xs
xsm
sm
md
lg

ครบรอบ 5 ปี “สงครามอิรัก": วิกฤตด้านมนุษยธรรมดำดิ่งสู่ “หายนะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ซีเอ็นเอ็น – ก่อนถึงวาระครบรอบ 5 ปี แห่งสงครามอิรักในวันพฤหัสบดีนี้ (20) องค์การด้านมนุษยธรรมชั้นแนวหน้าของโลก 2 แห่ง ได้เผยแพร่รายงานแบบครบวงจรเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (17) โดยบรรยายถึงวิกฤตการณ์อันใหญ่โตมหาศาล ขณะที่ แทบจะไม่มีเหตุผลให้หวังในด้านดี

“แม้จะมีข้ออ้างต่างๆ ที่ระบุว่า สถานการณ์ความมั่นคงในอิรักดีขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ทว่าสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนกลับดำดิ่งสู่หายนะ” องค์การนิรโทษกรรมสากลหรือเอไอกล่าวในรายงานของตัวเอง ซึ่งมีชื่อว่า “การนองเลือดและความสิ้นหวัง : 5 ปีสงครามอิรัก”

ในบทสรุปของรายงานฉบับดังกล่าว องค์การนิรโทษกรรมสากล บอกว่า “บรรยากาศของการไม่ต้องรับโทษเป็นที่ปรากฏอยู่ทั่วไป ภาวะเศรษฐกิจอยู่ในสภาพขาดกระจุยรุ่งริ่ง ขณะที่วิกฤตผู้อพยพ” ยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

ด้านคณะกรรมการกาชาดสากลเขียนในรายงานอันมีชื่อว่า “อิรัก : วิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมไม่ได้ดีขึ้นมาเลย” ไว้ดังนี้ “ถึงจะมีการกระเตื้องดีขึ้นด้านความมั่นคงในวงแคบสำหรับบางพื้นที่ แต่ความรุนแรงก็ยังส่งผลหายนะร้ายแรง พลเรือนยังคงถูกสังหารท่ามกลางความเป็นปรปักษ์ต่อกัน”

“ผู้ได้รับบาดเจ็บมักไม่ได้รับการรักษาทางการแพทย์อย่างเพียงพอ ผู้คนหลายล้านชีวิตถูกบีบให้พึ่งพาน้ำที่มีคุณภาพต่ำ ขณะที่ระบบส่งน้ำและระบบจัดการสิ่งปฏิกูลก็ล้มเหลว เนื่องจากขาดการบำรุงรักษาและขาดแคลนบุคคลากรผู้ชำนาญ”

ทั้งที่ รัฐบาลประธานาธิบดีบุช ตลอดจนสมาชิกนิติบัญญัติสังกัดพรรครีพับลิกัน รวมทั้งวุฒิสมาชิกจอห์น แมคเคน ตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ มักจะยกย่องความสำเร็จ ณ สมรภูมิอิรักในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ โดยอ้างว่าสถานการณ์ความมั่นคงดีขึ้นในเขตพื้นที่สำคัญ ๆ

แต่องค์การนิรโทษกรรมสากลและกาชาดต่างประณามรัฐบาลอิรักที่ล้มเหลวไม่ได้ปัญหาในเรื่องกับความจำเป็นต่าง ๆ อันคาบเกี่ยวกับความเป็นความตายของชีวิตประชากร เอไอยังบอกด้วยว่า รัฐบาลอิรักและกองกำลังผสมที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำสมควรต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เหมือนฝันร้ายเช่นนี้

“พลเรือนยังเผชิญอันตรายจากกองกำลังผสมและหน่วยงานความมั่นคงอิรักอีกด้วย โดยมีเหยื่อจำนวนมากโดนสังหารจากการที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินขอบเขต ขณะที่ ยังมีพลเรือนอีกหลายหมื่นถูกควบคุมตัว โดยปราศจากข้อหาและการดำเนินคดี” องค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวในบทสรุป

รายงานทั้ง 2 ฉบับได้รวบรวมข้อมูลเรื่องน่าวิตกกังวลต่างๆ นานา อาทิ ความยากจนแร้นแค้นที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง, การขาดอาหารและน้ำ เป็นต้น รายงานทั้ง 2 บอกว่า สถานการณ์ต่าง ๆ ในอิรักไม่มีสัญญาณบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าจะสามารถกระเตื้องขึ้น

นอกจากนี้ เอไอ ยังกล่าวด้วยว่า ความเป็นอยู่ของผู้หญิงก็เลวร้ายลง พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของกลุ่มสุดโต่งทางศาสนา ผู้หญิงหลายคนถูกบังคับให้แต่งกายตามหลักศาสนาอิสลาม และตกเป็นเหยื่อของการลักพาตัว, ข่มขืนและฆ่า องค์การนิรโทษกรรมสากลได้อ้างผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลกเมื่อปี 2006/2007 ที่พบว่า หญิงชาวอิรัก 21 เปอร์เซ็นต์ เคยได้รับความรุนแรงทางร่างกาย
กำลังโหลดความคิดเห็น