(จากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Chinas has an old friend in Medvedev
By Yu Bin
17/06/2008
การมาประชุมซัมมิตในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนที่แล้วของประธานาธิบดี ดมิทรี เมดเวเดฟ แห่งรัสเซีย ทำให้จีนมีโอกาสพินิจพิจารณาอย่างใกล้ชิดว่า เขาและนายกรัฐมนตรี วลาดิมีร์ ปูติน จะร่วมมือประสานงานกันอย่างไรในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างแดนมังกรกับหมีขาว ถึงแม้กำลังถูกใครต่อใครหลายคนมองเมินว่าเป็นแค่ตัวสำรอง แต่เมดเวเดฟก็มีสิ่งที่จะสามารถเสริมเติมเพิ่มความแน่นหนาให้แก่สายสัมพันธ์ระหว่าง จีน-ผู้กำลังก้าวผงาดขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมการผลิตของโลก และรัสเซีย-ผู้เป็นอภิมหาอำนาจด้านพลังงาน
ไม่ว่าประธานาธิบดี ดมิทรี เมดเวเดฟ จะทำอะไรขนาดไหนก็ตาม แต่การไปประชุมระดับผู้นำกับฝ่ายจีนในกรุงปักกิ่งของเขาเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ก็ถูกตีค่ากันอย่างดูเบาในโลกตะวันตก ว่าเป็นเพียงงานกิจวัตร, ไม่มีสาระสำคัญ, และถูกบดบังด้วยการไปประชุมในที่อื่นๆ ในเวลาไล่เรี่ยกันของอดีตประธานาธิบดีคนก่อนหน้าเขา ซึ่งก็คือ วลาดิมีร์ ปูติน
นอกจากนั้น ความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ “ที่กำลังเพิ่มทวีขึ้น” ระหว่างรัสเซียกับจีน ในประเด็นต่างๆ หลายหลาก -การค้า, พลังงาน, การขายอาวุธยุทโธปกรณ์, หากจะยกตัวอย่างให้เห็นกันสักเล็กน้อย –ก็กำลังเป็นจุดสนใจรายงานข่าวของบรรดาสื่อ
จากภาพลักษณ์ในแนวนี้เอง จึงทำให้การไปเยือนปารีสของปูติน (ผู้ซึ่งเวลานี้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรัสเซียแล้ว) ในสัปดาห์ถัดมาจากการไปประกอบภารกิจทางตะวันออกของเมดเวเดฟ ได้รับการรายงานว่ามี “ความเป็นประธานาธิบดี” เสียยิ่งกว่าเจ้าของตำแหน่งในปัจจุบัน ทว่าการประเมินเช่นนี้กลับละเลยมุมมองสำคัญๆ ในความสัมพันธ์ที่กำลังคลี่คลายและขยายกว้างขวางใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างสองชาติใหญ่ที่สุดบนผืนแผ่นทวีปยูเรเชีย
** สัญลักษณ์และสาระ**
การเยือนจีนเป็นเวลา 2 วันของเมดเวเดฟคราวนี้ มุ่งหมายที่จะเป็นการย้ำยืนยันความต่อเนื่องและเสถียรภาพในนโยบายของฝ่ายรัสเซียที่มีต่อจีน ช่วงเวลา 8 ปีก่อนหน้านี้ จีนมีประสบการณ์อย่างมหาศาลทีเดียวในการทำงานกับปูติน โดยตอนนั้นเมดเวเดฟยังปฏิบัติงานในหน้าที่ต่างๆ ตั้งแต่เป็นหัวหน้าสำนักงานใหญ่การรณรงค์หาเสียงเป็นประธานาธิบดีของปูตินในปี 2000, ประธานคณะเจ้าหน้าที่ของประธานาธิบดี (2003-05), และเป็นรองนายกรัฐมนตรี (2005-08)
สำหรับคราวนี้ ฝ่ายจีนมีโอกาสที่จะพินิจพิจารณาอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นทั้งที่ตัวเมดเวเดฟเอง และที่วิธีในการที่เขากับปูตินร่วมมือประสานงานกันเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ที่มีต่อปักกิ่ง ในระยะยาวไกลต่อไปแล้ว เมดเวเดฟจะต้องพัฒนาแนวทางของตัวเขาเอง และการปรับเปลี่ยนในทางนโยบายอาจจะเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ เมื่อสิ่งนั้นบังเกิดขึ้น จีนก็ไม่ต้องการที่จะเกิดความประหลาดใจ นี่จึงทำให้การประชุมซัมมิตคราวนี้ “ถูกจัดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว” ด้วยการเชื้อเชิญของประธานาธิบดีหูจิ่นเทาของจีน ในทันทีหลังจากเมดเวเดฟสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม
การเยือนจีนของเมดเวเดฟจึงเป็นการออกเยือนต่างประเทศที่อยู่นอก “กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช” (Commonwealth of Independent States หรือ CIS) เป็นครั้งแรก เขายังเป็นประมุขแห่งรัฐต่างประเทศคนแรกที่เยือนจีนหลังประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และทีมกู้ภัยของรัสเซียนี่เองเป็นทีมช่วยเหลือจากต่างประเทศทีมแรกๆ ที่มาถึงแดนมังกร รวมทั้งเป็นทีมช่วยเหลือจากต่างประเทศเพียงทีมเดียวเท่านั้นที่ค้นพบผู้รอดชีวิตจากภัยแผ่นดินไหวคราวนี้ ถึงแม้เหล่าเจ้าภาพของเขาต้องสาละวนอยู่กับภารกิจเรื่องความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์อันเร่งรีบวุ่นวายยิ่ง แต่การประชุมซัมมิตในกรุงปักกิ่งก็ยังคงเดินหน้าไปได้ตามปกติและบังเกิดผลลัพธ์ดังที่คาดหมายกันไว้ นั่นคือ มีการออกคำแถลงร่วมเพื่อย้ำยืนยันฉันทามติในประเด็นปัญหาระดับโลกหลายหลาก รวมทั้งมีการลงนามกันในข้อตกลงการค้าหลายฉบับ โดยหนึ่งในนั้นก็คือสัญญาสร้างโรงงานเพิ่มความเข้มข้นแก๊สนิวเคลียร์มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
หูยังได้ยื่นข้อเสนอ 4 ประการเพื่อ การส่งเสริมยกระดับความไว้เนื้อเชื่อใจกันในระดับสูง, การส่งเสริมความร่วมมือกันที่มีผลในเชิงปฏิบัติ, การแลกเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรม, และการร่วมมือกันในกิจการระหว่างประเทศ ทันทีที่เมดเวเดฟเสร็จสิ้นการเยือนปักกิ่ง นายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่า และนายกรัฐมนตรีปูตินของรัสเซีย ก็ตกลงกันที่จะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางด้านพลังงานในระดับรองนายกรัฐมนตรีขึ้นมา
ด้วยเหตุนี้ การเยือนของเมดเวเดฟจึงเป็นทั้งสัญลักษณ์และก็มีเนื้อหาสาระด้วย สำหรับทั้งมอสโกและปักกิ่ง
** ความสัมพันธ์ระหว่างกันที่เป็นปกติ**
ถึงแม้จะใช้ชื่อเรียกที่ฟังดูโอ่อ่าสูงส่ง แต่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-รัสเซียซึ่งบังเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1996 แท้ที่จริงก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างกันแบบปกติ ที่มี “เงื่อนไขข้อกำหนดในระดับต่ำสุด” หลายอย่างหลายด้าน อาทิ การไม่แทรกแซงในนโยบายภายในประเทศของกันและกัน, ความมั่นคงปลอดภัยและเสถียรภาพในบริเวณชายแดน นอกเหนือไปจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ก็มีการพัฒนาเข้าสู่กระบวนการแห่งปฏิสัมพันธ์อันสลับซับซ้อน ซึ่งมีทั้งการร่วมมือกันและการแข่งขันกัน
