xs
xsm
sm
md
lg

จีนขุดบังเกอร์อีกชั้นหนึ่งด้านหลังแนวกำแพงยักษ์

เผยแพร่:   โดย: เคนต์ อีวิ่ง

China bunkers down behind its great wall
By Kent Ewing
15/04/2008

การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกกำลังถูกมหกรรมการประท้วงไล่ตามติดไม่ลดละ ขณะที่มันกำลังถูกส่งทอดไปตามเส้นทางรอบโลกอย่างเจ็บปวดและน่าอับอายอยู่นี้ ผู้คนจำนวนมากเชื่อว่า จีนจะต้อง “ยอมจำนน” ต่อการประท้วงของฝ่ายตะวันตก แต่ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกลับเป็นตรงกันข้าม ปักกิ่งปรับจุดยืนของตนให้แข็งกร้าวขึ้นทั้งเรื่องทิเบตและสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้น การแข่งขันกีฬาคราวนี้ก็กำลังถอยห่างจากการเป็นงานเฉลิมฉลองการก้าวออกมาสู่สังคมนานาชาติของจีน ในเมื่อผู้คนในประเทศจีนต่างกำลังโกรธกริ้ว โดยที่มีประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี ถูกยกชูขึ้นเป็นนางมารร้ายตัวแสบ

ฮ่องกง – บัดนี้คำขวัญของกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนกรุงปักกิ่งที่ว่า “หนึ่งโลก หนึ่งความฝัน” ได้กลับกลายเป็นฝันร้ายสยองขวัญของทางการปักกิ่งไปเสียแล้ว แต่การประท้วงซึ่งไล่ตามติดเปลวเพลิงโอลิมปิกอย่างไม่ลดละ ขณะที่คบเพลิงกำลังถูกส่งทอดไปตามเส้นทางรอบโลกอย่างเจ็บปวดและน่าอับอายอยู่นี้ ดูจะประสบความสำเร็จเพียงแค่ทำให้จุดยืนของจีนในเรื่องทิเบตและสิทธิมนุษยชนกลับยิ่งแข็งกร้าวมากขึ้น อีกทั้งกำลังทำให้ประชาชนจีนรู้สึกแปลกแยกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ในผืนแผ่นดินใหญ่ –และแม้กระทั่งในฮ่องกง ที่ซึ่งทึกทักกันว่าเป็นจุดที่ตะวันออกกับตะวันตกมาบรรจบพบกันด้วยความประสานกลมกลืนอันได้แรงบันดาลใจจากการพาณิชย์ – เหตุรุนแรงและละครชวนหัวตามท้องถนนซึ่งไล่ติดตามการวิ่งคบเพลิงในช่วงผ่านกรุงลอนดอนและกรุงปารีส ทำให้ผู้คนส่วนมากที่นี่เกิดความรู้สึกในทางดูหมิ่นโลกตะวันตก ผสมผสานกับความโกรธเกรี้ยว

ความขี้ขลาดซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนเส้นทางวิ่งคบเพลิงในนาทีสุดท้าย ณ นครซานฟรานซิสโก ไม่ได้ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดให้ลดถอยลงเลย การเร่ตระเวนเย้ยหยันความมุ่งมาตรอันแรงกล้าของจีนที่จะเป็นหุ้นส่วนผู้เท่าเทียมกับคนอื่นในกิจการโลกคราวนี้ ถูกมองว่าเป็นการเหยียดหยามไม่เฉพาะต่อรัฐบาลจีนเท่านั้น หากต่อประชาชนคนจีนในทุกหนทุกแห่งด้วย การประท้วงในลักษณะตอบโต้ซึ่งจัดขึ้นโดยชาวจีนโพ้นทะเลที่พำนักอยู่ตามเมืองใหญ่เหล่านั้น คือข้อพิสูจน์ของเรื่องนี้

ต่อเมื่อการวิ่งคบเพลิงบรรลุถึงเมืองหลวงบูเอโนสไอเรสของอาร์เจนตินาในวันศุกร์(11) และเหตุการณ์ก็ผ่านไปได้อย่างสงบเป็นส่วนใหญ่ จึงได้นำความโล่งอกอย่างยินดีปรีดามาสู่ปักกิ่ง และความผ่อนคลายก็ดำเนินต่อเนื่องไปอีก เมื่อการวิ่งคบเพลิงผ่านเข้าสู่นครดาร์เอสซาลาม ของ แทนซาเนีย ในวันอาทิตย์(13) และกรุงมัสกัต ของ โอมาน ในวันจันทร์(14) กรุงอิสลามาบัด ของ ปากีสถาน คือจุดแวะถัดไปในสัปดาห์นี้ และคุณย่อมจะไม่สามารถหาความสนับสนุนได้มากนักจากที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นความสนับสนุนต่อขบวนการปลดปล่อยทิเบตให้เป็นเสรี หรือต่อพวกที่ไม่เห็นด้วยกับทางการซึ่งกำลังหดหู่อ่อนเปลี้ยอยู่ภายในเรือนจำของจีน

