xs
xsm
sm
md
lg

6 แดง คิวสปอร์ตพันธุ์ใหม่ จากเกมไทย สู่เกมระดับโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เทพไชยา อุ่นหนู แชมป์ 6 แดงประเทศไทย
สนุกเกอร์ เป็นกีฬาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับร้อยๆ ปี และเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ในประเทศไทยของเรา ก็มีการจัดตั้งสมาคมและจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการอยู่เป็นประจำ นอกเหนือไปจากนั้น ไทยเรายังมีนักสนุกเกอร์ที่ก้าวไปมีบทบาทบนเวทีสนุกเกอร์โลกอยู่ไม่น้อย ซึ่งนักสนุกเกอร์เหล่านั้น ล้วนแต่เติบโตมาจาก ‘โต๊ะตลาด’ หรือโต๊ะสนุกเกอร์ของเอกชนที่กระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ซึ่งโต๊ะตลาดเหล่านี้นี่เอง ที่เป็นสถานที่ฟูมฟักนักสนุกเกอร์รุ่นเยาว์ของไทยให้กลายเป็นดาวเด่นมานักต่อนัก

นอกจากโต๊ะตลาดจะมีส่วนในการสร้างนักกีฬาสนุกเกอร์แล้ว โต๊ะตลาดในไทยยังสามารถสร้าง ‘เกม’ สนุกเกอร์แบบใหม่ที่น่าสนใจและทรงพลังขึ้นมาให้กับวงการกีฬาอีกด้วย

กฎ กติกาของสนุ้กเกอร์ในระดับสากลนั้น จะมีการตั้งลูกสีต่างๆ บนโต๊ะ 6 ลูก และตั้งลูกแดงไว้บนโต๊ะทั้งหมด 15 ลูก แต่ในการเล่นตามโต๊ะตลาดในประเทศไทย จะมีการตั้งลูกสีไว้ 6 ลูกเท่ากัน แต่ลูกแดงบนโต๊ะจะมีเพียง 6 ลูกเท่านั้น เพราะเป็นการทำให้เกมกระชับขึ้น ไม่กินเวลายาวนานเหมือนการเล่นเกมที่มีลูกแดง 15 ลูก

และจากการใช้ลูกแดงเพียง 6 ลูกนี่เอง ทำให้ชื่อของเกมสนุกเกอร์ชนิดนี้ ถูกเรียกกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทยว่า เกม ‘6 แดง’

สั้น เร้าใจ สไตล์ 6 แดง

เทพไชยา อุ่นหนู (เอฟ นครนายก) แชมป์เยาวชนประเทศไทย ปี 2548, รองแชมป์ประเทศไทย ปี 2550 และแชมป์ 6 แดงประเทศไทยปีล่าสุด กล่าวถึงสนุกเกอร์ 6 แดงว่า

“6 แดงนั้นเล่นง่าย เป็นเกมเร็ว ลูกแดงมันน้อย การเล่นในแต่ละเฟรม ถ้าทำได้ไม้เดียวหมดโต๊ะก็แค่ 3-4 นาทีเท่านั้นเอง ซึ่งมันเกิดขึ้นได้บ่อย คะแนนสูงสุดในโต๊ะ (Maximum Break) มีแค่ 75 แต้ม มืออาชีพทุกคนสามารถทำคะแนนเต็มได้ ในการแข่งขัน ถ้าแทงเก็บติดต่อกันได้ 5 ชุดแต้มก็ขาดแล้ว จุดสนุกของเกมนี้ก็คือถ้าใครพลาดก็แพ้

“ในเกมใหญ่ 15 แดงนั้นอาจจะพลาดได้บ้าง แต่สำหรับ 6 แดงนั้นพลาดแล้วแพ้เลย มันเหมือนเป็นการแข่งกับตัวเอง แต่บางครั้งแม้ไม่ได้พลาดเลย แต่เราก็สามารถแพ้ได้”

