xs
xsm
sm
md
lg

จีนแข่งขันกับสหรัฐฯ ในอวกาศ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: อลัน บอยด์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

ในการประเมินภาพรวมของการสั่งสมกำลังอาวุธในทั่วโลก เจ้าหน้าที่ทหารระดับท็อปของจีนหลายคน ได้กล่าวหาวอชิงตันว่า กำลังโหมกระพือการแข่งขันอาวุธ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเข้าควบคุม “บรรดาจุดสูงซึ่งจะทำให้สามารถครองความเหนือกว่าไว้ได้” (the commanding heights) จีนนั้นเชื่อว่าการประจันหน้ากันในอวกาศ โดยที่น่าจะเป็นการเจอกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯมากที่สุด คือสิ่งที่หลีกหนีอย่างไรก็คงไม่พ้น และกำลังเตรียมตัวเพื่อรับมือกับเรื่องเช่นนี้ สำหรับทางด้านสหรัฐฯเอง ก็ปรากฏว่ากำลังปรับตัวให้พร้อมรับความเป็นไปได้ที่จะถูกจีนเข้าโจมตีระบบสื่อสารและตรวจการณ์ ซึ่งตั้งฐานอยู่ในอวกาศของตน

*รายงานนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ยังคงมีช่วงห่างทางเทคนิคระหว่างสหรัฐฯกับชาติที่มีศักยภาพจะทำการสู้รบในอวกาศรายอื่นๆ และฝ่ายอเมริกันก็ยังคงทำอย่างดีที่สุดเพื่อให้แน่ใจว่าฝ่ายอื่นๆ ทราบเรื่องช่วงห่างเช่นนี้

รายงานเมื่อปี 2004 ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “แผนการเปลี่ยนแปลงเส้นทางบิน” (Transformation Flight Plan) ได้ชักม่านเปิดให้เห็นพอดีถึงยุทธศาสตร์การวิจัยด้านไฮเทคอันชวนฉงนสนเท่ห์ ซึ่งแทบไม่ทิ้งอะไรไว้ให้สงสัยเลยว่า เพนตากอนต้องการการมีฐานะเหนือกว่าอย่างสมบูรณ์ในอวกาศ –ไม่ว่าจะมีการทำสนธิสัญญาหรือไม่มีการทำสนธิสัญญา และพร้กพร้อมที่จะเปลี่ยนอวกาศให้กลายเป็นสมรภูมิหากมีความจำเป็นขึ้นมา

จุดสำคัญอย่างที่สุดในรายงานฉบับนี้ก็คือ เสนอให้ปรับเปลี่ยนจากการมุ่งพิทักษ์คุ้มครองดาวเทียมไม่ให้ถูกฝ่ายปรปักษ์โจมตี มาเป็นการพัฒนาสมรรถนะในเชิงรุกโจมตี โดยรวมถึงสมรรถนะในการติดตามและการทำให้ดาวเทียมศัตรูกลายเป็นอัมพาต ตลอดจนอาวุธที่มีความสามารถในการ “โจมตีจากอวกาศสู่เป้าหมายภาคพื้นดินไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ตามในโลก”

รายงานชิ้นนี้ก็เหมือนๆ กับแนวความคิดจำนวนมากที่มีต้นตอมาจากพวกนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของเพนตากอน นั่นคือเหลื่อมล้ำเข้าไปอยู่ในอาณาเขตของแฟนตาซีอยู่เป็นครั้งคราว ตัวอย่างเช่น มีการเสนอสิ่งที่เรียกว่า โครงการ “ห่อบรรจุท่อนโลหะความเร็วสูงยิ่ง” (Hypervelocity Rod Bundles) ซึ่งถูกนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากพากันแสดงความไม่เชื่อถืออย่างกว้างขวาง โดยโครงการนี้เสนอให้ปล่อยแท่งโลหะจากอวกาศเข้าใส่เป้าหมายต่างๆ บนโลก นอกจากนั้นยังมีแผนการแบบนิยายวิทยาศาสตร์ที่ให้ห้อยกระจกขนาดยักษ์เอาไว้ข้างใต้เรือเหาะ (airship) เพื่อคอยสะท้อนลำแสงเลเซอร์ที่ถูกใช้มาเพื่อทำให้ดาวเทียมกลายเป็นอัมพาต หรือสกัดกั้นการสื่อสาร ทั้งนี้ถ้าหากสามารถยกกระจกมาคอยดักได้อย่างถูกทิศทางและถูกจังหวะเวลา

