xs
xsm
sm
md
lg

อุตฯ บันทึกเสียงปีที่แล้วย่ำแย่หนัก CD ขายตก-ดิ้นหาโมเดลธุรกิจใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อีโคโนมิสต์ – ในปี 2006 อีเอ็มไอ บริษัทด้านดนตรีบันทึกเสียงยักษ์ใหญ่อันดับ 4 ของโลก เคยเชิญวัยโจ๋จำนวนหนึ่งเข้าไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทในกรุงลอนดอน เพื่อพูดคุยกับเหล่าผู้จัดการระดับท็อปของตน เกี่ยวกับพฤติกรรมการฟังเพลงของทีนเอจยุคปัจจุบัน

ในตอนท้ายของการพบปะกันครั้งนั้น พวกบอสของอีเอ็มไอได้ขอบอกขอบใจเหล่าโจ๋ที่มาให้ความเห็น และเชิญให้พวกเขาหยิบแผ่นซีดีกองโตที่วางอยู่บนโต๊ะตัวหนึ่งได้ตามสบาย ปรากฏว่า ไม่มีวัยรุ่นคนไหนหยิกแผ่นซีดีไปสักแผ่นเดียวแม้บอกแจกกันฟรีๆ เช่นนั้น

“นั่นเป็นตอนที่พวกเราตระหนักรับรู้ขึ้นมาว่าเกมนี้จบลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว” เป็นคำบอกเล่าบุคคลผู้หนึ่งซึ่งเคยอยู่ที่ตรงนั้น

แน่นอนว่า ในทางเปิดเผยต่อสาธารณชนแล้ว พวกผู้บริหารอุตสาหกรรมดนตรียังคงเอ่ยปากพูดจาว่าเกมยังมีทางดำเนินต่อไปได้ดี เป็นต้นว่า การฟื้นตัวกำลังจะปรากฏให้เห็นแล้ว หรือ บริการดาวน์โหลดในระบบดิจิตอล จะเป็นตัวช่วยชีวิตธุรกิจดนตรี

ทว่า ผลประกอบการของปี 2007 กลับยืนยันถึงสิ่งที่การพูดจากับกลุ่มวัยโจ๋ในลักษณะการทำ “โฟกัสกรุ๊ป” ของอีเอ็มไอ ได้แสดงให้เห็นแล้ว นั่นคือ แผ่นซีดี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของอุตสาหกรรมบันทึกเสียง และเพียงเมื่อปี 2006 นี้เอง ยังเป็นตัวทำเงินถึงกว่า 80% ของยอดขายรวมทั่วโลกของอุตสาหกรรมนี้ บัดนี้กำลังเสื่อมทรุดหดหายไปอย่างรวดเร็วยิ่ง

ในอเมริกา ตามตัวเลขของ นีสเส็น ซาวนด์สแกน ปริมาณการขายอัลบั้มในแบบจับต้องได้นั้น ได้ลดต่ำลง 19% เมื่อปี 2007 หากเทียบกับปี 2006 นับเป็นอัตราเร็วยิ่งกว่าที่ใครๆ เคยคาดหมายกันไว้ นอกจากนั้น ข้อมูลยังแสดงว่าในรอบครึ่งแรกของปี 2007 ยอดขายดนตรีในรูปแบบแผ่นซีดีตลอดจนรูปแบบที่จับต้องได้อื่นๆ ก็ได้ตกลงมา 6% ในสหราชอาณาจักร, 9% ที่ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศสและสเปน, 12% ในอิตาลี, 14% ในออสเตรเลีย, และ 21% ในแคนาดา

ทางด้านการดาวน์โหลดระบบดิจิตอลแบบจ่ายเงิน ก็สามารถเติบโตขึ้นได้รวดเร็วอยู่หรอก แต่ยังไม่ถึงขนาดสามารถเริ่มชดเชยรายรับซึ่งสูญหายไปจากซีดี ยิ่งกว่านั้นสิ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้วิตกกันมากขึ้นไปอีกก็คือ อัตราเติบโตของการดาวน์โหลดระบบดิจิตอลดูเหมือนจะกำลังชะลอตัวลงแล้ว

