เอเอฟพี - เบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด แถลงยืนยันเมื่อวันพุธ (16)ว่า "แฟนนี เม" และ "เฟรดดี แมค" ยังห่างไกลจากการล้มละลาย ปรากฏว่าคำพูดของเขาส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มสถาบันการเงินกระเตื้องทันที โดยช่วยบรรเทาความหวาดหวั่นที่ว่ากำลังจะเกิดวิกฤตร้ายแรงยิ่งไปกว่านี้อีก
ถ้อยแถลงของเบอร์นันกีต่อคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านสินเชื่อเพื่อการเคหะทั้งสอง ดีดตัวสูงขึ้นอย่างพรวดพราด โดยราคาหุ้นของแฟนนี เม ดีดตัวขึ้น 31 เปอร์เซ็นต์สู่ระดับ 9.25 ดอลลาร์ และราคาหุ้นของเฟรดดี แมคดีดตัวขึ้น 29.8 เปอร์เซ็นต์สู่ระดับ 6.83 ดอลลาร์ ถึงแม้ราคาหุ้นของบริษัททั้งสอง ยังต่ำกว่าระดับสูงสุดในรอบหนึ่งปีอยู่ถึง 75 เปอร์เซ็นต์ก็ตามที
การดีดตัวขึ้นของหุ้นแฟนนี เม และเฟรดดี แมคเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาหุ้นในกลุ่มสถาบันการเงินปรับตัวสูงขึ้นทั้งตลาด เมื่อความกังวลว่าจะเกิดความระส่ำระสายรุนแรงในระบบการเงินโลกคลี่คลายลง
ระหว่างการตอบกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในโอกาสเสนอรายงานภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีแรกของธนาคารกลางสหรัฐฯต่อรัฐสภาเป็นวันที่ 2 เมื่อวันพุธ เบอร์นันกีกล่าวถึง แฟนนี เม และเฟรดดี แมค ซึ่งเป็นวิสาหกิจภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐบาล (GSE) ว่า ยังเป็นสถาบันการเงินที่มีสถานะมั่นคง ไม่มีภัยอันตรายของการล้มละลายแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ประธานเฟด ยอมรับว่า ความเชื่อมั่นของตลาดที่ลดถอยลง ส่งผลกระทบต่อบริษัททั้งสองค่อนข้างรุนแรง ทำให้ราคาหุ้นตกต่ำลงและการเพิ่มทุนจะยากลำบากมากขึ้น เพราะการออกตราสารหนี้ของบริษัททั้งสองจะต้องมีอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนทางการเงิน
เบอร์นันกี กล่าวด้วยว่า ปัญหาในตลาดที่พักอาศัยคือปัจจัยหลักของวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ดังนั้นมาตรการแก้ไขปัญหาจึงมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ตลาดที่พักอาศัย และระบบการเงินที่สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการเคหะ
นักวิเคราะห์ กล่าวว่า นอกจากมาตรการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่แฟนนี เม และเฟรดดี แมคแล้ว ระเบียบใหม่ของตลาดหุ้นที่มีเป้าหมายควบคุมการทำ "ชอร์ตเซล" ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตลาดมีเสถียรภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ การทำชอร์ตเซลเป็นการซื้อขายหุ้นแบบที่นักลงทุนเก็งว่าราคาหุ้นจะต้องลดลงในอนาคต จึงหยิบยืมหุ้นของคนอื่นไปขาย ซึ่งทำให้ได้ราคาในปัจจุบัน จากนั้นจึงค่อยไปซื้อหุ้นจากตลาดในอนาคตที่ราคาถูกลงมาแล้ว ไปใช้คืนผู้ที่ตนยืมมา แต่ก็มีนักลงทุนบางรายทำชอร์ตเซลแบบ "เปลือย" นั่นคือบอกขายหุ้นโดยยังไม่ทันทำข้อตกลงขอยืมจากใครเลย และพฤติการณ์ลักษณะเช่นนี้เอง ที่ถูกควบคุมโดยระเบียบใหม่ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (เอสอีซี)
ทั้งนี้ เอสอีซีได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งควบคู่กับการประกาศใช้ระเบียบใหม่เมื่อวันพุธ มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า ข่าวลือที่ปราศจากมูลความจริงอาจนำไปสู่การสูญเสียความเชื่อมั่นในตลาด และนำไปสู่การเทขายหุ้นด้วยความแตกตื่น ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการทำชอร์ตเซลแบบ "เปลือย" ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก ส่งผลให้ราคาหุ้นตกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
อนึ่งในวันพุธเช่นกัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ประจำเดือนมิถุนายน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พวกเขายังคงมีความไม่แน่ใจเกี่ยวกับทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในอนาคต อย่างไรก็ตาม เอฟโอเอ็มซีดูจะเห็นพ้องต้องกันว่า ความเคลื่อนไหวต่อไปในเรื่องอัตราดอกเบี้ยของพวกเขา น่าจะเป็นไปในทางขยับขึ้นดอกเบี้ย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ขยับลดลงมาชุดใหญ่แล้ว