เทพไชยา เป็นนักสนุกเกอร์ที่ก้าวขึ้นมาจากการเล่นตามโต๊ะตลาดเหมือนคนอื่นๆ เขาเริ่มเล่นสนุกเกอร์มาตั้งแต่อายุยังไม่เต็ม 14 ดี และแน่นอน ก่อนหน้านี้เทพไชยา เล่นแต่ 6 แดงมาตลอด

“ผมเริ่มจากโต๊ะตลาดก่อน คือข้างบ้านผมมีโต๊ะ ผมก็ได้หัดได้เล่นและพัฒนามาเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้ผมเล่น แต่ 6แดง 15 แดงนี่แทงไม่เป็นเลย เพราะโต๊ะตลาดแถวบ้านนี่ไม่มีการเล่นกัน พออายุได้ 16 ปี ผมมาลงแข่งในรายการหนึ่ง ทางสมาคมเห็นแวว ก็เลยเรียกผมมาเก็บตัว หลังจากนั้นผมก็เล่นสนุกเกอร์อย่างจริงจัง”

เทพไชยา ก้าวเข้าสู่โลกของมืออาชีพ โลกของลูกแดง 15 ลูกอย่างเต็มตัว แต่ฝีมือ 6 แดงที่เขาขัดเกลามาตลอด 10 กว่าปีในการเล่นโต๊ะตลาด ก็ทำให้เขาขึ้นแท่นแชมป์ 6 แดงคนที่สองของประเทศไทย

6 แดง สนุกเกอร์เมดอินไทยแลนด์

“คนไทยเล่นสนุกเกอร์ ที่ใช้แค่ลูกแดง 5 ลูก 6 ลูกมานานแล้ว เมื่อก่อนใช้ลูกปูนในการเล่นด้วยซ้ำ บางทีก็ใช้ลูกที่ไม่ได้มาตรฐานซึ่งมีน้ำหนักเบาในการเล่น ส่วนเกมที่ใช้ลูกแดง15 ลูกตามโต๊ะตลาดทั่วไปนี่หายาก คนไทยเราชอบเล่นเกมย่อ เพราะการเล่น 15 แดงมันเป็นเกมที่ใช้เวลานาน การเล่นโดยใช้ลูกแดงแค่ 6 ลูก เป็นที่นิยมกันมาในไทย เกินกว่า 20 ปีแล้ว มันเกิดจากการลองผิดลองถูกกันมา”

ศักดา รัตนสุบรรณ หรือ ‘คิวทอง’ ผู้อาวุโสแห่งวงการสนุกเกอร์ไทย กล่าวถึงความเป็นมาของ 6 แดง และเขาคนนี้นี่เอง ที่เป็นคนผลักดันให้มีการแข่งขันสนุกเกอร์ 6 แดงอย่างเป็นระบบ และนำกติกาการเล่นแบบสากลมาใช้

“ผมเห็นว่าคนที่เล่นสนุกเกอร์ในบ้านเรามีความถนัดในการเล่นสนุกเกอร์ 6 แดงอยู่แล้ว เพราะส่วนใหญ่จะเล่นกันตามโต๊ะตลาด แต่ทุกวันนี้ การเล่นที่โต๊ะตลาดนั้นไม่ได้เล่นตามกติกาสากล มีการพลิกแพลงไปจากเดิมทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบเกิดขึ้น อย่างเช่นคนที่ถูกวางสนุ้ก สามารถเลือกที่จะไม่แก้สนุ้ก แต่จะต้องโดนตัดแต้มเล็กน้อย ซึ่งมันไม่ยุติธรรม ผมอยากให้โต๊ะตลาดหันมาใช้กติกาการแข่งขันแบบสากล ผมเอาเกมนี้เข้ามาจัดการแข่งขัน เพราะอยากให้ทุกคนได้เล่นอย่างถูกต้อง และคนที่เล่นก็จะไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบใคร”

ในปี 2548 การแข่งขันสนุกเกอร์ 6 แดง โดยใช้กติกาสากลก็ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยในขณะนั้นมีร้านอาหาร โฮ คิทเช่น และศักดาเป็นโต้โผใหญ่ โดยมีเสียงตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจากผู้สมัครเข้าแข่งขันและผู้ชม