“ปี 2007 มันเกิดความชัดเจนขึ้นมาว่า อุตสาหกรรมดนตรีบันทึกเสียงกำลังหดตัว และมันจะกลายเป็นสัตว์ร้ายที่แตกต่างออกไปมากจากที่มันเคยเป็นในศตวรรษที่ 20” มาร์ก มุลลิแกน นักวิเคราะห์แห่งจูปิเตอร์รีเสิร์ตให้ความเห็น

ปีที่แล้ว ศิลปินชื่อดังจำนวนมากพากันมองเมิน และข้ามหัวบริษัทดนตรีบันทึกเสียงชื่อดังกันไปเลย ตัวอย่างเช่น มาดอนนา ผละออกจากวอร์เนอร์ มิวสิก หันไปทำข้อตกลงกับ ไลฟ์ เนชั่น บริษัทจัดการแสดงคอนเสิร์ต, ส่วน ดิ อีเกิลส์ ก็เผยแพร่วางตลาดอัลบั้มขายดีที่สุดอัลบั้มหนึ่งในอเมริกา โดยไม่ต้องขอให้บริษัทดนตรีบันทึกเสียงมีชื่อแห่งไหนช่วยเหลือเลย, เรดิโอเฮด วงดนตรีจากอังกฤษ ก็ถอนตัวจากอีเอ็มไอ เพื่อไปออกอัลบั้มผ่านทางอินเทอร์เน็ต

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้มีลักษณะกรณีเดี่ยวๆ ไม่เกี่ยวข้องกัน และยังถือกันว่าเป็นเรื่องผิดปกติ สำหรับเหล่าศิลปินซึ่งผลงานของพวกเขาได้ทำกำไรให้แก่พวกบริษัทดนตรียักษ์ใหญ่มาเป็นนานปีแล้ว แต่ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็ทำให้เหล่าบริษัทดนตรีบันทึกเสียงชื่อดัง ดูเป็นสิ่งที่พ้นสมัย อีกทั้งไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะส่งผลให้ศิลปินอื่นๆ คิดที่จะผละจากบริษัทเหล่านี้บ้าง

2 บริษัทดนตรีบันทึกเสียงระดับเมเจอร์ ทว่ามีขนาดเล็กกว่าเพื่อน คือ อีเอ็มไอ และ วอร์เนอร์ มิวสิก กำลังออกอาการดิ้นรนอย่างเห็นชัดที่สุด หุ้นของวอร์เนอร์ มิวสิก ราคาหล่นมาเหลือหุ้นละ 4.75 ดอลลาร์ ต่ำกว่าราคาตอนทำไอพีโอในปี 2005 ถึง 72% แถมยังมีภาระหนี้สินหนักอึ้ง

ด้าน อีเอ็มไอ ซึ่งเจ้าของคนใหม่เอี่ยม คือ เทอร์รา เฟิร์มมา กิจการกองทุนเพื่อการลงทุนภาคเอกชน ต้องควักเงินจ่ายในราคาสูงทีเดียวเพื่อซื้อบริษัทแห่งนี้ในเดือนสิงหาคม 2007 เวลานี้ เจ้าของใหม่กำลังโละพวกผู้จัดการอาวุโสของอีเอ็มไอออกไปแทบหมด และเปิดเผยถึงรายละเอียดนิสัยการจับจ่ายแบบน่าละอาย อาทิ ใช้จ่ายกันปีละ 200,000 ปอนด์ในการซื้อพวกผลไม้แห้ง โดยเวลาลงบัญชีก็ประดิษฐ์ถ้อยคำเรียกอย่างสละสลวยว่า รายการ “ผลไม้และดอกไม้”

อย่างไรก็ตาม เทอร์รา เฟิร์มมา กำหนดจะต้องประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ในเดือนนี้ โดยที่ผู้สังเกตการณ์หลายคนคิดว่า คนของกองทุนเพื่อการลงทุนภาคเอกชนแห่งนี้ ทำท่าจะหมดมุกเสียแล้ว

