เอเจนซี - ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) สัญญาที่จะให้เงินกู้และเงินช่วยเหลือฉุกเฉินมูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์ แก่ประเทศในเอเชียที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันบรรดารัฐมนตรีคลังของเอเชียก็ตกลงกันที่จะกระตุ้นการผลิตภาคการเกษตรเพิ่มในฐานะที่เป็นมาตรการแก้ไขวิกฤตอาหารในระยะยาว
หลังจากหารือกันมา 4 วัน ประเทศต่างๆ ในเอเชียก็ยังคงเห็นแตกแยกกันในประเด็นควรจะห้ามการส่งออกและควรเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อทำให้แน่ใจว่าคนจนในเอเชียที่มีอยู่ราวหนึ่งพันล้านคนซึ่งมีรายได้วันละ 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน จะไม่กลับไปเผชิญหน้ากับความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาอีก
บรรดารัฐมนตรีคลังได้เรียกร้องให้เอดีบีมีบทบาทมากขึ้นในการรักษาเสถียรภาพของราคาอาหารในภูมิภาคนี้ที่กำลังพุ่งขึ้น เอเชียนั้นมีคนยากจนอยู่ราว 2 ใน 3 ของทั้งโลก ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการจลาจลได้มากเนื่องมาจากราคาข้าวสาลีและข้าวสารแพงขึ้น 2 เท่าตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา
ประธานเอดีบี ฮารุฮิโกะ คุโรดะ กล่าวว่า ธนาคารจะดำเนินบทบาทนี้อย่างเต็มที่
"ผมมีความยินดีที่จะประกาศว่าเอดีบีจะจัดสรรเม็ดเงิน 500 ล้านดอลลาร์มาเป็นงบประมาณฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพื่อทำให้คนยากจนในประเทศต่างๆ มีอาหารกิน" เขากล่าวในระหว่างการแถลงข่าวและบอกด้วยว่าจะสามารถให้เงินกู้จำนวนแรกในภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
คุโรดะ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาระยะยาวของราคาข้าวที่ทะยานขึ้นก็คือกระตุ้นให้มีการผลิตเพิ่ม โดยเอดีบีจะให้สินเชื่อเพื่อการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2009
"มาตรการทางการค้าและการควบคุมราคา ไม่ใช่วิธิการแก้ไขวิกฤตอาหารหรือราคาอาหารที่พุ่งขึ้น เพราะมันจะไปบิดเบือนตลาดและอาจทำให้สถานการณ์ในตลาดธัญพืชระหว่างประเทศยุ่งยากขึ้นอีก" คุโรดะกล่าว
"ในการประชุมที่จัดขึ้นที่กรุงมาดริด ผมได้เน้นว่าวิธีการรับมือกับปัญหาที่ดีที่สุดในขณะนี้ก็คือการทำให้ข่ายรองรับทางสังคมแข็งแกร่งขึ้นโดยเน้นที่ให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจน แทนที่จะไปอุดหนุนราคาอาหารโดยทั่วไป หรือใช้มาตรการควบคุมการค้าหรือราคาสินค้า"
ประเทศที่เห็นพ้องกับความคิดของเขาก็คือญี่ปุ่นและประเทศร่ำรวยอื่นๆ ในประชาคมเศรษฐกิจ 67 แห่งที่ให้เงินสนับสนุนเอดีบี
"การควบคุมราคาและการส่งออกจะทำให้ไปลดแรงจูงใจของเกษตรกรให้ผลิตเพิ่ม" แคสปาร์ เวลด์แคมป์ ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้แทนเจรจาของเนเธอร์แลนด์กล่าว "การอุดหนุนราคาอาหารอาจส่งผลต่อดุลงบประมาณของรัฐบาลและตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอย่างที่สุด"
ทว่า ประเทศผู้ผลิตข้าวเช่นอินเดียและจีน ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกของเอดีบีที่ยากจนอื่นๆ ในเรื่องมาตรการห้ามการส่งออก เพราะรัฐบาลเหล่านี้เชื่อว่าจะต้องทำให้แน่ใจว่าจะมีอาหารเพียงพอภายในประเทศ
ศรีลังกาเป็นประเทศหนึ่งที่สนับสนุนการแทรกแซงตลาดในฐานะที่เป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อปกป้องครอบครัวที่ยากจนซึ่งใช้เงินมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ซื้ออาหาร
"หากว่าคุณผลิตข้าว แต่ไม่เอาข้าวให้ประชาชนบริโภค พวกเขาก็จะต้องโกรธเกรี้ยวแน่นอน" รัฐมนตรีพัฒนาธุรกิจและการลงทุนของศรีลังกา ซารัธ อะมูนูกามากล่าว