“โฮ คิทเช่นเป็นสปอนเซอร์รายแรกในการจัดงาน เมื่อปี 2548 ผู้เล่นมีทั้งทีมชาติและคนเล่นที่ก้าวมาจากโต๊ะตลาด กว่า 100 คน โดยมี สุพจน์ แสนหล้า เป็นแชมป์คนแรกของไทย จากนั้นก็เว้นว่างไป แล้วกลับมาเริ่มใหม่อีกทีเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้เป็นการจัดของสมาคมสนุกเกอร์แห่งประเทศไทย โดยที่ท่านนายกสินธุ (พูนศิริวงศ์) เห็นว่า 6 แดงนั้น เป็นการปรับปรุงสนุกเกอร์ธรรมดาที่กำลังอ่อนแรงลงให้เร้าใจยิ่งขึ้น และเกมนี้สามารถสู้กับพูล 9 ลูกซึ่งกำลังได้รับความนิยมได้ คนที่ชอบดูเกมระยะสั้นก็จะหันมาสนใจสนุกเกอร์มากขึ้น ท่านเลยคิดที่จะสานต่อการแข่งขันสนุกเกอร์ 6 แดงต่อไป

“คนเข้ามาดูการแข่งที่เราจัดเยอะมาก เพราะเกมมันสั้น เร้าใจ ไม่ได้ใช้เวลาเป็นชั่วโมงเหมือน 15 แดง สำหรับ 6แดงนั้น คนดูจะจ้องเลยว่า ใครจะพลาดก่อน เพราะถ้าหากพลาดทีเดียวฝ่ายตรงข้ามก็อาจจะเก็บหมดโต๊ะเลย ส่วนแชมป์ในรายการนี้ก็คือ เทพไชยา อุ่นหนู”

และความเร้าใจที่ว่านี้เอง ที่ทำให้กระแสของ 6 แดง แผ่กระจายออกไปทั่วโลก ไม่ว่าจะในภูมิภาคเอเชีย หรือแม้กระทั่งเมืองต้นกำเนิดกีฬาสนุกเกอร์อย่างประเทศอังกฤษก็ตาม...

6 แดง ‘คิวสปอร์ตพันธุ์ใหม่’ บุกเวทีอาเซียน

ในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 24 โคราชเกมส์ ได้มีการบรรจุกีฬา สนุกเกอร์ 6 แดงเข้าร่วมในรายการแข่งขันด้วย โดยการผลักดันของ สินธุ พูนศิริวงศ์ นายกสมาคมสนุกเกอร์แห่งประเทศไทย และ นายกสหพันธ์บิลเลียดและสนุกเกอร์แห่งเอเชีย ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้านจาก มิสเตอร์ ดับเบิลยู วาย ชิน นายกสมาคมสนุกเกอร์และรองประธานโอลิมปิกของมาเลเซีย โดยให้เหตุผลว่า “สนุกเกอร์ 6 แดง คือเกมพนันที่คนไทยมีความชำนาญมากที่สุด และเล่นกันเป็นประจำ หากบรรจุเข้าชิงเหรียญทองจะทำให้ได้เปรียบนักกีฬาจากชาติอื่น” แต่กระนั้นก็ไม่เป็นผล เพราะกระแสของ 6 แดง ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่แพร่กระจายออกไปทั่วโลกแล้ว ด้วยคุณลักษณะที่สนุกและเร้าใจของตัวเกม

“การเล่นสนุกเกอร์ในระดับนานาชาตินั้น จะเล่นเฟรมใหญ่ เล่นกันถึง 15 แดง ผมเห็นคุณศักดาเขาจัดการแข่งขัน 6 แดงขึ้น และมีจำนวนคนดูล้นหลาม ทั้งนี้เพราะเกมมันน่าตื่นเต้น เราก็มาคิดว่า ทำไมช่องกีฬาอย่าง ESPN ถึงมีแต่การถ่ายทอดพูล ก็ได้คำตอบมาสามข้อ ข้อแรกเพราะพูลมันเล่นง่าย สอง ทุกคนมีสิทธิ์ชนะเท่าๆ กันหมด จะเห็นได้ว่าแชมป์โลกพูลจะเปลี่ยนอยู่เรื่อย มันทำให้ทุกคนมีความหวัง และข้อสามซึ่งสำคัญมาก คือเกมมันสั้น สำหรับเกมยาวนั้น มีแต่การแข่งขันของมือระดับพระกาฬเท่านั้นที่ดูไม่น่าเบื่อ