อันที่จริงแล้ว ประธานาธิบดีปากีสถาน เปอร์เวซ มูชาร์รัฟ ผู้กำลังเยือนปักกิ่งอยู่ในตอนนี้ ได้วิพากษ์ตำหนิอย่างรุนแรงใส่บรรดาผู้นำและสื่อของโลกตะวันตก ที่กำลังทำให้กีฬาโอลิมปิกกลายเป็นเรื่องการเมือง ด้วยการออกมาวิจารณ์เรื่องการไม่เคารพสิทธิมนุษยชนและนโยบายในทิเบตของจีน

อย่างไรก็ตาม หลังจากกรุงอิสลามาบัด ก็แทบรับประกันได้เลยว่าสิ่งต่างๆ จะเข้าสู่ภาวะโกลาหลอีกครั้ง เมื่อคบเพลิงผ่านเข้าสู่นครหลวงนิวเดลีของอินเดีย ที่ซึ่งกองทัพชาวทิเบตพลัดถิ่นจะต้องมาชุมนุมรวมตัวกันอย่างแน่นอน ออสเตรเลียก็อาจกลายเป็นจุดที่เกิดการแสดงอันประหลาดพิศดารขึ้นมาได้เช่นกัน นอกจากนั้นต้องไม่ลืมว่า ขณะที่คบเพลิงเคลื่อนเข้าใกล้ปลายทางของการวิ่งผ่าน 21 ประเทศในทั่วทั้ง 6 ทวีปที่มีผู้คนอาศัยคราวนี้ มันก็มีกำหนดการที่จะผ่านดินแดนทิเบตเองด้วย

แม้กระทั่งเมื่อเปลวเพลิง “ศักดิ์สิทธิ์” ไปถึงกรุงปักกิ่งสำหรับพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในวันที่ 8 สิงหาคม ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการประท้วงน่าจะยังมีอยู่ต่อไปท่ามกลางสายตาจับจ้องของนักข่าวต่างชาติ 30,000 คน และสำหรับช่วงเวลาก่อนจะถึงตอนนั้น ทุกๆ กลุ่มที่มีอาวุธติดไม้ติดมือสำหรับใช้เล่นงานจีน ก็จะต้องหาโอกาสที่จะป่าวร้องความไม่พอใจของพวกตนต่อท่านผู้ชมทั่วโลก

ที่จริงแล้ว กีฬาโอลิมปิกคราวนี้ ถ้าหากไม่ถูกทำลายพินาศไปเสียก่อนในระยะเวลา 4 เดือนข้างหน้านี้ ก็อาจจะถูกจดจำในฐานะที่เป็น “โอลิมปิกแห่งการประท้วง” และเหล่าผู้นำจีนอาจจะสำนึกเสียใจเมื่อรำลึกถึงวันที่พวกเขาตัดสินใจเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาคราวนี้ สิ่งที่สันนิษฐานกันเอาไว้ว่าจะเป็นงานเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่ต่อการก้าวออกมาสู่สังคมนานาชาติของจีน กลับกำลังแตกสลายลงอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นเหตุผลข้ออ้างเพื่อการทุบตีเล่นงานจีนกันอย่างใหญ่โตและยืดเยื้อ

ขณะที่การวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้อาจจะอิงอยู่กับความเป็นห่วงอันสมเหตุสมผล เกี่ยวกับพฤติการณ์กดขี่ของจีนในทิเบต ตลอดจนประวัติที่ย่ำแย่ในเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนโดยรวมๆ ของจีน แต่การแสดงออกของพวกเขา กลับกำลังนำไปสู่การลุกโหมของลัทธิชาตินิยมในหมู่คนจีน ซึ่งยิ่งเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่การปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จของพรรคคอมมิวนิสต์ หาใช่ทำให้มันอ่อนแอลงไม่

