xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ พลอย “ลุ้น” ไปด้วยกับคดี “ทักษิณ”

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ เจ บราวน์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US twist to Thaksin court case
By Peter J Brown
1/08/2008

คดีความคดีหนึ่งที่อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร กำลังถูกพิจารณาอยู่ในศาลฎีกาของไทย จะถูกทางวอชิงตันจับตามองด้วยความรู้สึกกระสับกระส่าย นั่นก็คือ คดีที่เขาถูกฟ้องร้องกล่าวหาในเรื่องบทบาทความเกี่ยวข้องกับการที่ธนาคารของรัฐแห่งหนึ่ง ปล่อยเงินกู้ช่วยเหลือคณะผู้ปกครองทหารของพม่า ให้สามารถซื้อบริการต่างๆ ทางด้านดาวเทียม โดยที่มีรายงานว่าบริษัทของครอบครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณเองคือผู้ให้บริการดาวเทียมดังกล่าว แต่การที่ทางการสหรัฐฯต้องสนใจคดีนี้เป็นพิเศษ ก็เนื่องจากว่าเงินภาษีของประชาชนอเมริกัน ได้ถูกนำมาใช้ช่วยเหลือสนับสนุนทางการเงิน ให้แก่เทคโนโลยีดาวเทียมที่เกี่ยวพันอยู่ในคดีนี้ด้วย ทั้งๆ ที่วอชิงตันกำลังบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรพม่าอย่างแข็งขันอยู่แท้ๆ

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของไทย ตัดสินเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ประทับรับคำฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรีไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในคดีความผิดเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน สืบเนื่องจากบทบาทของเขาในการอนุมัติให้เงินกู้แบบรัฐบาลต่อรัฐบาล จำนวน 4,000 ล้านบาท (119 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) แก่รัฐบาลทหารของพม่า เพื่อใช้ชื่อบริการทางดาวเทียมต่างๆ ซึ่งขายให้โดยธุรกิจโทรคมนาคม ที่ครอบครัวของเขาเองเป็นเจ้าของ

การพิจารณาคดีนี้ ซึ่งกำหนดนัดหมายว่าจะเริ่มในวันที่ 16 กันยายนนี้ จะมีการตรวจสอบ บริษัท ชินคอร์เปอเรชั่น (ชินคอร์ป) บริษัทโทรคมนาคมที่เคยเป็นของครอบครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตลอดจน ชินแซทเทลไลท์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่ชินคอร์ปถือหุ้นอยู่ 53% ในเวลานั้น ตลอดจนไต่สวนถึงข้อกล่าวหาที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีบทบาทความเกี่ยวข้องในการทำให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) อันอยู่ในความควบคุมของภาครัฐ อนุมัติเงินกู้ก้อนดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือการปรับปรุงโครงสร้างด้านโทรคมนาคมที่ยังล้าหลังมากของพม่า

คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งเป็นผู้สอบสวนคดีนี้ ตั้งข้อหาว่าเงินกู้ก้อนนี้คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำอย่างผิดปกติ อีกทั้งระยะเวลาปลอดหนี้ยังมีการขยายอย่างอธิบายไม่ได้จาก 2 ปีเป็น 5 ปี โดยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นเป็นผู้กำกับดูแลเอ็กซิมแบงก์อยู่ ในเวลาที่มีการปล่อยเงินกู้ อีกทั้งยังออกมาปกป้องการอนุมัติให้เงินกู้ก้อนนี้อย่างเต็มกำลัง เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อภายในประเทศในตอนนั้น

คดีนี้ถือเป็นตัวแทนของคดีอาญาอีกหลายๆ คดีที่เวลานี้อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้, ครอบครัวของเขา, ตลอดจนพันธมิตรทางการเมืองและทางธุรกิจของเขากำลังเผชิญอยู่ คุณหญิงพจมาน ภรรยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพิ่งถูกลงโทษเมื่อวันพฤหัสบดี(31ก.ค.)ให้จำคุกเป็นเวลา 3 ปีในข้อหาหลบหนีภาษี ที่สืบเนื่องจากการโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปในปี 1997 ที่เธอกระทำกับพี่ชายของเธอ นอกจากนั้นยังมีคดีอันเกี่ยวข้องกับการทุจริตและการใช้อำนาจในทางมิชอบอีก 3 คดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณถูกฟ้องร้องและล้วนเป็นคดีอาญา กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลสถิตยุติธรรม

อย่างไรก็ดี คดีเงินกู้เอ็กซิมแบงก์ของไทย เป็นคดีที่โดดเด่นกว่าคดีอื่นตรงที่มีมิติทางด้านระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงบทบาทของรัฐบาลสหรัฐฯในการให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่กิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทชินแซทเทลไลต์

ระหว่าง 5 ปีแห่งการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ทักษิณ บริษัทชินแซทเทลไลต์ของครอบครัวของเขา ซึ่งเวลานี้รู้จักกันในนาม ไทยคม และถือหุ้นใหญ่โดยบริษัทเทมาเส็กโฮลดิ้งส์แห่งสิงคโปร์นั้น มีการพัฒนาไป และในปี 2005 ก็ได้ยิงดาวเทียมมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่รู้จักกันในชื่อว่า ไอพีสตาร์ ขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศ และปัจจุบันกำลังถ่ายทอดสัญญาณให้บริการผ่านดาวเทียมแบบบรอดแบนด์ ครอบคลุมทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, จีน, และออสเตรเลีย

รัฐบาลพม่าได้เคยอนุญาตให้บริษัทชินแซทเทลไลต์ ทำการทดลองดำเนินงานสถานีภาคพื้นดินหลายๆ แห่งของไอพีสตาร์เมื่อปี 2003 เป็นการเอื้ออำนวยให้บริษัทสามารถทดสอบเทคโนโลยีนี้ภายใต้ภาวะแวดล้อมแบบรับส่งสัญญาณกันสดๆ ทว่าอยู่ในกรอบที่ควบคุมได้ แถมทั้งปลอดจากการถูกตรวจสอบติดตามอย่างหนักหน่วงในทางการตลาดอีกด้วย จากเงินกู้ก้อนที่ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ของไทยให้แก่พม่าเมื่อปี 2004 นั้น มีการกล่าวหากันว่าเงินส่วนหนึ่งถูกใช้ไปซื้อสถานีภาคพื้นดินของดาวเทียมไอพีสตาร์ จากชินแซทเทลไลต์ แบบเดียวกับที่เคยทำการทดลองในพม่านี้เอง ตลอดจนซื้อบริการทางด้านอื่นๆ อีก

เป็นที่คาดหมายกันว่า คดีที่กำลังจะได้รับการพิจารณากันในเร็ววันนี้แล้วคดีนี้ จะมีการตรวจสอบเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ของการปล่อยเงินกู้ ตลอดจนประเด็นที่กล่าวหากันว่าได้มีการดำเนินการจนทำให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่บริษัทชินคอร์ปของครอบครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ

กระนั้นก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของสหรัฐฯ (เอ็กซิมแบงก์สหรัฐฯ) ก็จะต้องเฝ้าติดตามการพิจารณาคดีนี้อย่างกระวนกระวายใจไปด้วย เนื่องจากบรรดาผู้เสียภาษีชาวอเมริกันมีส่วนอยู่ด้วยเหมือนกัน ในการช่วยเหลือสนับสนุนทางการเงินให้แก่การสร้างไอพีสตาร์ กล่าวคือ เอ็กซิมแบงก์สหรัฐฯได้เข้ามาค้ำประกันเงินกู้เป็นจำนวนราว 190 ล้านดอลลาร์ โดยผ่านทางบริษัทสเปซ ซิสเตมส์/ลอรัล อันเป็นบริษัทสหรัฐฯซึ่งเป็นผู้สร้างดาวเทียมดวงนี้ (รัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งในระยะหลังๆ มานี้ทำตัวเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองของพม่าอย่างรุนแรงนั้น ก็ได้ค้ำประกันเงินกู้ให้แก่โครงการไอพีสตาร์เช่นกัน ในขั้นตอนของการใช้จ่ายเกี่ยวกับบริการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร)

ในขณะเดียวกับที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของไทยอนุมัติเงินกู้เจ้าปัญหาก้อนนี้แก่พม่าในปี 2004 นั้น ตัวดาวเทียมจริงๆ ยังคงนอนนิ่งอยู่บนพื้นดินในสหรัฐฯอยู่เลย เพื่อรอเวลาที่ทางลอรัลจะจัดส่งไปยังสถานที่ส่งดาวเทียมในอเมริกาใต้ เนื่องจากรัฐบาลพม่ามีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนกันอย่างมโหฬารเหลือเกิน พวกบริษัทอเมริกันจึงถูกรัฐบาลสหรัฐฯอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ออกมาตรการคว่ำบาตรทางด้านการค้าและการลงทุน ห้ามไม่ให้ไปทำธุรกิจใดๆ ในพม่า ยกเว้นแต่ที่ทำกันขึ้นมาแล้วก่อนหน้าปี 1997

