เอเยนซี - ในเดือนมิถุนายนจะมีน้ำมันดิบเข้าสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้นอีกวันละครึ่งล้านบาเรลเป็นอย่างน้อย แต่ข่าวนี้กลับทำให้ราคาลดลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
การที่ราคาน้ำมันไต่ระดับขึ้นไปเกือบถึง 130 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ทำให้เกิดความวิตกไม่เฉพาะในหมู่ของผู้ซื้อเท่านั้น หากแต่บริษัทน้ำมันและประเทศผู้ผลิตน้ำมันก็พากันกลัวว่า เมื่อน้ำมันแพงมากก็อาจทำให้ความต้องการใช้ลดน้อยลงอย่างมาก จะพาให้ราคาน้ำมันร่วงลงมาอย่างรุนแรงด้วย
“ราคาตอนนี้น่ากลัวมาก” ผู้บริหารบริษัทน้ำมันตะวันตกรายหนึ่งกล่าว “ตลาดอาจจะกำลังเข้าสู่ช่วงทรุดลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกนักเก็งกำไรพากันถอยหนีออกจากตลาดอย่างเร่งรีบ”
อย่างไรก็ตาม สำหรับช่วงเวลานี้ บรรดานักวิเคราะห์ต่างก็ยังคาดกันว่าราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นไปอีก โกลด์แมนแซคส์ ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจที่เคลื่อนไหวมากที่สุดในตลาดพลังงาน ออกมาบอกเมื่อวันศุกร์ (16) ว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะอยู่ที่ 141 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อหนึ่งบาร์เรล ซึ่งเพิ่มขึ้นมากจากประมาณการเดิมของบริษัท
รายงานของโกลด์แมนแซคส์ มีส่วนผลักให้ราคาน้ำมันดิบไลต์สวีตครูดของตลาดไนเม็กซ์ในสหรัฐฯ พุ่งไปแตะระดับ 127.82 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
แต่ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากบรรดาผู้ค้าตราสารน้ำมันต่างพากันทำหูทวนลมต่อข่าวที่ว่าซาอุดีอาระเบีย ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก ได้เพิ่มกำลังผลิตน้ำมันขึ้นอีก 300,000 บาร์เรลต่อวันนับตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคมเป็นต้นมา และจะคงกำลังการผลิตระดับนี้ในเดือนมิถุนายน
และตลาดน้ำมันก็ไม่ให้ความสนใจต่อข่าวที่อิรักจะส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 125,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนมิถุนายนอีกด้วย
“จะทำยังไงให้ราคาน้ำมันลดลงมา” เดวิด ดักเดลจากเอ็มเอฟซี โกลบอล อินเวสเมนท์ แมเนจเมนท์ถาม “ต้นทุนส่วนเพิ่มของการผลิตน้ำมันหนึ่งหน่วยนั้นอยู่ที่ราว 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่บัดนี้เราได้เลยมาไกลจากตรงนั้นแล้ว”
ต้นทุนส่วนเพิ่ม (marginal cost) ก็คือ จำนวนต้นทุนที่ต้องลงไปเพื่อจะนำเอาน้ำมันมาใช้เพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์สมมุติที่ว่าเชื้อเพลิงอื่นๆ ไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการได้ ต้นทุนส่วนเพิ่มมักถูกใช้เป็นเกณฑ์ต่ำสุดที่ราคาจะไม่สามารถต่ำกว่าระดับนั้นได้อีกแล้ว
อันที่จริง ทางการวอชิงตันคิดคำนวณต้นทุนส่วนเพิ่ม ในระดับต่ำกว่าที่บรรดานักวิเคราะห์มองไว้เสียอีก เพราะว่าในกฎหมายที่สหรัฐฯเพิ่งอนุมัติใช้หมาดๆ นั้น กำหนดไว้ว่าทางการจะต้องหยุดซื้อน้ำมันเข้าสู่คลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ของประเทศ หากราคาในตลาดสูงกว่า 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเนื่องจากราคาตลาดตอนนี้สูงกว่าขีดดังกล่าวมาก การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ จึงกำลังทำให้มีน้ำมันอีกราว 75,000 บาร์เรลเข้าสู่ตลาดทุกๆ วัน
