เอเอฟพี - ขณะที่ความรู้สึกสำนึกผิดต่อภาวะโลกร้อนในหมู่นักท่องเที่ยวได้เพิ่มสูงขึ้น ทางโรงแรมและรีสอร์ทต่าง ๆ ก็ค้นพบว่า ตัวเองจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับบรรดาลูกค้าผู้รักธรรมชาติมากกว่าเพียงแค่ขอร้องให้พวกเขานำผ้าเช็ดตัวกลับมาใช้ใหม่
ระบบระบายความร้อนด้วยอากาศใต้ทะเล,การติดตั้งโคมไฟอัจฉริยะซึ่งช่วยประหยัดพลังงาน ตลอดจนสวนสมุนไพรที่ปลูกด้วยปุ๋ยอินทรีย์ และสถานสปาที่ก่อสร้างจากโคลนทั้งหลังนั้น ล้วนแล้วแต่ถูกเนรมิตขึ้นมาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวผู้ใส่ใจว่าตัวเองก่อมลภาวะมากน้อยเพียงใด
ขณะเดียวกัน บรรดาผู้ประกอบการต่างก็ตระหนักดีว่า นโยบายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาความรู้สึกผิดของนักท่องเที่ยวเท่านั้น ทว่ายังส่งผลดีต่อเงินในกระเป๋าและชื่อเสียงของโรงแรมและรีสอร์ทอีกด้วย
"ปัจจุบันนี้สิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้คน" นันทิยา ตุลยานนด์ เจ้าของ "โอลด์ แบงค็อก อินน์" โรงแรมขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในนครหลวง ซึ่งให้บริการลูกค้าด้วยเทคโนโลยีประหยัดพลังงานอันหลากหลายน่าประทับใจกล่าว
"ดิฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่เพียงแต่ช่วยรักษาโลกใบนี้เอาไว้เท่านั้น แต่ยังช่วยประหยัดเงินด้วย"
ณ รีสอร์ทซิกส์ เซนส์ ไฮด์อะเวย์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอำเภอหัวหิน พนักงานในชุดเครื่องแบบที่สวมใส่สบายคล้ายชุดนอน ใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทางไปมาบริเวณรอบ ๆ รีสอร์ทขนาด 75 ไร่แห่งนี้ ภายใต้ร่มเงาจากต้นปาล์มและต้นกล้วย
ส่วนบรรดาแขกเหรื่อต่างก็พักผ่อนหย่อนใจอยู่ในบ้านพักที่แยกเป็นหลังๆ ซึ่งก่อสร้างจากวัสดุตามธรรมชาติ โดยภายในห้องพักแทบจะไม่มีข้าวของชิ้นใดที่ผลิตจากพลาสติกเลย นอกจากนี้ ยังมีแผ่นพับที่ดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวหันมาชดเชยการปล่อยมลภาวะระหว่างเดินทางทางอากาศวางอยู่ข้างเตียงด้วย
ศรีจันทร์ มนรักขารมย์ ผู้จัดการแผนกสังคมและสิ่งแวดล้อมของรีสอร์ทแห่งนี้ ภูมิใจนำเสนอฟาร์มเห็ด,สปาโคลน,สวนสมุนไพร,เครื่องทำน้ำอุ่นพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบเครื่องปรับอากาศที่จะปิดอัตโนมัติเมื่อแขกเปิดประตูออกจากห้อง
"ชาวยุโรป พวกเขารู้สึกผิดที่ต้องบินข้ามน้ำข้ามทะเลเป็นระยะทางแสนไกล ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมาก" ผู้จัดการหญิง ซึ่งจบการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมบอก
จากรายงานขององค์การสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้ว ระบุว่า การท่องเที่ยวโดยเฉพาะการเดินทางทางอากาศนั้น มีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ทั่วโลกราว 6 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ก๊าซดังกล่าวเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ซึ่งกักเก็บความร้อนจากแสงอาทิตย์เอาไว้แล้วสะท้อนกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก และกระตุ้นให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น
และจากการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกน่าจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวภายในปี 2020 ก็ย่อมส่งผลให้การปล่อยก๊าซไอเสียน่าจะพุ่งพรวดตามไปด้วย
วิลล์และลิน สเวนีย์ แขกของซิกเซนต์ไฮด์อะเวย์ ทั้งคู่มีอายุราว 30 ปีต้นๆ และประกอบอาชีพด้านการโฆษณาในฮ่องกง ได้พยายามค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความน่าเชื่อถือด้านสิ่งแวดล้อมของโรงแรมและรีสอร์ทต่างๆ ก่อนจะตัดสินใจเข้าพัก
"สิ่งที่เราพยายามทำในตอนนี้ คือการตัดลดจำนวนการเดินทางหลายต่อหลายเที่ยวอย่างที่เราทำอยู่ และลดทอนการเดินทางพักผ่อนในวันหยุดให้น้อยลง" วิลล์บอก