กองทัพอากาศสหรัฐฯ ซึ่งกำลังเป็นผู้นำในการผลักดันการวิจัยด้านนี้ คาดหมายเอาไว้ว่าจะสามารถทำการรบกวนระบบต่างๆ ทางการสื่อสารและการเตือนภัยล่วงหน้าที่ใช้อวกาศเป็นฐานกันได้ภายในปี 2010 และจะสามารถยิงขีปนาวุธจากอากาศเพื่อไปสกัดกั้นดาวเทียมที่อยู่ในวงโคจรต่ำๆ ได้ภายในปี 2015

ทว่าเป้าหมายดังกล่าวเหล่านี้วางแผนขึ้นมาภายใต้คณะรัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ฝักใฝ่ในเรื่อง ASAT อย่างแข็งขัน โดยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์ของรัฐมนตรีกลาโหม โดนัลด์ รัมสเฟลด์ คณะรัฐบาลชุดนี้กำลังจะหมดวาระลงในเดือนมกราคมปีหน้า

ตอนที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมในปี 2001 รัมสเฟลด์ได้เปิดเผยเจตนารมณ์ของเขาที่จะเพิ่มการแข่งขันด้าน ASAT ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยในขณะทำหน้าที่เป็นประธานของคณะกรรมการว่าด้วยอวกาศและความมั่นคงแห่งชาติ เขาเตือนว่าหากไม่เน้นหนักในเรื่องนี้แล้ว ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิด “เพิร์ลฮาร์เบอร์ทางอวกาศ” ขึ้นมา รัมสเฟลด์ยกเหตุผลต่างๆ มาย้ำยืนยันความคิดของเขาที่ว่า สหรัฐฯจำเป็นต้อง “ไล่ติดตามสมรรถนะทางด้านนี้อย่างกระฉับกระเฉง ... เพื่อให้มั่นใจได้ว่าท่านประธานาธิบดีจะมีหนทางเลือกในเรื่องการนำอาวุธไปประจำการในอวกาศ”

ทว่าพวกสมาชิกรัฐสภาจากทั้งสองฟากฝั่งแนวคิดทางการเมือง กลับมีความกระตือรือร้นน้อยกว่ารัฐมนตรีกลาโหมผู้นี้ พวกเขาลังเลที่จะให้เงินงบประมาณแก่อาวุธแฟนตาซีที่อาจจะใช้การไม่ได้จริงๆ เลย ดังนั้นจึงรวมกำลังกันในคณะกรรมาธิการการทหารแห่งสภาผู้แทนราษฎร จัดการหั่นลดงบประมาณเป็นเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ จากโครงการระบบป้องกันขีปนาวุธและการวิจัย ASAT ในระยะสองปีที่ผ่านมา

ในบรรดาโครงการที่ถูกหั่นทิ้งยกเลิกไป ก็มีอาทิ การเพิ่มจุดที่ตั้งจรวดสกัดกั้นขีปนาวุธขึ้นอีกในยุโรป, การวิจัยเรื่องแสงเลเซอร์ที่มุ่งพุ่งเป้าไปที่การทำลายดาวเทียม, และการให้เงินสนับสนุนการพัฒนาจรวดสกัดกั้นเพื่อการป้องกันขีปนาวุธโจมตี โดยจะเป็นจรวดสกัดกั้นที่จะใช้อวกาศเป็นฐาน นอกจากนั้น โครงการเรือเหาะในระดับความสูงมากๆ ก็ถูกหั่นงบไปมากมายเช่นกัน

จอห์น แมคเคน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันนั้น ถูกหล่อหลอมมาจากเบ้าเดียวกันกับรัมสเฟลด์ในเรื่องประเด็นทางกลาโหม และน่าจะยังคงสนับสนุนให้จัดสรรงบประมาณแก่โครงการต่างๆ เหล่านี้อยู่ ขณะที่ บารัค โอบามา คู่แข่งขันของเขาจากพรรคเดโมแครต อาจจะขอพิจารณาวินิจฉัยกันให้มากมายกว่านี้ กว่าจะเห็นดีเห็นชอบไปด้วย

แต่ทั้งคู่อาจจะแทบไม่เหลือทางเลือกอย่างอื่นอีก ถ้าหากจีนดำเนินการทดสอบ ASAT ใดๆ เพิ่มเติมขึ้นมา โดยที่พวกนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงจำนวนมากเชื่อว่า การทดสอบเหล่านี้รังแต่จะทำให้มติมหาชนในสหรัฐฯแข็งกร้าวยิ่งขึ้น และทำให้พวกสายเหยี่ยวในเพนตากอนกลับชิงฐานะการเป็นผู้ริเริ่มคืนไปได้อีกเท่านั้น

“ไม่ว่าแรงจูงใจของพวกเขา(ฝ่ายจีน)จะเป็นอย่างไรก็ตามที แทบไม่มีข้อสงสัยอีกแล้วว่า การทดสอบ (ในปี 2007) คือการคำนวณที่ผิดพลาด” นักการทูตชาวออสเตรเลียผู้หนึ่งให้ความเห็น “พวกเขาคำนวณผิดพลาดเกี่ยวกับการตอบโต้ของสหรัฐฯ และแน่นอนว่าต้องสูญเสียฐานะการมีระดับศีลธรรมอันสูงส่งไปเลย หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการวาดภาพพวกเขาเองให้เป็นเสียงแห่งขบวนการเรียกร้องให้ลดกำลังอาวุธ

“มัน (ยัง) ทำให้เป็นเรื่องลำบากมากขึ้นอีกหน่อย ที่จะเพิกเฉยละเลยเรื่องที่จีนมีการส่งเทคโนโลยีขีปนาวุธ (ไปให้แก่ประเทศอื่น) ซึ่งกระทบกระเทือนผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ แถมเทคโนโลยีเหล่านั้น ยังอาจถูกดัดแปลงไปใช้เพื่อการนำเอาอาวุธ ASAT ออกมาประจำการในอนาคตอีกด้วย” เขากล่าวต่อ

พวกนักล็อบบี้ที่ต้องการให้พัฒนา ASAT กำลังแสดงความเห็นว่า สหรัฐฯไม่สามารถนั่งงอมืองอเท้า ขณะที่พวกประเทศอย่างเช่น ซีเรีย, ลิเบีย, เกาหลีเหนือ, และอิหร่าน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปรปักษ์ต่ออิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ของอเมริกัน กำลังได้รับมอบขีปนาวุธจากจีนและรัสเซีย ที่มีสมรรถนะคุกคามดาวเทียมสหรัฐฯ หรือในเอเชีย ก็มีประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่อาฆาตกันอย่างปากีสถานและอินเดีย ที่กำลังได้รับประโยชน์จากการส่งผ่านเทคโนโลยีเหล่านี้

ทั้งนี้ จีนเป็นผู้ส่งส่วนประกอบหลายชิ้นที่ใช้ในขีปนาวุธ ฟาเตห์-110 (Fateh-110) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยอิหร่าน อีกทั้งยังขายขีปนาวุธ ทอนดาร์-69 (Tondar-69) ให้แก่อิหร่านด้วย ขีปนาวุธชนิดหลังนี้เอง ทางพีแอลเอได้นำมาออกแบบกลายเป็น ซีเอสเอส-8 (CSS-8) ทางด้านปากีสถานก็ได้ซื้อชิ้นส่วนหลายๆ อย่างจากจีน เพื่อนำมาพัฒนาเป็นขีปนาวุธในรุ่น ชาฮีน (Shaheen) และ ฮัตฟ์ (Hatf) ของตน รวมทั้งแบบ เการี-3 (Ghauri-3)

ปักกิ่งยังอนุมัติให้หน่วยงานด้านเทคโนโลยีกลาโหมของพีแอลเอ ช่วยเหลืออิหร่าน, ปากีสถาน, และเกาหลีเหนือ –แถมมีรายงานข่าวว่ามีซีเรียอีกรายหนึ่งด้วย ในการจัดทำโครงการเพื่อส่งดาวเทียมหรือโครงการด้านอวกาศอื่นๆ ที่มีเป้าหมายในทางทหาร

ทางฝ่ายรัสเซียก็ได้ส่งชิ้นส่วนหลายอย่างให้แก่ขีปนาวุธรุ่น ชาฮับ (Shahab) ของอิหร่าน, ส่งจรวดแบบ เอสเอส-21 เอส (SS-21s) ที่ทั้งซีเรียและเกาหลีเหนือนำไปใช้, รวมทั้งส่งจรวดแบบ สกั๊ด บี (Scud B) ที่ใช้โดยซีเรีย และขีปนาวุธรุ่น อักรี (Agri) ที่อินเดียนำเข้าประจำการ นอกจากนั้นอินเดียยังซื้อชิ้นส่วนเพื่อนำมาประกอบเป็นจรวดรุ่น พริธว์ (Prithv) และรุ่น สาการิคา (Sagarika) จากรัสเซียเช่นกัน