ภายใต้ประธานาธิบดีปูติน ความขัดแย้งกันในบางเรื่องบางด้านปรากฏขึ้นมาอย่างเด่นชัด อาทิ ขณะที่มีความไว้วางใจกันค่อนข้างมากในหมู่เจ้าหน้าที่ระดับสูง แต่ปฏิสัมพันธ์กันทางสังคมของสองประเทศกลับอยู่ในระดับต่ำ, มีการร่วมมือกันทางการทูตอยู่บ่อยครั้ง ทว่าปฏิสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจกลับต่ำกว่าปกติ, ภาครัฐบาลมีการเข้าไปแทรกแซงอย่างเข้มแข็งในเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทวิภาคี แต่ผลที่ได้ออกมากลับธรรมดาพื้นๆ เท่านั้น ฯลฯ เมื่อ 14 ปีก่อน บอริส เยลตซิน ประธานาธิบดีรัสเซียเวลานั้น ได้เสนอแนวความคิดเรื่องการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันมายังจีน แต่มาถึงเวลานี้ ยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่กำลังผงาดขึ้นมาของโลกอย่างจีน และอภิมหาอำนาจทางด้านพลังงานอย่างรัสเซีย ก็ยังคงอยู่ในขั้นพูดจากันเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในระยะสองสามปีที่ผ่านมา ยอดขายอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียแก่จีนที่เคยเฟื่องฟูมากนั้น ในทางเป็นจริงก็ถึงขั้นอยู่ในสภาพชะงักงัน
ประเด็นหรือปัญหาติดขัดเหล่านี้ ไม่ได้เป็นที่พึงปรารถนาของรัสเซียหรือจีนเลย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีประเด็นเหล่านี้ใดๆ เลยเช่นกันที่ลุกลามขยายตัวเข้าสู่ขอบเขตของประเด็นปัญหาอื่นๆ หรือกลายเป็นเรื่องทางการเมืองขึ้นมา ซึ่งต้องขอบคุณสายใยการเชื่อมโยงระหว่างกันที่แน่นหนามากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งกระบวนการในการทำให้การติดต่อระดับรัฐบาลมีลักษณะในเชิงสถาบันขึ้นมา สภาพเช่นนี้มีความแตกต่างกันในเชิงสาระ จากความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ในอีก 2 ช่วงในอดีต อันได้แก่ ช่วง “ฮันนีมูน” เมื่อปี 1949-60 และช่วงของการเป็นศัตรูกันซึ่งครอบงำความสัมพันธ์นี้ตั้งแต่ปี 1960-89 โดยที่ปัญหาต่างๆ หากไม่ถูกเพิกเฉยละเลยก็จะถูกปล่อยให้ระเบิดออกมา
** ประธานาธิบดีหนุ่มในฐานะเพื่อน “เก่า” ของจีน**
การเยือนปักกิ่งของเมดเวเดฟ บังเกิดขึ้นในขณะที่ทั้งมอสโกและปักกิ่งต่างเผชิญกับการท้าทายจากโลกตะวันตกเพิ่มมากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะเป็น การขยายตัวรอบใหม่ขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) และระบบป้องกันขีปนาวุธ, ลัทธิกีดกันการค้าที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในโลกตะวันตก, รวมทั้งราคาพลังงานซึ่งพุ่งพรวดลิบลิ่ว – นอกจากนั้นเฉพาะจีนยังต้องรับมือกับกรณีทิเบต และกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในเดือนสิงหาคมนี้ อย่างไรก็ดี นโยบายในแต่ละเรื่องของประเทศทั้งสอง ก็ใช่ว่าจะสอดคล้องตรงกันไปหมด
