xs
xsm
sm
md
lg

“ซิตี้กรุ๊ป-เมอร์ริล” ยอมซื้อคืน “ตราสารหนี้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี - ซิตี้กรุ๊ป และเมอร์ริลลินช์ ประกาศซื้อคืนตราสารอัตราดอกเบี้ยประมูล มูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์คืนจากลูกค้ารายย่อย เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้องจากทางการในข้อหาฉ้อโกง คาดหมายกันว่าความเคลื่อนไหวคราวนี้จะสร้างแรงกดดันให้สถาบันการเงินรายอื่นๆ ที่ได้ขายตราสารที่เรียกได้ว่าสิ้นสภาพคล่องโดยสิ้นเชิงแล้วชนิดนี้ให้แก่ลูกค้าด้วย

นอกจากซิตี้กรุ๊ป กลุ่มกิจการธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในของสหรัฐฯ จะยินยอมซื้อคืนตราสารดังกล่าวแล้ว ก็ยังยินยอมที่จะจ่ายเงินค่าปรับ 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อรอมชอมคดีที่ทางธนาคารถูกทางการกล่าวหาว่า แนะนำให้นักลงทุนยังคงซื้อตราสารเหล่านี้ต่อไป แม้ธนาคารจะรู้ดีว่าตลาดกำลังจะมีปัญหาอย่างหนัก

การประกาศครั้งนี้ ยังอาจเปิดทางให้ยูบีเอส เอจี และสถาบันการเงินอื่นๆ ต้องเข้าซื้อคืนตราสารชนิดเดียวกันนี้ด้วย ทั้งนี้ นักลงทุนที่ถือตราสารเหล่านี้อยู่ต้องขาดทุนมหาศาล เมื่อตลาดตราสารประมูลดอกเบี้ยมูลค่า 330,000 ล้านดอลลาร์ อยู่ในสภาพทรุดลงตอนประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

ในส่วนของซิตี้กรุ๊ปตกลงที่จะซื้อคืนตราสารมูลค่า 7,500 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงกับอัยการมลรัฐนิวยอร์ก แอนดริว คูโอโม และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (เอสอีซี)

ส่วนเมอร์ริลก็ประกาศหลังตลาดปิดทำการเมื่อวานนี้ (7) ว่า จะซื้อคืนตราหนี้อัตราดอกเบี้ยประมูลดังกล่าว กลับคืนมาจากลูกค้ารายย่อยภายในช่วงเวลาหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคมปีหน้าเป็นต้นไป วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่แห่งนี้คาดว่าลูกค้าของตนถือตราสารหนี้ดังกล่าวไว้ถึง 12,000 ล้านดอลลาร์

ทั้งสองบริษัทเสนอซื้อคืนตราสารดังกล่าวตามราคาหน้าตั๋ว

การเสนอซื้อคืนของซิตี้กรุ๊ปจะทำให้ธนาคารขาดทุนหลังหักภาษีเพิ่มขึ้นอีก 500 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งยังหน่วงเหนี่ยวความพยายามของวิกรัม ปัณฑิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่จะลดค่าใช้จ่ายและฟื้นฟูให้ธนาคารกลับมามีกำไรอีกครั้งหนึ่ง เพราะในช่วงสามไตรมาสที่ผ่านมาซิตี้กรุ๊ปขาดทุนรวมกันไปแล้วถึง 17,400 ล้านดอลลาร์

“มันเป็นความพยายามที่จะรักษาหน้าและชื่อเสียงของธนาคารเอาไว้” ไบรอัน เยลวิงตัน นักวิเคราะห์จากเครดิตไซท์ อิงก์ ในนิวยอร์ก “และธนาคารอื่นๆ ที่ขายตราสารแบบเดียวกันก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันว่าจะต้องเสนอข้อเสนอแบบเดียวกันไปด้วย”

ทางด้านเมอร์ริล ที่เสนอการซื้อคืนตามหลังซิตี้กรุ๊ป ไม่ได้มีสถานการณ์การเงินที่ดีกว่าแต่อย่างใด ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาเมอร์ริลขาดทุนไปแล้วถึง 19,200 ล้านดอลลาร ทั้งจากธุรกิจธนาคารและนายหน้าค้าหลักทรัพย์

เดนิส วอยต์ ครอว์ฟอร์ด ผู้ตรวจการณ์ฝ่ายหลักทรัพย์ของมลรัฐเทกซัส กล่าวว่า หน่วยงานพิทักษ์กฏทั้งหลายกำลังตรวจสอบพฤติกรรมการเสนอขายตราสารประมูลดอกเบี้ย ของธนาคารและบริษัทโบรกเกอร์ 11 แห่งนอกเหนือไปจากซิตี้กรุ๊ป และเธอก็คาดว่า สถาบันการเงินอีกหลายแห่งก็จะยอมประนีประนอมและประกาศมาตรการชดเชยบางอย่างออกมาในไม่ช้า

