xs
xsm
sm
md
lg

นิยายหลอกลวงเรื่อง “การเก็งกำไรราคาน้ำมัน”

เผยแพร่:   โดย: อาร์ เอ็ม คัตเลอร์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Myth-makers caught short in oil speculation
By R M Cutler
17/06/2008

ขณะที่ผู้บริโภคต่างเรียกร้องต้องการทราบว่าทำไมพวกเขาจึงต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น ณ สถานีบริการน้ำมันนั้น ก็มีการระบุชี้ไปยังพวกนักเก็งกำไรทั้งหลายว่าคือภูติผีที่เที่ยวหลอกหลอนอยู่ในตลาดพลังงาน แต่ในทัศนะของผู้เขียน -อาร์ เอ็ม คัตเลอร์ แล้ว การกล่าวโทษคนเหล่านี้เป็นหนึ่งในบรรดานิยายหลอกลวง ที่รายล้อมภาวะราคาน้ำมันซึ่งกระโจนพรวดพราดไปถึงเท่าตัวในรอบปีที่ผ่านมา เพราะข้อเท็จจริงต่างๆ อันจับให้มั่นได้ยากนั้นกลับกำลังบ่งชี้ไปในทางอื่น โดยเหนือสิ่งอื่นใดแล้ว มันเป็นเรื่องของความเป็นจริงอันโหดร้ายที่ว่า เป็นเรื่องลำบากยากยิ่งที่จะรักษาราคาสินค้าโภคภัณฑ์อันหาทดแทนไม่ได้อีกแล้ว ให้อยู่ในระดับต่ำๆ เป็นเวลานานๆ ได้

บรัสเซลส์ – ในวิทยาศาสตร์การทหารนั้นมีอันตรายของสิ่งที่เรียกว่า “การสู้รบในสงครามครั้งสุดท้าย” ในวิทยาศาสตร์ทางเศรษฐกิจก็มีเหมือนกัน นั่นคือ อันตรายของการเจาะทำลายฟองสบู่ฟองสุดท้าย เรื่องอย่างนี้ยิ่งมีภยันตรายเป็นพิเศษทีเดียว เมื่อสิ่งที่เรามีอยู่นั้น อันที่จริงไม่ใช่เป็นฟองสบู่เลย หากเป็นอย่างนั้นแล้ว นิยายหลอกลวงว่ามีฟองสบู่ต่างหาก คือสิ่งที่จำเป็นจะต้องเจาะทำลาย เรื่องก็เป็นเช่นนี้เหมือนกันในกรณีของราคาน้ำมันในปัจจุบัน ซึ่งในสัปดาห์นี้พุ่งทะลุสร้างสถิติใหม่ที่ระดับ 139.89 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

อุปสงค์ความต้องการใช้กำลังลดน้อยลงจริงๆ ในอินเดียและอินเดียใช่หรือไม่? ไม่ใช่เลย อุปสงค์ยังคงกำลังเพิ่มขึ้น แต่เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ต่างหากที่กำลังลดน้อยลง และก็ไม่ได้ลดลงมากมายอะไรด้วย

หรือบางทีอาจจะเป็นเพราะว่าความพยายามที่จะทำประกันความเสี่ยงต่อการที่เงินดอลลาร์มีค่าอ่อนตัวลง จะเป็นตัวการในเรื่องนี้ใช่หรือไม่? เรื่องนี้รัฐมนตรีคลังแคนาดา จิม ฟลาเฮอร์ตี กล่าวต่อการประชุมระดับรัฐมนตรีคลังของกลุ่ม 8 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี8) ที่โอซากา เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วว่า “เงินเดอลลาร์เป็นสกุลเงินตราในตลาด” และ “ไม่มีใครเข้าไปแทรกแซงสกุลเงินตราในตลาดได้”

บรรดารัฐมนตรีคลังจี8 ยอมรับโดยพื้นฐานว่า พวกเขาทำอะไรไม่ค่อยได้นักหรอก เกี่ยวกับราคาน้ำมันที่พุ่งทะยานขึ้นทั่วโลกในระยะหลังๆ มานี้ ซึ่งเทียบกับเมื่อ 1 ปีก่อนก็กระโจนขึ้นมาเป็นกว่าสองเท่าตัวแล้ว หรือในทำนองเดียวกัน พวกเขาก็ทำอะไรไม่ค่อยได้นักเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดอื่นๆ ด้วย ทั้งหมดที่พวกเขาสามารถตกลงลงมือกระทำกันได้ก็คือ การมอบหมายให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศทำการศึกษา เพื่อวินิจฉัยว่าพวกเก็งกำไรสามารถส่งผลอะไรต่ออุปทานน้ำมันได้บ้าง

