xs
xsm
sm
md
lg

“เลห์แมน” ณ ปลายยุคตราสารบริหารความเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: สเปงเกลอร์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Lehman and the end of the era of leverage
By Spengler
15/09/2008

การล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส และแบร์ สเทิร์นส์ มิได้เป็นการสะท้อนความล่มสลายของวัฒนธรรมองค์กรธุรกิจแนวสำคัญแนวหนึ่งของโลก สิ่งที่ลากให้ทั้งคู่จมมิดดินนั้น เป็นผลจากการแตกหักอย่างปุบปับในห่วงโซ่ที่ต่อเชื่อมการคาดคิดระหว่างปัจจุบันกับอนาคต ผู้ออมเงินทุกวันนี้ไม่เหลือความมั่นใจใดๆ อีกแล้วกับวิธีหารายได้จากการนำเงินออมไปเสี่ยงลงทุนเพื่อสะสมให้มากเพียงพอจะใช้เลี้ยงชีพยามเกษียณอายุ ณ บัดนี้ ยุควิกฤตเศรษฐกิจล่มสลายครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี 2008 เริ่มเข้าสู่เฟสใหม่แล้ว

เลห์แมน บราเธอร์ส สามารถรักษาชีวิตอยู่รอดปลอดภัยผ่านวิกฤตมาได้หลายยุคหลายสมัย ทั้งยุคสงครามกลางเมืองอเมริกัน ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 อีกทั้งยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สำหรับขณะนี้ ณ วันจันทร์ที่ 8 กันยายน 2008 องค์กรธุรกิจยักษ์รายนี้ซึ่งเป็นผู้สร้างมาตรฐานให้แก่ตลาดตราสารหุ้นกู้ ถึงแก่กาลต้องล้มละลาย ภาระสินทรัพย์เสี่ยงขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้น น่าจะสาหัสมากขนาดที่ว่าไม่มีสถาบันการเงินรายใหญ่เจ้าใดจะอยากเข้าไปเก็บ

หายนะของเลห์แมนเกิดขึ้นตามหลังติดๆ กับความล้มเหลวทางธุรกิจของแฟนนี่ เม และเฟรดดี้ แมค สองยักษ์ใหญ่แห่งตลาดค้ำประกันหนี้จดจำนองของอเมริกา ซึ่งมีขนาดความเสียหายมหาศาลจนทำให้ทางการหมดเรี่ยวแรงที่จะไปโอบอุ้มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ยักษ์อื่นๆ ได้ไหว ดังนั้น เลห์แมนจึงถูกลอยแพไปตามผลกรรมของตน

ความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นในตลาดการเงินของโลกตลอดสิบปีที่ผ่านมา โดยในช่วงดังกล่าว ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้ไปตั้งอยู่บนตลาดจีน ขายสินค้านานาประเภทผ่านวอล-มาร์ท กับบริษัทการค้าทั้งขาส่งออกและนำเข้า ทั้งนี้ ส่วนต่างผลกำไรที่เกิดขึ้นนับว่าบางมาก กระนั้นก็ตาม ขณะที่ผลกำไรที่รองรับระบบเศรษฐกิจอเมริกันอยู่ในภาวะไม่ดี แต่วิศวกรแห่งตลาดการเงินก็สามารถแปลงผลกำไรอันแสนบอบบางเหล่านั้นให้ดูเสมือนว่าอวบอ้วนพ่วงพีได้ด้วยมนตราแห่งตราสารบริหารความเสี่ยง (Leverage)

ขณะที่รายได้ของผู้บริโภคอเมริกันอาจเรียกได้ว่าซบเซา ราคาบ้านที่อยู่อาศัยของพวกเขากลับดีดตัวขึ้นไปเรื่อยๆ จนสูงขึ้นไปเป็นสองเท่าตัวได้ภายในช่วงปี 1998-2007 โดยเป็นผลจากการใช้ตราสารบริหารความเสี่ยงไปเป็นเครื่องมือทางการเงินในกระบวนการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ ในเวลาเดียวกัน ขณะที่ผลกำไรของภาคธุรกิจอเมริกันอาจเรียกได้ว่ามีอัตราขยายตัวไม่สูง แต่ด้วยการใช้ตราสารบริหารความเสี่ยงในรูปของการควบรวมกิจการ ซึ่งใช้แหล่งสนับสนุนทางการเงินจากจั๊งค์บอนด์ ผลกำไรอันบอบบางก็ทวีตัวขึ้นหลายเท่าตัว

