xs
xsm
sm
md
lg

รัฐสภาอิตาลีผ่านกฎหมายห้ามฟ้อง “แบร์ลุสโคนี” ขณะนั่งนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกฯ แบร์ลุสโคนีของอิตาลี
เอเจนซี/เอเอฟพี - รัฐสภาอิตาลี มีมติผ่านกฎหมายให้เอกสิทธิ์คุ้มครองไม่ให้ถูกฟ้องคดีอาญา แก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง รวมทั้งนายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโคนีเมื่อวันอังคาร (22) ส่งผลให้มหาเศรษฐีพันล้านหัวอนุรักษ์คว้าชัยชนะครั้งสำคัญ หลังจากที่เขาร่ำร้องมาตลอดว่าถูกพวกผู้พิพากษาทำหน้าที่อัยการที่ “มีอคติ” คอยหาทางนำใช้อำนาจตุลาการเล่นงานเขา

แม้จะมีการประท้วงจากฝ่ายค้านหัวกลาง-ซ้าย ที่มีจำนวนที่นั่งเสียงข้างน้อย แต่วุฒิสภาก็ลงมติในขั้นสุดท้ายด้วยคะแนน 171 ต่อ 128 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง รับรองกฎหมายให้ความคุ้มครองแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงจำนวน 4 คน ซึ่งได้แก่ ประธานาธิบดี,ประธานสภาล่าง, ประธานวุฒิสภา และ นายกรัฐมนตรี ที่จะไม่ถูกพิจารณาคดีอาญาในระหว่างดำรงตำแหน่ง

มีเสียงวิจารณ์ว่า กฎหมายดังกล่าวร่างขึ้น เพื่อมุ่งช่วยเหลือแบร์ลุสโคนี เจ้าพ่อวงการสื่อวัย 71 ปี ซึ่งกำลังถูกดำเนินคดีหลายๆ คดี และรวมทั้งคดีสินบนอื้อฉาวที่ฟ้องร้องตัวเขาและเดวิด มิลส์ ทนายความชาวอังกฤษในมิลานด้วย

“ประชาชนมีสิทธิรับรู้ว่านายกรัฐมนตรีทำทุจริตหรือไม่” อันโตนิโอ ดิ เปียโตร ส.ส.ฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นอดีตผู้พิพากษาคดีต่อต้านสินบน กล่าว

ส่วน แอนนา ฟิน็อกชิอาโร หัวหน้าพรรคประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านก็ให้ความเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวทำให้แบร์ลุสโคนีมีสถานภาพเกือบจะเหมือนกษัตริย์เลยทีเดียว

ทว่า ฝ่ายรัฐบาล เห็นว่า กฎหมายดังกล่าวจะทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูง ได้บริหารประเทศโดยไม่ถูกขัดขวางด้วยคดีความ

แบร์ลุสโคนี นั้น ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังแนวร่วมของเขากุมเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาได้ เขากล่าวว่าพวกผู้พิพากษาทำหน้าที่อัยการ ที่มีความฝักใฝ่ทางการเมือง มุ่งที่จะเอาผิดกับเขามาตั้งแต่เขาเข้าสู่การเมืองเมื่อ 14 ปีก่อนแล้ว

ทั้งนี้ แบร์ลุสโคนี โอดครวญว่า เขาต้องเข้าฟังการพิจารณาคดีฟ้องร้องถึง 2,500 ครั้ง ต้องเข้าให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 587 ครั้ง และต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านกฎหมายเป็นเงินถึง 174 ล้านยูโร โดยที่ผ่านมาเขาสามารถเอาชนะคดีได้ทั้งหมด ทั้งจากการได้รับการปล่อยตัวพ้นผิดแบบเปิดเผย และด้วยการดึงคดีไว้ให้หมดอายุความไปตามกฎหมายอิตาลี

“ผมเป็นคนที่มีคดีขึ้นศาลเป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งมวลที่อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์ดวงอื่น” เขาบอกผู้สื่อข่าวเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

สำหรับในคดีมิลส์นั้น แบร์ลุสโคนี ถูกกล่าวหาว่า ติดสินบนทนายความชาวอังกฤษ 600,000 ดอลลาร์ เมื่อปี 1997 โดยใช้เงินจาก “กองทุนลับ” ของ “มีเดียเซ็ต” ซึ่งเป็นกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์เอกชนรายใหญ่ที่สุดของอิตาลี เพื่อให้ระงับการเปิดเผยกล่าวโทษเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของเขา

ทั้ง มิลส์ และ แบร์ลุสโคนี ปฏิเสธว่า ไม่ได้กระทำความผิดใดๆ และบอกว่า เขาอยากจะต่อสู้คดีมิลส์ในศาลมากกว่าที่จะพักกระบวนการพิจารณาคดีเอาไว้เท่านี้

แต่แม้ตามกฎหมายที่ออกมาใหม่ดังกล่าว แบร์ลุสโคนี อาจเลือกไม่ขอใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองได้ ทว่าทีมกฎหมายของเขาก็กล่าวหาศาลว่ามีอคติ ส่วนพวกนักวิเคราะห์ก็คาดกันว่าไม่มีทางที่แบร์ลุสโคนีจะปฏิเสธการได้หยุดพักการพิจารณาคดีนี้

กฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของสภาล่างมาก่อนแล้ว จึงเหลือแต่ขั้นตอนเสนอให้ประธานาธิบดีลงนาม

นอกจากนั้น เพื่อเป็นการลดเสียงคัดค้านลงบ้าง ในกฎหมายนี้ได้บรรจุมาตราที่จำกัดระยะเวลาของการให้เอกสิทธิ์คุ้มครองไว้เพียงในช่วงดำรงตำแหน่งทางการเมืองวาระเดียว และอนุญาตให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนยังคงฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้ แม้ว่าจะอยู่ในระหว่างพักการพิจารณาคดีอาญาก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น