เอเจนซี - นักการทูตทั้งของสหรัฐฯ,อิหร่าน และประเทศตะวันตกอื่นๆ เมื่อวันอังคาร (1) พากันตบเท้ากันออกมาแสดงท่าทีเพื่อคลายความวิตกของตลาดโลกต่อเรื่องที่อิสราเอลจะใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้าทำลายสถานที่ทางนิวเคลียร์ของอิหร่าน หลังจากมีรายงานอีกระลอกว่าความเป็นไปได้ในเรื่องนี้กำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ตลาดโลกสะท้านสะเทือน และราคาน้ำมันก็พุ่งขึ้นไปเกือบแตะระดับสูงสุดครั้งใหม่
"การปฏิบัติการทางทหารเป็นทางเลือกสุดท้ายที่เราต้องการเลือกใช้ และคิดว่าทางเลือกนี้คงไม่เกิดขึ้นอย่างง่ายๆ ผมไม่คิดว่าจะมีการโจมตีเกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนนี้" นักการทูตตะวันตกรายหนึ่งในกรุงเทลอาวีฟของอิสราเอลกล่าว
ความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้เริ่มต้นจากรายงานของนิวยอร์กไทมส์ หนังสือพิมพ์ทรงอิทธิพลที่สุดฉบับหนึ่งของสหรัฐฯ เมื่อกว่าหนึ่งสัปดาห์มาแล้ว โดยอ้างเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯว่า อิสราเอลกำลังฝึกฝนทหารสำหรับปฏิบัติการโจมตีต่ออิหร่าน
แล้วข่าวโทรทัศน์เอบีซีนิวส์ก็กระพือความกลัวขึ้นอีกครั้งในวันอังคาร จากการรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ว่า ความเป็นไปได้ที่อิสราเอลจะโจมตีสถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์อิหร่านกำลังมีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้อิหร่านลุกขึ้นมาโต้ตอบทั้งอิสราเอลและสหรัฐฯ
ข่าวดังกล่าวทำให้คนจำนวนมากตื่นตระหนก รวมทั้งดึงให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไป 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เข้าใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 143.67 ดอลลาร์ซึ่งทำไว้เมื่อวันจันทร์ ทั้งนี้ สิ่งที่กังวลกันมากที่สุดก็คือ หากทางการเตหะรานเคลื่อนไหวเพื่อตอบโต้ ก็จะทำให้การขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซทั้งหมดสะดุดหยุดลงและจะส่งผลต่อราคาในตลาดโลกรุนแรง เพราะช่องแคบฮอร์มุซควบคุมการส่งน้ำมันทางเรือถึง 40% ของโลก ขณะที่อิหร่านเองก็เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก
อย่างไรก็ตาม ทางการสหรัฐฯ ได้ออกมาปฏิเสธรายงานของเอบีซีนิวส์ในทันที
"ผมไม่มีข้อมูลที่จะสนับสนุนการกล่าวเช่นนั้นเลย" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ทอม เคซีย์กล่าว "ปฏิกิริยาของกระทรวงต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ก็คือ หัวเราะพร้อมทั้งบอกว่า 'อย่ามัวหดหัวอยู่ ออกมาแสดงตัว และให้อ้างชื่อไปเลยดีกว่าหากว่ามีข้อมูลจะบอกจริงๆ'" เคซีย์หมายถึง แหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ของทางการสหรัฐฯที่ข่าวถึงเอบีซีนิวส์อ้างถึง
ขณะเดียวกันรัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน มานูเชคร์ มอททากี บอกเอ็นบีซีนิวส์ว่า เขาไม่เชื่อว่าอิสราเอลจะโจมตีอิหร่าน เพราะสถานะของอิสราเอลทุกวันนี้ไม่เอื้อต่อปฏิบัติการต่อประเทศใดในภูมิภาคได้ เนื่องจากอิสราเอลยังคงเผชิญหน้ากับผลกระทบของการโจมตีเลบานอนเมื่อปี 2006 "ดังนั้นเราจึงไม่เชื่อว่าอิสราเอลจะอยู่ในฐานะที่จะสามารถเริ่มการโจมตีประเทศใดๆ ในภูมิภาคนี้อีกได้"
เอ็นบีซี รายงานว่า มอททากียังได้ขู่ว่าอิหร่านจะไม่แยกว่าใครเป็นผู้โจมตีไม่ว่าจะเป็นอิสราเอลหรือสหรัฐฯ และจะปฏิบัติตอบโต้เป็นวงกว้างหากว่าถูกโจมตีจริง "และควรจะเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป (ในหมู่นานาประเทศ) ว่าควรดำเนินความพยายามเพื่อสะกัดกั้นมิให้อิสราเอลปฏิบัติการทางทหารในภูมิภาคนี้อีก" มอททากีกล่าว
ทางด้านนักการทูตตะวันตกในอิสราเอลรายที่อ้างถึงข้างต้นนี้กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ในอิสราเอลมีความเห็นแตกเป็นเสี่ยงในกรณีโจมตีอิหร่าน ขณะที่สหรัฐฯ ก็คงไม่เคลื่อนไหวที่จะสนับสนุนการโจมตีเพราะได้ประเมินแล้วว่าโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านยังไม่พัฒนาไม่ถึง "จุดที่เป็นอันตราย" ในระยะนี้ แต่ก็อาจจะขึ้นถึงจุดนั้นในอีก 2 ปีข้างหน้า
ตลอดเวลาที่ผ่านมา สหรัฐฯ และมหาอำนาจตะวันตกรายอื่น ๆกล่าวหาเตหะรานว่าจะมีความมุ่งหมายจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะที่อิหร่านปฏิเสธเสียงแข็งว่าโครงการนิวเคลียร์มีไว้เพื่อการผลิตพลังงานใช้ในประเทศเท่านั้น
หลายฝ่าย เชื่อมั่นว่า ปัจจุบันอิสราเอลเป็นประเทศเดียวเท่านั้นในตะวันออกกลางที่มีอาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่ารัฐบาลยิวไม่เคยออกมาประกาศว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองก็ตาม
ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะพยายามบรรเทาความวิตกของสาธารณชนเรื่องการโจมตีอิหร่าน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงกดดันอิหร่านอย่างหนักหน่วงเพื่อให้ยุติโครงการเพิ่มประสิทธิภาพยูเรเนียม อันเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทำงานได้