xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดน้ำมันล้มครืน-ไม่นานเกินรอ

เผยแพร่:   โดย: คริส คุก

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Oil market collapse waiting to happen
By Chris Cook
18/09/2008

เม็ดเงินประมาณ 260,000 ล้านดอลลาร์ถูกลงทุนอยู่ในบรรดาตลาดน้ำมันที่ต่างๆ ทั่วโลก โดยมีภาระผูกพันที่เปรียบเสมือนปิรามิดแห่งความเสี่ยงที่ตั้งอยู่บนฐานของซัปพลายน้ำมันดิบที่ค่อนข้างเล็กด้วยมูลค่าของซัปพลายน้ำมันดิบแท้จริงแค่ 4,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะตลาดล้มละลายนั้นนับว่ามากมาย ขณะเดียวกัน ก็แทบจะไม่มีอะไรที่ฝ่ายผู้คุมกฎจะล้วงลูกลงไปจัดการได้

หลังปรากฏการณ์ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปถึงระดับ 147 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตัวเลขก็ร่วงดิ่งลงอย่างรวดเร็วไปเคลื่อนไหวที่ระดับสูงกว่า 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในสหรัฐฯนั้น ปรากฏการณ์นี้ส่งให้ราคาน้ำมันเบนซินพุ่งไปได้ถึงระดับ 4 ดอลลาร์ต่อแกลลอน พร้อมกับทำให้ประเด็นราคาพลังงานกลายเป็นหนึ่งในวาระทางการเมืองอันดับต้นๆ ยิ่งกว่านั้น เรื่องนี้ได้ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังประเทศอังกฤษอย่างรวดเร็ว ด้วยเชื่อกันว่าการค้าสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าของสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในตลาดทางอังกฤษ เป็นเครื่องมือของภาวะราคาน้ำมัน“เฟ้อ”จากการเก็งกำไรภายในตลาด

ด้วยมุมมองจากภูมิหลังที่ผมมีอยู่ในตลาดพลังงาน - ผมเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับตลาดและการดูแลให้เป็นไปตามกฎระเบียบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตลาดซื้อขายน้ำมันระหว่างประเทศที่เคยมีชื่อว่า ตลาด International Petroleum Exchange และบัดนี้คือตลาด ICE Futures Europe – ผมได้ตอบข้อซักถามขหองคณะกรรมาธิการด้านการคลังของรัฐสภาอังกฤษ คือ Treasury Select Committee ไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยคณะกรรมาธิการเรียกผมไปให้ข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องของกฎระเบียบในตลาดน้ำมัน การดำเนินการดังกล่าวเป็นแนวทางใหม่สำหรับคณะกรรมาธิการ ซึ่งหลังจากขั้นตอนไต่สวนเบื้องต้นนี้แล้ว คณะกรรมาธิการก็ตัดสินใจว่าจะดำเนินการไต่สวนแบบครบวงจรในเดือนตุลาคม

ทั้งนี้ ในการตอบข้อซักถามดังกล่าว คณะกรรมาธิการได้ไต่สวนหน่วยงานผู้คุมกฎในฝ่ายอังกฤษเป็นการสืบเนื่องไปในวันเดียวกันด้วย ซึ่งจากคำถามที่พวกท่านตั้งกันขึ้นมา ย่อมแสดงว่าท่านคณะกรรมาธิการมีความเข้าใจเนื้อหาของสิ่งที่ผมแถลงออกไป

ผมรายงานคณะกรรมาธิการว่า การทำตามแนวทางของสหรัฐฯ ในการกำกับดูแลตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า ย่อมเป็นการพยายามแก้ปัญหาของปัจจุบันด้วยเครื่องมือของอดีตกาล

ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์เวสต์เท็กซัสอินเตอร์มีเดียต (NYMEX WTI) เคลื่อนไหวในแบบที่ไม่สอดคล้องกับโลกแห่งความเป็นจริงเลยทั้งในเชิงกายภาพและการซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า ขณะที่คนไนเม็กซ์ยังเป็นผู้ซัปพลายเงินทุนมหาศาลเข้าไปในกระแสการซื้อขาย แต่ความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่าพลังในการกำหนดราคาในตลาดน้ำมันได้เคลื่อนย้ายออกจากสหรัฐฯ ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปอิงอยู่กับราคาน้ำมันดิบทะเลเหนือ-นอร์ทซี

**ราคาอ้างอิง“เบรนต์” **

ราคาน้ำมันดิบนอร์ทซี (เบรนต์) เป็นราคาอ้างอิงโดยตรงให้แก่การโค้ดซื้อขายน้ำมันดิบของโลกในสัดส่วนมากกว่า 60% และด้วยกลไกการทำอาร์บิทราชในการค้าระหว่างน้ำมันเบรนต์กับไนเม็กซ์เวสต์เท็กซัส ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ก็เป็นราคาอ้างอิงโดยอ้อมให้แก่การโค้ดราคาซื้อขายน้ำมันดิบของโลกในส่วนของอีก 40%

คนส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวใหญ่ระดับโลกทั้งหมด เชื่อว่าราคาของสัญญาซื้อขายตลาดอนุพันธ์ฟิวเจอร์สเป็นตัวอ้างอิง แต่อันที่จริงแล้ว ราคาตลาดสปอท(ตลาดซื้อขายเพื่อการส่งมอบทันที) ของการขายคาร์โกน้ำมันดิบ Brent/BFOE คือตัวธุรกรรมที่ประกอบขึ้นเป็นราคาอ้างอิงทั้งทางตรงและทางอ้อมให้แก่ธุรกรรมน้ำมันทั่วโลก การเทรดสัญญาน้ำมันดิบ Brent/BFOE ในตลาด ICE Futures Europe ที่มีปริมาณซื้อขายสูงลิ่วนั้น เป็นเพียงการพนันที่ขันต่อกันบนราคาอ้างอิงเหล่านี้ และในการเคลียร์หนี้สินตามสัญญาเหล่านี้ ก็จะตกลงตัดบัญชีกันเป็นเงินสด มิได้นำน้ำมันมาส่งมอบจริง

นานเป็นหลายปีมาแล้วที่ผลผลิตของแหล่งน้ำมันเบรนต์ลดลงเรื่อยๆ และต้องเอาผลผลิตของแหล่งน้ำมันอื่นๆ ย่านทะเลเหนือมารวมเข้าด้วยกัน เพื่อให้มีสินค้าส่งมอบได้พอเพียงกับสัญญาซื้อขาย อันเป็นการรักษาระดับราคาอ้างอิงให้น่าเชื่อถือเอาไว้ต่อไป

ขณะนี้ เรามีแหล่งน้ำมันทะเลเหนือ 4 แหล่งด้วยกันคือ Brent, Forties, Oseberg และ Ekofisk ซึ่งก็คือ BFOE ที่จะป้อนน้ำมันดิบตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าคาร์โกในปริมาณการส่งมอบจริงที่ 600,000 บาร์เรล

ปัญหาแท้จริงขณะนี้มีอยู่ว่า แม้จะได้ขยายศักยภาพการผลิตเพื่อป้อนตลาดมาเป็น Brent/BFOE แล้วก็ตาม แต่มูลค่าสินค้าตามศักยภาพจริงนั้น อยู่ที่ระดับแค่ 6,000 ล้านดอลลาร์ ณ ราคา 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือแค่ 4,000 ล้านดอลลาร์หากคิดที่ราคาน้ำมันดิบในปัจจุบัน

แต่เมื่อคำนวณปริมาณเงินที่ลงทุนอยู่ในตลาดซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าสารพัดประเภทตราสาร พบตัวเลขประมาณการอยู่ที่ระดับสูงถึง 260,000 ล้านดอลลาร์ กองเงินมหาศาลขนาดนี้มีภาระผูกพันที่เปรียบเสมือนปิรามิดแห่งความเสี่ยงที่ตั้งอยู่บนฐานของซัปพลายน้ำมันดิบแท้จริงที่ค่อนข้างเล็กมาก เพราะมันเป็นการสะสมภาระผูกพันในรูปของการซื้อขายผ่านสัญญาซื้อขายตราสารอนุพันธ์ที่ประดิษฐ์สร้างขึ้นมาอย่างซับซ้อนและเต็มไปด้วยความเสี่ยง

ธุรกรรมเหล่านี้จะกลายเป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่แห่งการเก็งกำไรในตลาดน้ำมันได้หรือไม่

คำตอบปรากฏอย่างแจ่มแจ้งว่า ได้แน่นอน และเมื่อคำนึงถึงความน่าจะเป็นรูปแบบต่างๆ ธุรกรรมเหล่านี้กำลังก่อภาวะฟองสบู่ดังกล่าวอยู่จริงๆ ส่วนที่ถือเป็นโชคร้ายของโลกมีอยู่ว่า เนื่องจากธุรกรรมซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคา BFOE เกิดขึ้นนอกตลาด ฝ่ายผู้คุมกฎจึงไม่เห็นการก่อตัวของปัญหา และไม่มีผู้คุมกฎรายใดอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่จะมีโอกาสได้ล่วงรู้ด้วย ซ้ำร้ายกว่านั้น ต่อให้ฝ่ายกำกับดูแลมีโอกาสทราบ โลกของเราก็ยังไม่ได้สร้างมาตรฐานด้านกฎระเบียบของตลาดที่จะนำมาบังคับใช้ป้องปรามปัญหาได้

