xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ไม่เปิดไฟเขียวให้อิสราเอลโจมตีอิหร่าน

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ เฮิร์ชเบิร์ก

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US cool to Israeli strike on Iran
By Peter Hirschberg
06/10/2008

รายงานหลายกระแสบ่งบอกว่า วอชิงตันยังคงยึดเหนียวแน่นกับนโยบายใช้มาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน อีกทั้งไม่เปิดไฟเขียวให้อิสราเอลเข้าถล่มโจมตีสถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของอิหร่าน --อย่างน้อยที่สุดก็ในเวลานี้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากสหรัฐฯกังวลว่าอิสราเอลจะไม่สามารถทำลายสมรรถนะทางนิวเคลียร์ของอิหรานให้เสียหายไปทั้งหมดได้ และการตอบโต้ของเตหะรานต่อจากนั้น จะพุ่งเป้ามายังกองทหารสหรัฐฯในอาณาบริเวณนี้

เยรูซาเลม – นายกรัฐมนตรี เอฮุด โอเมิร์ต ของอิสราเอล จะเดินทางไปยังกรุงมอสโกสัปดาห์นี้ เพื่อการเจรจาหารือที่ส่วนใหญ่จะมุ่งรวมศูนย์ไปที่โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ในจังหวะเวลาเดียวกันนี้เอง ดูเหมือนปรากฏสัญญาณมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า สหรัฐฯไม่กระตือรือร้นกับแนวความคิดเรื่องที่อิสราเอลจะเข้าโจมตีทางทหารต่อสมรรถนะทางนิวเคลียร์ของอิหร่าน

ตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ไปเยือนอิสราเอลในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองการก่อตั้งรัฐยิวแห่งนี้ครบรอบ 60 ปี ก็มีรายงานหลายกระแสที่บ่งบอกว่า วอชิงตันกำลังยึดเหนียวแน่นกับนโยบายใช้มาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน และอย่างน้อยที่สุดก็ในขณะนี้ อิสราเอลจะไม่ได้รับไฟเขียวให้เข้าโจมตีสถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของอิหร่าน

มีรายงานหลายชิ้นจากสื่อมวลชนปรากฏออกมาในระยะประมาณสองเดือนมานี้ ที่กล่าวว่าสหรัฐฯได้ปฏิเสธคำขอของอิสราเอลที่ปรารถนาจะได้อาวุธยุทโธปกรณ์ชุดหนึ่ง ซึ่งจะเพิ่มพูนสมรรถนะของรัฐยิวขึ้นอย่างมากมาย ในการเปิดการโจมตีจุดติดตั้งนิวเคลียร์ของอิหร่าน เมื่อเดือนที่แล้ว หนังสือพิมพ์รายวัน “ฮาอาเรตซ์” รายงานว่า ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงชุดนี้ประกอบไปด้วย “ระเบิดชนิดที่สามารถเจาะทำลายบังเกอร์ใต้ดินเป็นจำนวนมาก, การอนุญาตให้ใช้พื้นที่น่านฟ้าที่จะบินไปสู่อิหร่านได้, ระบบเทคโนโลยีอันก้าวหน้าทันสมัยยิ่ง, และเครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศ”

หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนก็อ้างเจ้าหน้าที่ยุโรปหลายคนบอกว่า สหรัฐฯได้ปฏิเสธคำขอของอิสราเองเมื่อก่อนหน้านี้ในปีนี้ ที่ต้องการเข้าโจมตีฐานที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของอิหร่าน รายงานข่าวชิ้นนี้อ้าง “แหล่งข่าวทางการทูตระดับอาวุโสของยุโรปหลายราย” กล่าวว่า “อิสราเอลขบคิดพิจารณาอย่างจริงจังเมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา ในเรื่องการเปิดฉากโจมตีทางทหารต่อฐานที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของอิหร่าน ทว่าได้รับแจ้งจากประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ว่า เขาจะไม่ให้การสนับสนุนแผนการนี้ และไม่คาดหมายว่าจะทบทวนทัศนะในเรื่องนี้ตลอดช่วงเวลาที่ยังเหลืออยู่แห่งวาระการเป็นประธานาธิบดีของเขา”

