เอเอฟพี/เอเจนซี – สำนักงานอัยการสูงสุด เริ่มกระบวนการพิจารณาที่จะยื่นเรื่องต่อรัฐบาลอังกฤษให้ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว หลังอดีตนายกฯ และภรรยาไม่ได้เดินทางกลับประเทศไทย แต่ได้ลี้ภัยไปอังกฤษเมื่อวันเสาร์ (9) ที่ผ่านมา
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เดินทางกลับมารายงานตัวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษกเมื่อวันจันทร์ (11) โดยอ้างว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยถูกการเมืองแทรกแซง และเชื่อว่า จะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี ขณะที่ศาลฎีกาได้ออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยา พร้อมสั่งยึดเงินประกัน 13 ล้านบาท ในวันเดียวกัน (11)
นายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ กล่าวว่า อัยการสูงสุดได้เริ่มพิจารณาข้อกฎหมายในการยื่นเรื่องต่อทางการอังกฤษให้ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยแล้ว
“อัยการสูงสุดได้จัดการประชุมเป็นการภายในเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับข้อกฎหมายและพฤติการณ์ของคดี” อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศกล่าวกับเอเอฟพี
อย่างไรก็ตาม นายศิริศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่มีหน่วยงานใดยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอให้มีการนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยแต่อย่างใด
“แม้ว่าความสำเร็จในการนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยจะขึ้นอยู่กับประเทศอังกฤษ แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีหน่วยงานใดของรัฐยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอให้มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน” นายศิริศักดิ์ กล่าว
ด้านรอยเตอร์รายงานอ้างการเปิดเผยของนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดว่า สำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการในเรื่องดังกล่าวแล้ว และกำลังรอให้นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด เดินทางกลับจากต่างประเทศ เพื่อลงนามในคำสั่งแต่งตั้งอย่างเป็นทางการในปลายสัปดาห์นี้
“ทางการไทยต้องพิสูจน์ให้รัฐบาลอังกฤษเห็นว่าสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำเป็นเรื่องที่ผิดต่อกฎหมายอังกฤษ” รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้วสำนักงานอัยการสูงสุดได้เริ่มความพยายามในการขอให้อังกฤษส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย แต่ได้มีการยุบคณะทำงานหลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณสมัครใจเดินทางกลับประเทศเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นผู้เชี่ยวชาญต่างระบุว่า การขอตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยอาจเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ไทยลงนามกับอังกฤษเมื่อปี 1911 ไม่คลอบคลุมถึงข้อหาที่มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจจ้างทีมกฎหมายมือหนึ่งของอังกฤษ เพื่อให้แน่ใจว่าความพยายามในการนำตัวเขากลับมาดำเนินคดีในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนในประเทศไทย จะชะงักอยู่ในชั้นศาลของอังกฤษเป็นเวลานาน