xs
xsm
sm
md
lg

หรือราคาน้ำมันทำให้ “บุช” ไม่กล้าโจมตีอิหร่าน?

เผยแพร่:   โดย: จิม โล้บ

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Does Iran have Bush over a barrel?
By Jim Lobe
1/07/2008

ขณะที่ราคาน้ำมันพุ่งทะยานขึ้นไป 11 ดอลลาร์สหรัฐฯในวันเดียวเมื่อเดือนที่แล้ว คือเครื่องบ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างการข่มขู่คุกคามอิหร่านกับราคาน้ำมัน อันน่าตื่นใจที่สุดเท่าที่เคยปรากฏออกมา และเนื่องจากผู้ออกเสียงในสหรัฐฯทุกสามในสี่คนกำลังบอกว่า ราคาเบนซินจะเป็น “สิ่งสำคัญอย่างยิ่ง” ในการตัดสินว่าพวกเขาจะโหวตให้ใครในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือนพฤศจิกายนนี้ เรื่องนี้จึงอาจจะกลายเป็นปัจจัยชี้ขาด ซึ่งทำให้คณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช กำลังเก็บเอาเรื่องการโจมตีเล่นงานอิหร่าน “ออกมาเสียจากโต๊ะ”

วอชิงตัน – ถ้าประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ ต้องการเพิ่มโอกาสของฝ่ายพรรครีพับลิกัน ในการยึดครองทำเนียบขาวเอาไว้ต่อไป และหยุดยั้งทัดทานความได้เปรียบของทางพรรคเดโมแครตในรัฐสภาอเมริกันเอาไว้ให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด ในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนนี้แล้ว เขาก็อาจต้องพิจารณา เก็บเอาเรื่องการโจมตีเล่นงานอิหร่านก่อนที่วาระการดำรงตำแหน่งของเขาจะจบลง “ออกมาเสียจากโต๊ะ”

แน่นอนว่า นี่อาจจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่บุช และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดิ๊ก เชนีย์ รองประธานาธิบดีผู้กระหายสงครามของเขา ปรารถนาที่จะทำ

ทว่ามันแทบไม่มีข้อสงสัยเลยว่า การสาบานจะไม่ใช้ปฏิบัติการทหารเล่นงานอิหร่าน จะสามารถผ่อนคลายแรงกดดันขาขึ้นที่มีต่อราคาน้ำมันโลก ซึ่งได้พุ่งทะลุขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันจันทร์(30 มิ.ย.) โดยที่วิ่งไปจนเกินกว่า 143 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนที่จะถอนกลับมาอยู่แถวๆ 140 ดอลลาร์ และด้วยเหตุดังนั้น อย่างน้อยที่สุดก็ย่อมจะทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันได้รู้สึกบรรเทาความกังวลลงมาได้บ้าง ในเวลาที่ราคาเบนซินซึ่งกำลังพุ่งทำสถิติสูงสุดครั้งแล้วครั้งเล่า ดูเหมือนจะทำให้ประชาชนเกิดความผิดหวังท้อใจกันอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

“ถ้าคณะรัฐบาลชุดนี้ต้องการจริงๆ ที่จะทำให้ชาวอเมริกันรู้สึกเจ็บปวดน้อยลงในเวลาอยู่ที่ปั๊มน้ำมันแล้ว ก็มีอยู่สิ่งหนึ่งที่คณะรัฐบาลสามารถทำได้ซึ่งจะก่อให้เกิดผลในทันทีด้วย” ไมเคิล แคลร์ เขียนเอาไว้ในนิตยสาร “เนชั่น” สัปดาห์นี้ เขายังเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มใหม่ที่มีชื่อว่า “Rising Power, Shrinking Planet: The New Geopolitics of Energy” “นั่นคือการประกาศว่า การใช้กำลังทหารไม่ใช่เป็นทางเลือกที่ยอมรับได้ในการต่อสู้กับอิหร่าน”