ยิ่งกว่านี้ รัสเซียยังมีดาวเทียมทางทหารแบบ คอนดอร์-อี (Kondor-E) เสนอขายอยู่ในตลาดเปิด ดาวเทียมแบบนี้ออกแบบมาเพื่อใช้นำทาง จรวดลาดตระเวนความเร็วเหนือเสียง (high-speed supersonic cruise missile)โดยมีตัวจับสัญญาณที่มุ่งเป้าหมายในอวกาศด้วย

ทั้งอินเดีย, เกาหลีเหนือ, อิหร่าน, และปากีสถาน, รวมทั้งจีน ต่างได้ผลิตหรือยิงทดสอบขีปนาวุธที่มีรัศมีทำการเกินกว่า 2,600 กิโลเมตร อันเท่ากับสามารถยิงไปถึงดาวเทียมวงโคจรต่ำทั้งหลาย

ระบบป้องกันดาวเทียมของอเมริกานั้น ได้ถูกทดสอบมาแล้วหลายครั้งหลายหนจากสิ่งที่วอชิงตันเรียกว่า “พวกระบอบการปกครองที่ไร้เสถียรภาพ” เรื่องนี้เท่ากับชี้ให้เห็นถึงความอ่อนเปราะที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของบรรดาดาวเทียมซึ่งมีความจำเป็นยิ่งต่อการสื่อสารทางทหาร ทั้งนี้ยังไม่จำเป็นต้องพูดถึงความสำคัญของพวกมันที่มีต่อเศรษฐกิจโลก

การโจมตีที่ได้รับการยืนยันครั้งที่ถือว่ารุนแรงที่สุด เกิดขึ้นระหว่างการทำสงครามครั้งที่สองกับอิรัก เมื่อสัญญาณที่ส่งออกมาจากสถานทูตของอิรักในคิวบา ส่งผลก่อกวนการสื่อสารเชิงพาณิชย์ผ่านดาวเทียมของอเมริกัน

ตามคำบอกเล่าของพวกเจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯ ดาวเทียมทางทหารของสหรัฐฯยังถูกโจมตีอยู่เป็นครั้งคราวเรื่อยๆ จากระบบเลเซอร์ที่ตั้งฐานอยู่ทางภาคพื้นดิน ระบบเลเซอร์เหล่านี้หลายๆ รุ่นทีเดียวเป็นสิ่งที่ส่งออกจากทั้งจีนและรัสเซีย

พวกที่สนับสนุน ASAT ได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์เหล่านี้ และบอกว่าเรื่องเช่นนี้ได้ทำให้การอภิปรายถกเถียงกันในเรื่องสงครามอวกาศ เปลี่ยนจากสิ่งที่ดูเป็นการฝันเฟื่องเรื่องอนาคตกลายมาเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยประเด็นนี้ในขณะนี้กำลังกลายเป็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับชาวอเมริกันไปแล้ว

“สหรัฐฯไม่อาจยินยอมให้ทรัพย์สินในอวกาศของเราถูกคุกคามได้” ผู้บัญชาการกองบัญชาการทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ พลเรือเอก เจมส์ โอ เอลลิส กล่าวเตือนไว้ภายหลังการโจมตีจากอิรัก

“เราต้องพัฒนาและนำเอาทรัพย์สินที่ทำให้ควบคุมอวกาศได้ เข้าประจำการต่อไป เนื่องจากทรัพย์สินเหล่านี้ทำให้เรามีความสามารถที่จะใช้ระบบต่างๆ ในอวกาศของเราในเวลาและในสถานที่ซึ่งเราต้องการ ขณะเดียวกับที่สามารถปฏิเสธสมรรถนะดังกล่าวของศัตรูของเรา-เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น การที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลต่อเนื่องอันสำคัญของยุคศตวรรษที่ 21 ได้ เราจำเป็นต้องลงมือทำกันตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เพื่อคุ้มครองและป้องกันผลประโยชน์ในอวกาศของอเมริกา”

อลัน บอยด์ รายงานข่าวเกี่ยวกับเอเชียมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี เวลานี้เขาพำนักอยู่ในนครซิดนีย์”


  • จีนแข่งขันกับสหรัฐฯในอวกาศ (ตอนแรก)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น