รายงานชิ้นนี้กล่าวต่อไปว่า การที่สหรัฐฯตัดสินใจเช่นนี้สืบเนื่องจากความวิตกที่ว่า อิสราเอลจะไม่สามารถสร้างความเสียหายให้แก่สิ่งปลูกสร้างทางนิวเคลียร์ของอิหร่านได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากฐานที่ตั้งเหล่านี้มีลักษณะกระจายตัว และมีมาตรการป้องกันอย่างดี อีกทั้งการตอบโต้แก้เผ็ดของอิหร่าน “น่าจะมีทั้งการโจมตีเป็นระลอกเข้าใส่ทหารและบุคลากรด้านอื่นๆ ของสหรัฐฯในอิรักและอัฟกานิสถาน ตลอดจนเส้นทางเดินเรือในอ่าวเปอร์เซีย”

ทั้งสหรัฐฯและอิสราเอลต่างเชื่อว่า โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านนั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะผลิตระเบิดปรมาณู ถึงแม้อิหร่านยืนยันเรื่อยมาว่าความพยายามทางด้านนิวเคลียร์ของตนมีลักษณะเพื่อประโยชน์ทางด้านพลเรือนอย่างบริสุทธิ์ อีกทั้งมุ่งหมายที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ขึ้นมา เมื่อถูกซักไซ้เกี่ยวกับนโยบายของอิสราเอลที่มีต่ออิหร่าน พวกผู้นำอิสราเอลก็มักจะตอบว่า ทางเลือกทุกๆ อย่างยังคงวางอยู่บนโต๊ะเอาไว้ให้เลือกใช้ได้ –อันเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่าอาจจะใช้ทางเลือกทางการทหารก็ได้

อย่างไรก็ดี เอฟราอิม คาม รองผู้อำนวยสถาบันเพื่อการศึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทลอาวีฟ ของอิสราเอล ให้ความเห็นว่า หากปราศจากการยินยอมเห็นพ้องของสหรัฐฯแล้ว ก็เป็นไปได้ยากมากที่อิสราเอลจะดำเนินการโจมตีเช่นนี้ แต่เขาก็กล่าวด้วยว่า ถ้าสหรัฐฯไม่เปิดไฟเขียวให้อิสราเอลในเรื่องนี้ สหรัฐฯก็จำเป็นต้องเสนอทางเลือกทางอื่นแก่อิสราเอล

“มีบางคนเอ่ยถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดทำสนธิสัญญาป้องกัน [ระหว่างสหรัฐฯกับอิสราเอล]” เขาบอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส “เราต้องการได้คำแถลงที่ระบุชัดเจนเลยว่า การโจมตีทางนิวเคลียร์ใดๆ ก็ตามต่ออิสราเอล จะถือเป็นการโจมตีใส่สหรัฐฯ และอเมริกันก็จะตอบโต้ด้วยการใช้อาวุธนิวเคลียร์ต่ออิหร่าน นี่จึงจะเป็นมาตรการป้องปรามที่สำคัญขึ้นมาได้”

ที่ผ่านมามีการคาดเดากันอย่างมากว่าอิหร่านจะไปถึงจุดที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์ได้ในเวลาใด ก่อนหน้านี้ในสัปดาห์นี้ เดวิด เคย์ ผู้รับผิดชอบทีมงานของสหรัฐฯที่เข้าไปตรวจค้นหาอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงในอิรัก ได้ออกมากล่าวว่าอิหร่านต้องใช้เวลาระหว่าง 2 ถึง 5 ปี ก็จะสามารถผลิตระเบิดปรมาณูได้

