xs
xsm
sm
md
lg

เหล่าตัวเก็งชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯเห็นต่างกันเรื่องสงครามต้านก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: อาลี กอริบ

Presidential paths diverge over terror focus
By Ali Gharib
04/04/2008

การต่อสู้กันเองในระหว่างชาวชิอะห์ในอิรักเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้อิรักและอัฟกานิสถาน หวนกลับเข้ามาอยู่ในวาระของบรรดาตัวเก็งผู้วาดหวังเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไป ทั้ง ฮิลลารี คลินตัน และ บารัค โอบามา แห่งพรรคเดโมแครต และ จอห์น แมคเคน ของพรรครีพับลิกัน ต่างบอกว่าพวกเขาจะสนับสนุนการสู้รบในอัฟกานิสถาน ทว่าคำถามซึ่งยังไร้คำตอบก็คือ การทำศึกกับพวกอิสลามิกแนวคิดสุดโต่งในอิรักและในอิฟกานิสถานนั้น ที่ไหนมีความสำคัญมากกว่า และทั้งสองสมรภูมิส่งผลกระทบกระเทือนกันและกันอย่างไรบ้าง

วอชิงตัน – การสู้รบกันอย่างรุนแรงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในนครใหญ่ของอิรักทั้งสอง คือ กรุงแบกแดดและเมืองบาสรา ได้ส่งผลสะท้านสะเทือนกลับมาจนถึงวอชิงตัน โดยทำให้ประเด็นเรื่องสงครามอิรักกลับขึ้นมาอยู่ในความสนใจกันอีกครั้งอย่างฉับพลัน ขณะที่ฤดูกาลเลือกตั้งขั้นต้นประธานาธิบดีสหรัฐฯประจำปี 2008 กำลังย่างเข้าสู่ช่วงสุดท้าย

เมื่อวันจันทร์ ณ สถาบันบรูคกิ้งส์ อินสติติวชั่น ที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน บรรดาที่ปรึกษาด้านนโยบายการต่างประเทศจากทีมหาเสียงของตัวเก็งทั้งสาม ต่างพยายามหาทางนำเอากรณีการต่อสู้ชิงอำนาจด้วยกำลังอาวุธระหว่างชาวอิอะห์ด้วยกันนี้ มาสวมรับให้เข้ากับแผนการเรื่องอิรักของพวกเขา - ซึ่งทั้ง ฮิลลารี คลินตัน และ บารัค โอบามา ของฝ่ายเดโมแครต ต่างกำลังประกาศสนับสนุนแนวทางการถอนทหารสหรัฐฯออกจากอิรักอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่ จอห์น แมคเคน ของทางรีพัลบิกัน กำลังโต้แย้งเพื่อให้คงกำลังทหารจำนวนมากเอาไว้ในประเทศนั้นต่อไป

ส่วนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญมากในการแถลงแนวทางนโยบายของทั้ง 3 ทีมเหล่านี้ ก็คือ คำถามที่ยังคงผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ที่ว่า อะไรคือแนวรบแกนกลางในสิ่งที่เรียกว่า “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” นี้ – ระหว่างการทำศึกกับพวกอิสลามิกแนวคิดสุดโต่งในอิรัก และสงครามในอิฟกานิสถานตลอดจนบริเวณพื้นที่ชายแดนประชิดกับปาถีสถาน ซึ่งเป็นที่มั่นของพวกคณะผู้นำส่วนกลางของอัลกออิดะห์นั้น ที่ไหนมีความสำคัญมากกว่า และทั้งสองสมรภูมิส่งผลกระทบกระเทือนกันและกันอย่างไรบ้าง

ทั้งที่ปรึกษาของแมคเคน และของตัวเก็งทั้งสองในฝ่ายเดโมแครตต่างบอกตรงกันว่า แผนการของพวกเขานั้นจะมุ่งเน้นสนับสนุนการสู้รบในอัฟกานิสถาน

