xs
xsm
sm
md
lg

รอยร้าวในรัฐธรรมนูญทำให้พม่ายิ่งแตกแยก

เผยแพร่:   โดย: Marwaan Macan-Markar

Cracks in constitution divide Myanmar
Marwaan Macan-Markar
17/04/2008

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยคณะผู้ปกครองทหารของพม่า บรรจุไว้ด้วยข้อความหลายตอนที่ใช้ถ้อยคำอันเลือกสรรมาอย่างระมัดระวังยิ่ง ซึ่งหลายๆ คนบอกว่าทำให้เอกสารฉบับนี้ไร้ค่าหมดความหมายไปเลย ส่วนที่ถูกระแวงข้องใจกันมาก ได้แก่บรรดามาตราซึ่งเป็นที่กล่าวหากันว่าระบอบทหารเขียนขึ้นมา เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันไม่ให้ถูกกล่าวโทษฟ้องร้องจากบรรดาการกระทำของตนอันเป็นการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนบรรดามาตราซึ่งเป็นการละเมิดสัญญาที่ให้ไว้กับพวกชนกลุ่มน้อยต่างๆ ดังนั้น แทนที่จะสร้างความสามัคคีเป็นเอกภาพ การจัดลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวันที่ 10 พฤษภาคม จึงจะทำให้ความแตกแยกภายในประเทศยิ่งบาดลึก

กรุงเทพฯ – ระบอบทหารของพม่ากำลังถูกเล่นงานโจมตีอย่างรุนแรง จากถ้อยคำภาษาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำหนดจัดให้มีการลงประชามติทั่วประเทศว่าจะรับรองหรือไม่ในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ เนื้อหาฉบับเต็มของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพิ่งนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนก่อนหน้าการลงประชามติดังกล่าวเพียงแค่ 1 เดือน

มาตราต่างๆ ที่กระตุ้นให้เกิดความโกรธเกรี้ยวกันมาก ได้แก่บรรดามาตราที่ดูจะเป็นความพยายามของคณะผู้ปกครองทหารที่จะสร้างความชอบธรรมถูกต้องตามกฎหมาย ให้แก่บทบาทในการเป็นผู้ทรงอำนาจทางการเมืองสูงสุดของตนในประเทศที่ประสบความลำบากยุ่งยากเรื่อยมาแห่งนี้ พวกนักวิจารณ์บอกว่า ข้อความดังกล่าวเหล่านี้ทำให้คำมั่นสัญญาที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นการสร้างภูมิทัศน์แห่งประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่กลายเป็นสิ่งไร้ค่าหมดความหมาย

มาตรา 445 เป็นมาตราที่อยู่อันดับสูงสุด ของรายการสิ่งที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในทัศนะของ สภาทนายความแห่งพม่า (บีแอลซี) ตลอดจนกลุ่มอื่นๆ อย่างเช่น ศูนย์ยุติธรรมทั่วโลก (จีเจซี) ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐฯ มาตราดังกล่าวนี้ระบุว่า “ผู้ซึ่ง (ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่เป็นสมาชิกของ สลอร์ก และ เอสพีดีซี) กระทำหน้าที่อย่างเป็นทางการของพวกตนโดยเป็นไปตามอำนาจความรับผิดชอบของพวกตน จักถูกกล่าวโทษฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายไม่ได้”

สลอร์ก (สภาเพื่อการฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ) และ เอสพีดีซี (สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ) คือพวกชื่อที่เป็นทางการขององค์กรทำหน้าที่ปกครองประเทศของระบอบนี้ นับแต่ที่คณะผู้นำทหารได้จัดการยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารในปี 1988 อันที่จริงระบอบเดิมที่ระบอบใหม่เจ้านี้โค่นล้มไป ก็มาจากฝ่ายทหารเช่นเดียวกัน โดยขึ้นครองอำนาจภายหลังการก่อรัฐประหารในปี 1962

“มาตรานี้คือการให้เกราะคุ้มครองแก่ทางคณะผู้ปกครองทหาร เพื่อไม่ให้ถูกกล่าวโทษฟ้องร้องสำหรับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งหลายทั้งปวงที่พวกเขาได้กระทำมานับตั้งแต่ปี 1988” อองทู เลขาธิการของบีแอลซีกล่าว “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าพวกก่อกรรมทำผิดด้วยความรุนแรง ยังคงสามารถได้รับความคุ้มครองภายหลังจากที่มีการรับรองเอกสารฉบับนี้แล้ว เพราะสำหรับประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อ มันจะมีอะไรแตกต่างไปจากเดิมล่ะ? ไม่มีเลย”

