เอเจนซี - บรรดาผู้นำชาติยักษ์ใหญ่ของยุโรป ประกาศภายหลังการพูดจาหารือรับมือวิกฤต ว่าจะทำทุกทางเพื่อป้องกันความปั่นป่วนผันผวนในตลาดการเงินที่กำลังระบาดจากวอลล์สตรีท ถึงมาถึงพวกแบงก์ยุโรปในขณะนี้
“เราออกแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อรับประกันความแข็งแกร่งและเสถียรภาพของระบบการเงินการธนาคารของเรา และเราจะดำเนินมาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นี้” ผู้นำฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ และ อิตาลี แถลงหลังการหารือนาน 3 ชั่วโมงเมื่อวันเสาร์ (4)
แถลงการณ์ฉบับนี้ถือเป็นการประกาศหลักการและการเรียกร้องความร่วมมือระหว่างประเทศ มากกว่าการประกาศมาตรการเฉพาะหน้า เพื่อจัดการรับวิกฤตการเงินที่เลวร้ายที่สุด นับจากวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกครั้งมโหฬารในทศวรรษ 1930
ผู้นำ 4 ชาติเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรป ร่างกฎหมายว่าด้วยการรับประกันเงินฝากในธนาคารในสหภาพยุโรป (อียู) ในอนาคตอันใกล้ และเรียกร้องให้ตั้งหน่วยงานกำกับตรวจสอบข้ามพรมแดนขึ้นในทันที เพื่อปรับปรุงการเฝ้าระวังในระดับข้ามพรมแดนของเหล่าสมาชิกอียูให้ดียิ่งขึ้น
ประธานาธิบดี นิโคลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้จัดการประชุมฉุกเฉินครั้งนี้ กล่าวว่า ภาครัฐจะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา แต่ขณะเดียวกัน ได้ออกตัวว่าไม่เคยเสนอกองทุนอุ้มแบงก์ทั่วยุโรปตามที่เยอรมนีออกมาขัดขวางเมื่อไม่กี่วันก่อน
แถลงการณ์ผู้นำยุโรปยังกล่าวอ้างตรงๆ ถึงข้อเท็จจริงที่ว่า กฎระเบียบของอียูที่จำกัดเพดานการขาดดุลงบประมาณของแต่ละประเทศนั้น มีข้อยกเว้นสำหรับบางสถานการณ์ อย่างเช่นที่ปรากฏอยู่ขณะนี้ กล่าวคือประเทศที่ขาดดุลจำนวนมากจากการเข้าช่วยเหลือธนาคาร หรือเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ สามารถขอยกเว้นจากข้อจำกัดการขาดดุลนี้
นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคล ของเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ที่คัดค้านแข็งขันการให้ยุโรปร่วมกันจัดตั้งกองทุนช่วยชีวิตภาคการเงิน กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวหลังการหารือคราวนี้ว่า พวกที่ทำให้แบงก์ล้ม จะต้องรับผิดชอบในการสะสางแก้ปัญหา
ขณะที่ นายกรัฐมนตรี กอร์ดอน บราวน์ ของอังกฤษ ประกาศว่าจะไม่ยอมปล่อยให้ธนาคารที่ไม่ได้มีปัญหาสาหัส ต้องล้มเพียงเพราะขาดสภาพคล่อง
ผู้นำยุโรปเรียกร้องให้ยูโรเปียน อินเวสต์เมนท์ แบงก์ หน่วยกู้ยืมสาธารณะของอียู เป็นแกนนำในการระดมเงิน 30,000 ล้านยูโร เพื่อปล่อยกู้แก่บริษัทขนาดเล็กที่โดนหางเลขวิกฤตสินเชื่อสหรัฐฯ
ส่วนที่ วอชิงตัน โฆษกทำเนียบขาวแสดงความยินดีพร้อมชื่นชมที่อียูยังคงติดตามสถานการณ์ที่กระทบต่อระบบการเงินโลกอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ซาร์โกซี จัดประชุมสุดยอดในปารีส โดยหวังว่า การแสดงความเป็นเอกภาพจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นในภาคการธนาคารและเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว ที่จ่อเข้าสู่ภาวะถดถอย
การประชุมสุดยอดของยุโรปเกิดขึ้น ภายหลังสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯลงมติรับรองมาตรการกู้วิกฤตมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์ ในวันศุกร์ (3) และประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็รีบลงนามรับรองร่างกฎหมายดังกล่าวทันที
อนึ่ง ขณะที่ผู้นำยุโรปหารือกัน เบลเยียม และ ลักเซมเบิร์ก ก็กำลังเร่งควานหาผู้ซื้อ ฟอร์ทิส กลุ่มการธนาคารและประกันภัยยักษ์ใหญ่สัญชาติเบลเยียม-ดัตช์ โดยหนึ่งในตัวเก็งคือ บีเอ็นพี ปาริบาส์ของฝรั่งเศส และคาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องนี้ภายในสุดสัปดาห์
แต่ก่อนหน้านั้น รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้เข้ายึดกิจการบางส่วนของฟอร์ทิสด้วยวงเงิน 16,800 ล้านยูโรเมื่อวันศุกร์ หรือไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังมาตรการช่วยชีวิตครั้งแรกที่รัฐบาลสามประเทศร่วมกันอัดฉีด 15,400 ล้านดอลลาร์
ที่เยอรมนี ไฮโป เรียลเอสเตท (เอชอาร์อี) เผยว่า ธนาคารและบริษัทประกันภัยร่วมชาติขอถอนตัวจากแผนช่วยเหลือมูลค่า 48,500 ล้านดอลลาร์ที่ร่วมกันร่างเมื่อไม่กี่วันก่อน อย่างไรก็ดี โฆษกประกาศว่าบริษัทจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไป
ในอิตาลี แหล่งข่าวเผยว่า ยูนิเครดิต ธนาคารอันดับ 2 ของประเทศตามมูลค่าตลาด เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารฉุกเฉินวานนี้ (5) เพื่อหาทางฟื้นฐานเงินทุน
ทั้งนี้ ผู้นำยุโรปเน้นย้ำปัญหาหลายข้อที่ต้องแก้ไขในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงการนัดประชุมภายในยูโรโซนและรัฐมนตรีคลังอียูวันนี้และวันอังคาร และประชุมผู้นำจี 8 โดยเร็วที่สุด