ผลกำไรของบรรดาธุรกิจการเงินรายใหญ่ๆ ของโลกไม่ว่าจะที่วอลล์สตรีทหรือสตรีท ออฟลอนดอน จึงพากันสำราญกับกระแสคลื่นถาโถมของผลกำไรที่ได้มาจากการออกตราสารบริหารความเสี่ยงเสนอขายราคาแพงๆ แก่นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนระดับสถาบัน ในการนี้ วิศวกรการเงินของเลห์แมน บราเธอร์ส นับเป็นหัวหอกบุกเบิกอุตสาหกรรมตราสารซึ่งนับแต่จะเติบใหญ่ขยายตัวแรง ทั้งในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน ระบบที่รองรับตลาด ทีมงาน และปริมาณของความเสี่ยงทางการเงินที่แบกรับไว้ บริษัทธุรกิจการเงินผู้อาจหาญกล้าท้าความเสี่ยงแห่งโลกการเงินเหล่านี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงลิ่วกระทั่งว่าเมื่อสายป่านของตลาดไปต่อไม่ไหว พวกเขาไม่มีช่องทางที่จะผ่องถ่ายระบายความเสี่ยงที่ถืออยู่ในความรับผิดชอบออกไปได้อย่างสง่างาม หนทางเดียวที่เปิดรออยู่คือการล่มสลาย

วิกฤตเศรษฐกิจล่มสลายครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี 2008 ได้เข้าสู่เฟสใหม่แล้ว โดยตัดสินได้จากราคาของตราสารฟิวเจอร์ตอนตลาดเปิดทำการในยุโรปและสหรัฐฯ ราคาหุ้นที่ทรุดติดฟลอร์ของประดาบริษัทการเงินทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่ายเอไอจี ซึ่งเป็นธุรกิจประกันชีวิตรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ฉุดเอามูลค่าหุ้นต่างๆ จมดิ่งแตะสถิติการตกต่ำดุเดือดต่างๆ ของรอบปี

สาเหตุข้างเคียงของวิกฤตเศรษฐกิจล่มสลายครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี 2008 คือการขยายตัวของสถานการณ์ผลตอบแทนต่อทุนอยู่ในระดับย่ำแย่ อันเป็นความสืบเนื่องกับตราสารบริหารความเสี่ยง แน่นอนว่า ความตกต่ำของอัตราผลตอบแทนต่อทุนนั้นมีต้นตอจากความไม่สมดุลย์ในระดับโลกระหว่างอุปสงค์กับอุปทานด้านเงินทุน ซึ่งปรากฏตามกันมาจากปัญหาสัดส่วนประชากรโลกที่เป็นกลุ่มสูงอายุขยายตัวในอัตราเร่งสูง ทั้งนี้ พวกที่กินรายได้จากดอกเบี้ยเงินบำนาญเกษียณอายุทั้งในยุโรปและเอเชีย ต้องหาคนหนุ่มสาวมาจ่ายดอกเบี้ยเข้าสู่เงินบำนาญเหล่านั้น แต่เอาเข้าจริง ประชากรวัยทำงานที่จะทำหน้าที่จ่ายดอกเบี้ยดังกล่าวมีสัดส่วนไม่เพียงพอที่จะทำหน้าที่นั้น