แรนดี ชอยเนมันน์ ที่ปรึกษาระดับท็อปในทีมงานด้านนโยบายการต่างประเทศของแมคเคน พูดในสิ่งซึ่งเป็นการย้ำหลักเหตุผลอันประกาศออกมานานแล้วของคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่บอกว่า การถอนทหารออกจากอิรักเท่ากับเป็นความพ่ายแพ้ ซึ่งจะเป็นการให้กำลังใจแก่พวกผู้ก่อการร้ายทั่วโลก

“เราได้เรียนรู้มาในช่วงทศวรรษ 1990 แล้วว่า เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคำพูดของพวกอัลกออิดะห์” เขากล่าว “พวกเขาพูดออกมาเองว่าอิรักคือแนวรบแกนกลางในสงครามที่พวกเขากำลังสู้รบกับฝ่ายตะวันตก ผมมองไม่เห็นเลยว่าเราจะสามารถดำเนินการให้บรรจุเป้าหมายของเราในอัฟกานิสถานให้ดีขึ้นได้อย่างไร ถ้าหากเราพ่ายแพ้ในอิรัก”

แต่สำหรับพวกที่ปรึกษาของตัวเก็งฝ่ายเดโมแครตแล้ว การถอนทหารออกจากอิรักจะมีส่วนช่วยการสู้รบของสหรัฐฯในอัฟกานิสถานได้อย่างไรนั้น กลับเป็นเรื่องที่ชัดเจนมาก –มันจะทำให้บางส่วนของทหารกว่า 100,000 คนในอิรัก สามารถหันไปไล่ล่าผู้ก่อการร้ายระดับโลกในสถานที่ซึ่งพวกเขากำลังตั้งฐานอยู่ อีกทั้งทำให้มีเงินเหลือเป็นพันๆ ล้านดอลลาร์เพื่อใช้ดำเนินสงครามในอัฟกานิสถาน

“ความพ่ายแพ้คือการต้องอยู่ในอิรักไปอีก 100 ปี เพราะมันจะส่งผลต่อเนื่องอันร้ายแรงมากๆ สำหรับเราทั้งในอัฟกานิสถานและปากีสถาน” ลี เฟนสไตน์ ที่ปรึกษาของคลินตันกล่าว พร้อมกับเสริมว่า ในอัฟกานิสถานนั้น “อัลกออิดะห์กำลังมีความแข็งแกร่งมากไม่ว่าจะเทียบกับช่วงไหนๆ ภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน”

ทั้งนี้แมคเคนเป็นผู้ที่พูดไว้ว่า เขาไม่ได้มีปัญหาเลยถ้าหากจะต้องอยู่ในอิรักไปอีกสัก 100 ปี และขณะที่เขากล่าวถึงช่วงเวลาดังกล่าวในลักษณะของแผนการเพื่อการตั้งฐานทัพถาวรทำนองเดียวกับที่สหรัฐฯทำอยู่ในเกาหลีนั้น มันก็ยังไม่กระจ่างแจ้งเลยว่าอีกเมื่อใดและจะใช้วิธีไหนจึงจะสามารถปรับเปลี่ยนจากสงครามอันร้อนแรง ให้กลายเป็นการปรากฏตัวทางทหารในยามสันติเช่นว่านั้นได้

“สิ่งที่จะเป็นผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ในวงกว้างที่สุดของอเมริกาคืออะไร ตัวอย่างเช่น ถ้าเรายังคงรักษาพันธะของเราในอิรักเอาไว้อย่างไม่มีกำหนดแล้ว เราจะสามารถแก้ไขจัดการปัญหาของแนวรบซึ่งถูกลืมกันไปแล้วในอัฟกานิสถานได้หรือ” เฟนสไตน์ตั้งปุจฉา

ขณะที่ เดนิส แมคโดนัจ ที่ปรึกษาของโอบามา เรียกยุทธการต่างๆ ในอิรักว่า เป็น “การเบี่ยงเบนออกจากการสู้รบของเราในอัฟกานิสถาน และออกจากแนวรบสำคัญที่สุดในการต่อสู้เล่นงานพวกอัลกออิดะห์นี้” เขาชี้ว่าถึงแม้มีคำร้องขอกำลังทหารจำนวนมากขึ้น จากพวกผู้บัญชาการทหารในภาคใต้ของอัฟกานิสถาน เพื่อสยบความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในพื้นที่แถบนั้น ก็ปรากฏว่าไม่สามารถหาทหารเพิ่มให้ได้ และ “ถูกเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน” เนื่องจากพันธะผูกพันมากมายในอิรัก