ขณะที่พวกนักวิเคราะห์ด้านน้ำมันบอกว่า การที่เงินดอลลาร์ยังอยู่ในทิศทางที่จะอ่อนค่าลงต่อไปอีก ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคือปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญในการกระโจนพรวดพราดของราคาน้ำมันเมื่อวันจันทร์ แต่พวกเขาก็ชี้ด้วยว่าปฏิกิริยาตอบโต้อย่างแหลมคมเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ของผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน พลเอก อาลี จาฟารี ต่อการข่มขู่คุกคามของสหรัฐฯและอิสราเอลเมื่อเร็วๆ นี้ที่จะเข้าโจมตีเล่นงานสถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของเตหะราน ตลอดจนการประเมินสถานการณ์ของเขาที่ว่าการข่มขู่เหล่านี้ควรต้องถือเป็นเรื่องจริงจังร้ายแรงนั้น ก็เป็นปัจจัยหลักอีกประการหนึ่งเช่นเดียวกัน

นอกเหนือจากจาฟารีเตือนว่า จะทำการตอบโต้เล่นงานมหาอำนาจในภูมิภาคไม่ว่าหน้าไหน ที่เข้าร่วมการโจมตีดังกล่าว ซึ่งน่าจะหมายถึงอิสราเอลแล้ว เขายังบอกด้วยว่า เตหะรานจะ “ลงมือปฏิบัติการอย่างแน่นอนในการเข้าควบคุมเหนืออ่าวเปอร์เซียและช่องแคบฮอร์มุซ” และจากการทำเช่นนี้ เขาบอกต่อไปว่า “ราคาน้ำมันจะทะยานขึ้นไปอย่างมากมาย และนี่คือหนึ่งในปัจจัยต่างๆ ที่กำลังคอยยับยั้งพวกศัตรูอยู่ในขณะนี้”

อันที่จริงแม้กระทั่งไม่มีการโจมตีบังเกิดขึ้น ก็แทบเป็นการแน่นอนว่า ความตึงเครียดอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ยังคงมีส่วนในการทำให้ราคาน้ำมันพุ่งแรงต่อไป จนอาจจะไปถึงระดับ 170 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในอีกไม่กี่สัปดาห์ไม่กี่เดือนข้างหน้า ประธานองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ชาคิบ เคลิล กล่าวระหว่างเข้าร่วมการประชุมในกรุงมาดริด ประเทศสเปน

ราคาน้ำมันโลกได้ทะยานขึ้นมาเกือบ 50% แล้วนับแต่เริ่มย่างเข้าปี 2008 และพุ่งแรงจนเกือบเป็นสองเท่าตัวทีเดียวตลอดช่วงปีที่ผ่านมา พวกนักวิเคราะห์ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่า การเพิ่มขึ้นดังกล่าวนี้สักแค่ไหนที่เนื่องมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในเศรษฐกิจโลก อาทิ อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของพวกประเทศรายได้ระดับปานกลาง, การลดค่าลงของเงินเดลอลาร์ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้การขึ้นของราคาน้ำมันอยู่ในลักษณะที่ถาวรไปเลย และสักแค่ไหนที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลว่าอาจจะเกิดการสะดุดติดขัดในการนำอุปทานน้ำมันสู่ตลาด สืบเนื่องจากความขัดแย้งประเภทที่คอยรังควาญพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ในประเทศไนจีเรีย, หรือการโจมตีของผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์ต่อย่านอ่าวเปอร์เซีย, การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหรือทางอื่นๆ ต่อพวกผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญ, หรือเกิดสงครามขึ้นมา

พวกปัจจัยเสี่ยงประเภทหลังนี้ นักวิเคราะห์บางรายในกรุงวอชิงตันเห็นว่า มีส่วนอยู่ถึงราว 50 ดอลลาร์ทีเดียวของราคารวมในปัจจุบันนี้ ถึงแม้ส่วนใหญ่แล้วเชื่อว่าตัวเลขน่าจะอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของตัวเลขนี้มากกว่า

สำหรับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอิหร่าน มีส่วนต่อราคาน้ำมันในปัจจุบันแค่ไหนนั้น ก็เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นถกเถียงอภิปรายกันอย่างมากมายเช่นกัน ผู้คนจำนวนมากชี้ไปที่การทะยานลิ่วของราคาอย่างชนิดไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแค่วันเดียว 11 ดอลลาร์ (จาก 128 ดอลลาร์ ขึ้นไปถึง 139 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายน ภายหลังจากรองนายกรัฐมนตรี ชาอุล โมฟาซ ของอิสราเอล ออกมากล่าวเตือนว่า การเข้าโจมตีของอิสราเอลต่อบรรดาสถานที่ทางนิวเคลียร์ของเตหะราน กำลังเป็น “สิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” ถ้าหากว่าแรงกดดันของนานาชาติไม่ประสบความสำเร็จในการเกลี้ยกล่อมให้อิหร่านยอมระงับโครงการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมของตน

ขณะที่เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการคุกคามข่มขู่อิหร่านกับราคาน้ำมัน อันชวนให้ตื่นใจที่สุดเท่าที่เคยปรากฏกันมา แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ผลลัพธ์ที่จะบังเกดขึ้นมาจริงๆ น่าจะเบาบางกว่านั้นหน่อย ถึงแม้จะยังคงเป็นเรื่องจริงจังอย่างมากก็ตาม

“ผมไม่คิดว่า มันจะเป็นเรื่องไม่มีเหตุผลที่จะพูดว่า มันเป็นตัวการอยู่สักสองสามดอลลาร์ (จากระดับราคาปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล)” พอล ซาวน์เดอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์นิกสัน เซนเตอร์ ในกรุงวอชิงตัน บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส)

และในการให้ปากคำต่อรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แดเนียล เยอร์กิน นักวิเคราะห์ผู้ผ่านงานมายาวนานรวมทั้งเป็นนักประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมน้ำมันด้วย ตั้งข้อสังเกตว่า “คุณเห็นฝ่ายอิหร่านออก ... คำแถลงท้าตีท้าต่อย แล้วคุณก็เห็นราคาน้ำมันขึ้นไปในราว 5 ดอลลาร์ หรือ 7 ดอลลาร์”

อันที่จริงแล้ว นี่ไม่ได้เป็นแบบแผนใหม่เอี่ยมอะไรเลย ตามคำพูดของแคลร์ ผู้ซึ่งบอกด้วยว่า ความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะไปถึงระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลนั้น ได้เคยทำท่าจะบังเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อเกือบสองปีก่อน ตอนเกิดสงครามเมื่อเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ท่ามกลางกระแสคาดเก็งกันมากว่าความขัดแย้งคราวนั้นอาจจะแผ่กระจายไปถึงอิหร่าน ในเวลานั้น ราคาลอยวนอยู่รอบๆ ระดับประมาณ 75 ดอลลาร์ ก่อนจะถอยหลังกลับไปจนอยู่เกิน 50 ดอลลาร์นิดเดียวเมื่อต้นปี 2007 อันเป็นจุดต่ำที่สุดในรอบ 18 เดือนที่ผ่านมา

ถึงแม้ราคาก็ถอยหลังกลับไปภายหลังการแสดงความคิดเห็นของโมฟาซ ทว่าเหตุการณ์ต่างๆ หลายอย่างในช่วง 10 วันที่ผ่านมา ยังคงช่วยขับดันให้ราคาขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลายครั้งอยู่นั่นเอง โดยในจำนวนนี้มีอาทิ การตีพิมพ์รายงานข่าวหน้าหนึ่งของนิวยอร์กไทมส์ เกี่ยวกับการซ้อมรบขนาดใหญ่มากของอิสราเอล ซึ่งว่ากันว่ามุ่งเป็นการจำลองสถานการณ์การเข้าโจมตีอิหร่าน, การตีพิมพ์บทความในนิตยสารนิวยอร์กเกอร์ ของ ซีย์มัวร์ เฮอร์ช นักหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวน เกี่ยวกับโครงการปฏิบัติการลับมูลค่าราว 400 ล้านดอลลาร์ที่มุ่งเล่นงานเตหะราน, และคำเตือนจากพวกสายเหยี่ยวในสหรัฐฯที่ใกล้ชิดกับสำนักงานของรองประธานาธิบดีเชนีย์ ที่บอกว่าฝ่ายอิสราเอลหรือไม่ก็สหรัฐฯเองจะเข้าโจมตีอิหร่าน ในช่วงเวลาระหว่างการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงพิธีสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ในเดือนมกราคม 2009, ตลอดจนคำพูดเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาของจาฟารี ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน ที่ยกมาข้างต้น

