xs
xsm
sm
md
lg

ฤานายกฯ “มาลิกี” ก็จะหนีไม่พ้น “คำสาปแห่งอิรัก”

เผยแพร่:   โดย: ซามี มาวบายเอด

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Maliki picks a date with destiny
By Sami Moubayed
28/08/2008

นายกรัฐมนตรี นูริ อัล-มาลิกี นำตัวเองขึ้นไต่บนเส้นลวด ด้วยการยืนกรานว่าทหารอเมริกันทั้งหมดต้องถอนออกจากประเทศของเขาภายในสิ้นปี 2010 เขาถือว่าข้อเรียกร้องนี้เป็นเงื่อนไขล่วงหน้าประการหนึ่งที่จะต้องยอมรับกัน ก่อนที่อิรักจะร่วมลงนามในข้อตกลงด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ จุดยืนเช่นนี้ของมาลิกี ซึ่งเห็นชัดเจนว่าได้รับอิทธิพลจากอิหร่าน เป็นสิ่งที่วอชิงตันยอมรับไม่ได้เด็ดขาด ดังนั้น จึงต้องมีการตอบโต้บางประการติดตามมา

ดามัสกัส – ผู้นำของอิรักหลายต่อหลายรุ่นแล้วต้องค้อมศีรษะให้แก่ “คำสาปแห่งอิรัก” นั่นคือ ต้องวายวางสิ้นชีพไปจากเหตุเสียชีวิตอันรุนแรงขณะที่กำลังดำรงตำแหน่งอยู่ หรือหลังจากอำลาเก้าอี้ไม่นานนัก นายกรัฐมนตรี นูริ อัล-มาลิกี ก็อาจจะถูกกำหนดให้ “นัดพบ” กับโชคชะตาแล้ว สืบเนื่องจากเวลานี้เขากำลังยืนกรานเรื่องกำหนดนัดหมายอีกนัดหนึ่ง นั่นก็คือ กำหนดเวลาที่ทหารสหรัฐฯควรต้องถอนตัวออกไปจากประเทศของเขาอย่างถาวร

สัปดาห์นี้ มาลิกีกล่าวย้ำอีกว่า เขาได้ทำความตกลงกับสหรัฐฯไว้แล้วว่า ทหารอเมริกันทั้ง 145,000 คนจะถอนออกจากอิรักภายในสิ้นปี 2010 โดยการเจรจาทำความตกลงดังกล่าวนี้ ก็คือการทำ “ข้อตกลงว่าด้วยสถานภาพของกองกำลัง” (Status of Forces Agreement) ซึ่งจะใช้เป็นกรอบกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกองทหารอเมริกันกับฝ่ายอิรัก ภายหลังจากอาณัติที่ได้รับจากสหประชาชาติหมดอายุลงในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้

มาลิกีกล่าวว่า จะไม่มีการทำข้อตกลงด้านความมั่นคงใดๆ กับสหรัฐฯทั้งนั้น ถ้าหากไม่มีตารางเวลาเรื่องการถอนทหารอเมริกันออกไปทั้งหมดอย่างชนิดไม่มีเงื่อนไข “ต้องไม่มีสัญญาหรือข้อตกลงใดๆ ที่จัดทำขึ้นโดยไม่อิงอยู่กับการรับรองอธิปไตยอย่างสมบูรณ์, ผลประโยชน์ร่วมแห่งชาติ, และต้องไม่มีทหารต่างชาติคงอยู่ในดินแดนของอิรักอีกต่อไป มันควรจะต้องมีกำหนดเส้นตายที่ระบุอย่างเจาะจงแน่นอน ไม่ควรจะมีข้อความในลักษณะที่เปิดกว้าง”

และกำหนดเส้นตายดังที่ว่ามาก็คือปี 2010 มาลิกีบอก อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯยังคงปฏิเสธว่ามีการบรรลุข้อตกลงเรื่องเส้นตายนี้แล้ว อีกทั้งกำลังพยายามเจรจาเพื่อจัดทำตารางเวลาที่จะยืดเยื้อออกไปจนถึงปี 2015