อย่างไรก็ตาม แขกจำนวนมาก บอกว่า พวกเขาไม่รู้จริงๆ ว่าจะถ้าค้นหาข้อมูลนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของโรมแรมที่พักจะค้นกันอย่างไร
"มักจะเป็นเรื่องยากในการวินิจฉัยเมื่อคุณอยู่ไกลจากสถานที่จริง แม้คุณจะมีโบชัวร์ทางการตลาดก็ตาม แต่คุณก็ไม่รู้อยู่ดีว่าความจริงจะเป็นเช่นใด" เจฟฟ์ ทอมป์สัน นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์วัย 34 ปี จากนิวซีแลนด์บอก
ขณะที่ เมื่อลองค้นหาคำว่า "รีสอร์ทเชิงนิเวศในประเทศไทย" (eco-resort Thailand) ในเว็บไซด์เซิร์ชเอนจินปรากฏผลลัพธ์กว่า 34,000 รายการ แต่คำนำหน้าว่า "ระบบนิเวศ" (eco) บางครั้งก็มีความหมายเพียงว่ารีสอร์ทเหล่านั้นตั้งอยู่บนชายหาดสะอาดผุดผ่องอันยาวเหยียด หรือไม่ก็เสนอการเดินทางแบบตื่นเต้นผจญภัย
มีแหล่งข้อมูลสำหรับนักเดินทางผู้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอยู่เหมือนกัน อาทิ เว็บไซด์EnvironmentallyFriendlyHotels.com และกรีน โกล์บ 21 ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ที่มอบประกาศนียบัตรรับรองให้แก่รีสอร์ทต่างๆ ที่ได้มาตรฐานตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้
กระนั้นก็ตาม โอลิเวอร์ มาร์ติน รองผู้อำนวยการแห่งสมาพันธ์ท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิก เผยว่า ปัจจุบันนี้มีความแตกต่างมากมายเกี่ยวกับมาตรฐาน "การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" ในธุรกิจด้านนี้ ซึ่งนักท่องเที่ยวได้เพียงแต่เกาศีรษะแกรกๆ
"ผู้บริโภคอยากทราบให้มากกว่านี้ และต้องการรู้ว่าเงินดอลลาร์ที่พวกเขาเสียไปนั้น ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างแท้จริงประการใด ทว่า ในตอนนี้ทุกอย่างยังคงอยู่ในสภาพไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเอาเสียเลย" มาร์ตินบอก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเดินทางชาวยุโรป พวกเขาเรียกร้องจากทางโรงแรมมากกว่าเพียงแค่ความพยายามต่างๆ ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มาร์ตินเสริม นั่นหมายความว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและมุ่งมั่นที่จะเติบโตไปในแนวทางอันยั่งยืน
ไมเคิล ควี ผู้จัดการฝ่ายรับผิดชอบต่อสังคมแห่งบันยัน ทรี โฮเทล แอนด์ รีสอร์ทส์ เผยว่า เครือโรงแรมระดับตลาดบนซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์แห่งนี้ กำลังจะประกาศริเริ่มดำเนินนโยบายการบริหารจัดการน้ำตลอดจนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพพร้อมกันทั้งบริษัท
แม้แต่รีสอร์ทซิกเซนต์ไฮด์อะเวย์ก็เคยพิจารณาที่จะนำแนวคิดการหมุนเวียนอากาศด้วยการดึงอากาศเย็นจากใต้ทะเลมาใช้ในรีสอร์ทแห่งใหม่ แต่กลับพบว่าทะเลในบริเวณดังกล่าวไม่ลึกเพียงพอที่จะนำเทคโนโลยีสีเขียวแบบใหม่เช่นนี้มาใช้
ย้อนกลับไปที่โรงแรมโอลด์ แบงค็อก อินน์อีกครั้ง ผู้เป็นเจ้าของโรงแรมบรรยากาศสบายๆ ที่มีห้องพักเพียง 10 ห้องแห่งนี้ แสดงความกระตือรือร้นเกี่ยวกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่บรรดาโรงแรมขนาดย่อมๆ พอจะทำได้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ การลดปริมาณน้ำในการกดชักโครก,อุปกรณ์เครื่องใช้ที่ประหยัดพลังงาน,การเปิดหน้าต่างบนหลังคาเพื่อรับแสงจากดวงอาทิตย์ ตลอดจนเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้เก่านำกลับมาใช้ใหม่ ทุกอย่างที่กล่าวมานั้น ล้วนแล้วแต่ช่วยให้โรงแรมของเธอกลายเป็นโรงแรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะเดี่ยวกันก็เป็นการตัดลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในระยะยาวได้อีกด้วย
"เรารักที่จะอยู่กับธรรมชาติ เรารักดอกไม้ เรารักต้นไม้ เรารักสัตว์ ดิฉันคิดว่านโยบายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งหลายเหล่านี้ สอดคล้องกับการประหยัดค่าใช้จ่าย" นันทิยากล่าว