แคลร์เชื่อว่า เวลานี้พวกตลาดน้ำมันมีความเชื่อกันว่า “มีโอกาสอย่างน้อยถึง 50% ทีเดียวที่ สหรัฐฯ และ/หรือ อิสราเอล จะเข้าโจมตีอิหร่าน ก่อนที่บุชจะลงจากตำแหน่ง และทางฝ่ายอิหร่านก็จะตอบโต้ (ในทิศทาง) ... ซึ่งจะผลักดันให้ราคาน้ำมันพุ่งไปถึง 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและกว่านั้นไปอีก” ซึ่งนี่เป็นเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไมในขณะนี้พวกนักเก็งกำไร จึงกำลังซื้อตราสารอนุพันธ์ฟิวเจอร์สน้ำมันในระดับ 140 ดอลลาร์ และกระทั่ง 150 ดอลลาร์

“การทะยานขึ้นของราคาในเวลานี้มีแต่จะกระตุ้นให้กำลังใจพวกนักเก็งกำไรมากขึ้น ให้เข้าลงมือปฏิบัติการ ยกเว้นแต่คณะรัฐบาลจะออกมาแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะเข้าโจมตีอิหร่าน และจะบังคับอิสราเอลให้ต้องออกมาประกาศทำนองเดียวกัน ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ไม่น่าที่จะเกิดขึ้นมาหรอก” เขาบอกกับไอพีเอส

อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง สาธารณชนผู้มีสิทธิออกเสียงชาวอเมริกัน ก็กำลังรู้สึกวิตกกังวลอย่างชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางที่ราคาน้ำมันกำลังทะยานขึ้นไป ผลสำรวจของลอสแองเจลิสไทมส์/บลูมเบิร์ก ในสัปดาห์ที่แล้วบ่งบอกว่า ประชาชนทุก 7 ใน 10 คนบอกว่า ครอบครัวของพวกเขากำลังประสบกับ “ความยากลำบากทางการเงิน” จากการที่ราคาน้ำมันพุ่งลิ่ว และมากกว่า 8 ใน 10 ประณามกล่าวโทษคณะรัฐบาลบุช ที่ “ไม่ได้ทำเพียงพอ” เพื่อผ่อนปรนผลกระทบจากราคาน้ำมัน

ตามผลโพลของศูนย์วิจัย พิว รีเสิร์ช เซนเตอร์ ซึ่งจัดทำตอนต้นเดือนมิถุนายนนั้น ผู้ออกเสียงทุก 3 ใน 4 คนเชื่อว่า ราคาเบนซินจะ “มีความสำคัญอย่างยิ่ง” ในการตัดสินชี้ขาดว่าพวกเขาจะออกเสียงให้ใคร ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าพวกที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องการก่อการร้ายหรือสงครามอิรัก นอกจากนั้น ในกลุ่มผู้ออกเสียงกลุ่มเดียวกันนี้ พวกที่บอกว่ามีความเชื่อมั่นในพรรคเดโมแครตและวุฒิสมาชิกบารัค โอบามา ปรากฏว่ามีเปอร์เซ็นต์มากกว่าพวกที่เชื่อในพรรครีพับลิกันและวุฒิสมาชิกจอห์น แมคเคน ในการรับมือแก้ไขปัญหานี้ ถึงเกือบ 20% ทีเดียว

นี่เป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เวลานี้ให้โอกาสความเป็นไปได้ไว้ค่อนข้างต่ำ ในการที่จะมีประเทศใดๆ เข้าโจมตีอิหร่านก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายน หลายๆ คนถึงขั้นยอมรับตรรกวิทยาของจาฟฟารีที่ว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ราคาน้ำมันไม่ว่าจะเป็นการลงมือช่วงก่อนหรือช่วงหลังการเลือกตั้งก็ตามที กำลังทำให้การโจมตีไม่น่าที่จะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ

“ผมคิดว่าหนึ่งในหลายๆ สิ่งที่ทำให้ (การโจมตี) เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นหรอก ก็คือเรื่องที่มันจะส่งผลแน่ๆ ต่อราคาน้ำมัน” เป็นความเห็นของเซาน์เดอร์ส แห่งนิกสัน เซนเตอร์

จิม โล้บ ทำบล็อกว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ และโดยเฉพาะเรื่องอิทธิพลของพวกนีโอคอนเซอร์เวทีฟ (อนุรักษนิยมใหม่) ในคณะรัฐบาลบุช ซึ่งสามารถเข้าไปอ่านได้ที่ http://www.ips.org/blog/jimlobe/

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น