(อาทิ ในเยอรมนี ประชากรวัย 15-24 ซึ่งเป็นวัยจวนเจียนเข้าสู่ช่วงของการตั้งครัวเรือนใหม่ มีสัดส่วนเพียง 12% ของประชากรทั่วประเทศ หนำซ้ำยังมีแนวโน้มว่าสัดส่วนดังกล่าวจะหดลงเหลือเพียง 8% ภายในปี 2030 ในเวลาเดียวกัน ประชากรเยอรมันราวหนึ่งในห้า กำลังย่างเข้าสู่วัยเกษียณอายุ และสัดส่วนนี้จะกลายเป็นครึ่งต่อครึ่งภายในกลางศตวรรษที่ 21 นี้)

ผลจากสถานการณ์อสมดุลย์แห่งอุปสงค์กับอุปทานด้านเงินทุนที่ปรากฏในสหรัฐก็คือ คนอเมริกันต้องกู้เงินปีละหนึ่งล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าอัตราเพิ่มด้านราคาบ้านที่อยู่อาศัยราวปีละ 10% จะยังคงเป็นอยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆ พร้อมกับสร้างภาวะฟองสบู่ซึ่งขณะนี้ได้ถึงกาลแห่งภาวะฟองสบู่แตกแล้ว ปรากฏการณ์ประมาณนี้นับว่าไม่ต่างกับสถานการณ์ฟองสบู่แตกในประเทศไทยอันเนื่องจากการเฟ้อของราคาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนำไปสู่การลดค่าเงินบาทเมื่อปี 1997 หากจะมีความต่างกันอยู่บ้างก็เป็นความแตกต่างในเชิงของขนาดและผลกระทบต่อโลก

อันที่จริงแล้ว ออกจะเป็นเรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการเงิน ทั้งนี้ ธนาคารกลางทั้งหลายสามารถรวมตัวกันประชุมกันแล้วประกาศใช้มาตรฐานการกู้ยืมที่เข้มงวดจัดๆ แต่มันก็ไม่สามารถจะเป็นไปได้ที่จะแก้ไขปัญหาทางการเงินซึ่งงอกเงยขึ้นจากปัญหาสังคมสูงอายุของยุโรป ยิ่งกว่านั้น ในกรณีของจีน ซึ่งมีนโยบายคุมโควต้าการมีบุตรของแต่ละครัวเรือนที่อัตราครอบครัวละ 1 คน ดังนั้น จีนจะเป็นชาติที่สัดส่วนประชากรวัยทำงานหดตัวรวดเร็วกว่าชาติอื่นๆ จีนจึงเป็นชาติที่มีความกระหายจะออมเงินสูงกว่าความความต้องการของตลาดการเงินในประเทศ เงินออมในจีนจึงมีส่วนเกินปริมาณมหาศาลที่ต้องดิ้นรนหาที่ลงเพื่อทำรายได้ให้งอกเงยขึ้นมา

ในเรื่องของการเงินมักไม่มีความซับซ้อนอะไรนักหนา มันอยู่บนพื้นฐานของการที่คนแก่ให้เงินกู้แก่คนหนุ่มสาว คนหนุ่มสาวต้องการเงินไปลงทุนกับการซื้อที่อยู่อาศัยและการทำธุรกิจ ขณะที่คนแก่ออมเงินเพื่อให้มีสินทรัพย์ไว้รองรังยามเฒ่าชรา คนวัยทำงานก็จ่ายดอกเบี้ยไปจุนเจือผู้สูงอายุ โดยมีระบบการเกษียณอายุทำหน้าที่กระจายสิทธิในเชิงรายได้ไปตามเจนเนอเรชั่นต่างๆ กระนั้นก็ตาม ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติซึ่งยังไม่เคยมาก่อนที่โลกไม่สามารถสร้างคนรุ่นหนุ่มสาวรุ่นใหม่ๆ มาสืบทอดหน้าที่นี้ได้อย่างเพียงพอ ครั้นมาถึงขณะนี้ เจนเนอเรชั่นใหม่ๆ ที่ควรมาทำหน้าที่กู้เงินและจ่ายดอกเบี้ยแก่พวกเจนเนอเรชั่นสูงวัย กลับมีจำนวนไม่เพียงพอ ปัญหาเงินออมส่วนเกินที่บ่มเพาะอยู่ในยุโรปและเอเชีย จึงมีสหรัฐฯ ซึ่งไม่รุ่งเรืองด้านเงินออม เป็นคำตอบรองรับ

