เอเจนซี - เพนตากอนมีแผนที่จะยิงขีปนาวุธทำลายดาวเทียมจารกรรมดวงหนึ่งซึ่งหลุดวงโคจรและอาจตกสู่พื้นโลกในช่วงต้นเดือนมีนาคม สำนักข่าวเอพีรายงานโดยอ้างคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (14) ว่า รัฐบาลของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช มีท่าทีเลือกหนทางยิงขีปนาวุธจากเรือลาดตระเวนของกองทัพเรือสหรัฐฯ เพื่อทำลายดาวเทียมดวงนี้ก่อนที่มันจะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก กระนั้นก็ดีจะยังไม่มีการเปิดเผยทางเลือกที่แท้จริง จนกว่าเพนตากอนสรุปผลการหารืออีกครั้ง
คาดหมายกันว่า ดาวเทียมที่สูญเสียการควบคุมดวงนี้ อาจตกสู่พื้นโลกในสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าทางกองทัพเรืออาจยิงมันก่อนหน้านั้น โดยใช้ขีปนาวุธดัดแปลงที่มีอานุภาพรุนแรง
รายละเอียดอื่นๆ ของขีปนาวุธ และเป้าหมายที่กำหนดไว้ยังไม่มีการเปิดเผย แต่การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นในการหารือกันของหลายหน่วยงานของสหรัฐฯ อาทิ สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ และกระทรวงการต่างประเทศ
การใช้ขีปนาวุธยิงดาวเทียมเป็นประเด็นที่อ่อนไหว เพราะก่อนหน้านี้เกิดการโต้เถียงกรณีที่จีนทดสอบขีปนาวุธต่อต้านดาวเทียมโดยยิงทำลายดาวเทียมหมดอายุแล้วดวงหนึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสหรัฐฯ และชาติอื่นๆ
ความกังวลหลัก คือ สหรัฐฯ อ้างว่า มีความเสี่ยงที่ดาวเทียมในวงโคจรระดับต่ำจะถูกชนโดยเศษซากปรักหักพังที่มีขนาด 1 เซนติเมตร หรือใหญ่กว่านั้นในระยะเวลา 5 ปี แต่หลังจากที่จีนประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธต่อต้านดาวเทียม ทำให้มีอัตราเสี่ยงดาวเทียมในระดับต่ำจะถูกชนได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ความกังวลเกี่ยวกับซากปรักหักพังของดาวเทียมที่ถูกทำลายของจีนในเวลานั้น ทำให้สหรัฐฯต้องตัดสินใจให้ถูกต้องว่าเมื่อไหร่และภายใต้สภาพแวดล้อมใดถึงควรจะยิงดาวเทียมดวงดังกล่าว
ทางกองทัพจะเลือกเวลาและที่ตั้งในการยิงทำลายดาวเทียมเพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะสร้างความเสียหายให้กับดาวเทียมดวงอื่น นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ว่าหลังการยิงทำลายอาจเหลือชิ้นส่วนดาวเทียมที่มีขนาดใหญ่ ที่ลอยอยู่ในอวกาศและอาจชนกับดาวเทียมอื่นหรือตกลงสู่พื้นโลก
ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าซากของดาวเทียมจะตกสู่พื้นโลกบริเวณใด แต่เจ้าหน้าที่ซึ่งคุ้นเคยกับสถานการณ์ดังกล่าวบอกว่าซากของดาวเทียมที่เหลืออาจตกสู่ชั้นบรรยากาศน่าจะมีขนาดประมาณ 5,000 ปอนด์ ก่อนจะแตกกระจาย โดยบางส่วนสามารถพุ่งไปได้ไกลหลายร้อยไมล์เลยทีเดียว
ก่อนหน้านี้ กองทัพสหรัฐฯ คาดหมายว่า ดาวเทียมดวงนี้น่าจะตกสู่พื้นโลกบริเวณอเมริกาเหนือ ระหว่างช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม
อนึ่ง ดาวเทียมดวงดังกล่าวเป็นดาวเทียมทดลองถ่ายภาพ ซึ่งยิงขึ้นวงโคจรเมื่อปี 2006 แต่พลังงานหมดและไม่สามารถควบคุมได้ แม้ว่าจะมีเครื่องมือทันสมัยและระบบเซ็นเซอร์รับภาพ ทว่าคอมพิวเตอร์กลางของดาวเทียมล้มเหลวหลังปฏิบัติการได้ไม่นาน
ดาวเทียมดวงนี้ใช้เชื้อเพลิงไฮดราซีน ซึ่งเป็นสารเคมีที่เป็นพิษสูงมาก โดยไฮดราซีนนั้นเป็นอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลางของมนุษย์ และหากได้รับในปริมาณมาก สามารถทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม สารดังกล่าวจะสลายตัวอย่างรวดเร็วเมื่อถูกความร้อน หรือแสงอัลตราไวโอเลต