“ผมเลยคิดที่จะผลักดัน 6 แดงเข้าสู่การแข่งขันนานาชาติอย่างซีเกมส์ โดยเริ่มครั้งแรกที่โคราชเกมส์ ซึ่งในครั้งนั้น มิสเตอร์ดับเบิลยู วาย ชิน เขาคัดค้าน แต่ก็ไม่เป็นผล สุดท้ายแล้ว สนุกเกอร์ 6 แดงในซีเกมส์ก็ประสบความสำเร็จสูงมาก และนั่นทำให้ประเทศต่างๆ เริ่มหันมาเล่น 6 แดงอย่างจริงจังกันมากขึ้น”

แต่ทว่าในซีเกมส์ครั้งที่ 25 ซึ่งจะจัดขึ้นที่เวียงจันทน์นั้นอาจจะไม่มีสนุกเกอร์ 6 แดงเข้าไปอยู่ในรายการการแข่งขัน ทั้งที่แต่เดิมได้มีการพูดคุยทำความตกลงเรื่องนี้กับคณะผู้จัดการแข่งขันซีเกมส์ของลาวแล้ว ซึ่งทั้งหมดเป็นเพราะ มิสเตอร์ดับเบิลยู วาย ชิน เจ้าเก่า ที่ใช้เหตุผลเดิมๆ มาคัดค้านการบรรจุสนุกเกอร์ 6 แดงเข้าไปในการชิงเหรียญทอง

“เรื่องของซีเกมส์ที่ประเทศลาวนั้น ก่อนหน้านี้ได้มีการตกลงกันเรียบร้อยแล้วว่าจะมีเหรียญทองทั้งหมด 12 เหรียญซึ่งเป็นสนุกเกอร์ 6 แดง 3 เหรียญ แต่ต่อมาทางลาวได้มีการจัดประชุมคณะมนตรีซีเกมส์ขึ้น และหลังจากประชุมเสร็จ ผมก็ได้รับจดหมายแจ้งว่า จะมีการตัดสนุกเกอร์ 6 แดงออกทั้งหมด ซึ่งปัญหานี้อาจจะเกิดจากการที่คณะมนตรีซีเกมส์ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสนุกเกอร์ 6 แดงไม่ครบถ้วน”

ปัญหาที่เกิดขึ้นในการจัดการแข่งขันซีเกมส์ที่ลาวนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนของการชี้แจงและทำความเข้าใจกับเจ้าภาพ ถึงความสำคัญของการบรรจุสนุกเกอร์ 6 แดงเข้าไปในการแข่งขัน เพราะการที่เจ้าภาพไม่จัดการแข่งขันสนุกเกอร์ 6 แดง ในกีฬาซีเกมส์จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ด่างพร้อยอีกหน้าหนึ่งในวงการกีฬาของกลุ่มประเทศอาเซียน และจะเป็นการทำลายโอกาสของนักกีฬาในการฝึกฝนสนุกเกอร์ 6 แดง เพื่อก้าวไปสู่การแข่งขันในรายการที่ใหญ่ขึ้นอย่างเช่น เอเชี่ยนอินดอร์เกมส์, อีสต์เอเชี่ยนเกมส์ และเอเชี่ยนเกมส์

เพราะสนุกเกอร์ 6 แดงในวันนี้ ได้กลายเป็นกีฬาของโลกไปแล้ว

แสงโสม 6-เรด เวิลด์ กรังด์ปรีซ์

สินธุ พูนศิริวงศ์ คืออีกกลไกสำคัญ ที่ทำให้สนุกเกอร์ 6 แดง ผงาดสู่สากลได้อย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งในขณะนี้ สนุ้กเกอร์ 6 แดง ได้รับการบรรจุเข้าไปเป็นกีฬาในเอเชี่ยนอินดอร์เกมส์ ครั้งที่ 3 ที่เวียดนาม, อีสต์เอเชี่ยนเกมส์ ที่ฮ่องกง และเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่จีน เรียบร้อยแล้ว