เขาอธิบายในระหว่างการให้สัมภาษณ์ต่อไปว่า มันยังจะเป็นการทำลายความหวังของพม่าที่จะเปลี่ยนถ่ายจากระบอบเผด็จการมาสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย “รัฐธรรมนูญสำหรับสังคมที่เพิ่งผ่านพ้นความขัดแย้ง จะต้องถือเรื่องความยุติธรรมและการปรองดองแห่งชาติอย่างแท้จริง เป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกๆ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในแอฟริกาใต้ ทว่ารัฐธรรมนูญใหม่ฉบับนี้แทบไม่ได้เสนออะไรที่จะทำให้พม่าเคลื่อนออกจากความขัดแย้งในปัจจุบันได้เลย”

เมื่อวันจันทร์(14) บีแอลซี และ จีเจซี ได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งประณามระบอบทหารว่า กำลังพยายามอาศัยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อหลบหลีกไม่ให้ถูก “กล่าวโทษฟ้องร้องการกระทำความผิดอาญา” คำแถลงของ 2 องค์การนี้บอกว่า “มีหลักฐานมากมายที่ชี้ว่า ระบอบทหารได้กระทำความผิดในลักษณะเป็นอาชญากรรมสงคราม, ความผิดอาญาต่อมนุษยชาติ, และเป็นไปได้ว่ากระทั่งความผิดในลักษณะการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ด้วยการใช้กำลังบังคับให้มีการโยกย้ายถิ่นที่อยู่, การทรมาน, การข่มขืน, การใช้กำลังบังคับให้เกิดการหายสาปสูญและการทำลายล้าง”

เหล่าผู้นำของชุมชนชนชาติต่างๆ ในพม่าก็กำลังไม่สบายใจว่า คำมั่นสัญญาที่คุยโตเอาไว้มากมายของคณะผู้ปกครองทหาร ในเรื่องซึ่งจะมีการจัดตั้งองค์กรสมัชชาระดับภูมิภาคขึ้นตามตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เอาเข้าจริงจะมีความหมายเพียงแค่เป็นองค์กรนิติบัญญัติที่ไร้อำนาจเขี้ยวเล็บ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญใหม่ระบุให้ก่อตั้งสมัชชาขึ้นมา 14 สมัชชาในพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นภูมิลำเนาของชนกลุ่มน้อยกลุ่มสำคัญๆ จนดูราวกับว่าจะเป็นครั้งแรกนับแต่ที่ประเทศได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 ที่ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่คนเชื้อชาติพม่าทั้งหลาย จะได้รับที่ทางทางการเมืองของพวกตน

“พวกสมัชชาระดับภูมิภาคเหล่านี้เอาเข้าจริงแล้วก็จะต้องอยู่ใต้คณะผู้ปกครองทหาร ซึ่งมีอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกของสมัชชาเหล่านี้ถึงหนึ่งในสี่ รวมทั้งเป็นผู้แต่งตั้งคนที่จะเป็นมุขมนตรีของภูมิภาคนั้นๆ ด้วย” เป็นความเห็นของ เดวิด ทอว์ เลขาธิการร่วมของสภาชนชาติชนเผ่า (อีเอ็นซี) องค์กรร่วมของชนกลุ่มน้อยที่สำคัญๆ รวม 7 กลุ่มในพม่า “ประชาชนส่วนมากปรารถนาที่จะเลือกมุขมนตรีของพวกเขาเองด้วยการหย่อนบัตรลงคะแนนมากกว่า”

ทอว์กล่าวเพิ่มเติมในการให้สัมภาษณ์ว่า ที่ทางในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อตอบสนองความจำเป็นของชุมชนชนชาติต่างๆ ก็ถูกจำกัดบีบรัดเช่นเดียวกัน “ผู้คนในท้องถิ่นจะไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของพวกเขาได้อย่างเสรีหรอก เรื่องนี้ถือเป็นความล้มเหลวและถอยหลัง สำหรับความหวังของพวกเราที่จะก้าวไปสู่การมีรัฐบาลที่เป็นระบบสหพันธรัฐ”

ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ในเรื่องการมีตัวแทนทางการเมืองอย่างแท้จริงของบรรดาชุมชนชนชาติต่างๆ ของพม่านี้เอง เป็นปัญหาที่ติดตังสางไม่ออกเรื่อยมานับแต่ที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ และส่งผลให้เกิดความขัดแย้งมุ่งแบ่งแยกดินแดนอันนองเลือดซึ่งดำเนินมาถึงราว 6 ทศวรรษแล้ว “ความพยายามที่จะใช้รัฐธรรมนูญซึ่งขยายเวลาของเผด็จการทหารให้ยืดยาวต่อไปอีก จะยิ่งสร้างปัญหาเพิ่มมากขึ้น” อีเอ็นซีระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ “มันยังจะเป็นการยืดเวลาสงครามกลางเมืองที่ดำเนินยาวนานมา 60 ปีแล้ว ซึ่งมีสาเหตุจากการละเมิดสิทธิอัตวินิจฉัยของเหล่าชนชาติชนเผ่าต่างๆ นั่นเอง”

