เอเจนซี - คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ตัดสินเมื่อวันพฤหัสบดี (12) ว่า บรรดานักโทษที่ถูกรัฐบาลอเมริกันจองจำไว้ในคุกกวนตานาโมมานานปี มีสิทธิที่จะต่อสู้คดีในศาลพลเรือนของสหรัฐฯ ได้ คำพิพากษาที่ออกมาเช่นนี้ถือเป็นความปราชัยอีกก้าวหนึ่งในนโยบายทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช
คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐฯมีมติด้วยคะแนน 5 ต่อ 4 ให้ยกเลิกกฎหมายที่ประธานาธิบดีผลักดันผ่านรัฐสภาเมื่อปี 2006 ที่เวลานั้นพรรครีพับลิกันคุมเสียงข้างมากอยู่ โดยกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญที่ให้เพิกถอนสิทธิ์ของพวกผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ในการร้องขอให้ศาลสหรัฐฯ ไต่สวนว่า การถูกคุมขังของพวกเขาเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
การตัดสินล่าสุดของศาลสูงสุดคราวนี้ นับเป็นการปฏิเสธครั้งที่ 4 ของศาลสูงสุด ต่อการตีความกฎหมายอันเนื่องมาจากนโยบายสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของรัฐบาล และทำให้พวกนักโทษในกวนตานาโมราว 270 คนตลอดจนทนายความของพวกเขา มีสิทธิที่จะเรียกร้องขอรับรู้ข้อกล่าวหาที่มีตัวนักโทษเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลบุชปฏิเสธตลอดมา เพราะเกรงว่าจะต้องเปิดเผยถึงหลักฐานที่ใช้ในตั้งข้อหาและควบคุมบุคคลเหล่านั้น ทั้งนี้รัฐบาลบุชให้เหตุผลว่าการเปิดเผยจะทำให้เกิดผลร้ายต่อความมั่นคงของชาติ
ภายหลังการตัดสินของศาลสูงสุด บุชซึ่งกำลังอยู่ระหว่างเยือนยุโรปอย่างเป็นทางการ ได้กล่าวในการแถลงข่าวที่กรุงโรมว่า "รัฐบาลจะทำตามคำสั่งของศาล แต่ไม่ได้หมายความว่าผมจะเห็นด้วยกับคำตัดสินนี้" เขากล่าวด้วยว่า "รัฐบาลก็คงจะนำเอาสิ่งที่ศาลตัดสินมาศึกษา เพื่อที่จะดูว่าจะต้องใช้วิธีการทางกฎหมายอื่นใดเข้ามาอีกหรือไม่"
ในขณะเดียวกันกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯแถลงว่า การพิจารณาคดีต่าง ๆที่ดำเนินกันอยู่ที่กวนตานาโมจะยังเดินหน้าต่อไป แม้ว่าจะมีคำตัดสินศาลสูงสุดให้เพิ่มสิทธิ์แก่นักโทษแล้วก็ตาม
"การพิจารณาคดีโดยศาลทหารจะ...ยังคงเดินหน้าต่อไป" ปีเตอร์ คาร์ โฆษกกระทรวงยุติธรรมกล่าว และเพิ่มเติมว่าคำตัดสินของศาลสูงสุดทำให้นักโทษที่กวนตานาโมได้สิทธิ์เป็นทหารฝ่ายศัตรูในระหว่างที่มีการเผชิญหน้ากันด้วยกำลัง แต่ไม่ได้หมายรวมถึงการพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ผู้ที่อยู่กำลังจะถูกดำเนินคดีโดยศาลทหารก็อย่างเช่น คาลิด ชีค โมฮัมหมัด ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้วางแผนกรณี 11 กันยายน 2001 นอกจากนี้ก็ยังมีซาลิม ฮัมดานซึ่งเป็นคนขับรถของอุซามะห์ บินลาดิน
สำหรับเหตุผลในการตัดสินคราวนี้ ผู้พิพากษาแอนโธนี เคนเนดี ในฐานะผู้พิพากษาศาลสูงสุดฝ่ายเสียงข้างมาก ได้กล่าวในคำอธิบายที่มีความยาวประมาณ 70 หน้า ว่า "กฎหมายและรัฐธรรมนูญได้รับการออกแบบเพื่อให้สามารถผ่านช่วงเวลาวิกฤตหรือสามารถบังคับใช้ได้ในช่วงเวลาอันไม่ปกติด้วย เสรีภาพและความมั่นคงสามารถอยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง และในระบบของเราทั้งเสรีภาพและความมั่นคงเดินไปด้วยกันภายใต้กรอบของกฎหมาย"
ผู้พิพากษาเคนเนดี้ ระบุอีกว่า นักโทษที่กวนตานาโมบางคนนั้นถูกกักขังมาถึงหกปีโดยไม่มีแนวโน้มว่าจะทางการจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างใดกับเขา และเพิ่มเติมด้วยว่าสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่เริ่มขึ้นโดยรัฐบาลประธานาธิบดีบุชนับเป็นสงครามที่ยาวนานที่สุดสงครามหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอเมริกา
เขายังได้ชี้อีกว่า คำพิพากษาของศาลสูงสุดคราวนี้ มิได้กล่าวถึงว่าประธานาธิบดีบุชมีอำนาจที่จะควบคุมตัวนักโทษเหล่านี้หรือไม่ ปัญหานี้และปัญหาเรื่องอื่น ๆทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุมขังพวกนักโทษจะต้องแก้ไขกันในศาลของรัฐบาลกลาง ซึ่งนักโทษมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดี
ส่วนทางด้าน ประธานศาลสูงสุด จอห์น โรเบิร์ตส์ เขียนในคำอธิบายในนามของผู้พิพากษาฝ่ายเสียงข้างน้อยว่า จากคำตัดสินคราวนี้ เท่ากับว่า ชาวอเมริกัน "สูญเสียอำนาจการควบคุมเหนือการกระทำภายใต้นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ไปให้แก่ผู้พิพากษาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆทางการเมือง"
แต่ในส่วนขององค์การนิรโทษกรรมสากล ซึ่งต่อสู้เรียกร้องสิทธิของนักโทษมาระยะหนึ่งแล้ว ได้แสดงความยินดีต่อการตัดสินครั้งนี้
"ศาลสูงสุดทำสิ่งที่ถูกต้อง ทุกคนมีสิทธิที่จะต่อสู้ทางกฎหมายเมื่อถูกโยนเข้าไปในคุก มีสิทธิที่จะได้รับฟังข้อกล่าวว่าที่มีต่อตัวเขา และสามารถโต้ตอบกับข้อกล่าวหานั้นได้" ดาเลีย ฮาชาด ผู้อำนวยการสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ กล่าว