xs
xsm
sm
md
lg

เตือนรับ “เสื้อผ้า” แพงตามหลัง “อาหาร” พุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ราคาเสื้อผ้ากำลังจะสูงขึ้นตามวิกฤตราคาอาหารที่แพงขึ้นในขณะนี้
บีบีซีนิวส์ - หลังจากราคาอาหารพุ่งทะยานตามราคาพืชผลทางการเกษตร ที่ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง บัดนี้ก็ถึงคราวที่ผู้บริโภคต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ราคาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มแพงที่จ่อคิวรอแผลงฤทธิ์อยู่รอมร่อ

กลุ่มผู้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ทราบดีว่า ความต้องการสินค้าปรับตัวลดลง เนื่องด้วยผู้บริโภคทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปกำลังตัดลดการใช้จ่าย อันเป็นผลพวงมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนส์ ยูนิต หรือ อีไอยู อันเป็นสถาบันวิจัยและรวบรวมข้อมูลด้านเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์ทรงอิทธิพลอย่างอีโคโนมิตส์ ได้พยากรณ์ว่า ในปี 2008 อัตราการบริโภคฝ้ายในสหรัฐฯ จะร่วงลงจากปีที่แล้ว 6.5 เปอร์เซ็นต์ เหลือไม่ถึง 1,000,000 ตัน ส่วนการบริโภคฝ้ายในยุโรปก็จะลดฮวบถึง 11 เปอร์เซ็นต์ ลงมาอยู่ในราว 460,000 ตัน

อีกด้านหนึ่ง บรรดาผู้ประกอบการยังต้องแบกรับภาระอันหนักหน่วงยิ่งขึ้น เมื่อเผชิญกับต้นทุนราคาวัตถุดิบที่แพงลิ่วและราคาน้ำมันที่พุ่งพรวดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาระเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้โรงงานมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการเพิ่มขึ้น มิหนำซ้ำค่าขนส่งไปยังตลาดต่างประเทศก็ขยับตามไปด้วย

ในอินเดีย อุตสาหกรรมทอผ้าแดนภารตะกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต ขณะที่ ภาคสิ่งทอของจีนก็ประสบความยากลำบากไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย

และเป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ต้นตอของปัญหาความปั่นป่วนซึ่งจะลุกลามไปทั่วโลกครั้งนี้ก่อตัวขึ้นจากสหรัฐฯ

ณ ท้องทุ่งอันกว้างขวางของอเมริกา เกษตรกรผู้ปลูกฝ้ายจำนวนมากขึ้นทุกขณะ ต่างหันไปเพาะปลูกพืชผลที่สร้างกำไรมากขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ ไม่ว่าจะเป็น ถั่วเหลือง, ข้าวโพด และข้าวสาลี ซึ่งพืชเหล่านี้กำลังมีราคาพุ่งพรวด สืบเนื่องจากหลายปัจจัยเกื้อหนุน ได้แก่ มาตรการการชดเชย, ความต้องการพลังงานไบโอดีเซลที่ถีบตัวขึ้น และการเก็งกำไร

คณะกรรมการที่ปรึกษาฝ้ายระหว่างประเทศ หรือ ไอซีเอซี คาดว่า ปีนี้พื้นที่ปลูกฝ้ายในสหรัฐฯ จะลดลงอีก 15 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 9.5 ล้านเอเคอร์ ต่ำกว่าปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 10.8 ล้านเอเคอร์ จากเดิมในปี 2006 ที่ฝ้ายเคยครองพื้นที่กสิกรรมถึง 15 ล้านเอเคอร์

“เห็นได้ชัดๆ เลยว่า ราคา (ฝ้าย) จะมีราคาสูงขึ้น” ไอซีเอซี บอก พร้อมทั้งประเมินด้วยว่า ปีนี้ ราคาฝ้ายทั่วโลกจะสูงขึ้นกว่า 8 เปอร์เซ็นต์ ไปอยู่ที่ 80 เซ็นต์ต่อปอนด์ ขณะที่ บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดการเงินสำทับว่า ราคาฝ้ายจะสูงขึ้นยิ่งกว่านี้อีก โดยในตลาดอินเตอร์คอนติเนนตัล เอ็กซ์เชนจ์ (ไอซีอี) สัญญาซื้อขายฝ้ายล่วงหน้าสำหรับส่งมอบเดือนพฤษภาคม ราคายังอยู่ที่ 71 เซนต์ต่อปอนด์ ขณะที่ สัญญาซื้อขายฝ้ายล่วงหน้าสำหรับส่งมอบเดือนธันวาคมถีบตัวขึ้นไปอยู่ที่ 83 เซนต์ต่อปอนด์

