xs
xsm
sm
md
lg

US เสี่ยงเสียบทบาทผู้นำในเอเชียหากยังขืนเป็น "นักลัทธิกีดกันการค้า"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/เอเจนซี - ปลัดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ออกโรงเตือนสมาชิกคองเกรสเมื่อวันจันทร์ (7) สหรัฐฯ กำลังทำตัวเป็น "นักลัทธิกีดกันทางการค้า" มากขึ้น และเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียบทบาทการเป็นผู้นำในทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียในอนาคตไปให้กับจีน

"เป็นเรื่องน่าขันที่เมื่อถึงศตวรรษที่ 21 สหรัฐฯ กลับหมกมุ่นแต่เรื่องภายในประเทศ และไม่เชื่อมั่นว่าการเข้าไปมีบทบาททางเศรษฐกิจในเอเชียนั้นเป็นเรื่องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เอง ทั้งๆ ที่ประเทศในเอเชียต่างก็กำลังเร่งหาข้อสรุปเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างกันและกันอยู่" คริสโตเฟอร์ แพดิลลา ปลัดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กล่าว

"เรื่องนี้อาจฟังดูน่าตกใจ แต่ลองดูที่ข้อเท็จจริงสิ" เขากล่าว และว่าสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ จำนวนมาก "มีความระแวงสงสัยอย่างยิ่ง" ต่อการขยายการค้ากับพันธมิตรอย่างเช่นเกาหลีใต้ และ "เป็นปฏิปักษ์อย่างเปิดเผย" ต่อการค้ากับจีน

ทั้งนี้ รัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งมีเสียงส่วนมากเป็นฝ่ายพรรคเดโมแครต ได้ปฏิเสธยังไม่พิจารณารับรองข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับเกาหลีใต้ ทั้งๆ ที่จะเป็นข้อตกลงมีมูลค่าการค้าสูงที่สุดในรอบ 15 ปี โดยอ้างเหตุผลหลักว่าเป็นเพราะเกาหลีใต้ตั้งกำแพงภาษีเพื่อสกัดกั้นการนำเข้ารถยนต์สหรัฐฯ และไม่เปิดตลาดรับเนื้อวัวอเมริกัน

นอกจากนั้น สมาชิกรัฐสภาก็กำลังพิจารณาออกกฎหมายคว่ำบาตรลงโทษจีน เพื่อตอบโต้ที่จีนไม่ปรับเพิ่มค่าเงินหยวน ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังซวนเซอย่างหนักจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัว และราคาน้ำมันสูงเป็นประวัติการณ์

แพดิลลา ตั้งข้อสงสัยว่า สหรัฐฯ จะยังคงรักษาแนวทางการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอยู่หรือไม่ เพราะการเดินหน้าสู่ลัทธิกีดกันทางการค้าและนโยบายควบคุมการลงทุนและการเข้าเมือง จะทำให้เอเชียมีแนวโน้มประสานความร่วมมือกันเองในระดับภูมิภาค โดยไม่ใส่ใจกับสหรัฐฯ อีกต่อไป นั่นหมายความว่าบทบาทผู้นำทางเศรษฐกิจในเอเชียอาจจะไปอยู่ในมือของจีนมากขึ้น

"การที่อเมริกามีท่าทีลังเล เชื่องช้า และหมกมุ่นแต่ตัวเองอาจทำให้เกิด "Pax Sinica" ในทางเศรษฐกิจขึ้น โดยจีนจะมีโอกาสได้เป็นผู้จัดระเบียบทางเศรษฐกิจของเอเชียได้ตามต้องการ" แพดิลลาเสริม และว่า "ส่วนประเทศอื่นในเอเชียก็อาจไม่ทางเลือกอื่นนอกจากปรับตัวเองให้เข้ากับความเป็นจริงในทางเศรษฐกิจ"

"Pax Sinica" หรือ "สันติภาพภายใต้จีน" เป็นการผูกถ้อยคำลอกเลียนคำในยุคจักรวรรดิโรมันที่ว่า "Pax Romana" หรือ "สันติภาพภายใต้โรมัน" ซึ่งมุ่งหมายถึงช่วงเวลาที่โลกตะวันตกยุคโบราณมีสันติภาพอย่างยาวนานภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมัน

สำหรับ "Pax Sinica" นักวิชาการหลายคนบอกว่ามีอยู่จริงๆ นั่นคือ ช่วงเวลาแห่งสันติภาพในเอเชียตะวันออกในระหว่างทศวรรษ 1680 ถึง 1790 อันเป็นยุคที่อารยธรรมจีนแข็งแกร่งและครอบงำภูมิภาคนี้

และขณะนี้จีนก็กำลังมีอิทธิพลสูงขึ้นอีกครั้ง ในรูปของการค้าและการลงทุนกับประเทศต่างๆ โดยที่จีนนั้นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังสร้างสมกำลังทางทหารและถือครองเงินต่างประเทศไว้ในมืออีกมากมาย

ด้านรัฐบาลบุชเองก็พยายามต่อสู้กับจีนด้วยการสร้างกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียที่สหรัฐฯ ยังคงมีบทบาทสำคัญอยู่ด้วย โดยลงนามในข้อตกลงเอฟทีเอกับสิงคโปร์ ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ และอยู่ในระหว่างการเจรจากับไทยและมาเลเซีย

อีกทั้งเมื่อเร็วๆ นี้สหรัฐฯ ยังได้ริเริ่มความร่วมมือในธุรกิจบริการและการลงทุนกับประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก 4 ประเทศคือ สิงคโปร์ ชิลี นิวซีแลนด์ และบรูไน ในชื่อ "ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก" และเมื่อเดือนที่แล้วก็เปิดเจรจากำหนดกรอบสนธิสัญญาการลงทุนระดับทวีภาคีกับจีนและเวียดนามด้วย

แพดิลลา บอกว่า ท่าทีลังเลของคองเกรสต่อการรับรองข้อตกลงการค้าเสรีกับเกาหลีใต้นั้นได้สร้างความไม่มั่นใจให้เกิดขึ้นในหมู่ประเทศในเอเชีย เกี่ยวกับพันธะผูกพันทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีต่อพันธมิตรใกล้ชิดในภูมิภาคนี้

เขาเตือนอีกว่า หากคองเกรสไม่รับรองข้อตกลงเอฟทีเอกับเกาหลีใต้ ความสูญเสียทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะมากมายกว่าเพียงแค่การสูญเสียโอกาสทางการค้าในเอเชีย เพราะ "บทบาทผู้นำในเอเชียของอเมริกาจะถดถอยลง และมีแนวโน้มที่การจัดระเบียบทางเศรษฐกิจของเอเชียในอนาคตจะไม่มีสหรัฐฯ ร่วมด้วย"
กำลังโหลดความคิดเห็น