ด้วยเหตุนี้ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โลกของเราจึงพากันขนถ่ายเงินทุนไปยังสหรัฐฯ เพราะไม่มีตลาดการเงินอื่นใดอีกนอกเหนือจากสหรัฐฯ ที่ต้องการเงินออมของยุโรปและเอเชีย ในทางกลับกัน ตลาดการเงินแต่ละแหล่งล้วนต้องสร้างหนทางดึงดูดเชิญชวนให้คนอเมริกันขอกู้เงินของตนมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าสหรัฐไม่มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากพอที่จะมาทำหน้าที่กู้ยืมเงินบนเงื่อนไขสินเชื่อที่มั่นคง พวกแบงก์ก็ต้องมาจัดสรรเงินกู้ให้แก่คนอเมริกันในจำนวนที่น้อยลง แต่ให้วงเงินรายละมากขึ้น บนเงื่อนไขสินเชื่อที่ไม่มั่นคง นี้เองเป็นที่มาของตลาดสินเชื่อกลุ่มซับไพรม์ ซึ่งอิงอยู่กับเงื่อนไขดอกเบี้ยล้วนๆ ไม่ต้องวางเงินดาวน์

นับเป็นเรื่องเร้าใจที่จะตีความการล้มของเลห์แมน บราเธอร์ส และการบีบให้เกิดการควบรวมระหว่างเมอร์ริล ลินช์ กับแบงก์ออฟอเมริกา ว่าเป็นปรากฏการณ์การล้มของ “วัฒนธรรมองค์กรธุรกิจ” ยิ่งเมื่อเรื่องมาเกิดในกรณีของบริษัทการเงินเก่าแก่และใหญ่โต ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมานับไม่ถ้วนแล้ว การล้มในเชิงวัฒนธรรมองค์กรธุรกิจจึงยิ่งเต็มไปด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจ ตลาดสินเชื่อเป็นการเชื่อมโยงสิ่งที่เราทำในปัจจุบันไว้อย่างเหนียวแน่นกับสิ่งที่เราวางแผนว่าจะให้เกิดขึ้นมาในอนาคต แต่ในเมื่ออนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน คนเราจึงต้องอาศัยศรัทธาและความเชื่อว่าสิ่งที่เราวางแผนไว้บนระบบที่แข็งแกร่ง จะไม่เกิดการพลิกล็อกผิดเพี้ยนมากนัก ซึ่งนี่แหละเป็นเหตุผลว่า คำว่าสินเชื่อ หรือ Credit เป็นคำที่รับมาจากรากศัพท์ละตินซึ่งหมายถึงความเชื่อในทางศาสนา ทั้งนี้ เราต้องการความเชื่อมั่นในคู่ธุรกรรมของเรามากในระดับหนึ่งทีเดียวกว่าจะส่งมอบทรัพยากรอันมีค่าให้เขาได้ และมันเป็นหน้าที่ของพวกบริษัทธุรกิจการเงินรายใหญ่ๆ ที่ต้องสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในระหว่างผู้ออมกับผู้กู้ พร้อมกับสร้างระบบเชื่อมโยงระหว่างปัจจุบันกับอนาคต

แม้จะเป็นเพียงกรณีเดียวในกรอบโครงใหญ่ของสรรพสิ่ง แต่กรณีของเลห์แมนนับเป็นกรณีตัวอย่างอันดีมากที่สะท้อนถึงความทะเยอทยานกับความโลภ หายนะของเลห์แมนเป็นเพียงเหตุการณ์เล็กๆ ที่พ่วงอยู่กับปัญหาอันใหญ่ยักษ์ของแฟนนี เม กับ เฟรดดี้ แมค ซึ่งย่ำแย่จนต้องถูกทางการเข้าอุ้มเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะเดียวกัน มันเป็นจารึกสำคัญที่สะท้อนถึงบรรษัทภิบาลอันแสนยุ่งเหยิงของสหรัฐฯ ด้วย