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คอนโดลีซซา ไรซ์ ไปเยือนกรุงแบกแดดในสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อทำให้มาลิกียอมเปลี่ยนจุดยืน ทว่าทำไม่สำเร็จ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็ได้พูดคุยกับเขาทางระบบการประชุมผ่านดาวเทียม แต่มาลิกียังคงเสียงแข็ง และกล่าวย้ำถ้อยคำให้ได้ยินกันถ้วนทั่วแก่ทุกฝักฝ่ายทางการเมืองในอิหร่าน

จากนั้นสหรัฐฯก็ได้แจ้งกับเขา ด้วยวิธีการอันสุภาพ ว่าเขากำลังพูดปดในเรื่องกำหนดเวลา โฆษกทำเนียบขาว โทนี แฟรตโต ยิงคำพูดตอกหน้าเขาว่า “การตัดสินใจใดๆ ในเรื่องกองทหาร จะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ในอิรัก นั่นเป็นจุดยืนของเราเสมอมา และจะยังคงเป็นจุดยืนของเราต่อไป เวลานี้ยังไม่ได้มีการลงนามในข้อตกลงอะไรเลย เมื่อยังไม่มีการเซ็นข้อตกลงใดๆ เลยก็ต้องถือว่ายังไม่มีการทำข้อตกลงอะไรทั้งนั้น”

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯยืนยันว่ามีการจัดทำข้อตกลงฉบับร่างออกมาจริง แต่ก็ย้ำว่ายังจะต้องผ่านกระบวนการให้รัฐบาลทั้งสองฝ่ายตลอดจนรัฐสภาอิรักอนุมัติหรือแก้ไขเสียก่อน

ทว่ามาลิกียึดมั่นไม่ยอมเลิกกับกำหนดนัดหมายปี 2010 นี้ เขายังวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อข้อตกลงทางทหารฉบับนี้ในรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะมีข้อกำหนดยกเว้นให้บุคลากรของสหรัฐฯไม่ต้องขึ้นต่อกฎหมายของอิรักแม้จะอยู่ในดินแดนของอิรักก็ตามที โดยเขาบอกว่า “เราไม่สามารถที่จะทอดทิ้งลูกหลานของเราเอง ด้วยการให้ข้อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างโจ่งแจ้งแก่ใครสักคน ไม่ว่าเขาจะเป็นชาวอิรักหรือชาวต่างประเทศก็ตามที”

ชาวอิรักตระหนักเป็นอย่างดีว่า อาจจะมีความเป็นไปได้หลายประการที่ทำให้นายกรัฐมนตรีของพวกเขาพูดออกมาเช่นนี้ อาทิ อาจจะกำลังไม่สุจริตใจต่อพวกเขา, หรือไม่ก็คิดที่จะบรรเทาความสะอิดสะเอียดสหรัฐฯที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ , หรือไม่เช่นนั้นก็อาจจะถูกสหรัฐฯหลอกลวง, หรืออาจจะถูกกดดันจากฝ่ายอิหร่านให้ต้องพูดอะไรทำนองนี้ออกมา

ไม่ว่าความเป็นจริงจะเป็นเช่นไร แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากก็คือ มาลิกีมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับสหรัฐฯ อเมริกันดูเหมือนไม่เคยชมชอบนายกรัฐมนตรีผู้นี้เลย และต้องทนทำงานกับเขา ทั้งๆ ที่เขามีสายสัมพันธ์กับพวกกองกำลังอาวุธอย่างเช่น กองทัพเมห์ดิ ของมุกตาดา อัล-ซาดร์ เนื่องจากต้องการทำให้อิรักเกิดความมั่นคงปลอดภัย