“ผมไม่เคยเห็นตลาดมีสภาพผันผวนขนาดนี้มาก่อนเลยนับตั้งแต่ปี 1995 และเราอาจต้องอยู่บรรยากาศเช่นนี้ไปอีกหลายปี” ไมค์ สตีเฟนส์ แห่งบริษัทการเงินสวิสไฟแนนซ์เซอร์วิสให้สัมภาษณ์เพนตอน อินไซต์

ภาวะขาดแคลนฝ้ายในระดับโลกได้ปะทุให้เห็นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อความต้องการฝ้ายเพิ่มขึ้นเกินกว่าซัปพลายจำนวนร่วมๆ ล้านตัน

แม้ในปีนี้ เกษตรกรในสหรัฐฯ จะหันไปปลูกพืชอื่นๆ เพื่อกอบโกยรายได้ ทว่า ผลผลิตฝ้ายฝ้ายทั่วโลกก็เติบโตขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจีน,อินเดีย,ออสเตรเลีย,บราซิล และแอฟริกาใต้ กำลังเพิ่มการผลิต ในตลาดโลกโดยรวม การเติบโตของซัปพลายจึงยังอยู่เหนือความต้องการที่พุ่งขึ้น โดยคาดว่า อุตสาหกรรมปั่นฝ้ายมีแนวโน้มจะเดินเครื่องเพิ่มแค่ร่วมๆ 1 เปอร์เซ็นต์

กระนั้นก็ตาม ซัปพลายที่มีอยู่ก็ยังก้าวกระโดดไม่ทันความต้องการ โดย ไอซีเอซี คาดว่า ปี 2008 อัตราสูงสุดในการผลิตฝ้ายน่าจะอยู่ที่ 26.9 ล้านตัน ขณะที่ดีมานด์ทั่วโลกอยู่ที่ 27.5 ล้านตัน

แต่ปัญหาราคาฝ้ายแพงก็หาได้เป็นปัจจัยเดียวที่สร้างความกระอักกระอ่วนให้กับผู้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม

“ต้นตอทั้งหลายทั้งปวงล้วนแล้วแต่มาจากน้ำมันทั้งสิ้น” แบรดลีย์ จอร์จ ผู้อำนวยการด้านทรัพยากรและโภคภัณฑ์แห่งบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์อินเวสเทคบอก พร้อมเสริมว่า ขณะนี้ โลกเรายังขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าขั้นพื้นฐานอีกต่างหาก

นอกจากนี้ ราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น ก็ทำให้ราคาต้นทุนวัตถุดิบขยับตาม กอปรกับภาวะวิกฤตสินเชื่อที่ลุกลามอยู่ก็ยิ่งบีบคั้นขึ้นอีก เนื่องจากบรรดาผู้ผลิตที่มีอัตราผลกำไรน้อยกำลังประสบความลำบากยากเย็นในการกู้ยืมเพื่อลงทุน

อีกด้านหนึ่ง ค่าแรงที่จ่ายให้คนงานก็เพิ่มสูงเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน ทั้งนี้ บรรดาผู้ผลิตในอุตสาหกรรมดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นจีน,อินเดีย,เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียกลาง ต่างก็รู้สึกถึงความเจ็บปวดด้วยกันทั้งนั้น

ท้ายที่สุด ผู้ประกอบการเหล่านี้จำต้องเลือกว่าจะเพิ่มราคาสินค้าที่ผลิตได้ หรือไม่ก็ปิดกิจการไปเลย ซึ่งก็ยิ่งทำให้ซัปพลายร่อยหรอลงอีก

แต่สำหรับผู้บริโภคชาวยุโรปและสหรัฐฯ ผลลัพธ์จึงแน่นอนเหลือเกินนั่นคือ ในปีต่อๆ ไปก็จะต้องเตรียมควักเงินในกระเป๋าสตางค์เพิ่มขึ้นเพื่อจ่ายค่าเสื้อผ้า
กำลังโหลดความคิดเห็น