เอเอฟพี - ศาลฝรั่งเศสเมื่อวันพุธ (5) ปฏิเสธยกเลิกคำสั่งอายัดเรือยอชต์สุดหรู ที่ถูกเนรมิตขึ้นเพื่ออดีตประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน แห่งอิรัก ซึ่งถูกยึดไว้เนื่องจากยังมีการชักเย่อระหว่างฝ่ายที่อ้างว่าสมควรเป็นเจ้าของ
เรือสำราญ “โอเชียน บรีซ” ที่มีความยาวถึง 82 เมตรลำนี้ รังสรรค์มาจากอู่ต่อเรือเดนมาร์กตั้งแต่ปี 1981 โดยเริ่มต้นชีวิตด้วยชื่อเรือ “คอดิซซิยัต ซัดดัม” แต่เอาเข้าจริงแล้ว เรือลำดังกล่าวก็ยังไม่เคยถูกส่งมอบให้อิรักเลย
บริษัท ซูเดเลย์ลิมิเต็ด ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะเคย์มัน และมี กษัตริย์อับดุลเลาะฮ์ แห่งจอร์แดน อ้างตัวว่า เป็นเจ้าของเรือยอชต์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเรือดังกล่าวสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 28 คน ประกอบด้วย สระว่ายน้ำ มัสยิด แท่นยิงขีปนาวุธ และเรือดำน้ำขนาดเล็ก
โบรกเกอร์ บรูเกสส์ ออฟ ลอนดอน ซึ่งบริษัทนายหน้า เสนอขายเรือลำดังกล่าวในราคา 34,450,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,171,300,000 บาท
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิรัก อ้างว่า พวกเขามีสิทธิ์ชอบธรรมในการครอบครองทรัพย์สินของอดีตผู้นำจอมเผด็จการ ทำให้ทางศาลแพ่งของฝรั่งเศสสั่งห้ามขายเรือยอร์ชลำนี้เมื่อวันที่ 31 มกราคม จนกว่าผู้เป็นเจ้าของตัวจริงจะมาสามารถหาหลักฐานที่มั่นคงมายืนยันได้
ทั้งนี้ ศาลแพ่งของฝรั่งเศสเมื่อวันพุธ ปฏิเสธคำร้องขอของบริษัท ซูเดเลย์ ที่หวังให้ยกเลิกคำสั่งอายัดดังกล่าว จนกว่าจะมีคำตัดสินในท้ายที่สุดว่าใครคือเจ้าของตัวจริง ในวันที่ 28 พฤษภาคม
ราชวงศ์แห่งซาอุดีอาระเบีย ได้ควักเงินซื้อเรือลำนี้ โดยตั้งชื่อใหม่ว่า อัล-ยามามะห์ และจอดไว้ที่ท่าเรือเมืองยิดดะห์ เป็นเวลากว่า 10 ปี ทว่า เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เรือสำราญลำนี้ถูกขายต่อไปยังกษัตริย์อับดุลเลาะฮ์ แห่งจอร์แดน และเปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้ง หนังสือพิมพ์ นีซ-มาแตง ในฝรั่งเศสกล่าว
แต่ทางศาลระบุทางบริษัท ซูเดเลย์ลิมิเต็ด ไม่มีเอกสารหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า กษัตริย์อับดุลเลาะฮ์ แห่งจอร์แดน เป็นเจ้าของเรือลำนี้ ทั้งนี้ทางอิรักสงสัยว่า บริวารของ ซัดดัม ฮุสเซน อาจอยู่เบื้องหลังลักลอบนำเรือดังกล่าวไปขายหาประโยชน์ใส่ตัว
ทนายความของอิรัก ระบุว่า ไม่ควรมีคำสั่งยกเลิกการอายัด จนกว่าจะมีใครนำเอกสารมายืนยันว่าเป็นเจ้าของเรือตัวจริง ไม่อย่างนั้นก็ควรกลับไปตกอยู่กับประเทศอิรัก ซึ่งเป็นผู้เสียเงินสร้างเรือขึ้นมา