** บทบาทที่น่าสงสัยของสหรัฐฯ **

แต่สำหรับในกรณีที่เรากำลังกล่าวถึงนี้ ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลกลใด กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯและธนาคารเอ็กซิมแบงก์สหรัฐฯ กลับใช้วิธีนิ่งเงียบอยู่เฉยๆ ขณะที่ธุรกรรมซึ่งไอพีสตาร์ทำกับพม่าและก่อให้เกิดการโต้แย้งกันอย่างมากนี้ กำลังค่อยๆ คลี่คลายออกมา

เรื่องนี้ย่อมไม่ใช่เป็นแค่การปล่อยปละสะเพร่าแล้วพอพลาดไปแล้วก็เลยเกิดความอึดอัดลำบากใจ เนื่องจากโครงการไอพีสตาร์เป็นโครงการที่มีการออกข่าวเกรียวกราวกันตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว อาทิเช่น แม้กระทั่งกรรมการผู้จัดการของธนาคารเอ็กซิมแบงก์สหรัฐฯ ยังได้เคยเดินทางไปกรุงลอนดอนเมื่อปี 2003 เพื่อรับรางวัลที่มอบให้โดยเกี่ยวเนื่องกับโครงการนี้ และทางเหล่าผู้บริหารของชินแซทเทลไลท์ในเวลานั้น ก็ให้คำมั่นสัญญาว่า จะปฏิวัติวงการธุรกิจดาวเทียมระดับโลก ด้วยการยกระดับการถ่ายทอดสัญญาณต่างๆ ให้มีประสิทธิผลเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

พวกสมาชิกทรงอำนาจหลายต่อหลายคนในรัฐสภาสหรัฐฯ ก็ได้เคยมีการถกเถียงอย่างดุเดือดกับทางธนาคารเอ็กซิมแบงก์สหรัฐฯมาแล้วเมื่อปี 2002 ในเรื่องที่ว่าโครงการดาวเทียมโครงการนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถึงแม้ไม่ได้อภิปรายกันในประเด็นความเป็นไปได้ที่ภารกิจของไอพีสตาร์อาจจะเอื้อประโยชน์ให้แก่คณะปกครองทหารของพม่า

แต่เมื่อศาลฎีกาของไทยประทับรับฟ้องคดีที่กล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณเช่นนี้ รัฐสภาสหรัฐฯและกระทั่งทำเนียบขาว ซึ่งในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ได้วิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองทหารของพม่าอย่างรุนแรง รวมไปจนถึงตัวประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช เองที่ได้เคยเรียกประเทศพม่าว่าเป็น “ด่านหน้าของเผด็จการทรราช” ก็จะต้องถูกกดดันให้ออกมาตอบคำถามที่ว่า ธุรกรรมคราวนี้หลุดลอดผ่านจอเรดาร์ของพวกเขาออกมาได้อย่างไร

ไม่กี่วันก่อนที่ศาลฎีกาของไทยจะประทับรับฟ้องคดีนี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯก็เพิ่งลงมติให้อายัดทรัพย์สินของสมาชิกบางรายในคณะผู้ปกครองทหารพม่า รวมทั้งห้ามการนำเข้าหยกและพลอยทั้งหมดที่มีต้นกำเนิดจากพม่าเข้าสู่สหรัฐฯ โดยก่อนหน้านี้ พวกผู้ค้าอัญมณีชาวอเมริกันได้พยายามหลบหลีกมาตรการคว่ำบาตรการค้า ด้วยการนำเข้าอัญมณีพม่าผ่านทางประเทศที่สอง ซึ่งจะเป็นผู้แปรรูป หรือใช้วิธีอื่นๆ ในการเพิ่มมูลค่าให้แก่หินมีค่าที่ยังไม่ผ่านการแปรรูปของพม่า

