เอเชียน วอลล์สตรีท – สปอนเซอร์มหกรรมกีฬาโอลิมปิกปักกิ่งเครียด หลังเจ้าหน้าที่จีนใช้กำลังปราบจลาจลในทิเบต หวั่นภาพลักษณ์เป็นแบรนด์เปื้อนเลือด เซ็งสุดฤทธิ์โดนคดีดาร์ฟูร์มาไม่ทันไร ถูกกดดันเรื่องทิเบตอีกแล้ว
เลอโนโว, โคคา-โคล่า, แม็คโดนัลค์ และ โฟล์กสวาเกน ได้ทุ่มงบรวมกันกว่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการเป็นผู้สนับสนุนมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปักกิ่งอย่างเป็นทางการ โดยหวังว่าการเป็นผู้สนับสนุนจะช่วยให้พวกเขาเข้าถึงตลาดจีนง่ายขึ้น ผ่านสายสัมพันธ์ (กวานซี่) กับผู้นำระดับสูงของจีน
อย่างไรก็ตามการเป็นสปอนเซอร์ดังกล่าว ได้สร้างปัญหาให้กับบริษัทเหล่านี้ ด้วยกลุ่มนักรณรงค์ก็เล็งเห็นว่า บริษัทเหล่านี้ย่อมมีพลังเพียงพอในการกดดันรัฐบาลจีนได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน
เมื่อปี 2007 กลุ่มเอ็นจีโออเมริกัน “ดรีม ฟอร์ ดาร์ฟูร์” ได้ทำการประเมินบริษัทยักษ์ที่เป็นสปอนเซอร์มหกรรมกีฬาโอลิมปิก โดยประเมินแจกเกรด A ถึง Fปรากฏว่าบริษัทเหล่านี้ตกระนาว ด้วยเหตุนิ่งเงียบไม่ยอมกดดันรัฐบาลจีนช่วยคลี่คลายศึกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดาร์ฟูร์
หลังต้องเครียดกับภาพลักษณ์สอบตกกรณีดาร์ฟูร์ ที่เผยแพร่ไปตามหน้าสื่อ ล่าสุดสปอนเซอร์รายใหญ่เผชิญเรื่องปวดหัวอีกแล้ว เมื่อเกิดการปราบปรามในทิเบต บริษัทหลายแห่งถึงกับเรียกประชุมฉุกเฉิน เพื่อหาทางรับมือผลกระทบ
“พวกเขาไม่อยากเห็นเหตุการณ์ที่คล้ายกับเทียนอันเหมินครั้งที่ 2 เพราะจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัท ที่ติดต่อกับรัฐบาลจีน แม้พวกเขาจะเอาตัวรอดได้ว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับทิเบต แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ติดต่อกับรัฐบาลจีนอยู่ดี ฉะนั้นผลประโยชน์ของเหล่าสปอนเซอร์จึงอยู่ที่ว่า เขาจะเอาตัวรอดจากปัญหานี้ หลุดวังวนแรงวิจารณ์ได้อย่างไร” อีเลียต คัทเลอร์ จากบริษัทกฎหมายแห่งหนึ่งในปักกิ่งกล่าว
อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวระบุว่า ขณะนี้บริษัทที่เครียดที่สุดคือ 3 บริษัทยักษ์ เลอโนโว, ซัมซุง และโคคา-โคล่า เนื่องจากทั้ง 3 บริษัทให้การสนับสนุนการวิ่งคบเพลิง ซึ่งจะเริ่มวิ่งในวันที่ 23 มี.ค.นี้ และมีกำหนดการวิ่งผ่าน ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ช่วงพ.ค. ทั้ง 3 บริษัทเกรงว่า แบรนด์การค้าของตนจะถูกออกอากาศไปทั่วโลก พร้อมกับการประท้วงจากชาวทิเบต และนักรณรงค์เป็นฉากหลัง
ทั้งนี้การสนับสนุนวิ่งคบเพลิงทางบริษัทต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกต่างหากเป็นจำนวน 15- 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
บรรดาสปอนเซอร์ต่างพยายามแก้ภาพลักษณ์ ด้วยการอ้างว่า พวกเขาไม่ได้มีอำนาจ และบทบาทที่จะไปแนะนำ กำหนดนโยบายของปักกิ่งได้ พร้อมกันนี้ทางบริษัทยังพยายามขับเน้นว่า โอลิมปิกจะเป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดสันติภาพ
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ชี้ว่า เหตุการณ์ทิเบต อาจส่งผลกระทบให้บรรดาผู้สนับสนุนโอลิมปิก พยายามทำตัวออกห่างจากรัฐบาลจีน ด้วยการลดประชาสัมพันธ์การตลาดลง เพื่อให้ภาพลักษณ์ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับจีน ถูกนำเสนอน้อยลง
บทเรียนจากโอลิมปิกแอตแลนต้าเกมส์ ปี 1966 ที่ระบบการแพร่กระจายข่าว ซึ่ง ไอบีเอ็ม เป็นผู้ดูแลเกิดล้มไม่เป็นท่า ทางไอบีเอ็มก็แก้เกมส์ด้วยการลดการตลาดที่สร้างภาพว่า ไอบีเอ็ม เป็นผู้สนับสนุนโอลิมปิกแอตแลนต้า นอกจากนี้กรณีของ อาดิดาส ที่สนับสนุนทีมจักรยาน ที-โมบาย ซึ่งมีข่าวพัวพันกับกรณีใช้ยาโด๊ป อาดิดาสก็จัดการถอนตัวออกจากการเป็นสปอนเซอร์
ทั้งนี้ผู้สนับสนุนบางรายได้ออกมาแถลงว่า ทางบริษัทได้พยายามวิ่งเต้นให้ทางการจีน และคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนจีนมากขึ้น
แม้บริษัทหลายแห่งได้อกมาแก้ต่างว่า พวกเขามิได้มีอำนาจ หรือทางเลือกมากนัก เมื่อเจรจากับรัฐบาลจีน อย่างไรก็ตาม นักรณรงค์มิได้เห็นพ้องกับข้ออ้างนี้
ลาดอน เตทอง (Lhadon Tethong) จากกลุ่มเอ็นจีโอ ฟรี ทิเบต ย้ำว่า “เราไม่ได้หวังอะไรกับสปอนเซอร์มากมาย ทว่าเราก็ไม่ปล่อยพวกเขาลอยนวลสบายๆ เรากำลังพยายามช่วงชิงโอกาส เพื่อนำปัญหาการยึดครองทิเบต เสนอสู่สายตาชาวโลก” นักรณรงค์แห่งกลุ่ม ฟรี ทิเบต กล่าว พร้อมชี้ว่า ขณะนี้ทางกลุ่มกำลังวางแผนโจมตีสปอนเซอร์โอลิมปิก ผ่านการรณรงค์ระดับรากหญ้า