ทว่าความพยายามเหล่านี้กลับล้มเหลว และภายใต้มาลิกี พวกกองกำลังอาวุธทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นของฝ่ายชิอะห์ กลับยิ่งเติบโตแข็งแกร่งขึ้นกันถ้วนหน้า เท่าที่ผ่านมาเขาพยายามเดินเลี้ยงตัวสร้างความสัมพันธ์ที่เขามีอยู่กับวอชิงตันและเตหะรานให้เกิดความสมดุล ทว่าเมื่อวาระครองทำเนียบขาวของคณะรัฐบาลบุชเข้าสู่ช้วงเดือนท้ายๆ แล้วเช่นนี้ เขาก็ดูเหมือนจะตัดสินใจเลือกข้าง ไม่มีอีกแล้วความรู้สึกใดๆ ในทางเชื่อฟังยอมตามฝ่ายอเมริกัน มาลิกีอาจจะคิดเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝ่ายอเมริกันกำลังขอให้เขาสิ่งที่เขาไม่มีทางทำให้ได้ อาทิ การรอมชอมกับพวกสุหนี่ และการลงนามในสัญญากับอเมริกันที่มีเนื้อหาก่อให้เกิดการโต้แย้งรุนแรง และชาวอิรักเรียกมันว่า “สนธิสัญญาแห่งความอัปยศ”

ผลก็คือ เขามีท่าทีอี๋อ๋อกับฝ่ายอิหร่านเพิ่มขึ้นมาก และผ่อนคลายเรื่องความมั่นคงปลอดภัยในแบกแดด ซึ่งเป็นการทำให้สถานการณ์กลับโหมฮือขึ้นมาอีกครั้ง ในช่วงเดือนท้ายๆ ของคณะรัฐบาลบุช สิ่งสุดท้ายที่อเมริกันปรารถนาก็คือการเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในอิรัก และเขาก็กำลังบอกฝ่ายอเมริกันว่า “ถ้าไม่เลือกผมก็ต้องเลือกความรุนแรง” ผู้คนจำนวนมากเชื่อว่ายุทธศาสตร์เช่นนี้จัดวางกันมาจากเตหะราน คนหนึ่งที่เชื่ออย่างนั้นคือ วาฟิก ซามาร์ไร อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของประธานาธิบดีจาลัล ทาลาบานี ผู้ซึ่งถือว่าเป็นพันธมิตรของมาลิกีคนหนึ่ง ซามาร์ไรลาออกจากตำแหน่งของเขาในสัปดาห์นี้ เพื่อให้สามารถพูดจาได้อย่างเสรีเกี่ยวกับการแทรกแซงของอิหร่านในกิจการของอิรัก “ผมพบว่าผมจะเล่นบทบาทของผมได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกว่า ด้วยการเขียนหนังสือหรือเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ เพื่อส่องแสงสว่างให้เห็นถึงสิ่งที่ผมเชื่อว่า เป็นภัยคุกคามจากอิทธิพลของอิหร่าน”

**มาลิกีและคำสาปแห่งอิรัก **

มาลิกีนั้นไม่สามารถที่จะสร้างความสมดุลระหว่างความรู้สึกผูกพันที่เขามีอยู่กับความเป็นชาติ และที่เขามีอยู่กับการแบ่งแยกทางเชื้อชาตินิกายศาสนา รวมทั้งไม่สามารถที่จะทำตัวให้เป็นที่โปรดปรานของประชาคมระหว่างประเทศ, สหรัฐฯ, หรือโลกอาหรับ มีเพียงอิหร่านเท่านั้นที่ยังคงให้ความสนับสนุนอย่างหนักแน่นแก่นายกรัฐมนตรีผู้นี้

เวลานี้ เขาก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ดูเหมือนกำลังตกอยู่ใต้คำสาปแห่งอิรัก