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใช้เวลาร่างกันนานถึง 15 ปี บางฝ่ายบอกว่าความล่าช้าเนื่องมาจากคณะผู้ปกครองทหารต้องการหน่วงเหนี่ยวกีดกันพวกพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยของประเทศ ที่นำโดย อองซานซูจี ผุ้ยังคงถูกกักกันตัวเอาไว้ในขณะนี้ ไม่ให้มาอ้างสิทธิในการบริหารประเทศ โดยที่คณะผู้ปกครองทหารได้ปฏิเสธไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในปี 1990 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจี เป็นฝ่ายชนะชนิดถล่มทลาย แล้วหลังจากนั้นไม่นาน ก็หันไปก่อตั้งสมัชชาแห่งชาติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นฉบับที่ 3 ของพม่า สำหรับฉบับแรกร่างขึ้นในปี 1947 โดยบรรดานักรบฝ่ายต่อต้านของประเทศ ก่อนหน้าที่จะได้รับเอกราชจากอังกฤษผู้เป็นเจ้าอาณานิคม ส่วนฉบับที่ 2 ซึ่งร่างเสร็จเมื่อปี 1974 ภายใต้การบงการของผู้เผด็จการทหารในเวลานั้น ซึ่งคือ พลเอกเนวิน

รัฐธรรมนูญฉบับที่สอง ซึ่งประกาศให้พม่าเป็นรัฐที่มีพรรคการเมืองพรรคเดียว และมุ่งส่งเสริมนโยบายแบบสังคมนิยมนั้น ได้ถูกฉีกทิ้งไปในปี 1988 โดยระบอบทหารชุดปัจจุบัน หลังจากนั้น สลอร์ก และ เอสพีดีซี ก็ปกครองประเทศโดยมิได้มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และถูกมองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าปราศจากความชอบธรรมทางการเมือง ทั้งจากสายตาของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงภายในประเทศและของนานาชาติ

ความก้าวหน้าเพียงประการเดียวของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีเหนือกว่าของปี 1974 ก็คือ คำสัญญาที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยซึ่งยอมให้มีพรรคการเมืองหลายพรรค กระนั้นลู่ทางโอกาสที่ระบบการเมืองของพม่าจะมีคุณลักษณะซึ่งอ้าแขนรับฝ่ายอื่นๆ เข้ามาเช่นนี้ ก็กลับถูกทำลายเสียหายไป ด้วยความเคลื่อนไหวของคณะผู้ปกครองทหาร ที่จำกัดให้เฉพาะพวกผู้แทนที่ฝ่ายทหารแต่งตั้งเท่านั้นมีส่วนร่วมในการร่างเอกสารฉบับนี้ และจากการควบคุมการอภิปรายถกเถียงเอกสารฉบับนี้ของสาธารณชนอย่างเข้มงวดกวดขัน

“ฝ่ายทหารได้ทำให้พวกเขาเกิดความมั่นใจแล้วว่า หากทางพรรคการเมืองคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตไม่ว่าในประเด็นใดก็ตาม ก็จะผ่านไปได้ด้วยความลำบากยากเย็น” เป็นความเห็นของ อองนายอู นักวิเคราะห์การเมืองพม่าซึ่งพำนักลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย “ความขัดแย้งในประเทศนี้จะยังดำเนินต่อไป โดยไม่เห็นลู่ทางโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงและการกระเตื้องดีขึ้น”

ความเป็นไปได้ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะกลายเป็นการโหมฮือพระเพลิงทางการเมือง ซึ่งก็กำลังเผาไหม้ลามเลียอยู่ในพม่าอยู่แล้วนั้น เนื่องมาจากความแตกแยกอย่างล้ำลึกที่กำลังเกาะกินสร้างความลำบากให้ประเทศนี้ “พม่าในทุกวันนี้เป็นประเทศที่แตกต่างออกไปจากที่เคยเป็นเมื่อปี 1974 ตอนที่รัฐธรรมนูญฉบับก่อนผ่านออกมาใช้นั้น เรายังไม่ได้แตกแยกกันมากมายถึงขนาดนี้” อองนายอูกล่าวต่อ “เวลานี้มันแตกต่างไปจากตอนนั้นมาก และเวลานี้ทั่วทั้งโลกก็กำลังจับจ้องคอยดูอีกด้วย”

แต่สำหรับคณะผู้ปกครองทหารแล้ว ยังทำท่าเหมือนมีความมั่นอกมั่นใจว่าพวกเขาได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดีที่สุดให้กับพม่า “การรับรองรัฐธรรมนูญคือความรับผิดชอบของพลเมืองทุกๆ คนในประเทศนี้ ทุกคนที่สนับสนุนผลประโยชน์ของประเทศชาติเรา จะต้องออกเสียงเห็นชอบ” เป็นข้อความพาดหัวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ของภาครัฐ ในสัปดาห์ที่เริ่มต้นการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาลงประชามติกันอย่างเป็นทางการ

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น