สำหรับเมเจอร์ 2 รายที่มีขนาดใหญ่สุด คือ ยูนิเวอร์แซล ซึ่งเป็นของ วิวองดี กลุ่มกิจการสารพัดสัญชาติฝรั่งเศส และ โซนี่ บีเอ็มจี กิจการร่วมทุนระหว่างโซนี่ กับ เบอร์เทลสมานน์ อันเป็นบริษัทมีเดียสัญชาติเยอรมัน ยังสามารถหาความคุ้มครองได้ในบางระดับจากบริษัทแม่ของพวกเขา โดยเฉพาะยูนิเวอร์แซลถือว่าแข็งแรงที่สุด และยังคงทำมาร์เก็ตแชร์ได้เพิ่มขึ้น ทว่าผู้คนก็กะเก็งกันว่า เบอร์เทลสมานน์อาจต้องการถอนตัวขอขายหุ้นส่วนของตนทั้งหมดให้ทางโซนี่ในปีหน้า

สถานการณ์ที่พวกบริษัทดนตรีบันทึกเสียงกำลังเผชิญกันอยู่ในเวลานี้ สามารถเรียกได้ว่าเป็นการตกอยู่ภายในวงจรอุบาทว์ถึง 3 วงพร้อมๆ กัน

วงจรแรกคือ เนื่องจากยอดขายแผ่นซีดีกำลังทรุดฮวบ พวกเครือข่ายขายปลีกระดับบิ๊กๆ อย่างเช่น วอล-มาร์ต จึงกำลังลดพื้นที่ชั้นวางที่ให้แก่ผลิตภัณฑ์ด้านดนตรี ซึ่งก็กลายเป็นปัจจัยเร่งให้การตกฮวบยิ่งรวดเร็วขึ้น ริชาร์ด กรีนฟิลด์ แห่ง ปาลี รีเสิร์ช บริษัทวิจัยอิสระ มองว่าพื้นที่ขายปลีกที่ให้แก่แผ่นซีดีในอเมริกาจะถูกตัดลงไป 30% หรือกว่านั้นในปี 2008 แบบแผนเช่นนี้น่าจะเกิดขึ้นในตลาดอื่นๆ ด้วยเช่นกันเมื่อยอดขายย่ำแย่ลง

ส่วนวงจรที่สอง เนื่องจากเหล่าบริษัทเมเจอร์พากันลดต้นทุนกันอย่างดุเดือด โดยเฉพาะทางอีเอ็มไอ และ วอร์เนอร์ มิวสิก พวกศิลปินจึงกำลังได้รับความสนับสนุนทางการตลาดและทางโปรโมชั่นน้อยลงกว่าในอดีต อันอาจเป็นตัวเร่งให้พวกเขาหนีไปหาทางเลือกอื่นๆ

วงจรที่สาม เหล่าบริษัทบันทึกเสียงกำลังเผชิญสภาพการณ์ที่ว่า บรรดานายทุนที่หนุนหลัง ไม่ว่าจะเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนภาคเอกชน หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายก็ตามที ต่างลังเลในการต้องทุ่มเงินก้อนโตเพื่อเข้าสู่ภาคส่วนของอุตสาหกรรมดนตรีที่กำลังเฟื่องฟูทำเงินได้มาก อาทิ การจัดทัวร์คอนเสิร์ต และการขายสินค้าขายพ่วงโดยอาศัยภาพลักษณ์ของศิลปิน เหล่าบริษัทเมเจอร์กำลังพยายามทำข้อตกลงแบบครอบคลุม “360 องศา” กับบรรดาศิลปิน ซึ่งจะทำให้พวกเขาได้ส่วนแบ่งด้วยจากภาคส่วนเหล่านี้ ทว่ากระทั่งว่าศิลปินยอมทำข้อตกลงดังกล่าว พวกเขาก็จะไม่ยอมให้สิทธิใหม่ๆ จนกว่าจะได้เงื่อนไขที่ดีขึ้นในเรื่องดนตรีบันทึกสียง ด้วยเหตุนี้ เหล่าบริษัทเมเจอร์ก็อาจจะไม่ได้เห็นผลประโยชน์โดยรวมเพิ่มขึ้นมากมายนัก

ทิม เรนเนอร์ อดีตบอสใหญ่แห่ง ยูนิเวอร์แซล มิวสิก ในเยอรมนี บอกว่า พวกเมเจอร์ควรที่จะลงมือทำเรื่องนี้ไปตั้งแต่เมื่อหลายๆ ปีก่อน “ตอนนั้นพวกเขามีทั้งเงินทองและสามารถสร้างศักยภาพขึ้นมา ด้วยการซื้อบริษัทนักจัดคอนเสิร์ต และพวกบริษัทสินค้าขายพ่วงทั้งหลาย”