บรรดาห้องสนทนาทางอินเทอร์เน็ต เต็มไปด้วยความเคืองแค้นต่อรายงานข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ในเรื่องที่พวกผู้ประท้วงแขวนตัวจากสะพานโกลเดนเกต และพยายามอย่างเต็มที่ที่จะดับเปลวเพลิงโอลิมปิก ก้อแล้วเราคิดว่าชาวจีนโดยเฉลี่ยจะมีปฏิกิริยาเป็นอื่นไปได้อย่างไร เมื่อเห็นพวกผู้ประท้วงชาวตะวันตกกำลังใช้เครื่องดับเพลิงมาต้อนรับสัญลักษณ์แห่งการก้าวถึงเวทีระดับโลกของประเทศของเขา/เธอ

เรื่องราวแห่งความกล้าหาญ 2 เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ อาจจะสะท้อนภาพได้ดีที่สุดถึงความแตกต่างกันอย่างไกลสุดกู่ ระหว่างอารมณ์ความรู้สึกของชาวจีนและชาวตะวันตก ซึ่งมีต่อการเดินทางอันยากลำบากของเปลวเพลิงโอลิมปิก ทางข้างฝ่ายชาวจีนนั้น เรามี จินจิง ผู้พิการทางขาวัย 28 ปีซึ่งบัดนี้ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็น “นางฟ้าบนวีลแชร์” หลังจากสูญเสียขาข้างหนึ่งไปเนื่องจากโรคมะเร็ง เธอก็กำลังกลายเป็นวีรชนของประเทศชาติ จากการที่เธอพิทักษ์ปกป้องเปลวเพลิงโอลิมปิก ระหว่างการแวะพักที่กรุงปารีสอันเต็มไปด้วยอันตราย ตามรายงานข่าวของสื่อภาครัฐ จิน ซึ่งเคยเป็นนักกีฬาในทีมฟันดาบวีลแชร์ของนครเซี่ยงไฮ้ ได้ต่อสู้กับผู้เดินขบวนที่มาคอยก่อกวนอยู่เป็นระลอก เพื่อรักษาเปลวเพลิงไว้ให้โชติช่วงต่อไปในระหว่างการวิ่งคบเพลิงช่วงกรุงปารีส ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอแสดงความสำเร็จของเธอในการต่อสู้ประจันบานกับผู้โจมตีคนหนึ่ง จุดให้บรรดาห้องสนทนาทางอินเทอร์เน็ตลุกโพลงแรงกล้าด้วยความรู้สึกเร่าร้อนทางชาตินิยม และความกริ้วโกรธเคืองแค้น

“คุณจินคือนางฟ้ายิ้มหวานบนรถวีลแชร์” เป็นถ้อยคำพรรณนาของสำนักข่าวซินหัวของทางการจีน “ความไม่กลัวเกรงสิ่งใดของเธอได้ส่งผลแผ่ลามและสัมผัสเข้าถึงดวงใจของทั่วทั้งประเทศชาติ”

สำหรับในกรณีนี้ การโฆษณาชวนเชื่อเช่นนี้ก็คือความเป็นจริงเช่นกัน

จินผู้ซึ่งสูญเสียงานที่เคยทำในตำแหน่งพนักงานต่อโทรศัพท์ของโรงแรมแห่งหนึ่ง เมื่อมาถึงขณะนี้น่าจะไม่ประสบความลำบากอะไรเลยในการหางานใหม่ เพราะทั่วทั้งประเทศต่างพากันโอบอุ้มเธอไว้ ในฐานะสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวและศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของชาวจีน

ทางอีกฟากหนึ่งของพื้นพิภพ ขอเชิญพบกับ มาเจอรา คาร์เตอร์ วัย 41 ปี ผู้เชิญคบเพลิงโอลิมปิกคนหนึ่งในช่วงแวะผ่านซานฟรานซิสโก ปรากฏว่าคาร์เตอร์ใช้ช่วงเวลาที่เธอกำลังอยู่ท่ามกลางการจับจ้องของผู้คน จัดแจงคลี่ธงทิเบตเล็กๆ ที่เธอแอบซุกซ่อนไว้ในแขนเสื้อของเธอ ขณะที่ชั่วขณะแห่งความทรงเกียรติของชาวนิวยอร์กโดยกำเนิดผู้นี้ อาจจะแสนสั้นกว่า และก็ไม่ได้รับการยกย่องเชิดชูอย่างกว้างขวางเท่ากับทางฝ่ายสาวจีน แต่มันก็มีความเป็นสัญลักษณ์ไม่ได้น้อยไปกว่ากันเลย