นอกจากน้ำมันส่วนเพิ่มเติมจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯต้องหยุดซื้อ, จากการผลิตเพิ่มของซาอุดีอาระเบียและอิรักแล้ว ตอนนี้ยังมีน้ำมันของอิหร่านที่ถูกนำใส่เรือมาลอยลำในน่านน้ำสากลรอคอยผู้ซื้ออยู่เป็นปริมาณไม่น้อย
**น้ำมันดิบไม่ขาดแคลน**
สมาชิกขององค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้เคยเน้นตลอดมาว่าน้ำมันดิบนั้นมีอยู่อย่างพอเพียง
“มีน้ำมันในตลาดมากกว่าที่ผู้บริโภคต้องการ” รัฐมนตรีน้ำมันอิรัก ฮุสเซน อัล ชัคริสทานียืนยันในวันจันทร์ (19)
“การที่ราคาพุ่งขึ้นเป็นเพราะพวกกองทุนเก็งกำไรแห่แหนกันเข้ามาในตลาด แม้จะโอเปกจะเพิ่มกำลังการผลิตก็ไม่ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปได้ ไม่มีผลต่อราคาเลย”
สิ่งที่ทุกคนรู้ก็คือ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มักจะเกิดภาวะ “สูงสุดคืนสู่สามัญ” ได้เสมอ ตามความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณผลผลิตและความต้องการของผู้ซื้อ และตัวแปรที่สำคัญซึ่งกำหนดปัจจัยต่างๆ ก็คือ วัตถุดิบ หากว่าผู้ซื้อไม่เข้ามาซื้อในช่วงที่ราคาสูง ก็จะทำให้เกิดปริมาณสินค้าคงค้างมากและราคาก็จะลดลง
บริษัทและประเทศผู้ผลิตน้ำมันต่างก็เคยบาดเจ็บสาหัส จากการที่ราคาน้ำมันร่วงลงจากช่วงสูงสุดเกือบ 27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนธันวาคมปี 1996 มาเหลือเพียง 11 ดอลลาร์ในอีกสองปีต่อมา หลังจากที่ทั้งอุตสาหกรรมลงทุนเพื่อเพิ่มผลผลิตกันหนักหน่วงแต่ก็ต้องเผชิญหน้ากับความต้องการที่ลดลงอย่างมหาศาล
“แต่ก็ยังมีคำถามอยู่ว่าตลาดฟิวเจอร์นั้นจะสะท้อนความเป็นจริงพื้นฐานนี้ในอีกสองสามเดือนข้างหน้าหรืออีกสองสามปีข้างหน้า” โอลิเวียร์ จาคอบ จาก เปโตรแมทริกซ์กล่าว
เงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลงตลอดมา ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ขายกันในสกุลเงินตรานี้พลอยถูกลงด้วย นอกจากนั้น ในตอนนี้ตลาดอื่นๆ ยังไม่สามารถให้ผลตอบแทนสูงแก่นักลงทุนได้ดีเท่าตลาดโภคภัณฑ์ ดังนั้น ผู้เล่นในตลาดการเงินมากมายจึงแห่กันเข้ามาลงทุนในตลาดน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
นักลงทุนอย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็มีแนวโน้มที่จะเข้ามาเล่นในตลาดนี้ในระยะยาว และคงไม่ออกจากตลาดไปเร็วนัก แต่พวกนักเก็งกำไรที่ต้องการเห็นเม็ดเงินเร็วๆ อาจจะเทขายออกมาในเวลาสั้นๆ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้พวกเก็งกำไรก็คงยังจะอยู่ในตลาดต่อไปเพราะคาดหมายว่าการเพิ่มกำลังการผลิตจะเป็นเรื่องชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดโรงกลั่นเพื่อซ่อมบำรุงในเวลานี้ น่าจะเป็นสาเหตุทำให้มีน้ำมันดิบค้างอยู่ในตลาดเพิ่มขึ้น
**น้ำมันดิบคุณภาพต่ำ**
นอกจากนั้น น้ำมันที่อยู่ในตลาดส่วนใหญ่เวลานี้ ยังเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพต่ำ โดยเฉพาะน้ำมันดิบจากอิหร่านที่ถูกนำใส่เรือออกมาขายในช่วงสองเดือนที่ผ่านมานั้น เป็นน้ำมันที่มีสารอื่นๆปนอยู่ด้วยอย่างมาก ซึ่งทำให้การกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปยากลำบาก
เมื่อสองปีก่อน ตอนที่ปริมาณน้ำมันดิบในคลังของอิหร่านเพิ่มขึ้น ก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อราคาในตลาดโลกนักเลย
ส่วนน้ำมันดิบจากอิรักและซาอุดีอาระเบียนั้นกลั่นง่ายกว่ามาก และนักวิเคราะห์พวกที่มองตลาดในแง่ร้าย ก็จะเตือนว่า หากมีปริมาณน้ำมันดิบออกมาจากสองประเทศนี้อย่างต่อเนื่อง จะทำให้ราคาน้ำมันดิ่งลงมาได้