ในเวลาเดียวกัน การล้มของเลห์แมนนับเป็นความประจวบเหมาะของวงการวานิชธนกิจ เมื่อนำเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับการล้มของแบร์สเทิร์นส์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม้ว่าทั้งสองค่ายนี้จะอยู่คนละสุดขั้วของวัฒนธรรมองค์กรธุรกิจ ทั้งนี้ แบร์เป็นเจ้าแรกของปีที่ล้มละลายและได้เจ พี มอร์แกน เชสมาช่วยเก็บกวาดภาระให้ ส่วนเลห์แมนเป็นเจ้าที่สองที่ล้มในปีนี้

ภายในวงการวานิชธนกิจถือว่าแบร์เป็นคนนอกตัวเล็กๆ ซึ่งบริหารโดยพวกยิวไร้ตำแหน่งแห่งที่ในสังคม โดยที่ว่าประธานของแบร์คือ จิมมี่ ไคน์ ไม่ใช่คนมีการศึกษาสูง ไม่มีใบปริญญาบัตร และเริ่มชีวิตการทำงานในวงการค้าเศษเหล็ก ทีมผู้บริหารของแบร์เล่นไพ่บริดจ์ และภาคภูมิใจในความขาดไร้วัฒนธรรมองค์กรของพวกตน พร้อมกับโอ้อวดถึงจุดเด่นในเรื่องสัญชาตญาณนักล่าแบบฝูงปลาปิรันญ่าในการเสาะแสวงหาดีลใหม่ๆ มาทำกำไร เมื่อหลายปีที่แล้ว อดีตซีอีโอของแบร์ คือ อลัน กรีนเบิร์ก ออกหนังสือแนวบันทึกความทรงจำซึ่งจารจารึกคำเยาะเย้ยถากถางใครต่อใครไว้มาก พร้อมกับจัดกลุ่มคู่แข่งของแบร์(ที่ในยุคนั้นๆ เคยถูกแบร์แซงหน้าฝุ่นตลบ) ด้วยการจัดชั้นไปตามปรัชญาการบริหารที่พวกนั้นยึดมั่นเป็นคัมภีร์ อาทิ พวกกลุ่มนักบริหารคุณภาพเบ็ดเสร็จ ฯลฯ เรียกว่าชาวแบร์ สเทิร์นส์ ภูมิใจมากกับการปฏิเสธเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรและปรัชญาการบริหาร

การทำงานภายในแบร์ เล่ากันว่าพวกระดับพาร์ทเนอร์จะต่างคนต่างมีแนวการบริหารของตนเอง พร้อมกับซ่อนเคล็ดวิชาชั้นเยี่ยมของตนไม่ให้สหายได้ล่วงรู้ เพื่อป้องกันการถูกตัดหน้าช่วงชิงชิ้นเนื้อที่กำลังคั่วอยู่ แม้แต่วิธีสื่อสารภายในองค์กร ก็ยังนิยมสไตล์การโทรแจ้งกันล่วงหน้าแค่ 1 นาที ส่วนในด้านของเลห์แมน กระบวนการจะมากมายไปด้วยการประชุม เมื่อเลห์แมนจัดประชุม ก็จะมีการประชุมเตรียมความคิดล่วงหน้าเพื่อวางแผนการประชุมเพื่อกำหนดวาระการประชุมเพื่อดำเนินการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ และแน่นอนว่าทุกฝ่ายงานและทุกผลประโยชน์จะต้องถูกนำขึ้นเสนอให้ทราบกัน แบบว่าเป็นทีมเวิร์กสุดๆ ดังนั้น ทรัพยากรทุกอย่างของเลห์แมนจะถูกนำมาพิจารณาจัดสรรกระจายลงในแต่ละโปรเจ็กต์ตามการจัดลำดับความสำคัญขององค์กรโดยรวม