แล้วราคาน้ำมันกำลังกลายเป็น “ฟองสบู่” ด้วยการบงการสร้างราคาของพวกนักเก็งกำไร อย่างที่ จอร์จ โซรอส นักการเงินชาวอเมริกันบอกกับคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐฯเมื่อต้นเดือนนี้หรือเปล่าล่ะ ? โซรอสในทุกวันนี้ไม่ได้อยู่ในฐานะที่เกี่ยวข้องโดยตรง จนกระทั่งควรแก่การถูกกล่าวหาว่ากำลังระบายความหงุดหงิดไม่พอใจ จากการที่ไปซื้อขายตราสารอนุพันธ์โดยคาดหมายว่าราคาจะลดต่ำลงมา แล้วปรากฏว่าน้ำมันกลับกระโจนพรวดจนอยู่ในระดับเกือบ 140 เหรียญต่อบาร์เรลในตอนปลายสัปดาห์แรกของเดือนนี้ จึงทำให้ต้องขาดทุนไปอย่างมหาศาล (เขาเกษียณจากการบริหารจัดการกองทุนแบบวันต่อวันแล้ว เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งภายหลังจากที่เขาทำกำไรได้อย่างมหาศาลจากการเก็งกำไรค่าเงินปอนด์อังกฤษในเดือนกันยายน 1982) อันที่จริงเขาก็ได้เตือนไว้เองในตอนให้ปากคำคราวเดียวกันนี้ว่า เขาไม่ได้ถือตัวเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านตลาดน้ำมัน และถอยห่างออกมาไม่ได้เข้าไปเล่นในตลาดนี้หรอก นี่เห็นชัดเจนเลยว่า ไหวพริบชั้นเชิงของเขาในเรื่องการประกันความเสี่ยงนั้น ยังคงไม่ได้บกพร่องบุบสลายไป

ในทางเป็นจริงแล้ว เรื่องการประกันความเสี่ยงนั้น ถือเป็นหัวใจของเรื่องนี้แหละ ตลาดอนุพันธ์ฟิวเจอร์สต่างๆ ของสหรัฐฯอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจัดทำรายงานของพวกตนในอนาคตอันใกล้นี้ โดยจะต้องแยกระหว่างพวกสัญญาฟิวเจอร์สที่มีการส่งมอบสินค้ากัน กับพวกสัญญาฟิวเจอร์สที่จะมีการยกเลิกกันไปก่อนถึงกำหนดส่งมอบ แล้วก็ออกเป็นสัญญาสำหรับเดือนถัดไปเพื่อมาซื้อขายกันต่อ ซึ่งวิธีแบบหลังนี้แหละ ที่บางคนเห็นว่าทำให้เกิดรายงานตัวเลขสถิติปริมาณการซื้อขาย ซึ่งสะท้อนภาวะอุปสงค์ความต้องการใช้น้ำมันที่เบ่งบวมขึ้นกว่าความเป็นจริงไปมากมาย และเรื่องนี้เองคือประเด็นแกนกลางของการเจรจาซึ่งประสบความสำเร็จเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ของทางคณะกรรมการซื้อขายอนุพันธ์ฟิวเจอร์สสินค้าโภคภัณฑ์สหรัฐฯ (US Commodity Futures Trading Commission หรือ CFTC) ที่ต้องการจะปิด “ช่องโหว่ลอนดอน” (London loophole)

“ช่องโหว่ลอนดอน” ที่กล่าวถึงนี้ ที่สำคัญแล้วคือการซื้อขายที่กระทำผ่าน อินเตอร์คอนติเนนตอล เอกซเชนจ์ (Intercontinental Exchange หรือ ICE) อันเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ซื้อขายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งนำหน้าใครเพื่อน ในเรื่องการซื้อขายสัญญาอนุพันธ์ฟิวเจอร์ส และสัญญาด้านพลังงาน และที่ผ่านมานั้นได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำรายงานส่งให้แก่ซีเอฟทีซี

ซีเอฟทีซียังมีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจซึ่งมาจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาถึงพัฒนาการต่างๆ ในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งบทบาทของพวกนักเก็งกำไรด้วย ในสหรัฐฯนั้น พวกสมาชิกรัฐสภาก็ได้จัดให้มีการให้ปากคำมาหลายรอบแล้ว ในประเด็นเรื่องที่ว่าอะไรเป็นสาเหตุขับดันให้ราคาพลังงานสูงทำลายสถิติครั้งแล้วครั้งเล่าเช่นนี้ และพวกเขาก็กำลังกดดันให้ซีเอฟทีซีต้องเพิ่มการกำกับตรวจสอบตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง

เจฟฟ์ สเปรเชอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของตลาดไอซีอี บอกกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า ตัวเลขที่เขามีอยู่เปิดเผยให้เห็นว่า ไม่ใช่เพราะพวกเก็งกำไร (speculator)เลย หากแต่เป็นฝีมือของพวกที่ต้องการทำประกันความเสี่ยง (hedger) ต่างหาก ซึ่งเป็น “ผู้ใช้เชิงพาณิชย์ที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างทะลักทลาย” อยู่ในเวลานี้ เพื่อซื้อสัญญาน้ำมันที่ให้มีการส่งมอบจริงๆ ในอนาคต ด้วยความมุ่งหมายที่จะหลีกหนีไม่ต้องประสบกับราคาที่อาจจะสูงขึ้นอีกในเวลาต่อไป และพวกนี้แหละกำลังเป็นพลังขับดันราคาน้ำมันอยู่ในขณะนี้

ตัวโซรอสเองก็ไม่ได้ละเลยที่จะกล่าวถึงข้อเท็จจริงเรื่องนี้แม้จะด้วยท่าทีอันคลุมเครือ แถมรายงานของสื่อต่างๆ ยังบกพร่องไม่ได้ย้ำเน้นส่วนที่เป็นครึ่งหลังของคำพูดที่สื่ออ้างกันมาอย่างออกนอกบริบทของเขา นั่นคือ ส่วนที่โซรอสบอกว่า ฟองสบู่ที่เขามองเห็นนั้น “เป็นสิ่งถูกวางทับไว้เหนือกระแสแนวโน้มราคาน้ำมันขาขึ้น ซึ่งรองรับไว้ด้วยรากฐานความเป็นจริงอันแข็งแกร่ง” สัปดาห์ที่แล้วนี้เอง หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ของลอนดอนก็รายงานให้เห็นถึงสิ่งบ่งชี้อย่างหนึ่งของ “รากฐานความเป็นจริงอันแข็งแกร่ง” เช่นนี้ เมื่อรายงานข่าวว่า พวกโรงกลั่นน้ำมันกำลังยอมจ่ายราคาส่วนเพิ่มเติม (พรีเมียม) อย่างชนิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สำหรับน้ำมันดิบคุณภาพสูงที่สามารถนำไปผลิตได้เป็นดีเซลและเบนซินมากๆ อันเป็นสิ่งที่พวกเขาคงจะไม่ทำกันเลย ถ้าหากไม่ได้มีอุปสงค์จริงๆ ในตลาดน้ำมันแท้จริง

การถกเถียงอภิปรายใดๆ เกี่ยวกับราคาน้ำมัน ตลอดจนเกี่ยวกับห่วงโซ่อันสลับซับซ้อนที่เชื่อมอยู่ระหว่างน้ำมันที่ยังไม่ได้กลั่นไปจนถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ผู้บริโภคซื้อหาไปใช้นั้น ควรจะต้องมีการพูดถึงบรรดาคนกลางในทั่วโลกซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่และมีความซับซ้อนยิ่ง โดยคนเหล่านี้เองเป็นพวกที่คอยติดตามภาวะอุปสงค์ในผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตรเลียมสำเร็จรูปหลายสิบชนิดอย่างใกล้ชิด ในลักษณะทีละขณะๆ ทีเดียว บรรดาโรงกลั่นจะเปิดวาล์วเพื่อผลิตอะไรก็ตามที่ให้ส่วนต่างกำไรสูงที่สุดแก่พวกเขาในขณะนั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับใบคำสั่งซื้อซึ่งได้รับมาจากเหล่าคนกลางผู้ที่มีการติดต่อโดยตรงและโดยอ้อมกับผู้ซื้อปลายทาง ผู้คนที่กระทำสิ่งเหล่านี้จะต้องดำเนินงานกันบนพื้นฐานของราคาสัญญาแบบที่มีการส่งมอบสินค้าจริงๆ ไม่ใช่น้ำมันที่ปรากฏอยู่เพียงในสัญญากระดาษ