สัปดาห์ที่แล้ว ประธานวิทยาลัยการสงครามแห่งกองทัพบกสหรัฐฯ พลตรี รอเบิร์ต สเกลส์ ก็ได้ออกมาแถลงว่า วิธีจัดกำลังทหารสหรัฐฯในระดับที่จัดกันอยู่ในปัจจุบัน เป็นสิ่งซึ่งไม่อาจจะดำเนินการต่อไปได้แล้ว โดยเขาชี้ว่าตัวเลขแสดงให้เห็นชัดๆ แล้วว่าทำไม่ได้

“คุณไม่สามารถจะมีกำลังทหารอยู่ 43 กองพลน้อย โดยที่เอา 23 จาก 43 กองพลน้อยนี้เข้าประจำการในสนาม แล้วก็จะให้มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกำลังในอัตราหนึ่งต่อหนึ่ง สำหรับช่วงเวลาที่จะได้กลับมาอยู่บ้านและช่วงเวลาที่จะเข้าประจำในสมรภูมิ” เขากล่าว

ในอิรักนั้น พวกนักรบก่อความไม่สงบถูกจัดตั้งกันขึ้นมาโดยอัตลักษณ์ทางศาสนา ทว่าลัทธิสุดโต่งทางศาสนาของพวกเขาไม่ได้มุ่งมายังสหรัฐฯโดยรวมๆ เลย หรือไม่ได้มุ่งมายังปิตุภูมิสหรัฐฯเลย หากแต่มุ่งต่อต้านการยึดครองของสหรัฐฯต่างหาก

ขณะที่พวกนักรบญิฮัดต่างชาตินั้นมีอยู่จริงๆ ในอิรัก แต่นักรบสุหนี่ที่เคยมีสัมพันธ์ร่วมมือกับกลุ่มซึ่งแยกขยายมาจากอัลกออิดะห์ นั่นคือ อัลกออิดะห์ในอิรัก เวลานี้กำลังกลับหันมาใกล้ชิดกับสหรัฐฯ โดยกลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการซอห์วา หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า ขบวนการแห่งความตื่นของชาวสุหนี่ (Sunni Awakening) ซึ่งกำลังปฏิเสธไม่ยอมรับกลุ่มอัลกออิดะห์ในอิรัก และทำให้กลุ่มนี้ลดความสำคัญลงเรื่อยๆ

“แน่นอนทีเดียว่าแมคเคนกำลังโกหก ตอนที่เขาพูดว่าอิรักจะกลายเป็นรัฐของอัลกออิดะห์ ถ้าหากสหรัฐฯถอนตัวออกมา” เป็นความเห็นของ นีร์ โรเซน นักหนังสือพิมพ์ผู้คว่ำหวอดอยู่ในอิรักมาอย่างยาวนาน โรเซนบอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิสว่า ไม่ว่าจะพยายามพิจารณาความหมายของ “สงครามสู้การก่อการร้าย” ให้สอดคล้องกับสงครามอิรักเพียงใดก็ตาม ก็เป็นที่ชัดเจนว่าความสอดคล้องที่ว่าไม่ได้กำลังเกิดขึ้นในอิรักเลย

ขณะเดียวกันในอัฟกานิสถานและปากีสถาน คณะผู้นำส่วนกลางของอัลกออิดะห์กำลังรวมตัวกันใหม่ และถูกกล่าวหาว่ากำลังดำเนินการฝึกฝนกันใหม่เพื่อโจมตีเล่นงานสหรัฐฯต่อไป เฟนสไตน์กล่าวว่าในพื้นที่ชายแดนระหว่างสองประเทศนี้ สหรัฐฯกำลังเผชิญ “ปัญหาอันร้ายแรงสาหัสจริงๆ กับผู้คนซึ่งต้องการเล่นงานโจมตีและทำร้ายสหรัฐฯ และกำลังวางแผนเรื่องนี้กันอยู่ทุกๆ วัน”