สำหรับมาตรการใหม่ของสหรัฐฯคราวนี้ ถือเป็นมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าและการลงทุนอันครอบคลุมกว้างขวางยิ่งระลอกล่าสุดที่ทางการสหรัฐฯนำออกมาใช้เล่นงานพม่า โดยที่เมื่อปี 2007 บุชได้ต่ออายุไปอีก 1 ปีให้แก่มาตรการคว่ำบาตรทางการค้าที่เริ่มใช้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1997 อันยังเป็นยุคประธานาธิบดี บิล คลินตัน นอกจากนั้นแล้ว รัฐบัญญัติเสรีภาพและประชาธิปไตยของชาวพม่า ที่ออกมาในปี 2003 ซึ่งเป็นสมัยของบุชแล้ว ก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่ แถมบุชยังได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารว่าด้วยการลงทุนใหม่ๆ ในพม่า อีกฉบับหนึ่งในปีเดียวกันนั้นเอง ข้อความข่าวสารอันแข็งกร้าวดุดันที่คณะรัฐบาลบุชมุ่งส่งไปถึงเหล่านายพลของพม่านั้น จึงต้องถือว่ามีความกระจ่างแจ่มแจ้งยิ่ง ทว่าขณะเดียวกันช่องห่างระหว่างนโยบายของทางสหรัฐฯและทางไทย ที่มีต่อระบอบการปกครองนี้ ก็กลับถ่างกว้างออกไปเรื่อยๆ

อันที่จริงแล้วในเวลานี้ทั้ง ชินแซทเทลไลต์ และดาวเทียมไอพีสตาร์ ยังคงบุกเดินหน้าเข้าไปในพม่าอย่างไม่หยุดยั้งต่อไป เมื่อต้นปีนี้เอง การไปรษณีย์และโทรคมนาคมของพม่าประกาศว่า บริษัทไทยคม (ซึ่งก็คือ ชินแซทเทลไลต์ ในชื่อใหม่) ได้ขยายความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับพม่า ด้วยการลงนามในสัญญาเพิ่มสมรรถนะใหม่ๆ รวม 2 ฉบับ รัฐบาลชุดใหม่ของไทยซึ่งเป็นพันธมิตรกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ยังได้ประกาศว่า จะโอนเงินที่ยังเหลืออยู่ในเงินกู้ก้อนที่ธนาคารเพิ่อการส่งออกและนำเข้าของไทยอนุมัติในปี 2004 ไปให้แก่คณะผู้ปกครองทหารพม่า ถึงแม้เงินกู้ก้อนนี้กำลังถูกรุมเร้าด้วยความขัดแย้งทางการเมืองเต็มไปหมด

อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญที่สุดอยู่ที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวของเขา ไม่ได้เป็นพวกเดียวที่กำลังรู้สึกร้อนรนจากคดีความทางกฎหมาย ในเมื่อธนาคารเอ็กซิมแบงก์ของสหรัฐฯก็ได้เขียนเช็กค้ำประกันเงินกู้ ด้วยการรู้เห็นของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โดยผลในทางเป็นจริงที่เกิดขึ้นมา ก็คือ การขยายบริการผ่านดาวเทียมเข้าสู่พม่า โดยน่าสงสัยว่าจะเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรที่วอชิงตันประกาศบังคับใช้มานานปีแล้ว เพื่อมุ่งเล่นงานลงโทษระบอบการปกครองทหารในพม่า

เวลานี้ คณะผู้นำทางทหารของพม่าน่าที่จะกำลังใช้เทคโนโลยีบรอดแบนด์ระบบไร้สายที่ได้เงินทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯด้วยนี้ ไปในการทำให้นโยบายกดขี่ต่างๆ ของตนสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้อีกอย่างยาวนาน ถาวร ตลอดจนใช้ไปในการรังควานคุกคามพวกกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยทั้งหลาย

ความผิดพลาดคราวนี้ไม่เพียงเป็นตัวอย่างของรอยมลทินอันน่าละอายในระบบการตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบของรัฐบาลสหรัฐฯเท่านั้น แต่มันยังสร้างความเสียหายให้แก่การต่อสู้เพื่อหลักการอันกว้างไกลยิ่งกว่านั้น นั่นคือการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศพม่าที่ตกอยู่ใต้การปกครองของทหาร

ปีเตอร์ เจ บราวน์ มีงานเขียนอยู่บ่อยครั้ง ในหัวข้อเกี่ยวกับแนวโน้มในอุตสาหกรรมดาวเทียม และการพัฒนาในเอเชีย
กำลังโหลดความคิดเห็น