เอเจนซี/ผู้จัดการรายวัน - สื่อเทศสำนักต่างๆ ยังคงติดตามรายงานเหตุการณ์ตำรวจไทยปราบผู้ประท้วงอย่างสุดโหด ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของการรายงานสิ่งที่เกิดขึ้น
อาทิ หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ฉบับวันพุธ (8) พาดหัวข่าวว่า "ตาย 2 เจ็บ 380 ในการประท้วงที่กรุงเทพฯ" และหลังจากเล่าถึงเหตุการณ์ปราบปรามของตำรวจแล้ว ก็ปิดท้ายด้วยประโยคทีว่า "จวบจนถึงวันนี้ กลุ่มพันธมิตรฯอยู่ในสภาพที่กำลังสูญเสียโมเมนตัมทางการเมือง แต่ความรุนแรงในวันอังคาร (7) สามารถที่จะฟื้นฟูฐานสนับสนุนของพวกเขาขึ้นมาใหม่"
ทางด้าน หนังสือพิมพ์ ลอสแองเจลิสไทมส์ ก็ได้เสนอรายงานข่าวที่พาดหัวว่า "ประท้วงในไทยตาย 2" ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
การปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งชุมนุมประท้วงรัฐบาลโดยปิดล้อมรัฐสภาเมื่อวันอังคาร (7) ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คนและบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน ซึ่งทั้งทางการและผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่าเกิดจากการถูกแก๊สน้ำตา กระสุนปืน และระเบิดเพลิง
"ผมมาประท้วง แล้วตำรวจก็ใช้ความรุนแรงกับประชาชน ผมเห็นลุงกับป้าของผมถูกแก๊สน้ำตา เหตุการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก" นายจักรพันธุ์ แก้วแสงทอง นักศึกษาวัย 21 ปีบอกขณะที่มีการยิงแก๊สน้ำตาที่หน้ารัฐสภา
"โลกจะต้องรู้ว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่มีสิทธิในการบริหารประเทศอีกต่อไปแล้ว พวกเขาควรลาออกหรือไม่ก็เลิกเป็นนักการเมืองไปเลย" นายจักรพันธุ์กล่าว "เราจะชุมนุมกันต่อไปตราบใดที่รัฐบาลยังอยู่ในอำนาจ"
เจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินของโรงพยาบาล ระบุว่า มีผู้หญิงวัย 20 ปีเศษซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมเสียชีวิตที่ศูนย์นเรนทรโดยมีอาการบาดเจ็บสาหัสจากบาดแผลฉกรรจ์หลายจุดด้วยกัน และในเวลาต่อมา มีผู้เสียชีวิตรายที่สองจากเหตุระเบิดรถยนต์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่ามีหลักฐานชัดเจนแล้วว่าเป็นคาร์บอมบ์
เหตุรุนแรงเริ่มต้นในตอนเช้าของวันอังคารเมื่อตำรวจยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงชนราว 5,000 คนบริเวณหน้ารัฐสภา เพื่อเคลียร์พื้นที่เปิดทางให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าไปแถลงนโยบายของรัฐบาล หลังจากนั้นนายกฯ ต้องเร่งอ่านคำแถลงนโยบายให้จบอย่างเร่งรีบ และปีนข้ามรั้วด้านหลังหลบหนีไปทางด้านพระที่นั่งวิมานเมฆพร้อมกับบุตรสาว เพื่อหลีกเลี่ยงฝูงชนที่กำลังโกรธแค้น
**รัฐบาลใหม่**
ตามรัฐธรรมนูญของไทยกำหนดว่ารัฐบาลชุดใหม่จะยังไม่สามารถบริหารราชการได้หากยังไม่ได้แถลงนโยบาย และจะต้องดำเนินการแถลงนโยบายให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันหลังจากทำพิธีสาบานตน
ทั้งนี้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีคนก่อน ต้องพ้นจากตำแหน่งไปหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาว่าเขากระทำผิดรัฐธรรมนุญโดยรับเงินค่าจ้างจากการไปออกรายการอาหารทางสถานีโทรทัศน์ แม้ว่าทั้งนายสมัครและนายสมชาย ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนที่แล้ว ต่างก็ถูกระบุว่าเป็นหุ่นเชิดของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกำลังดำเนินการขอลี้ภัยอยู่ในอังกฤษ
หลังจากที่นายสมชายหลบหนีออกจากรัฐสภาไปแล้ว บรรดา ส.ส.ที่เหลือก็ถูกกักอยู่ภายในอาคารรัฐสภาเนื่องจากผู้ชุมนุมสกัดประตูทางเข้าด้านหน้าไว้ ส่วนพนักงานรัฐวิสาหกิจที่อยู่ข้างผู้ชุมนุมก็ได้ตัดน้ำและไฟภายในอาคารด้วย ทว่าในท้ายที่สุดตำรวจก็ได้เคลียร์พื้นที่เปิดทางหนีให้กับเหล่า ส.ส. ด้วยการยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมอีก ทำให้เหตุการณ์บานปลายออกไป ตำรวจยศสิบเอกนายหนึ่งถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วนเนื่องจากถูกด้ามธงแทง และมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 3 นายได้รับบาดเจ็บที่หน้ารัฐสภา แต่กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้ความรุนแรง
**รัฐมนตรีลาออก**
พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการเจรจากับกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุจลาจลที่เกิดขึ้น พล.อ.ชวลิตให้เหตุผลว่าเนื่องจากตำรวจไม่ได้ฟังคำสั่งของเขาที่ให้ใช้ความอดกลั้นต่อเหตุการณ์ ซึ่งต่อมา นายสุริยะใส กตะศิลา หนึ่งในแกนนะของพันธมิตร ได้บอกกับผู้ชุมนุมที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลว่า พล.อ.ชวลิตนั้น "เลือกอยู่ข้างประชาชน แทนที่จะอยู่ข้างผู้มีอำนาจ"
เหตุการณ์ปะทะกันบนถนนยังคงต่อเนื่องมาจนถึงช่วงกลางคืน โดยตำรวจหลายร้อยนายได้วางรั้วลวดหนามขวางไว้ที่หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล และขว้างแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุม
หลังจากนั้นมีข่าวว่า บรรดาผู้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ อีกหลายพันคนกำลังเดินทางเข้ามาสมทบการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ในขณะที่แกนนำได้เรียกร้องให้สหภาพแรงงานหยุดงานประท้วงด้วย
อนึ่ง สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงมอบเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายแก่ผู้บาดเจ็บด้วย
"ผมมาร่วมการชุมนุมหลายครั้งแล้ว แต่วันนี้ผมได้เห็นตำรวจทำร้ายประชาชนจำนวนมาก" นายวิชัย ติดกระโทก โปรแกรมเมอร์วัย 31 ปีที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ กล่าว "ผมไม่กลัวพวกคนชั่วหรอก ผมห่วงแต่ประเทศของเรา"