แม้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างคัดค้านโครงการป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯและการขยายสมาชิกของนาโต้ แต่จีนอาจจะไม่ต้องการเห็นรัสเซียกับโลกตะวันตกเกิดการแตกแยกอย่างรุนแรงล้ำลึกจนถึงขั้นที่ปักกิ่งจะต้องตัดสินใจเลือกที่จะอยู่ข้างใด ในปริมณฑลทางเศรษฐกิจ รัสเซียคือหนึ่งในชาติฝ่ายตะวันตกเพียงไม่กี่ประเทศที่ได้รับประโยชน์จากราคาพลังงานที่พุ่งสูง กระนั้นก็ตาม ศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ ของรัสเซีย รวมทั้งความลังเลไม่ปรารถนาที่จะกลายเป็น “ซัปพลายเออร์” ด้านวัตถุดิบให้แก่จีน ก็ได้ทำให้รัสเซียมีการขาดดุลการค้าให้แก่จีนเป็นครั้งแรก (8,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2007) นับแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ทั้งนี้ องค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization) ซึ่งเป็นประชาคมระหว่างประเทศที่ประกอบด้วย รัสเซีย, จีน, คาซัคสถาน, อุซเบกิสถาน, ทาจิกิสถาน, และ คีร์กิซสถาน จำเป็นที่จะต้องซึมซับแนวความคิดใหม่ๆ ให้มาก ทั้งในด้านการประสานกันภายในองค์การ และความสัมพันธ์ต่อภายนอก
ยังจะต้องติดตามกันต่อไปว่าเมดเวเดฟจะสามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไรหรือไม่ ปัญหาเหล่านี้บางเรื่องอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่มีทางแก้ไขได้ เมื่อพิจารณาจากความแตกต่างเชิงโครงสร้างที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างศักยภาพในด้านอุตสาหกรรมการผลิตของจีน กับการฟื้นตัวโดยอิงอาศัยวัตถุดิบของรัสเซีย รัสเซียอาจจะต้องตระหนักรับรู้ความเป็นจริงที่ว่า จีนไม่ได้มีความปรารถนาอีกต่อไปแล้ว ที่จะซื้อยุทโธปกรณ์ทางอากาศและทางนาวีเป็นจำนวนมากมายใหญ่โตจากรัสเซีย โดยเป็นอาวุธที่ผลิตขึ้นด้วยการอิงอาศัยการวิจัยพัฒนาในยุคโซเวียต ทั้งนี้เว้นเสียแต่มอสโกจะยินดียกจีนให้ขึ้นสู่ระดับเดียวกับอินเดีย ในเรื่องการขายอาวุธยุทโธปกรณ์และการถ่ายโอนเทคโนโลยี
กระนั้นก็ตามที เมดเวเดฟดูเหมือนจะอัดฉีดบรรยากาศอันสดใหม่เข้าสู่ความสัมพันธ์ที่มีลักษณะเป็นกิจวัตรและเป็นเชิงสถาบันไปแล้ว ถึงแม้เขายังอยู่ในวัยหนุ่มแน่น แต่ประธานาธิบดีรัสเซียผู้นี้ก็เรียกตัวเองว่าเป็น “เพื่อนเก่า” ของจีน ซึ่งต้องขอบคุณการที่เขาเคยเป็นประธานร่วมทั้งใน “ปีแห่งรัสเซีย” ของฝ่ายจีน (ปี 2006) และ “ปีแห่งจีน” ของฝ่ายรัสเซีย (ปี 2007) ขณะเดียวกัน เมดเวเดฟก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในโลกตะวันตกว่าเป็นคนที่มีแนวคิดเสรีนิยมและน่าจะนิยมตะวันตก แม้กระทั่งปูติน ผู้เป็นประธานาธิบดีในช่วงที่รัสเซียฟื้นตัวขึ้นมาจากซากเถ้าถ่านของสหภาพโซเวียต ก็ยังไม่อาจกลายเป็นสะพานที่เชื่อมโยงฝ่ายตะวันตกกับฝ่ายตะวันออก -อันเป็นความฝันของผู้นำแห่งรัสเซียทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าซาร์หรือผู้นำคอมมิวนิสต์
เมดเวเดฟมีเวลาอย่างน้อย 4 ปีที่จะสร้างภาพลักษณ์นี้ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม รัสเซียของเขานั้นมีความแตกต่างเป็นอย่างยิ่งจากของปูตินเมื่อ 8 ปีก่อน เฉกเช่นเดียวกับจีนนั่นแหละ
Yu Bin เป็นนักวิจัยอาวุโสให้กับ สถาบันอเมริกันศึกษาเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Institute of American Studies) และเขียนบทความอยู่บ่อยครั้งให้กับ “Comparative Connections” ของ Pacific Forum CSIS