**อย่ายิงคนเล่นเปียโน**

ดังที่ผมได้ชี้ประเด็นไว้กับคณะกรรมาธิการ Treasury Select Committee ว่าการที่จะไปกล่าวโทษเล่นงานฝ่ายกำกับดูแลอย่าง FSA ในอังกฤษ หรือ CFTC ในสหรัฐฯ ย่อมไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรแก่ตลาดการเงินของโลก นอกจากจะได้แพะรับบาปมาเล่นงาน เรื่องทั้งหลายทั้งปวงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดระดับโลก และเกิดขึ้นในสภาพการณ์ว่าโครงสร้างที่ใช้กันอยู่ในแต่ละระบบเศรษฐกิจนั้นมีความขัดแย้งกันเองโดยที่ว่าผลประโยชน์ของผู้ค้านั้นขัดแย้งกับผลประโยชน์ของผู้บริโภคน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากน้ำมัน

ขณะที่เรายังไม่มีแนวทางใหม่ๆให้แก่โครงสร้างตลาด เราย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเห็นวัฏจักรของราคาที่พุ่งขึ้นและแผ่วลงซ้ำแล้วซ้ำอีก ในเมื่อยังมีคลื่นเงินร้อนคอยไหลเข้าไหลออกตลาดอยู่อย่างไม่ขาดสาย ดังนั้น สำหรับความเห็นของผมแล้ว ปรากฏการณ์นี้ไม่ช้าก็เร็วคงหนีไม่พ้นว่าจะนำไปสู่สภาวะตลาดล่มสลาย ละม้ายกับสถานการณ์ตลาดดีบุกที่ล้มระเนนในชั่วข้ามคืนเมื่อปี 1985 โดยที่ระดับราคาทรุดฮวบจาก 800 ดอลลาร์ต่อตัน มาเป็น 400 ดอลลาร์ต่อตัน

ถ้าจะมองปัญหาให้ถูกจุด ต้องใช้ญาณทัศนะเล็งไปที่สำนักหักบัญชีซื้อขายล่วงหน้า (Clearing house) เจ้าต่างๆ ที่เป็นศูนย์กลางแก่ธุรกรรมในตลาดน้ำมัน สำนักพวกนี้คือหัวใจและแหล่งพลังของตลาด โดยทำหน้าที่ค้ำประกันการทำธุรกรรมของฝ่ายต่างๆ โดยมีเงินทุนไปกองรวมอยู่ด้วยกัน

ในความเห็นของผม สำนักฯ พวกนี้เป็นจุดรวมโอกาสแห่งความผิดพลาดไว้ในแหล่งเดียว โดยที่ว่าความเสี่ยงในระดับราคาน้ำมันถูกรวมศูนย์ในลักษณะที่เทียบเคียงได้กับการที่แฟนนี เม และเฟรดดี แมค เป็นศูนย์รวมความเสี่ยงของระดับราคาบ้านที่อยู่อาศัยนั่นเอง

เมื่อสองปีมาแล้ว ผมเคยเสนอไว้ต่อที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญระดับสูงในด้านความมั่นคง อันเป็นการสัมมนาที่เมืองโลซานน์ว่าด้วยเรื่องของการก่อการร้ายเชิงเศรษฐกิจ การสัมมนานี้มีหัวข้อที่เกี่ยวกับความอ่อนแอของตลาดโลกและการค้าที่มุ่งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ แทนที่จะไปมุ่งสร้างความเสียหายทางกายภาพหรือมุ่งร้ายหมายจะคร่าชีวิตผู้คน

ผมได้ชี้ประเด็นไว้ว่ากลไกฟันเฟืองของระบบและความเสี่ยงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กับการกระจุกรวมความเสี่ยงไว้ในที่เดียวกัน เมื่อรวมกันแล้วมันหมายถึงว่า ความแตกต่างระหว่าง “ผู้ก่อการร้ายทางเศรษฐกิจ” กับเทรดเดอร์ซื้อขายสินทรัพย์ อาทิ พวกเฮดจ์ฟันด์ อยู่ที่แรงจูงใจของผู้ดำเนินการเท่านั้นเอง นั่นคือ ผู้ก่อการร้ายทางเศรษฐกิจทำลายตลาดด้วยความจงใจ ส่วนเทรดเดอร์ทำลายตลาดด้วยความบังเอิญ

ขณะที่ตลาดสามารถเอาตัวรอดผ่านวิกฤตแห่งการที่เม็ดเงินถาโถมท่วมท้นเข้าใส่อย่างฉับพลัน แต่ชะตากรรมใหม่ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นั้นมีอยู่ว่า ในท่ามกลางคลื่นแห่งเม็ดเงินเก็งกำไรที่จะซัดสาดเข้าสู่ตลาดในอนาคต น่าจะนำไปสู่สถานการณ์ตลาดล้มละลาย นี่คืออุบัติเหตุที่จ่อรอจังหวะที่จะเกิดขึ้นมาแน่นอน

คริส คุก เป็นอดีตผู้อำนวยการตลาด International Petroleum Exchange ขณะนี้เป็นที่ปรึกษายุทธศาสตร์ตลาด และเป็นผู้ประกอบการ กับนักคิดนักวิจารณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น