นอกจากจะมีการจัดสนุกเกอร์ 6 แดงชิงแชมป์ประเทศไทยและผลักดันสนุกเกอร์ 6 แดง เข้าไปในการแข่งขันระดับนานาชาติหลายรายการแล้ว สินธุ พูนศิริวงศ์ ยังได้ให้กำเนิดการแข่งขันระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า แสงโสม 6-เรด อินเตอร์เนชัลแนล

“เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ผมจัดการแข่งขันสนุกเกอร์ 6 แดง ขึ้น โดยชื่อรายการว่า ‘แสงโสม 6-เรด อินเตอร์เนชัลแนล’ ขึ้น มีการเชิญมือระดับโลกมาเข้าร่วมแข่งขัน มีตัวแทนทั้งจากยุโรป จากโอเชนเนีย และอาฟริกา ตอนนั้นฝรั่งเขายังไม่รู้จัก 6 แดงสักเท่าไร แต่เมื่อได้ลองเล่นกันแล้วปรากฏว่าพวกเขาชอบกันมาก และในปีนี้จะมีการแข่งขันอีก โดยใช้ชื่อว่า แสงโสม 6-เรด เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ ปีที่แล้ว ผู้ชนะได้รับเงินรางวัลไป 5 แสนบาท แต่ปีนี้เราจะเพิ่มเงินรางวัลขึ้นอีก 1 เท่า เป็น 1 ล้านบาท และจะมีการเชิญแชมป์โลกมืออาชีพมาร่วมรายการถึง 5 คน รวมทั้ง จอห์น ฮิกกินส์ แชมป์โลกคนปัจจุบัน การแข่งขันครั้งนี้จะพิเศษกว่าการแข่งขันอื่นๆ เพราะไม่ว่าการแข่งขันใดๆ ในโลก เป็นเรื่องยากมากที่จะรวบรวมแชมป์มาไว้ในรายการเดียวกันได้ถึง 5 คน แต่ที่เขามา เพราะว่าเขาสนใจ 6 แดง”

โดยแชมป์โลกทั้ง 5 คนนั้น ประกอบด้วย จอห์น ฮิกกิ้นส์, เคน โดเฮอร์ตี้, มาร์ค เจ วิลเลียมส์, ปีเตอร์ เอ็บดอน และ ฌอน เมอร์ฟีย์ ซึ่งการแข่งขัน แสงโสม 6-เรด เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ นั้น จะจัดขึ้นในวันที่ 7–12 กรกฎาคม ศกนี้ ที่โรงแรมมนเฑียร ริเวอร์ไซด์ และจะมีการถ่ายทอดเทปบันทึกภาพผ่านช่อง ESPN ถึง 20 ชั่วโมง เพราะสินธุเชื่อว่า สนุ้กเกอร์ 6 แดงนั้น จะเป็นคู่แข่งสำคัญของพูล 9 ลูก ซึ่งยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของคิวสปอร์ต ใน ESPN มาอย่างยาวนาน

6-red VS super 6s 6 แดง โกอินเตอร์

ในการแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลก เวิลด์ แชมเปียนชิป 2009 ที่ครูซิเบิล เธียเตอร์ เมืองเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 18 เมษายน-4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการนำเอาสนุกเกอร์ 6 แดง ไปทดลองเล่นในระหว่างการแข่งขัน ซึ่งเป็นการริเริ่มของ เซอร์ ร็อดนีย์ วอล์กเกอร์ ประธานสมาคมสนุกเกอร์อาชีพโลก ซึ่งการแข่งขันในรายการนั้น มีผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ จนทำให้ เซอร์ ร็อดนีย์ วอล์กเกอร์ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียนในทำนองว่า การนำ Super 6s เข้ามาทดลองเล่นนั้น เป็นเพราะอยากให้ในระหว่างการแข่งขันชิงแชมป์โลกมีความสนุกสนาน ตื่นเต้นมากขึ้น