Chinas has an old friend in Medvedev
By Yu Bin
17/06/2008
การมาประชุมซัมมิตในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนที่แล้วของประธานาธิบดี ดมิทรี เมดเวเดฟ แห่งรัสเซีย ทำให้จีนมีโอกาสพินิจพิจารณาอย่างใกล้ชิดว่า เขาและนายกรัฐมนตรี วลาดิมีร์ ปูติน จะร่วมมือประสานงานกันอย่างไรในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างแดนมังกรกับหมีขาว ถึงแม้กำลังถูกใครต่อใครหลายคนมองเมินว่าเป็นแค่ตัวสำรอง แต่เมดเวเดฟก็มีสิ่งที่จะสามารถเสริมเติมเพิ่มความแน่นหนาให้แก่สายสัมพันธ์ระหว่าง จีน-ผู้กำลังก้าวผงาดขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมการผลิตของโลก และรัสเซีย-ผู้เป็นอภิมหาอำนาจด้านพลังงาน
ไม่ว่าประธานาธิบดี ดมิทรี เมดเวเดฟ จะทำอะไรขนาดไหนก็ตาม แต่การไปประชุมระดับผู้นำกับฝ่ายจีนในกรุงปักกิ่งของเขาเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ก็ถูกตีค่ากันอย่างดูเบาในโลกตะวันตก ว่าเป็นเพียงงานกิจวัตร, ไม่มีสาระสำคัญ, และถูกบดบังด้วยการไปประชุมในที่อื่นๆ ในเวลาไล่เรี่ยกันของอดีตประธานาธิบดีคนก่อนหน้าเขา ซึ่งก็คือ วลาดิมีร์ ปูติน
นอกจากนั้น ความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ “ที่กำลังเพิ่มทวีขึ้น” ระหว่างรัสเซียกับจีน ในประเด็นต่างๆ หลายหลาก -การค้า, พลังงาน, การขายอาวุธยุทโธปกรณ์, หากจะยกตัวอย่างให้เห็นกันสักเล็กน้อย –ก็กำลังเป็นจุดสนใจรายงานข่าวของบรรดาสื่อ
จากภาพลักษณ์ในแนวนี้เอง จึงทำให้การไปเยือนปารีสของปูติน (ผู้ซึ่งเวลานี้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรัสเซียแล้ว) ในสัปดาห์ถัดมาจากการไปประกอบภารกิจทางตะวันออกของเมดเวเดฟ ได้รับการรายงานว่ามี “ความเป็นประธานาธิบดี” เสียยิ่งกว่าเจ้าของตำแหน่งในปัจจุบัน ทว่าการประเมินเช่นนี้กลับละเลยมุมมองสำคัญๆ ในความสัมพันธ์ที่กำลังคลี่คลายและขยายกว้างขวางใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างสองชาติใหญ่ที่สุดบนผืนแผ่นทวีปยูเรเชีย
** สัญลักษณ์และสาระ**
การเยือนจีนเป็นเวลา 2 วันของเมดเวเดฟคราวนี้ มุ่งหมายที่จะเป็นการย้ำยืนยันความต่อเนื่องและเสถียรภาพในนโยบายของฝ่ายรัสเซียที่มีต่อจีน ช่วงเวลา 8 ปีก่อนหน้านี้ จีนมีประสบการณ์อย่างมหาศาลทีเดียวในการทำงานกับปูติน โดยตอนนั้นเมดเวเดฟยังปฏิบัติงานในหน้าที่ต่างๆ ตั้งแต่เป็นหัวหน้าสำนักงานใหญ่การรณรงค์หาเสียงเป็นประธานาธิบดีของปูตินในปี 2000, ประธานคณะเจ้าหน้าที่ของประธานาธิบดี (2003-05), และเป็นรองนายกรัฐมนตรี (2005-08)
สำหรับคราวนี้ ฝ่ายจีนมีโอกาสที่จะพินิจพิจารณาอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นทั้งที่ตัวเมดเวเดฟเอง และที่วิธีในการที่เขากับปูตินร่วมมือประสานงานกันเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ที่มีต่อปักกิ่ง ในระยะยาวไกลต่อไปแล้ว เมดเวเดฟจะต้องพัฒนาแนวทางของตัวเขาเอง และการปรับเปลี่ยนในทางนโยบายอาจจะเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ เมื่อสิ่งนั้นบังเกิดขึ้น จีนก็ไม่ต้องการที่จะเกิดความประหลาดใจ นี่จึงทำให้การประชุมซัมมิตคราวนี้ “ถูกจัดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว” ด้วยการเชื้อเชิญของประธานาธิบดีหูจิ่นเทาของจีน ในทันทีหลังจากเมดเวเดฟสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม
การเยือนจีนของเมดเวเดฟจึงเป็นการออกเยือนต่างประเทศที่อยู่นอก “กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช” (Commonwealth of Independent States หรือ CIS) เป็นครั้งแรก เขายังเป็นประมุขแห่งรัฐต่างประเทศคนแรกที่เยือนจีนหลังประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และทีมกู้ภัยของรัสเซียนี่เองเป็นทีมช่วยเหลือจากต่างประเทศทีมแรกๆ ที่มาถึงแดนมังกร รวมทั้งเป็นทีมช่วยเหลือจากต่างประเทศเพียงทีมเดียวเท่านั้นที่ค้นพบผู้รอดชีวิตจากภัยแผ่นดินไหวคราวนี้ ถึงแม้เหล่าเจ้าภาพของเขาต้องสาละวนอยู่กับภารกิจเรื่องความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์อันเร่งรีบวุ่นวายยิ่ง แต่การประชุมซัมมิตในกรุงปักกิ่งก็ยังคงเดินหน้าไปได้ตามปกติและบังเกิดผลลัพธ์ดังที่คาดหมายกันไว้ นั่นคือ มีการออกคำแถลงร่วมเพื่อย้ำยืนยันฉันทามติในประเด็นปัญหาระดับโลกหลายหลาก รวมทั้งมีการลงนามกันในข้อตกลงการค้าหลายฉบับ โดยหนึ่งในนั้นก็คือสัญญาสร้างโรงงานเพิ่มความเข้มข้นแก๊สนิวเคลียร์มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
หูยังได้ยื่นข้อเสนอ 4 ประการเพื่อ การส่งเสริมยกระดับความไว้เนื้อเชื่อใจกันในระดับสูง, การส่งเสริมความร่วมมือกันที่มีผลในเชิงปฏิบัติ, การแลกเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรม, และการร่วมมือกันในกิจการระหว่างประเทศ ทันทีที่เมดเวเดฟเสร็จสิ้นการเยือนปักกิ่ง นายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่า และนายกรัฐมนตรีปูตินของรัสเซีย ก็ตกลงกันที่จะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางด้านพลังงานในระดับรองนายกรัฐมนตรีขึ้นมา
ด้วยเหตุนี้ การเยือนของเมดเวเดฟจึงเป็นทั้งสัญลักษณ์และก็มีเนื้อหาสาระด้วย สำหรับทั้งมอสโกและปักกิ่ง
** ความสัมพันธ์ระหว่างกันที่เป็นปกติ**
ถึงแม้จะใช้ชื่อเรียกที่ฟังดูโอ่อ่าสูงส่ง แต่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-รัสเซียซึ่งบังเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1996 แท้ที่จริงก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างกันแบบปกติ ที่มี “เงื่อนไขข้อกำหนดในระดับต่ำสุด” หลายอย่างหลายด้าน อาทิ การไม่แทรกแซงในนโยบายภายในประเทศของกันและกัน, ความมั่นคงปลอดภัยและเสถียรภาพในบริเวณชายแดน นอกเหนือไปจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ก็มีการพัฒนาเข้าสู่กระบวนการแห่งปฏิสัมพันธ์อันสลับซับซ้อน ซึ่งมีทั้งการร่วมมือกันและการแข่งขันกัน
