นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบรายงานผู้ป่วยโรคติดต่อนำโดยยุงเพิ่มขึ้น ทั้งโรคไข้เลือดออก และโรคมาลาเรีย โดยข้อมูลจากรายงานในปี 2565 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 45,145 ราย ซึ่งมากกว่าปี 2564 ถึง 4.5 เท่า อีกทั้งยังพบผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกยืนยันถึง 31 ราย
ส่วนโรคไข้มาลาเรีย ข้อมูลจากระบบมาลาเรียออนไลน์ในปี 2565 พบผู้ป่วยสะสม 10,174 ราย สูงกว่าปี 2564 ถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2566 โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน และกาญจนบุรี ส่วนใหญ่พบเป็นชาวต่างชาติ และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย
ในส่วนของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย พบผู้ป่วยสะสม 1,370 ราย ถึงแม้จะไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าปี 2564 ถึง 2 เท่า ส่วนโรคติดเชื้อไวรัสซิกา พบผู้ป่วยสะสม 66 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 20 ราย นอกจากนี้ ยังพบทารกศีรษะเล็ก 1 ราย และโรคเท้าช้าง พบผู้ป่วยใหม่เพิ่ม 4 ราย
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ยุงในประเทศไทยมีหลายชนิด ชนิดที่พบเป็นพาหะนำโรค ได้แก่ ยุงลายพาหะนำ โรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิก้า ส่วนยุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรคไข้มาลาเรีย ยุงเสือพาหะนำโรคเท้าช้าง และยุงรำคาญ พาหะนำโรคไข้สมองอักเสบ และโรคเท้าช้างบางประเภท
โดยยุงพาหะแต่ละชนิด มีชีวนิสัย และแหล่งเพาะพันธุ์ที่แตกต่างกัน วงจรชีวิตของยุงจะมี 4 ระยะ คือ ระยะไข่ ลูกน้ำ ตัวโม่ง และตัวเต็มวัย โดยระยะตัวเต็มวัยเพศเมียเป็นระยะที่กินเลือด เพื่อใช้ในการพัฒนาไข่ของยุง จึงทำให้เกิดการแพร่โรคติดต่อนำโดยยุงได้
นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า การป้องกันควบคุมโรคให้ประสบผลสำเร็จ จะต้องมีมาตรการทั้งในมิติของคน เชื้อโรค ยุงพาหะ และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยใช้หลายๆ วิธีการร่วมกัน เช่น การลดแหล่งเพาะพันธุ์ โดยการจัดการสิ่งแวดล้อม การป้องกันไม่ให้ยุงกัด การใช้สารเคมีในการกำจัดยุง โดยเฉพาะในกรณีเกิดการระบาดของโรค
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการป่วย หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคติดต่อนำโดยยุง ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่าย ยากต่อการรักษา ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้