**เส้นทางรอดสายใหม่?

ตั้งแต่ราวกลางปี 2007 แล้ว เมื่อพวกบริษัทเมเจอร์ตระหนักกันว่ากิจการให้ดาวน์โหลดระบบดิจิตอล ไม่ได้กำลังเติบโตรวดเร็วอย่างที่พวกเขาคาดหวังไว้ พวกเขาก็ตัดสินใจใช้ยุทธศาสตร์ดิจิตอลที่กล้าเสี่ยงมากยิ่งขึ้น

เวลานี้พวกเขาต้องการก้าวให้เลยไปจากการให้บริการดาวน์โหลดแบบจ่ายเงิน อย่างเช่นในเครื่องไอทูนส์ ของ ค่ายแอปเปิ้ล ดังจะเห็นได้ว่า ทิศทางของข้อตกลงด้านดิจิตอลส่วนใหญ่ที่พวกเขาทำกันในระยะหลังๆ มานี้ จะอยู่ในรูปแบบอย่างเช่นที่ทำกับ อีมีม เครือข่ายเว็บทางสังคมซึ่งมีบริการให้ฟังและดูดนตรีทางออนไลน์ฟรีๆ โดยที่ทางเว็บได้รับเงินจากผู้โฆษณาอีกทอดหนึ่ง

บางทีการทดลองที่สำคัญที่สุดในแนวทางนี้ ก็คือ ข้อตกลงที่ ยูนิเวอร์แซล ทำกับทางโนเกีย ผู้ผลิตมือถือรายใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อเดือนธันวาคม ซึ่งจะให้ลูกค้าที่ซื้อมือถือรุ่นใหม่ๆ ของโนเกีย ซึ่งจะออกขายในช่วงต่อไปของปีนี้ จะได้ฟังได้ดูดนตรีกับแบบฟรีๆ กล่าวคือ โทรศัพท์มือถือแบบ “มาพร้อมกับดนตรี” เหล่านี้ จะทำให้ลูกค้าสามารถดาวน์โหลดดนตรีทั้งหมดที่ต้องการ ลงไว้ในมือถือและเครื่องพีซีของพวกเขา แล้วเก็บเอาไว้ได้ แม้กระทั่งเมื่อพวกเขาเปลี่ยนมือถือหลังระยะ 1 ปีแห่งการบอกรับเป็นสมาชิกของพวกเขาสิ้นสุดลงไป นี่เท่ากับว่า แทนที่จะคิดค่าบริการจากผู้บริโภคโดยตรง ยูนิเวอร์แซลจะได้ส่วนแบ่งจากราคาของมือถือแต่ละเครื่อง เป็นที่คาดหมายกันว่า พวกเมเจอร์รายอื่นๆ ก็จะหันทำข้อตกลงแบบนี้ด้วยเช่นกัน

มุลลิแกนชี้ว่า กลเม็ดแบบ “มาพร้อมกับดนตรี” เช่นนี้ เท่ากับการยอมรับว่าดนตรีเป็นสิ่งที่จะต้องยอมให้ฟรี หรือเกือบจะฟรีๆ ทางอินเทอร์เน็ต บริการให้ดาวน์โหลดแบบจ่ายเงินยังจะดำเนินต่อไป และดนตรีที่สนับสนุนด้วยโฆษณาก็ยังน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ ทว่าบริการเสริมแบบที่ผู้บริโภคไม่ได้จ่ายค่าดนตรีโดยตรง น่าจะเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

สำหรับอุตสาหกรรมดนตรีบันทึกเสียงแล้ว นี่คือการก้าวกระโดดเข้าสู่ดินแดนแห่งความไม่รู้ ยูนิเวอร์แซลและบรรดาบริษัทเมเจอร์ทั้งหลาย อาจไม่มีทางทำเงินได้มหาศาลเหมือนเช่นที่พวกเขาเคยทำได้เมื่อครั้งดนตรีที่บรรจุในรูปแบบจับต้องได้ยังเฟื่องฟู และคงจะมีบางรายในหมู่พวกเขา ที่ไม่อาจรอดชีวิตผ่านพ้นกระแสความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงคราวนี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น