ภายใต้ประธานาธิบดีปูติน ความขัดแย้งกันในบางเรื่องบางด้านปรากฏขึ้นมาอย่างเด่นชัด อาทิ ขณะที่มีความไว้วางใจกันค่อนข้างมากในหมู่เจ้าหน้าที่ระดับสูง แต่ปฏิสัมพันธ์กันทางสังคมของสองประเทศกลับอยู่ในระดับต่ำ, มีการร่วมมือกันทางการทูตอยู่บ่อยครั้ง ทว่าปฏิสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจกลับต่ำกว่าปกติ, ภาครัฐบาลมีการเข้าไปแทรกแซงอย่างเข้มแข็งในเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทวิภาคี แต่ผลที่ได้ออกมากลับธรรมดาพื้นๆ เท่านั้น ฯลฯ เมื่อ 14 ปีก่อน บอริส เยลตซิน ประธานาธิบดีรัสเซียเวลานั้น ได้เสนอแนวความคิดเรื่องการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันมายังจีน แต่มาถึงเวลานี้ ยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่กำลังผงาดขึ้นมาของโลกอย่างจีน และอภิมหาอำนาจทางด้านพลังงานอย่างรัสเซีย ก็ยังคงอยู่ในขั้นพูดจากันเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในระยะสองสามปีที่ผ่านมา ยอดขายอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียแก่จีนที่เคยเฟื่องฟูมากนั้น ในทางเป็นจริงก็ถึงขั้นอยู่ในสภาพชะงักงัน
ประเด็นหรือปัญหาติดขัดเหล่านี้ ไม่ได้เป็นที่พึงปรารถนาของรัสเซียหรือจีนเลย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีประเด็นเหล่านี้ใดๆ เลยเช่นกันที่ลุกลามขยายตัวเข้าสู่ขอบเขตของประเด็นปัญหาอื่นๆ หรือกลายเป็นเรื่องทางการเมืองขึ้นมา ซึ่งต้องขอบคุณสายใยการเชื่อมโยงระหว่างกันที่แน่นหนามากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งกระบวนการในการทำให้การติดต่อระดับรัฐบาลมีลักษณะในเชิงสถาบันขึ้นมา สภาพเช่นนี้มีความแตกต่างกันในเชิงสาระ จากความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ในอีก 2 ช่วงในอดีต อันได้แก่ ช่วง “ฮันนีมูน” เมื่อปี 1949-60 และช่วงของการเป็นศัตรูกันซึ่งครอบงำความสัมพันธ์นี้ตั้งแต่ปี 1960-89 โดยที่ปัญหาต่างๆ หากไม่ถูกเพิกเฉยละเลยก็จะถูกปล่อยให้ระเบิดออกมา
** ประธานาธิบดีหนุ่มในฐานะเพื่อน “เก่า” ของจีน**
การเยือนปักกิ่งของเมดเวเดฟ บังเกิดขึ้นในขณะที่ทั้งมอสโกและปักกิ่งต่างเผชิญกับการท้าทายจากโลกตะวันตกเพิ่มมากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะเป็น การขยายตัวรอบใหม่ขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) และระบบป้องกันขีปนาวุธ, ลัทธิกีดกันการค้าที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในโลกตะวันตก, รวมทั้งราคาพลังงานซึ่งพุ่งพรวดลิบลิ่ว – นอกจากนั้นเฉพาะจีนยังต้องรับมือกับกรณีทิเบต และกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในเดือนสิงหาคมนี้ อย่างไรก็ดี นโยบายในแต่ละเรื่องของประเทศทั้งสอง ก็ใช่ว่าจะสอดคล้องตรงกันไปหมด
