เอเอฟพี - เผยผลสำเร็จการประชุม “ออสเตรเลีย 2020 ซัมมิต” บุคคลสำคัญหลากสาขาวิชาชีพเค้นสมองมองอนาคตแดนจิงโจ้สดใส หากเดินหน้าสู่สาธารณรัฐโดยตัดสัมพันธ์กับระบอบกษัตริย์อังกฤษ แล้วมุ่งสร้างประเทศให้เป็นผู้เล่นสำคัญระดับโลก ด้วยการสร้าง “วัฒนธรรมที่ 2” โดยเน้นการวางรากฐานทั้งด้านการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมเอเชียให้กับเด็กๆ นอกจากนั้น ยังต้องเร่งรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกด้วย
ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมา เควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “ออสเตรเลีย 2020 ซัมมิต” ขึ้นที่อาคารรัฐสภา ในกรุงแคนเบอร์รา เพื่อระดมสมองจากบุคคลระดับนำของประเทศจากหลากสาขาวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำธุรกิจ นักวิชาการ นักแสดง นักการเมือง นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และนักวิทยาศาสตร์ เพื่อร่วมค้นหาสุดยอดแนวคิดสำหรับประเทศในปี 2020
คนดังที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว มีอาทิ เคท แบลนเช็ตต์ และฮิวจ์ แจ็คแมน ดาราฮอลลีวูด รวมทั้งลาชแลน เมอร์ด็อก ลูกชายเจ้าพ่อวงการสื่ออย่างรูเพิร์ต เมอร์ด็อก โรเบิร์ต เดอ คาสเทลลา นักวิ่งมาราธอน และแอนดรูว์ ฟอร์เรสต์ เจ้าของธุรกิจเหมืองซึ่งเป็นมหาเศรษฐีร่ำรวยที่สุดในประเทศ
ประเด็นเสนอแนะในที่ประชุมดังกล่าวมีหลากหลายกันไป ตั้งแต่เรื่องการทบทวนระบบการจัดเก็บภาษี ไปจนถึงการเปิดใช้บันไดในอาคารสำนักงานต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้คนงานดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการใช้บันไดเดินขึ้นลงให้มากขึ้น
ทั้งนี้ รัดด์ ซึ่งหวังว่าจะใช้แนวคิดของผู้แทนในที่ประชุมเพื่อ “ปรับโครงสร้างการบริหารประเทศ” และให้คำมั่นว่าจะดำเนินการขั้นต่อไปกับข้อแนะนำทั้ง 40 กว่าข้อ ภายในสิ้นปีนี้ กล่าวว่า “ผมไม่ต้องการที่จะลืมตาตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่งของปี 2020 แล้วสำนึกเสียใจว่าไม่ได้ทำในสิ่งที่ผมเคยมีโอกาสจะทำได้ ผมไม่อยากจะอธิบายกับลูกๆ และอาจรวมถึงหลานๆ ว่า เราล้มเหลว ว่า เราหลีกเลี่ยงที่จะตัดสินใจเรื่องยากๆ และเราล้มเหลวที่จะเตรียมการให้ออสเตรเลียรับมือกับเรื่องท้าทายในอนาคต”
เขายังได้กล่าวในการปิดประชุมว่า ข้อแนะนำที่มีการพูดกันมากที่สุด ก็คือ การตัดสัมพันธ์กับระบอบกษัตริย์อังกฤษ และหันไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ “ผมคิดว่าถ้าผมอ่านใจของผู้ที่เข้าประชุมในที่นี้ไม่ผิด แนวคิดเรื่องสาธารณรัฐออสเตรเลียกำลังได้รับการขานรับมากขึ้น”
นอกจากนั้น ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ได้แก่ การสร้างวิสัยทัศน์สำหรับอนาคตของประเทศ โดยที่ผู้แทนการประชุมซึ่งรับผิดชอบงานในส่วนนี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลส่งเสริมการเรียนภาษาเอเชียในระดับโรงเรียน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเอเชียให้มากขึ้น
สตีเฟน สมิธ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลีย กล่าวว่า บรรดาตัวแทนการประชุม เชื่อว่า รัฐบาลจำเป็นต้องกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้มากขึ้น
“เราจะต้องทำให้ออสเตรเลียมีความรู้ความเข้าใจทั้งทางด้านภาษาและวัฒนธรรมของเอเชีย จนถึงระดับที่เกือบจะเป็นวัฒนธรรมที่ 2 ของเราเลยทีเดียว”
เขาย้ำว่า ข้อเสนอนี้ถือเป็น “เรื่องสำคัญที่สุดที่เราจะทำได้ ซึ่งไม่ใช่แค่มุมมองในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเท่านั้น แต่จะต้องเป็นมุมมองจากเด็กๆ ของเราด้วย”
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภาษาต่างประเทศไม่ถือว่าเป็นวิชาบังคับในระดับโรงเรียนของออสเตรเลีย และวิชาดังกล่าวมีนักเรียนเลือกเรียนน้อยลงมากในชั้นมัธยมปลายรวมทั้งระดับมหาวิทยาลัย
“นี่เป็นการมองในแง่ดีว่าเราในฐานะประเทศๆ หนึ่งจะสามารถทำอะไรได้มากขึ้นกว่าเดิมในระดับโลก อีกทั้งยังสามารถทำสิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิมในระดับโลกด้วย” สมิธกล่าว “ในเมื่อเราต้องการเป็นผู้เล่นในระดับโลกที่มีประสิทธิภาพ เราจะต้องเป็นพลเมืองในระดับระหว่างประเทศที่มีคุณภาพด้วย”