ในความเห็นของคาม ซึ่งเคยเป็นทหารยศพันเอกในหน่วยวิจัยของกรมการข่าวกรองทหารของอิสราเอล การประเมินว่าอิหร่านจะสามารถมีอาวุธนิวเคลียร์ได้เมื่อใดกันแน่ “กลายเป็นการคาดหมายที่ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา” เขาอธิบายว่าที่เป็นเช่นนี้มาจากหลายๆ สาเหตุผสมกัน ทั้ง “การขาดแคลนข้อมูลข่าวกรอง และอาจจะตารางเวลาของฝ่ายอิหร่านเองก็กำลังเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะพวกเขากำลังเผชิญกับความลำบากยากเย็นทางเทคโนโลยีจำนวนมาก”

ทว่าในการพิจารณาถึงตารางเวลาอันเหมาะสมสำหรับการเข้าโจมตีของอิสราเอลนั้น ยังมีข้อที่ต้องขบคิดพิจารณาอย่างอื่นๆ อีก นอกเหนือจากเรื่องอิหร่านจะไปถึงจุดที่จะมีระเบิดปรมาณูได้เมื่อใด อาทิเช่น อิหร่านจะได้รับระบบขีปนาวุธป้องกันทางอากาศอันก้าวหน้าทันสมัยจากรัสเซียตามที่พวกเขาขอไปหรือไม่ วันเวลาส่งมอบระบบดังกล่าวก็อาจต้องนำเข้ามาขบคิดกันในการกำหนดตารางเวลาของอิสราเอลด้วย เนื่องจาก “ระบบอาวุธเช่นนี้จะทำให้เป็นเรื่องยากเย็นขึ้นมากและต้องจ่ายเพิ่มขึ้นมาก ในการเข้าโจมตีที่ตั้ง[ทางนิวเคลียร์]เหล่านี้” คามกล่าว

คามไม่ได้ปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ที่ว่า ในที่สุดแล้วอิสราเอลอาจจะต้องทนอยู่กับความเป็นจริงที่ว่า จะต้องมีชีวิตอยู่ร่วมกับอิหร่านที่ติดอาวุธนิวเคลียร์ ถ้าหากเป็นเช่นนั้นแล้ว เขาบอกว่า “เราจะต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางภัยคุกคามอันร้ายแรงยิ่งขึ้นมากมายนัก ... แต่ถ้าถามว่าอิหร่านจะใช้ระเบิดนี้เล่นงานอิสราเอลไหม หากตอบกันตามหลักเหตุผลแล้ว ก็ต้องบอกว่า ไม่หรอก”

อิสราเอลนั้นถูกระบุเรื่อยมาว่ามีสมรรถนะในการโจมตีตอบโต้กลับคืน คามกล่าวว่า ชาวอิหร่านนับล้านๆ คนทีเดียวอาจจะต้องเสียชีวิตจากการโจมตีตอบโต้ของอิสราเอล ความเป็นไปได้ที่อาจเกิดความวิบัติอย่างมหาศาลเช่นนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกลืมเลือนไป “แม้กระทั่งในระบอบปกครองที่ยึดมั่นเคร่งหลักการอย่างอิหร่านนี้” เขากล่าว

ทว่าเขาก็พูดด้วยว่า มันไม่มีหลักประกันอะไรทั้งนั้น “สิ่งที่ผมเป็นห่วงก็คือเราไม่ได้มีการสนทนาใดๆ ทั้งสิ้นกับอิหร่าน เมื่อคุณมีผู้เล่นทางด้านนิวเคลียร์ 2 รายที่ไม่พูดจาระหว่างกันเลย มันก็อาจจะเกิดการคาดคำนวณผิดพลาดขึ้นมาได้ สภาพเช่นนี้จึงเป็นตำรับสำหรับการเดินหน้าไปสู่ความเลวร้ายยิ่งขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการไต่ระดับความรุนแรงขึ้นไปอย่างไม่อาจควบคุมได้”

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น