให้ประเทศที่ประสบปัญหากู้ยืม แต่ก็สามารถไปดึงมาจากแหล่งอื่นๆ เพิ่มได้หากว่าต้องการเพิ่ม อย่างไรก็ดี หากนำไปเทียบกับเม็ดเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลประเทศต่างๆ อัดฉีดเข้าไปในระบบการเงินในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยังถือเป็นจำนวนเพียงน้อยนิด
กำลังโหลดความคิดเห็น