ภายในประเทศ คะแนนความยอมรับในตัวเขาลดฮวบ ไม่ใช่เพราะปัญหาความมั่นคงปลอดภัย แต่เนื่องจากเขาไม่สามารถจัดหาบริการพื้นฐานทั้งหลายมาให้แก่สามัญชนชาวอิรักได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง น้ำดื่มที่สะอาด, การทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูล, บริการทางการแพทย์, และไฟฟ้า ซึ่งเวลานี้ดับกันวันละ 18-20 ชั่วโมงในเขตกรุงแบกแดด ความเป็นจริงเช่นนี้ยิ่งกลายเป็นเรื่องลำบากที่จะแบกรับมากขึ้นอีกสำหรับสามัญชนชาวอิรัก เมื่อพวกเขารับรู้ว่ามาลิกีได้จัดสรรงบประมาณของรัฐในปี 2008 เป็นจำนวนถึง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปให้แก่โครงการมหึมาทางด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในทั่วทั้งอิรัก

ข่าวคราวการสู้รบกันภายในของอิรัก ซึ่งเมื่อราวๆ ปี 2003 เคยเป็นข่าวใหญ่ต้องขึ้นหน้าหนึ่ง เวลานี้กลับถูกซุกอยู่หน้าในๆ ของหนังสือพิมพ์รายวันฉบับสำคัญๆ ของอาหรับ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องจากเกิดความรู้สึกกันทำนองว่า “เราช่วยคุณไม่ได้หรอก ถ้าคุณไม่ต้องการช่วยตัวเอง” ข่าวการโจมตีอย่างทารุณโหดร้ายครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งไม่ใช่เป็นการเล่นงานกองทหารสหรัฐฯ แต่เหยื่อคือชาวอิรักด้วยกันเอง มีส่วนสำคัญมากในการทำให้สามัญชนชาวอาหรับหมดความสนใจอิรัก

สัปดาห์นี้ นักเรียนนายร้อยหนุ่มๆ 25 คนถูกสังหาร และอีก 40 คนได้รับบาดเจ็บ ในเหตุการณ์ระเบิดพลีชีพที่เมือง ดิยาลี ซึ่งอยู่ห่างจากรุงแบกแดดไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 150 กิโลเมตร ขณะที่มีเหตุระเบิดรถยนต์ที่เมืองติกริต ทำให้พลเรือนบาดเจ็บสาหัสไป 13 คน ก่อนหน้านั้นไปอีก มีผู้ถูกสังหารไป 9 คนและบาดเจ็บ 27 คนจากเหตุระเบิดในเมืองบากูบา

ความสำเร็จยิ่งใหญ่ที่สุดทางด้านการท่องเที่ยวในกรุงแบกแดดฤดูร้อนนี้ ได้แก่การเปิดสระว่ายน้ำแห่งหนึ่ง (ซึ่งสร้างขึ้นในปี 2002 และเคยใช้ชื่อของซัดดัม ฮุสเซน มาเป็นชื่อสระ) ขึ้นมาอีกครั้ง สระแห่งนี้เมื่อก่อนเกิดสงครามรุกรานอิรักในปี 2003 เคยเป็นที่ชื่นชอบของนักว่ายน้ำและพวกนิยมปิกนิก โดยที่มีผู้ไปใช้บริการถึง 250,000 คนในช่วงสุดสัปดาห์ เรื่องนี้ทำให้เจ้าหน้าที่กระทรวงการท่องเที่ยวผู้หนึ่งถึงกับต้องออกมาพูดถึงเหตุการณ์คราวนี้ว่า “ผมบอกกับชาวอิรักได้เลยว่า เวลานี้แบกแดดมีความปลอดภัยแล้ว”

เรื่องนี้ติดตามมาด้วยงานเลี้ยงเฉลิมฉลองที่รัฐบาลจัดขึ้น เพื่อต้อนรับครอบครัว 250 ครอบครัวที่เดินทางกลับคืนสู่กรุงแบกแดด อันเป็นสัญญาณประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าอิรักในยุคมาลิกี “ปลอดภัย” จริงๆ