“ดิฉันกำลังแสดงสิทธิของดิฉันในฐานะพลเมืองอเมริกัน ผู้กำลังใช้เสรีภาพแห่งการแสดงความคิดเห็น มาสนับสนุนผู้คนซึ่งไม่สามารถที่จะมีเสรีภาพเช่นนี้ได้” คาร์เตอร์บอกกับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กเดลี่นิวส์ “เป็นสิ่งที่ชัดเจนเหลือเกินสำหรับดิฉัน ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในทิเบต และดิฉันก็ต้องการที่จะทำอะไรสักอย่าง”

ขณะที่วีรกรรมของนางฟ้าวีลแชร์ได้รับการรายงานเป็นเวลานานถึง 15 นาที คาร์เตอร์และธงทิเบตของเธอได้ถูกดึงลากออกไปจากการวิ่งคบเพลิงอย่างรวดเร็ว และถูกส่งมอบต่อไปถึงมือตำรวจซานฟรานซิสโก โดยฝีมือหน่วยองครักษ์คบเพลิงโอลิมปิกของจีน ซึ่งบัดนี้มีชื่อฉาวโฉ่ในเรื่องท่าทีแข็งกร้าวรุนแรง

“ดูเหมือนว่าตอนนี้ดิฉันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกอีกต่อไปแล้ว” คาร์เตอร์บอกกับนิวยอร์กเดลี่นิวส์

โฆษกผู้หนึ่งของบริษัทโคคา-โคลา ซึ่งเป็นผู้ให้สปอนเซอร์แก่คาร์เตอร์ ในการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกที่แวะผ่านทวีปอเมริกาเหนือเพียงช่วงเดียวช่วงนี้ โดยเห็นได้ชัดเจนว่าด้วยความมุ่งหมายที่จะทำให้ขายโคล่าได้เพิ่มขึ้นมากๆ ในจีน ได้ออกมาแถลงแสดงความผิดหวังของบริษัท

“เป็นความโชคร้ายที่คุณคาร์เตอร์ใช้การเชื้อเชิญให้เข้าร่วมการวิ่งคบเพลิง มาเป็นเวทีเพื่อแสดงความเห็นทางการเมืองส่วนตัว” โฆษก เคลลี บรูกส์ กล่าว “เราเชื่ออย่างมั่นคงว่า โอลิมปิกเป็นพลังแห่งความดีงามซึ่งเฉลิมฉลองความยอดเยี่ยมที่สุดในทางการกีฬา และเราภาคภูมิใจที่ได้เข้าสนับสนุนโอลิมปิกปักกิ่ง 2008”

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหล่าผู้นำจีนกำลังคาดหวังให้ส่วนอื่นๆ ของโลกกระทำตามแบบโค้ก นั่นคือมุ่งสนใจแต่เรื่องผลกำไรขาดทุน แต่มันก็เป็นที่กระจ่างชัดว่าผู้คนจำนวนมากในโลกตะวันตก ไม่ได้มีความหวั่นเกรงในการใช้กีฬาโอลิมปิกคราวนี้มาเรียกร้องเอากับจีนในทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่สิทธิมนุษยชน ไปจนถึงเรื่องทิเบต ไปจนถึงเรื่องแคว้นดาร์ฟูร์ พวกเขาเชื่ออย่างไร้เดียงสาว่า ด้วยการกระทำเช่นนี้จะชักจูงให้เหล่าผู้นำจีนยินยอมดำเนินการปฏิรูป

ตรงกันข้ามเลย การประท้วงในโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับประเด็นทิเบต ประสบความสำเร็จเพียงแค่ก่อให้เกิดความโกรธกริ้วขึ้นในหมู่ประชาชนชาวจีน ซึ่งก็ทำให้รัฐบาลส่วนกลางมีเสรีมากขึ้นในการดำเนินการ แม้กระทั่งการใช้แนวทางอันเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จหนักข้อยิ่งขึ้น ทั้งๆ ที่เกิดการประท้วงเช่นนี้ ในเดือนนี้เองคณะผู้นำจีนก็มิได้ลังเลเลยในการจำคุก หูเจีย นักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิมนุษยชนเป็นเวลา 3 ปีครึ่ง