ตอนที่แบร์ล้มครั้งสุดท้าย คนวอลล์สตรีทไม่ได้แสดงความเป็นห่วงเป็นใยใดๆ

“ไม่มีใครชอบจิมมี่ ไคน์” บิ๊กระดับสูงมากคนหนึ่งในเลห์แมน บราเธอร์ส ออกปากไว้อย่างนั้น

“แต่ใครๆ ก็ชอบดิ๊ก ฟูลด์ (ซีอีโอของเลห์แมน) ไคน์ไม่ใช่คนระดับเดียวกับพวกเรา แค่เป็นพวกลี้ภัยออกจากสลัมขึ้นมาได้สูง แต่ก็สูงเกินไปและตอนนี้ก็หนีไม่พ้นผลกรรม พวกแบงก์ชาติยอมเปิดช่องอัดฉีดทางการเงินมาช่วยพวกบริษัทหลักทรัพย์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ก็เมื่อแบร์ สเทิร์นส์ ล้มไปแล้ว เลห์แมนกับวานิชธนากรต่างๆ ได้ประโยชน์จากความอารีของเฟดซึ่งไม่เคยเสนอให้แก่แบร์ สเทิร์นส์”

แน่นอนว่าใครๆ อาจจะชอบดิ๊ก ฟูลด์ ซึ่งมีบทบาทอันน่านับถือในทางสังคม อีกทั้งมีบทบาทในทางการเมืองไม่ใช่น้อย มีทีมผู้เชี่ยวชาญเป็นเครือข่ายใหญ่โตราวกับกองทัพ แต่ไม่มีใครชอบฟูลด์มากพอที่จะเข้าซื้อบริษัทของเขาซึ่งถูกปฏิเสธไปหมดไม่ว่าจะเสนอขาย ณ ราคาเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นแบงก์เกาหลีเจ้าหนึ่ง แบงก์ในอังกฤษของค่ายบาร์เคลย์ และกระทั่งถูกปฏิเสธจากแบงก์ออฟอเมริกาที่ยอมซื้อเมอร์ริล ลินช์

เมื่อต้นปีนี้ ทางการของสหรัฐฯ อนุญาตให้สถาบันการเงินลงบัญชีด้วยตัวเลขมูลค่าที่ไม่จริงตามราคาซื้อขายขณะลงบันทึกได้ โดยหวังว่าในท้ายที่สุดแล้วราคาสินทรัพย์จดจำนองเอย โครงสร้างหนี้ผู้บริโภคเอย เครื่องมือทางการเงินในโครงสร้างของภาคธุรกิจเอย ฯลฯ จะฟื้นตัวขึ้นได้ แต่ถ้าในตอนนั้นทางการใช้วิธีบีบให้พวกสถาบันการเงินบันทึกตามมูลค่าตลาด ทุกเจ้าคงจะถึงกาลล้มละลายกันไปหมด

ปัญหาในขณะนี้อยู่ที่ว่า ปัจจัยพื้นฐานทั้งหลายนับแต่จะแย่ลง ไม่ใช่ดีขึ้นอย่างที่หวังกันตลอดมา ราคาของผลิตภัณฑ์การเงินในโครงสร้างของภาคธุรกิจจะไม่หวนกลับมาดีได้อีก ขณะที่กระแสเงินสดของหลายเจ้าอยู่ในภาวะยับเยิน โดยที่ว่า 6% ของหนี้จดจำนองในสหรัฐฯ เป็นพวกเน่าสนิทไปแล้ว และการฟื้นตัวด้านสภาพคล่องดูเสมือนว่าจะอยู่ที่ระดับแค่ 50% แทนที่จะเป็น 98%แบบตอนที่ราคาบ้านกำลังเฟื่องฟูจัดๆ ดังนั้น ยิ่งรอไปนาน ก็จะยิ่งอาการหนักมากขึ้น เฉกเช่นอาการอันสาหัสที่เลห์แมนซ่อนไว้ ซึ่งนักวิเคราะห์บอกว่าเมื่อพิจารณาพอร์ตของเลห์แมนโดยเทียบกับราคาที่ซื้อขายกันจริงในตลาด ฝ่ายต่างๆ ล้วนรู้ว่าคงต้องมีหลุมดำที่ซุกสภาพการขาดทุนแท้จริงเอาไว้แน่