ในช่วงหลังพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา ซึ่งได้ถล่มเขตการผลิตและกลั่นน้ำมันอันสำคัญอย่างยิ่งของสหรัฐฯ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2005 นั้น สื่อต่างๆ เต็มไปด้วยรายงานที่เป็นจริงและถูกต้องเกี่ยวกับภาวะความสามารถการกลั่นน้ำมันที่กำลังขาดแคลน โดยความสามารถการกลั่นน้ำมันในเขตชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ ก่อนหน้าถูกถล่มจากแคทรีนานั้น อยู่ในระดับสูงเกิน 8 ล้านบาร์เรลต่อวันเล็กน้อย คิดแล้วเท่ากับไม่ต่ำกว่า 47.4% ของความสามารถของสหรัฐฯโดยรวม (แล้วยังไม่ต้องเอ่ยถึงเรื่องที่เขตนี้เป็นพื้นที่ซึ่งมีการผลิตน้ำมันดิบนอกชายฝั่งประมาณกว่าหนึ่งในสี่ของสหรัฐฯอีกด้วย) และเท่ากับ 9.9% ของความสามารถการกลั่นน้ำมันของทั่วโลกในตอนนั้น ภาวะขาดแคลนเช่นนี้ที่ปัจจุบันก็ยังดำรงอยู่ กลับไม่ได้ถูกเอ่ยย้ำกันอีกในช่วงหลังๆ มานี้

รายงานว่าด้วยภาวะการขาดแคลนความสามารถการกลั่นน้ำมันภายหลังการถล่มของเฮอร์ริเคนแคทรีนา ส่วนใหญ่แล้วปรากฏอยู่ในตลาดสื่ออเมริกาเหนือ และพูดกันในเรื่องผลิตภัณฑ์ขายปลีกในสหรัฐฯเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่พวกสื่อที่เชี่ยวชาญเรื่องการเงินระดับโลกก็ชี้ไว้เช่นกันว่า การขาดแคลนความสามารถการกลั่นน้ำมันนี้กำลังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ความสามารถการกลั่นน้ำมันของทั่วโลกเมื่อเทียบเป็นร้อยละของอุปสงค์น้ำมันโลกนั้น ได้ลดต่ำลงจากระดับ 111% ในปี 1990 เหลือ 103% ในปี 2004 และเนื่องจากจะต้องใช้เวลาขั้นต่ำสุดๆ อย่างน้อย 3 ปีจึงจะสามารถสร้างโรงกลั่นและทำให้มันดำเนินงานได้ อีกทั้งรัฐสภาสหรัฐฯก็ไม่ได้มีความเคลื่อนไหวที่จะผ่านร่างกฎหมาย อันจะให้แรงจูงใจเพิ่มขึ้นอย่างใหญ่หลวงแก่การก่อสร้างโรงกลั่นเลยจวบจนกระทั่งถึงปี 2007 ดังนั้น สถานการณ์เช่นนี้ในตลาดอเมริกันจึงยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรนัก

สำหรับในระดับทั่วโลกแล้ว แน่นอนที่ว่าข้อมูลสถิติต่างๆ เท่าที่จะหาได้ ซึ่งก็มาจากการรวบรวมของบรรดาหน่วยงานรัฐบาลต่างๆ, อุตสาหกรรม, และองค์การระหว่างประเทศหลายหลาก ยังคงมีความผิดแผกไม่ต้องตรงกันอยู่บ้าง อีกทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนการประมาณการกันอย่างต่อเนื่อง ทว่าฉันทามติโดยรวมดูน่าจะพูดได้ว่า กระทั่งถ้าหากว่าอุปสงค์ของทั่วโลกมีการเติบโตขยายตัวด้วยอัตราช้าลงไปสืบเนื่องจากการทรุดตัวของเศรษฐกิจ แต่เมื่อถึงปี 2010 หากอัตราส่วนหลักระหว่างความสามารถ/อุปสงค์ เกิดจะขยับสูงขึ้น ก็ยังไม่น่าจะสูงเกิน 104% ไปได้มากนัก ตัวเลขระดับนี้ย่อมไม่ได้เป็นการเผื่อไว้อย่างเพียงพอเลย สำหรับรับมือในกรณีที่เกิดความติดขัดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ, ช่วงเวลาที่ต้องหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักร, และอื่นๆ ทำนองเดียวกัน

