เอเอฟพี/เอเจนซี - สิงคโปร์กำหนดเปิดอาคารที่พักผู้โดยสารแห่งใหม่ของท่าอากาศยานชางงี ในวันพุธ (9) นี้ โดยพวกนักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมให้ความเห็นว่า อาคารอันทันสมัยอย่างยิ่ง และใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงถึง 1,200 ล้านดอลลาร์แห่งนี้ จะยิ่งเสริมส่งฐานะของสิงคโปร์ในการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคแถบนี้
อาคารที่พักผู้โดยสารแห่งใหม่ ซึ่งเรียกกันว่า “เทอร์มินัล 3” แห่งนี้ นอกจากโดดเด่นในด้านการออกแบบ โดยที่มีสวนหย่อมแนวดิ่งสูง 5 ชั้น ประกอบด้วย น้ำตกหลายๆ แห่งแล้ว ในแง่จังหวะทางธุรกิจก็ทันต่อเหตุการณ์ เพราะสามารถเปิดรับผู้โดยสารคนแรกๆ ได้ เพียงไม่กี่เดือน ภายหลังท่าอากาศยานที่ฮ่องกงเปิดใช้อาคารที่พักผู้โดยสารแห่งใหม่ และเพียงปีเศษหลังจากประเทศไทยเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
นักวิเคราะห์หลายราย กล่าวว่า อาคารที่พักผู้โดยสารแห่งใหม่จะยิ่งเพิ่มมนต์เสน่ห์ของท่าอากาศยานชางงีของสิงคโปร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคู่ต่อสู้หลักอย่างกรุงเทพฯ ซึ่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประสบปัญหาวุ่นวายมาตลอด
“มันจะยิ่งช่วยผลักดันให้สิงคโปร์ขึ้นหน้าบรรดาคู่แข่ง” เป็นคำรับรองของ ชูเคอร์ ยูโซฟ แห่งฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ ของบริษัท สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส
ขณะที่ จิม เอคส์ กรรมการผู้จัดการของ อินโดสวิส เอวิเอชั่น บริษัทที่ปรึกษาด้านการบิน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง ก็เห็นว่า อาคารใหม่นี้จะยิ่ง “เสริมส่งฐานะของสิงคโปร์อย่างแน่นอน”
ยูโซฟ ยังกล่าวสรรเสริญสิงคโปร์ว่า “เมื่อสิงคโปร์สร้างอะไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อปัจจุบันเท่านั้น พวกเขาทำเพื่ออนาคตอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า”
ส่วน ปีเตอร์ ฮาร์บิสัน ประธานกรรมการบริหารของ เซนเตอร์ ฟอร์ เอเชีย แปซิฟิก เอวิเอชั่น บริษัทที่ปรึกษาที่ตั้งอยู่ในนครซิดนีย์ ก็บอกว่า “แนวความคิดทั้งหมดในเรื่องที่จะต้องสร้างอะไรขึ้นมาก่อนจะมีความต้องการอยู่เสมอเช่นนี้เอง คือ คำอธิบายว่าทำไมสิงคโปร์จึงสามารถรักษาความเป็นผู้นำในภูมิภาคแถบนี้เอาไว้ได้”
อาคารเทอร์มินัล 3 ที่สร้างด้วยงบประมาณ 1,750 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (1,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นอาคารสูง 7 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 380,000 ตารางเมตร ตามข้อมูลขององค์การการบินพลเรือนแห่งสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้บริหารท่าอากาศยานชางงี อาคารแห่งนี้จะสามารถรับรองผู้โดยสารได้ปีละ 22 ล้าน และทำให้ชางงีโดยรวมรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเป็นปีละประมาณ 70 ล้านคน
เทอร์มินัล 3 จะทำให้ชางงีมีสะพานเทียบเครื่องบินเพิ่มขึ้นอีก 28 สะพาน โดยที่ 8 สะพานได้รับการออกแบบให้สามารถรับ แอร์บัส เอ380 ซูเปอร์จัมโบ เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในเวลานี้
มาร์ติน อับบูเกา และ เอียน ทิมเบอร์เลค 2 ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีบรรยายสภาพเทอร์มินัล 3 เอาไว้อย่างหลงใหลในความเลิศเลอ ว่า จากกระเบื้องปูพื้นที่เป็นหินแกรนิตเงาวับ และห้องนั่งพักที่ปูพรม ทำให้อาคารแห่งนี้มีบรรยากาศของโรงแรมระดับ 5 ดาว ทั่วทั้งเทอร์มินัล 3 มีต้นไม้และพืชพรรณต่างๆ ประดับอยู่เป็นจุดๆ แล้วยังสวนหย่อมแนวดิ่ง กำแพงที่ปกคลุมด้วยไม้เลื้อยและคั่นไว้ด้วยน้ำตกหลายๆ แห่ง กลายเป็นฉากหลังอันน่าตื่นใจให้แก่บริเวณรอรับกระเป๋า
เมื่อเปรียบเทียบกับฮ่องกงแล้ว เทอร์มินัล 3 มีพื้นที่ใช้สอยเป็นกว่า 2 เท่าตัวของอาคารเทอร์มินัล 2 ของท่าอากาศยานระหว่างประเทศฮ่องกง ซึ่งมีพื้นที่ 140,000 ตารางเมตร และเปิดใช้ไปเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา
นับแต่เปิดทำการเมื่อสิบกว่าปีก่อน ท่าอากาศยานของฮ่องกงแห่งนี้รับผู้โดยสารเพิ่มสูงอย่างรวดเร็วมาก จนอยู่ในระดับ 44.4 ล้านคน ในปี 2006 เลยหน้าชางงีที่ทำยอดได้ 35.03 ล้านคนในปีนั้น
แต่พวกนักวิเคราะห์มองว่า ฮ่องกงไม่ได้เป็นคู่แข่งโดยตรงของชางงี เนื่องจากฮ่องกงเป็นทั้งศูนย์กลางการบินระหว่างประเทศ และก็เป็นปากทางเข้าสู่ประเทศจีนซึ่งตลาดการบินกำลังบูมมากด้วย
สำหรับไทย ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ได้เปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ใช้เงินไป 3,000 ล้านดอลลาร์ และในขั้นต้นมีศักยภาพที่จะรับผู้โดยสารได้ปีละ 45 ล้านคน ในความพยายามที่จะสถาปนากรุงเทพฯให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ทว่าท่าอากาศยานแห่งนี้กลับประสบปัญหา ทั้งเรื่องความแออัดและรันเวย์ร้าว รวมทั้งเจอเสียงร้องเรียนเรื่องความปลอดภัยและห้องน้ำไม่พอ
เอคส์ กล่าวสำทับว่า “สุวรรณภูมิมีอาคารที่พักผู้โดยสารที่น่าสยองจริงๆ”