การล้มของเลห์แมนกับแบร์ สเทิร์นส์มิได้เป็นการสะท้อนความล่มสลายของวัฒนธรรมองค์กรธุรกิจแนวสำคัญแนวหนึ่งของโลก เพราะทั้งสองมาจากวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกันสุดขั้ว สิ่งที่ลากให้ทั้งคู่จมมิดดินนั้น เป็นผลจากการแตกหักอย่างปุบปับในห่วงโซ่ที่ต่อเชื่อมการคาดคิดระหว่างปัจจุบันกับอนาคต ผู้ออมเงินทุกวันนี้ไม่เหลือความมั่นใจใดๆ อีกแล้วกับวิธีหารายได้จากการนำเงินออมไปเสี่ยงลงทุนเพื่อสะสมให้มากเพียงพอจะใช้เลี้ยงชีพยามเกษียณอายุ คนพวกนี้ได้พบความจริงกันแล้วในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งว่า การยอมเสี่ยงลงทุนของพวกตนนั้น ที่แท้คือการไปหล่อเลี้ยงสภาพฟองสบู่ของตลาดหลักทรัพย์ แทนที่จะเป็นการสร้างมูลค่าดั่งที่ตั้งใจ

ผู้คนที่มีส่วนได้เสียอยู่ในตลาดรับมือกับสถานการณ์ด้วยการวิ่งหนีออกจากความเสี่ยง ซึ่งก็เป็นอะไรที่ควรทำ ในเมื่อมันเป็นธรรมดาอันหนึ่งของปรากฏการณ์ล่มสลายใหญ่ๆ ทั้งหลาย นอกจากนั้น ที่ผ่านมา รูปแบบการตกต่ำของตลาดต่างๆ มักปรากฏเป็นรูปแบบของการกระเด้งลูกบอล คือเมื่อร่วงหล่นกระแทกพื้นแล้วจะกระเด้งขึ้นสูง โดยมักจะได้รับปัจจัยสนับสนุนอัดฉีดจากภาครัฐมาช่วยฟื้นความมั่นใจของนักลงทุน เช่นในกรณีของวิกฤตตลาดหุ้นตอนแบร์ สเทิร์นส์ ล้ม กระนั้นก็ตาม การทุ่มเทจากภาครัฐเพื่ออุ้มตลาดออกจากวิกฤต เป็นทรัพยากรที่ใช้ได้อย่างจำกัดและเริ่มจะหมดหน้าตักแล้ว กระทรวงการคลังอเมริกันและแบงก์ชาติสหรัฐฯ ไม่สามารถตามอุ้มได้ทุกเจ้าและทุกวิกฤต หลังหมดเรื่องเลห์แมน ค่ายเอไอจีกับวอชิงตัน มูชวลก็จ่อจวนจะไปเต็มที ขณะที่แบงก์ระดับภูมิภาคของอเมริกันอีกมากก็ใกล้จะต้องยกธงขาว ยอมล้มตายด้วยหมดแรงอั้นภาระขาดทุนได้หวาดไหว

ไม่มีทางแก้ปัญหาใดอีกแล้วนอกจากจะต้องปล่อยให้ครัวเรือนอเมริกันเริ่มเผชิญของจริงและยอมรับที่จะต้องผ่านกระบวนการอันเจ็บปวดแห่งการสร้างบัญชีงบดุลของพวกตนขึ้นมาใหม่ ซึ่งหมายถึงว่าจะต้องแลกด้วยการปล่อยเศรษฐกิจชะลอตัวสักสองปี ขณะนี้มันสายเกินกว่าจะหยุดยั้งวิกฤตเศรษฐกิจล่มสลายครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี 2008 สิ่งที่ต้องหาคำตอบคือจะรวบรวมของดีที่ยังเหลืออยู่ขึ้นมาได้ดีที่สุดอย่างไร

สแปงเกลอร์ เป็นคอลัมนิสต์ประจำของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น