ปักกิ่งยังดูเหมือนกำลังเตรียมตัวเพื่อเข้าปราบปรามในเขตซินเจียง เขตปกครองตนเองระดับมณฑลที่ตั้งอยู่ไกลโพ้นทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ และประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม สัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ประกาศว่า ตำรวจสามารถกวาดล้างหน่วยผู้ก่อการร้าย 2 หน่วยในเขตดังกล่าว ซึ่งกำลังวางแผนพุ่งเป้าเล่นงานกีฬาโอลิมปิก ขณะที่เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่จริงมากๆ แต่โฆษกกระทรวง อู่เหอผิง ก็ไม่ได้แสดงหลักฐานใดๆ เกี่ยวกับการวางแผนที่กล่าวหากันนี้ และเป็นที่แน่นอนว่าเหล่าผู้นำจีนนั้นใช่ว่าจะไม่สามารถขยายเรื่องภัยคุกคามของการก่อการร้ายให้ใหญ่โตเกินจริง เพื่อใช้เป็นเหตุผลความชอบธรรมในการเข้าปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ที่พำนักอาศัยอยู่ในเขตนี้ ผู้มักไม่ค่อยยอมอยู่อย่างเงียบๆ

สื่อของรัฐยังประทับตราให้กลุ่ม สมัชชาเยาวชนชาวทิเบต ซึ่งสนับสนุนให้ทิเบตแยกตัวเป็นเอกราช ว่า เป็น“องค์การผู้ก่อการร้าย” และกล่าวหากลุ่มนี้ -เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ไม่ได้มีการแสดงหลักฐานอะไร –ว่ามีพฤติการณ์อันเหี้ยมโหด อย่างเช่น การตัดหูศัตรู และการเผาประชาชนผู้บริสุทธิ์ทั้งเป็น

นอกจากนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี ผู้วิพากษ์จีนอย่างรุนแรงแข็งกร้าวที่สุดคนหนึ่งในโลกตะวันตก ก็ถูกโจมตีอย่างดดุเดือดเผ็ดร้อนเช่นเดียวกัน เหรินหมินรึเป้า ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์ บอกว่าเพโลซีจะต้องถูกโหวตให้เป็น “บุคคลผู้น่ารังเกียจที่สุด” ไม่ว่าจะในโพลไหนก็ตามของประชาชนจีน

ซินหัวยังไปสุดโต่งยิ่งกว่านั้นอีก โดยกล่าวเสริมเติมต่อว่า “ประชาชนจีนมีเหตุผลชอบธรรมอย่างเต็มที่ที่จะเรียกเธอเป็น ‘ผู้พิทักษ์ปกป้องพวกแก๊งอาชญากร, พวกนักวางเพลิง, และพวกฆาตกร’” ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า ซินหัวกำลังวาดภาพไปถึงเรื่องที่เพโลซีประกาศสนับสนุนทะไลลามะ (ซึ่งเวลานี้กำลังอยู่ระหว่างเยือนสหรัฐฯเป็นเวลา 2 สัปดาห์) ตลอดจนผู้เดินขบวนชาวทิเบตที่ทำให้เกิดการจลาจลขึ้นมา

นี่แหละคือวิธีที่จีน “ยอมจำนน” ต่อการประท้วงของฝ่ายตะวันตก ความล้มเหลวไม่เป็นท่าของการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก มีแต่ทำให้เหล่าผู้นำจีนแข็งกร้าวมากขึ้น ด้วยความมั่นอกมั่นใจว่ามีแผนการร้ายของโลกตะวันตกที่มุ่งทำให้ประเทศจีนต้องอับอายขายหน้าในช่วงเวลาที่กำลังจะจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยเป็นส่วนหนึ่งในแผนการสมรู้ร่วมคิดกันอันกว้างขวางกว่านั้นอีก ซึ่งมุ่งขัดขวางไม่ให้จีนสามารถก้าวผงาดขึ้นสู่เวทีระดับโลก และประชาชนจีนก็สนับสนุนเต็มที่ต่อความมั่นอกมั่นใจเช่นนี้ด้วย กระแสแห่งลัทธิชาตินิยมอันโกรธเกรี้ยวที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ของพวกเขา น่าจะยังดำรงอยู่แม้โอลิมปิกผ่านเลยไปแล้ว ความฝันที่ว่ามหกรรมกีฬาฤดูร้อนรายการนี้ จะนำพาจีนและโลกตะวันตกให้มาใกล้ชิดกันมากยิ่งนั้น ได้แหลกเหลวยับเยินไปเสียแล้ว

ยิ่งมีแรงกดดันมากขึ้นเพื่อให้พวกผู้นำตะวันตกคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขัน ก็เป็นที่แน่นอนเหลือเกินว่า สิ่งซึ่งจะเข้ามาครอบงำ ก็คือ ความโกรธขึ้ง, ความระแวงแคลงใจ, และความเข้าใจผิด

เคนต์ อีวิ่ง เป็นอาจารย์และนักเขียนอยู่ที่โรงเรียนนานาชาติฮ่องกง
กำลังโหลดความคิดเห็น