เอเจนซีส์ - ขุนคลังจี 8 ไร้มาตรการรูปธรรมในการสกัดราคาน้ำมันขาขึ้น เพียงส่งสัญญาณกำราบนักเก็งกำไร ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำภัยคุกคามภาวะเงินเฟ้อที่กำลังตามรังควานเศรษฐกิจโลก กระนั้นนักวิเคราะห์ก็มองด้วยความหวังว่า อาจส่งผลทำให้ผ่อนเพลาความร้อนแรงของตลาดลงมาได้บ้าง
กลุ่มประเทศผู้นำทางอุตสาหกรรม 8 ชาติ อันประกอบด้วยอังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น รัสเซีย และสหรัฐฯ เรียกร้องให้มีการสอบสวนการแกว่งตัวอย่างบ้าระห่ำของราคาน้ำมันในระยะนี้ โดยชวนสถาบันระดับโลก อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ร่วมตรวจสอบด้วย
ริวเฮอิ มุรามัตสึ หัวหน้าฝ่ายบริหารการเงินประจำเอเชียของคอมเมิร์ซแบงก์ ชี้ว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวตอกย้ำความกังวลร่วมกันของจี 8 ที่มีต่อภาวะเงินเฟ้อ และเป็นการส่งสาส์นถึงนักเก็งกำไรเพื่อพยายามควบคุมสถานการณ์ในตลาดน้ำมัน และแนวร่วมของจี8 นี้ก็เป็นสิ่งที่นักเก็งกำไรยากที่จะต่อต้าน
ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันไต่ขึ้นไปเกือบแตะระดับ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจากความกังวลเรื่องซัปพลายตึงตัว ตลอดจนถึงความปั่นป่วนในตะวันออกกลาง และดีมานด์ล้นทะลักจากตลาดเกิดใหม่อย่างจีนและอินเดีย แต่ก็มีคนบางกลุ่มโทษว่าเรื่องนี้มีนักเก็งกำไรอยู่เบื้องหลัง
ทั้งนี้ แถลงการณ์ร่วมขุนคลังจี8 ที่ออกมาเมื่อวันเสาร์ (15) ระบุว่าราคาอาหารและน้ำมันเป็นความท้าทายสำคัญต่อการเติบโตอย่างมั่นคงของเศรษฐกิจโลก และอาจเพิ่มความกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก
รัฐมนตรีกลุ่มจี 8 หลายคน อาทิ เฮนรี พอลสันของสหรัฐฯ และอลิสแตร์ ดาร์ลิงจากอังกฤษ เตือนไม่ให้โยนความผิดเรื่องวิกฤตราคาน้ำมันให้นักเก็งกำไรฝ่ายเดียว เนื่องจากจะกลายเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจไปจากปัญหาที่แท้จริงจากการขาดแคลนซัปพลายน้ำมัน
ขุนคลังแดนอินทรียังกล่าวว่า ประเทศต่างๆ ไม่ควรแก้ปัญหาน้ำมันแพงด้วยมาตรการอุดหนุน นอกจากนั้น การขึ้นภาษีการส่งออกอาหารยังอาจทำให้ราคาข้าว ข้าวสาลีและอาหารประเภทอื่นๆ แพงหนักขึ้น
แต่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอิตาลี จิอูลิโอ ทริมอนติ แย้งว่า การเหวี่ยงตัวของราคาน้ำมันเป็นผลจากการเก็งกำไรเป็นส่วนใหญ่ และจี8 ควรกำจัดกิจกรรมดังกล่าวด้วยการบีบให้นักลงทุนนำเงินไปฝากในที่ที่ปลอดภัยกว่าตลาดโภคภัณฑ์
แม้ไม่มีมาตรการรูปธรรมออกมา แต่โทชิฮิโร มัตซูโน หัวหน้าฝ่ายวิจัยของเอสเอ็มบีซี เฟรนด์ ซีเคียวริตี้ส์ในโตเกียว เชื่อว่า แถลงการณ์จี 8 สะท้อนถึงความพยายามร่วมกันในการรับมือความเสี่ยงทางการเมืองในตลาด และมีน้ำหนักมากพอที่จะมีผลต่อตลาด แต่คงไม่สามารถบอกได้ว่าจะส่งผลมากน้อยเพียงใด เนื่องจากเหล่ารัฐมนตรีไม่มีมาตรการตอบสนองที่เด็ดขาดต่อภัยคุกคามนี้
ภาวะน้ำมันแพงกลายเป็นประเด็นหลักระหว่างการหารือเป็นเวลาสองวันที่ญี่ปุ่น กลบประเด็นวิกฤตสินเชื่อที่มีที่มาจากสหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้มองกันว่าเป็นอันตรายหลักต่อเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจน
นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าการอ่อนตัวของดอลลาร์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้ำมันแพงขึ้น และว่าผู้เล่นในตลาดบางคนซื้อน้ำมันเพื่อประกันความเสี่ยงต่อการอ่อนตัวของสกุลเงินอเมริกันที่อ่อนค่าลงถึง 13% เมื่อเทียบยูโรในช่วงปีที่แล้ว
ภาวะน้ำมันแพงสร้างความกังวลต่อสหรัฐฯ ในเรื่องเงินเฟ้อ เมื่อเร็วๆ นี้วอชิงตันจึงเพิ่มความพยายามในการปั๊มชีพจรดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ในแถลงการณ์จี 8 ไม่มีการพาดพิงถึงประเด็นสกุลเงินแต่อย่างใด ตัวรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เองแค่ย้ำในการแถลงข่าวว่าวอชิงตันต้องการให้ดอลลาร์แข็งขึ้น แต่ไม่ได้ส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่นานาชาติจะร่วมแทรกแซงตลาดเงินอย่างที่เคยแย้มเมื่อวันจันทร์ที่แล้ว (9)
ในส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจโลกนั้น จี 8 สรุปว่าอยู่ในภาวะยืดหยุ่นในระยะยาว แม้มีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงด้านลบปรากฏอยู่ก็ตาม ขณะที่ตลาดการเงินปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทว่า อาจยังมีความตึงเครียดอยู่บ้างโดยเฉพาะในตลาดเงินและสินเชื่อ