แม้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างคัดค้านโครงการป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯและการขยายสมาชิกของนาโต้ แต่จีนอาจจะไม่ต้องการเห็นรัสเซียกับโลกตะวันตกเกิดการแตกแยกอย่างรุนแรงล้ำลึกจนถึงขั้นที่ปักกิ่งจะต้องตัดสินใจเลือกที่จะอยู่ข้างใด ในปริมณฑลทางเศรษฐกิจ รัสเซียคือหนึ่งในชาติฝ่ายตะวันตกเพียงไม่กี่ประเทศที่ได้รับประโยชน์จากราคาพลังงานที่พุ่งสูง กระนั้นก็ตาม ศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ ของรัสเซีย รวมทั้งความลังเลไม่ปรารถนาที่จะกลายเป็น “ซัปพลายเออร์” ด้านวัตถุดิบให้แก่จีน ก็ได้ทำให้รัสเซียมีการขาดดุลการค้าให้แก่จีนเป็นครั้งแรก (8,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2007) นับแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ทั้งนี้ องค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization) ซึ่งเป็นประชาคมระหว่างประเทศที่ประกอบด้วย รัสเซีย, จีน, คาซัคสถาน, อุซเบกิสถาน, ทาจิกิสถาน, และ คีร์กิซสถาน จำเป็นที่จะต้องซึมซับแนวความคิดใหม่ๆ ให้มาก ทั้งในด้านการประสานกันภายในองค์การ และความสัมพันธ์ต่อภายนอก
ยังจะต้องติดตามกันต่อไปว่าเมดเวเดฟจะสามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไรหรือไม่ ปัญหาเหล่านี้บางเรื่องอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่มีทางแก้ไขได้ เมื่อพิจารณาจากความแตกต่างเชิงโครงสร้างที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างศักยภาพในด้านอุตสาหกรรมการผลิตของจีน กับการฟื้นตัวโดยอิงอาศัยวัตถุดิบของรัสเซีย รัสเซียอาจจะต้องตระหนักรับรู้ความเป็นจริงที่ว่า จีนไม่ได้มีความปรารถนาอีกต่อไปแล้ว ที่จะซื้อยุทโธปกรณ์ทางอากาศและทางนาวีเป็นจำนวนมากมายใหญ่โตจากรัสเซีย โดยเป็นอาวุธที่ผลิตขึ้นด้วยการอิงอาศัยการวิจัยพัฒนาในยุคโซเวียต ทั้งนี้เว้นเสียแต่มอสโกจะยินดียกจีนให้ขึ้นสู่ระดับเดียวกับอินเดีย ในเรื่องการขายอาวุธยุทโธปกรณ์และการถ่ายโอนเทคโนโลยี
กระนั้นก็ตามที เมดเวเดฟดูเหมือนจะอัดฉีดบรรยากาศอันสดใหม่เข้าสู่ความสัมพันธ์ที่มีลักษณะเป็นกิจวัตรและเป็นเชิงสถาบันไปแล้ว ถึงแม้เขายังอยู่ในวัยหนุ่มแน่น แต่ประธานาธิบดีรัสเซียผู้นี้ก็เรียกตัวเองว่าเป็น “เพื่อนเก่า” ของจีน ซึ่งต้องขอบคุณการที่เขาเคยเป็นประธานร่วมทั้งใน “ปีแห่งรัสเซีย” ของฝ่ายจีน (ปี 2006) และ “ปีแห่งจีน” ของฝ่ายรัสเซีย (ปี 2007) ขณะเดียวกัน เมดเวเดฟก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในโลกตะวันตกว่าเป็นคนที่มีแนวคิดเสรีนิยมและน่าจะนิยมตะวันตก แม้กระทั่งปูติน ผู้เป็นประธานาธิบดีในช่วงที่รัสเซียฟื้นตัวขึ้นมาจากซากเถ้าถ่านของสหภาพโซเวียต ก็ยังไม่อาจกลายเป็นสะพานที่เชื่อมโยงฝ่ายตะวันตกกับฝ่ายตะวันออก -อันเป็นความฝันของผู้นำแห่งรัสเซียทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าซาร์หรือผู้นำคอมมิวนิสต์
เมดเวเดฟมีเวลาอย่างน้อย 4 ปีที่จะสร้างภาพลักษณ์นี้ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม รัสเซียของเขานั้นมีความแตกต่างเป็นอย่างยิ่งจากของปูตินเมื่อ 8 ปีก่อน เฉกเช่นเดียวกับจีนนั่นแหละ
Yu Bin เป็นนักวิจัยอาวุโสให้กับ สถาบันอเมริกันศึกษาเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Institute of American Studies) และเขียนบทความอยู่บ่อยครั้งให้กับ “Comparative Connections” ของ Pacific Forum CSIS