ขณะเดียวกัน พวกหนังสือพิมพ์รายวันในอิรักต่างเขียนประชดประชันเหตุการณ์ทั้งสองอย่างสนุกมือ มีการยกรายงานข่าวจากซีเรียผู้เป็นเพื่อนบ้านที่ระบุว่า ทำรายรับจากการท่องเที่ยวในฤดูร้อนปีนี้ได้ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 511,000 คน พวกนักหนังสือพิมพ์อิรักตั้งคำถามอย่างโกรธเกรี้ยวว่า “ทำไมถึงไม่เป็นอิรัก หรือว่า ‘คำสาปแห่งอิรัก’ ได้ตกทอดลงมาถึงพลเมืองของอิรักด้วย นอกเหนือจากที่เคยเล่นงานพวกผู้นำของอิรักมาแล้ว”

สามัญชนชาวอิรักไม่ลืมเลือนและยังคงพูดถึง “คำสาปแห่งอิรัก” ที่บังเกิดขึ้นกับทุกๆ คนซึ่งเข้าครองตำแหน่งเป็นผู้ควบคุมรัฐบาลในแบกแดด ในบรรดาผู้นำประเทศของอิรักแห่งยุคสมัยใหม่นั้น มีเพียงผู้เดียวที่ยังคงสามารถใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติต่อมาภายหลังออกจากตำแหน่งแล้ว ชื่อของเขาคือ อับดุลเราะห์มาน อาเรฟ ผู้ปกครองอิรักตั้งแต่ปี 1966 จวบจนกระทั่งถูกโค่นล้มโดยการรัฐประหารของพรรคบาธในปี 1968

กระทั่งในสัปดาห์นี้เอง รัฐบาลอิรักยังได้อนุมัติเงินบำนาญตกทอดให้แก่ภริยาของเขา (เป็นเงินปีละ 5 ล้านดินาร์ หรือ 4,228 ดอลลาร์สหรัฐฯ) หนึ่งปีหลังจากที่เขาเสียชีวิตในกรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน ด้วยวัย 91 ปี และการจัดการงานศพได้รับเกียรติจัดอย่างเป็นรัฐพิธีในกรุงแบกแดด

กษัตริย์ไฟซาลที่ 1 ผู้ทรงก่อตั้งอิรักสมัยใหม่ขึ้นมา ก็ทรงเสด็จสวรรคตด้วยการสิ้นพระชนม์ชีพแบบปกติธรรมดาเมื่อปี 1933 ทว่าพระราชโอรสของพระองค์ คือ กษัตริย์ กาซี เสด็จสวรรคตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ (โดยเชื่อกันว่าเป็นการฝีมือวางแผนสังหารของอังกฤษ) ในปี 1939 ขณะมีพระชนมายุ 27 พรรษา พระราชโอรสของกษัตริย์กาซี คือ กษัตริย์ไฟซาลที่ 2 ทรงถูกปลงพระชนม์ขณะมีพระชนมายุ 23 พรรษา พร้อมๆ กับสมาชิกพระราชวงศ์อิรักทั้งหมด โดยฝีมือของพวกนักปฏิวัติอิรัก เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1958 โดยเฉพาะองค์เจ้าชายมกุฎราชกุมาร ทรงถูกฝูงชนปลงพระชมน์ด้วยการตรึงกางเขน ขณะที่ นูริ อัล-ซาอิด นายกรัฐมนตรีมือเก่าโชกโชนก็ถูกยิง จากนั้นก็ถูกลากไปตามถนนสายต่างๆ ของกรุงแบกแดด จนกระทั่งศพของเขาเละเทะไม่มีชิ้นดี

อับดุล-คาริม กาซิม ผู้วางแผนก่อการปฏิวัติปี 1958 ก็ไม่ได้ตายดี เขาถูกยิงเสียชีวิตด้วยฝีมือของสหายของเขาเอง อับดุลซาลาม อาเรฟ เมื่อปี 1963 (ในขณะที่อายุยังถือว่าไม่มากนักคือ 49 ปี) แล้วตัวอาเรฟเองก็มาตายในเหตุเครื่องบินตก (ซึ่งก็เชื่อกันอีกว่าเป็นการวางแผนลอบสังหาร) ในปี 1965 ขณะมีอายุได้ 45 ปี อาหมัด ฮาซัน บาคร์ แห่งพรรคบาธที่ก่อรัฐประหารโค่น อับดุลเราะห์มาน อาเรฟ และขึ้นครองอำนาจในปี 1968 ในที่สุดก็ถูกโค่นล้มและถูกทำลายเกียรติยศศักดิ์ศรีโดย ซัดดัม ฮุสเซน ขณะที่ซัดดัมเองตอนสิ้นอำนาจก็ตกอับลงอย่างรวดเร็ว จากนั้นก็ถูกประหารชีวิตในปี 2006 หลังจากนำพาอิรักมาเป็นระยะเวลา 24 ปีที่เต็มไปด้วยการนองเลือด

บุตรชายของเขา 2 คนก็เสียชีวิตลงอย่างน่าสยดสยองในปี 2003 ช่วงหลังๆ มานี้ “คำสาปแห่งอิรัก” ทำท่าว่าจะสำแดงอิทธิฤทธิ์ด้วยระดับความรุนแรงที่ลดน้อยลง เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีจาลัล ทาลาบานี เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่สหรัฐฯด้วยปัญหาโรคหัวใจ ขณะที่นายกรัฐมนตรี นูริ อัล-มาลิกี ต้องรีบเดินทางไปยังลอนดอนถึง 2 ครั้งเพื่อเข้ารักษาตัว

ประธานรัฐสภา มาหมุด มาชาดานี ก็ต้องเข้าโรงพยาบาลในกรุงอัมมาน ส่วนรองประธานาธิบดี ทาเรค ฮาเชมี เข้ารับการรักษาตัวในนครอิสตันบุล ประเทศตุรกี อับดุล อาซิส ฮาคิม หัวหน้าผู้ทรงอำนาจของพรรคสภาสูงสุดอิสลามอิรัก (Supreme Iraqi Islamic Council) เข้ารักษามะเร็งในโรงพยาบาลทั้งที่สหรัฐฯและเตหะราน และที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ มูวาฟัค อัล-ราเบอิ ก็ถูกนำตัวไปยังลอนดอน โดยมีรายงานว่าสุขภาพของเขาแย่มาก

แกรนด์อยาโตลาห์ อาลี ซิสตานี ต้องเรียกนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญๆ หลายคนเข้าพบ ขณะที่เกิดข่าวลือสะพัดว่าเขานอนเจ็บหนักใกล้สิ้นชีวิต ทั้งนี้เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าเขาไม่ได้มีสุขภาพย่ำแย่แต่อย่างใด

ทั้งหมดเหล่านี้ต่างเป็นข่าวพาดหัวตามหน้าหนังสือพิมพ์อิรักในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมา ทั้งหมดต่างเป็นรายงานข่าว “บรรดาผู้นำ” ของชาติ มราต้องออกนอกประเทศ และ/หรือ ต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาล –นี่ช่างเป็นจังหวะเวลาอันสมบูรณ์แบบสำหรับการก่อรัฐประหาร

เพียงแค่อ่านทบทวนอย่างเร็วๆ จากหน้าประวัติศาสตร์ของอิรัก ย่อมจะเห็นได้แล้วว่า หากมาลิกียังคงประพฤติตัวดังเช่นที่ทำอยู่ในปัจจุบันแล้ว ถ้าไม่ถูกขอร้องจากฝ่ายอเมริกันให้ก้าวลงจากตำแหน่งอย่างฉับพลัน ก็อาจต้องประสบชะตากรรมเดียวกันกับ กาซีที่ 1, ไฟซาลที่ 2, กาซิม, อาเรฟ, บาคร์, และซัดดัม นี่แหละคือ “คำสาปแห่งอิรัก”

ซามี มาวบายเอด เป็นนักวิเคราะห์การเมืองชาวซีเรีย
กำลังโหลดความคิดเห็น