นอกจากนั้น เซอร์ ร็อดนีย์ วอล์กเกอร์ ยังกล่าวว่า ทุกๆ สิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยยกตัวอย่างการปรับตัวของกีฬาคริกเกต และอาจเป็นไปได้ที่ Super 6s จะพัฒนาต่อไปและจะทำให้สนุกเกอร์เป็นกีฬาที่ยิ่งใหญ่ ไม่ตายตามกาลเวลา ซึ่งความเห็นของประธานสมาคมสนุกเกอร์อาชีพโลกนั้นสอดคล้องกับความเห็นของ จิมมี่ ไวท์ นักสนุกเกอร์ชื่อดังของโลก ที่กล่าวถึงเกมชนิดนี้ว่า “Super 6s จะเป็นอนาคตของสนุกเกอร์” (Super 6s could be the future of snooker.)

วงการสนุกเกอร์อาชีพโลกตื่นเต้นและวิพากษ์วิจารณ์ถึงสนุกเกอร์ Super 6s กันอย่างกว้างขวาง แต่ไม่มีเสียงใดเลยที่กล่าวถึงต้นกำเนิดของเกมชนิดนี้ ไม่มีใครเรียกสนุกเกอร์ที่ใช้ลูกแดง 6 ลูกว่า 6-red และไม่มีใครในวงการอาชีพโลกที่พูดออกมาอย่างเต็มปากเต็มคำว่า Super 6s คือเกมที่มาจากประเทศไทย!!

“ที่เซอร์ ร็อดนีย์ วอล์กเกอร์ รู้จักเกม 6 แดงได้นั้น เขาคงฟังจากผู้เล่นที่มาเล่นในการแข่งขันแสงโสมครั้งแรก เพราะปีเตอร์ เอ็บดอน และ ไมค์ ดัน ซึ่งมาร่วมแข่งขัน ดำรงตำแหน่งเป็นตำแหน่งเป็นบอร์ดเมมเบอร์ของสมาพันธ์อาชีพโลก ตอนนั้นเราสร้างโอกาสให้คนที่มีบทบาทในวงการสนุกเกอร์โลกมาพบของดีที่เรามีอยู่” สินธุ พูนศิริวงศ์ กล่าวถึงที่มาที่ไปของความนิยมในเกม 6 แดงที่เดินทางข้ามโลกไปสู่ประเทศฝั่งยุโรป

แต่สำหรับการแข่งขันในระดับนานาชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น ประเทศไทยจะใช้คำว่า 6-Red ต่อไป โดยไม่ใช้คำว่า Super 6s เป็นชื่อเรียกเกมชนิดนี้

“คุณศักดามาบอกให้ผมไปจดลิขสิทธิ์เหมือนกัน แต่ผมว่าคงยาก เพราะสนุกเกอร์ 15 แดงก็เป็นสมบัติของทุกคน ไม่มีใครจดลิขสิทธิ์ไว้ แต่ถึงแม้ว่าเขาไม่บอกอย่างชัดเจนว่าเกมชนิดนี้มาจากประเทศไทย แต่เราก็ไม่ต้องตีโพยตีพายไป เพราะใครๆ ก็รู้ว่า เกมนี้มีการจัดแข่งขันระดับนานาชาติครั้งแรกที่ไทย”

“สำหรับผมแล้วอะไรก็ได้ขอให้วงการมันพัฒนาขึ้น ใครจะเป็นคนคิดก็ไม่สำคัญ ต้องเห็นแก่ประโยชน์ของวงการเป็นหลัก เป็นนักกีฬาต้องใจกว้าง

‘นักกีฬา’ ที่ชื่อ สินธุ พูนศิริวงศ์ กล่าวทิ้งท้ายไว้เช่นนั้น.

************

เรื่อง-เอกชาติ ใจเพชร
ภาพ-ธนารักษ์ คุณทน และ อดิศร ฉาบสูงเนิน


ศักดา รัตนสุบรรณ
สินธุ พูนศิริวงศ์
กำลังโหลดความคิดเห็น