ในเดือนกุมภาพันธ์ พลเรือเอก(เกษียณอายุ) เจ ไมเคิล แมคคอนเนลล์ ผู้อำนายการข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ แถลงว่า ภัยคุกคามใหญ่หลวงที่สุดต่อสหรัฐฯนั้น มาจากคณะผู้นำอัลกออิดะห์ในอัฟกานิสถานและปากีสถาน ที่กลับมีความกระชุ่มกระชวยขึ้นมาใหม่

ทว่าผู้เชี่ยวชาญบางคนอย่างเช่นโรเซนตอบโต้ว่า การพูดถึง “สงครามสู้การก่อการร้าย” ทั้งสองแบบนี้ ก็ล้วนแต่มีจุดอ่อนข้อบกพร่องอย่างร้ายแรงทั้งสิ้น

ในส่วนที่เกี่ยวกับอิรักนั้น ฮวน โคล ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวว่า สหรัฐฯไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากสงครามในอิรัก รวมทั้งสงครามที่นั่นก็ไม่สามารถทำให้กลุ่มญิฮัดทั่วโลกอ่อนแอลงแต่อย่างใด

“อัลกออิดะห์ตัวจริงเวลานี้กำลังใช้อิรักเป็นเครื่องมือในการระดมหาสมาชิกใหม่ๆ” เขากล่าว “[สหรัฐฯกำลัง]เล่นไปตามเกมของ [อุซามะห์] บินลาดิน ภายในขอบเขตที่สหรัฐฯเข้าไปพัวพันในการใช้กำลังทหารยึดครองประเทศอาหรับ-มุสลิมประเทศหนึ่ง พวกเขาก็กำลังเล่นไปตามบทที่บินลาดินเขียนไว้ให้”

โคลไม่เห็นว่ามีความเชื่อมโยงอะไรระหว่างนักรบอัลกออิดะห์ที่เป็นคนต่างชาติกับการต่อสู้ในอิรัก “เรามีนักโทษ 24,000 คนในอิรัก พวกเหล่านี้แค่ราว 150 คนเท่านั้นที่เป็นคนต่างชาติ” โคลแจกแจง “ดังนั้นสิ่งที่ตัวเลขเหล่านี้บอกกับผมก็คือ เรากำลังสู้รบอยู่กับคนอิรัก ถ้านักรบต่างชาติ –ในแบบฉบับของอัลกออิดะห์- เป็นกลุ่มสำคัญแล้ว เราก็ควรมีพวกเขามากกว่านี้อยู่ในคุก ทำไมไม่เป็นอย่างนั้นล่ะ พวกเขาวิ่งเร็วกว่าหรือ มันเป็นไปไม่ได้หรอก เมื่อพิจารณาจากสถิตินี้แล้วจะบอกว่า อิรักคือแนวรบแกนกลางในสงครามสู้การก่อการร้ายใดๆ ”

ทว่าโคลก็เตือนให้ระมัดระวังด้วยว่า สงครามในอัฟกานิสถานและการต่อสู้กับกลุ่มบางกลุ่มในปากีสถาน ก็มีบทบาทเพียงน้อยนิดในการต่อสู้ต้านภัยคุกคามของการก่อการร้ายที่จะมีต่อสหรัฐฯ

“ความคิดที่ว่าสหรัฐฯกำลังเผชิญภัยคุกคามถึงชีวิตจากดินแดนวาซิริสถานในภาคเหนือของปากีสถาน ก็ไม่ได้สมเหตุสมผลเลยสำหรับผมเหมือนกัน” โคลบอก “มีคนจำพวกอัลกออิดะห์หยิบมือหนึ่งอยู่ที่นั่นแน่นอนเลย ทว่าผมไม่คิดว่าจะมีอะไรเหลือมากมายแล้วสำหรับกลุ่มที่ยังอยู่ในอัฟกานิสถาน ผมไม่เข้าใจว่าพวกเขาสามารถทำอะไรเราได้จากวาซิริสถาน เหตุการณ์ 11 กันยายนน่ะไม่ได้เปิดฉากลงมือจากชนบทอัฟกานิสถานนะ มันถูกเปิดฉากลงมือจากเมืองฮัมบูร์ก เยอรมนีต่างหากล่ะ”

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น