ริชาร์ด บลูเมนธาล อัยการของมลรัฐคอนเนคติกัต แสดงความหวังว่า การยอมความของซิตี้กรุ๊ปจะ “ส่งสารถึงสถาบันการเงินอื่น ๆให้ปฏิบัติตาม อันเป็นการทำสิ่งที่ถูกต้อง”

ตราสารหนี้ประมูลดอกเบี้ยจะใช้วิธีประมูลเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ย โดยปกติอาจจะจัดขึ้นทุก ๆ 7,28 หรือ 35 วัน

เมื่อก่อน ตราสารชนิดนี้ได้รับการมองว่ามีความเสี่ยงต่ำ แต่เมื่อพวกโบรกเกอร์ในวอลสตรีทยุติการเป็นสนับสนุนตราสารชนิดนี้ไป ก็ทำให้เกือบทั้งตลาดชะงักงันไปทันที ผลกระทบอันต่อเนื่องจากตลาดที่ทรุดลงนี้ก็คือ หน่วยงานของรัฐต่างๆ จะมีต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นมาก เพราะส่วนใหญ่ตราสารประมูลดอกเบี้ยนี้มักออกโดยหน่วยงานรัฐบาลที่ต้องการระดมทุนมาทำโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ และเมื่อความเสี่ยงของตราสารเพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้ผู้ออกตราสารต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น และรายได้ทางอื่นๆ ของหน่วยงานรัฐเหล่านี้ก็คือเก็บเอามาจากประชาชนนั่นเอง

ในคืนวันพฤหัสบดี แบงก์ออฟอเมริกา ธนาคารบริการลูกค้ารายย่อยที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ก็ระบุว่า ได้รับหมายเรียกจากหน่วยงานรัฐบาลกลางและส่วนท้องถิ่นต่างๆ เพื่อไปให้ปากคำในคดีตราสารหนี้แบบประมูลดอกเบี้ยนี้

นอกจากนี้ธนาคารที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับตราสารตัวนี้หลายแห่ง ยังเผชิญความวุ่นวายอื่นๆ อีกด้วย อาทิ เมื่อกลางสัปดาห์ เอสทีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ก็ยื่นฟ้องธนาคาร เครดีต์ สวิส กรุ๊ป เอจี ในข้อหาที่ว่าธนาคารเอาเงินสดของบริษัทจำนวน 450 ล้านดอลลาร์ไปลงทุนในตราสารประมูลดอกเบี้ยโดยไม่ได้รับอนุญาต

หน่วยงานกำกับดูแล ระบุว่า ซิตี้กรุ๊ปจะซื้อตราสารนี้กลับคืนมาจากลูกค้า 40,000 ราย ซึ่งเป็นทั้งลูกค้ารายย่อย,องค์กรการกุศล ธุรกิจขนาดกลางและเล็กภายในวันที่ 5 พฤศจิกายน รวมทั้งซิตี้กรุ๊ปยินดีที่จะจ่ายเงินชดเชยเต็มจำนวนให้แก่นักลงทุนรายย่อยที่ขายตราสารนี้ออกไปในราคาขาดทุนด้วย

นอกจากนี้เอสอีซีก็ยังกล่าวด้วยว่า ซิตี้กรุ๊ปจะ “พยายามอย่างสุดความสามารถ”ที่จะล้มมูลหนี้ที่เกิดจากตราสารชนิดนี้อีกราว 12,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งถือโดยนักลงทุนระดับสถาบันให้หมดภายในปี 2009

ส่วนเงินค่าปรับ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ซิตี้กรุ๊ปจะจ่ายนั้นมลรัฐนิวยอร์คและสมาคมผู้บริหารหลักทรัพย์แห่งอเมริกาเหนือจะแบ่งกันไปคนละครึ่ง

คูโอโม อัยการมลรัฐนิวยอร์คออกมากล่าวหาซิตี้กรุ๊ปเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนว่า แนะนำลูกค้าอย่างผิดพลาด โดยจงใจบอกว่าตราสารดังกล่าวนั้นไม่มีความเสี่ยง,มีสภาพคล่องสูง และมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับเงินสด

“ซึ่งทำให้วิกฤตการเงินครั้งนี้ไม่ได้เป็นปัญหาของพวกสถาบันการเงินในวอลล์สตรีทเท่านั้นหากแต่เป็นปัญหาของประชาชนเดินถนนทั่วๆ ไปด้วย” เขากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น