อาจจะเป็นการถูกต้องแล้วอย่างที่หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์เสนอแนะเอาไว้ นั่นคือ ราคาอนุพันธ์ฟิวเจอร์สของน้ำมันในตลาดนิวยอร์กและลอนดอนที่สูงลิ่วไม่ยอมถอยนั้น เป็นการตอบโต้ภาวะขาดความเอาใจใส่โดยเปรียบเทียบ ต่อการขาดแคลนที่ดำเนินเรื่อยมาในเรื่องความสามารถการกลั่นน้ำมัน ภาวะขาดแคลนความสามารถการกลั่นนี่แหละ แน่นอนว่าคือเหตุผลประการหนึ่งที่ว่า ทำไมตลาดน้ำมันโดยพื้นฐานแล้วจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการประกาศของซาอุดีอาระเบียเมื่อไม่กี่วันก่อน ที่ว่าจะเพิ่มการผลิตขึ้นอีก 200,000 บาร์เรลต่อวัน ภายหลังจากได้เพิ่มขึ้นมา 300,000 แล้วในช่วงสองสามเดือนก่อนหน้านี้

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้ความเคลื่อนไหวของซาอุดีคราวนี้ไม่ค่อยได้รับการขานรับ ก็คือความระแวงสงสัยว่า การประกาศเช่นนี้จะ (กระทั่งสามารถที่จะ) มีการกระทำจริงๆ ออกมาหรือไม่ เป็นที่คาดหมายกันว่า ก่อนสิ้นปีนี้ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ซึ่งสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปารีส จะตีพิมพ์เผยแพร่รายงานผลการสำรวจครั้งแรกของทางไออีเอ ในเรื่องปริมาณน้ำมันสำรองของโลก โดยอิงอยู่กับการประมาณการแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดในทั่วโลก ในแบบแหล่งต่อแหล่งรวมทั้งสิ้น 400 แหล่ง ซึ่งรวมแล้วเท่ากับประมาณสองในสามของผลผลิตของโลก และแน่นอนว่าแหล่งใหญ่ที่สุดเหล่านี้จำนวนมากทีเดียวจะอยู่ในซาอุดีอาระเบีย ข่าวที่รั่วไหลออกมาตามสื่อสำคัญๆ ในระยะไม่กี่สัปดาห์นี้ ดูจะคาดทายไปในข้างที่สรุปว่า แหล่งสำรองเหล่านี้มีปริมาณน้อยกว่าที่เคยคิดกันไว้มากทีเดียว

ทัศนะที่ว่าราคาน้ำมันที่สูงลิ่วเป็นผลเนื่องมาจากการขาดแคลนความสามารถการกลั่นน้ำมันในหมู่ชาติอุตสาหกรรมเช่นนี้ ได้รับการสนับสนุนในสัปดาห์นี้จากรัฐมนตรีน้ำมันสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โมฮัมเหม็ด อัลฮัมลี

“โรงกลั่นมีไม่เพียงพอที่จะตอบสนองอุปสงค์ที่กำลังเพิ่มขึ้น” ฮัมลีบอกกับหนังสือพิมพ์กัลฟ์นิวส์ ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของรอยเตอร์เมื่อวันอังคาร “การขาดแคลนโรงกลั่นน้ำมันคือเหตุผลหลักประการหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังราคาน้ำมันที่กำลังขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยการขาดแคลนเช่นนี้เป็นผลลัพธ์จากบรรดานโยบายที่ใช้โดยเหล่าชาติอุตสาหกรรมที่จะไม่ลงทุนในโรงกลั่นใหม่ๆ สืบเนื่องจากความกังวลทางด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคเศรษฐกิจนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการลงทุนใหม่ๆ เป็นอย่างยิ่ง”

ทั้งหมดนี้มิได้มีความประสงค์ที่จะบอกว่า ราคาน้ำมันอาจจะไม่ตกลงมาในอนาคต หรือกระทั่งถึงขั้นทรุดตัวลงอย่างมากมาย แท้จริงแล้วพอจะกล่าวได้ว่า มีความเป็นไปได้ที่ราคาจะยังทะยานขึ้นสูงลิ่วต่อไป จากนั้นก็น่าจะหล่นฮวบลงมา

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องลำบากยากยิ่งที่จะรักษาราคาสินค้าโภคภัณฑ์อันหาทดแทนไม่ได้อีกแล้ว ให้อยู่ในระดับต่ำๆ เป็นเวลานานๆ ได้

อาร์ เอ็ม คัตเลอร์ (rmc@alum.mit.edu และ http://www.robertcutler.org) เป็นชาวแคนาดา ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกิจการระหว่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น