xs
xsm
sm
md
lg

พบป่วย "ไข้เลือดออก-มาลาเรีย" เพิ่ม 3-4 เท่า แจง "ยุง" ยังไม่ดื้อสารเคมี ฉีดพ่นทำลายได้ 90%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค เผยผู้ป่วย "ไข้เลือดออก" และ "มาลาเรีย" สูงขึ้นกว่าปีก่อน 3-4 เท่า แจงสารเคมีพ่นกำจัดยุงลายบ้าน ยังมีประสิทธิภาพฆ่ายุงลาย 90% หลังญี่ปุ่นวิจัยยุงเวียดนาม กัมพูชา เริ่มดื้อสารเคมี


เมื่อวันที่ 16 ม.ค. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบรายงานผู้ป่วยโรคติดต่อนำโดยยุงเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไข้เลือดออก และมาลาเรีย ข้อมูลปี 2565 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 45,145 ราย มากกว่าปี 2564 ถึง 4.5 เท่า เสียชีวิตด้วยไข้เลือดออกยืนยัน 31 ราย ส่วนไข้มาลาเรียปี 2565 พบผู้ป่วยสะสม 10,174 ราย สูงกว่าปี 2564 ถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2566 จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน และกาญจนบุรี ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติและมีผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย ส่วนโรคไข้ปวดข้อยุงลายพบผู้ป่วยสะสม 1,370 ราย แม้จะไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตแต่จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าปี 2564 ถึง 2 เท่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกาพบผู้ป่วยสะสม 66 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 20 ราย นอกจากนี้ ยังพบทารกศีรษะเล็ก 1 ราย และโรคเท้าช้างพบผู้ป่วยใหม่เพิ่ม 4 ราย

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ยุงในไทยมีหลายชนิด ที่เป็นพาหะนำโรค ได้แก่ ยุงลายนำโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และซิก้า ยุงก้นปล่องนำโรคมาลาเรีย ยุงเสือนำโรคเท้าช้าง และยุงรำคาญนำโรคไข้สมองอักเสบและโรคเท้าช้างบางประเภท วงจรชีวิตยุงจะมี 4 ระยะ คือ ระยะไข่ ลูกน้ำ ตัวโม่ง และตัวเต็มวัย โดยระยะตัวเต็มวัยเพศเมียเป็นระยะที่กินเลือด เพื่อพัฒนาไข่ทำให้เกิดการแพร่โรค การป้องกันควบคุมโรคจะต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน เช่น ลดแหล่งเพาะพันธุ์ จัดการสิ่งแวดล้อม ป้องกันไม่ให้ยุงกัด ใช้สารเคมีกำจัดยุง โดยเฉพาะเกิดการระบาด หากป่วยหรือสงสัยต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษา ไม่ซื้อยากินเองโดยเฉพาะกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่าย ยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผอ.กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวว่า การใช้สารเคมีป้องกันควบคุมยุงพาหะนำโรค เช่น พ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัย มีความจำเป็นในการหยุดการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้กระจายเป็นวงกว้าง และป้องกันไม่ให้ยุงมีเชื้อไปกัดและแพร่โรคให้คนอื่นต่อ การพ่นสารเคมี ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ทันท่วงที และได้มาตรฐาน ในขอบเขตการระบาด นอกจากนี้ ต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำเพื่อป้องกันยุงตัวใหม่เกิดขึ้น การพ่นต้องเลือกใช้สารเคมีและความเข้มข้นตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ และได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. ไม่พ่นบ่อยครั้งโดยไม่จำเป็น เพื่อป้องกันการดื้อของยุงต่อสารเคมี

จากกระแสข่าวนักวิจัยญี่ปุ่นนำเสนอรายงานวิจัยว่า ยุงในพื้นที่เวียดนาม และกัมพูชา ดื้อต่อสารเคมีในกลุ่มไพรีทอยด์ เป็นการศึกษาเพื่อเป็นการเตือนให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชีย ตระหนักติดตามเฝ้าระวังยุงในพื้นที่ว่า มีการดื้อต่อสารเคมีหรือไม่ และเสนอให้สลับสับเปลี่ยนสารเคมีกำจัดแมลงในการควบคุมยุง ส่วนกองโรคติดต่อนำโดยแมลงได้ศึกษาประสิทธิภาพของสารเคมีกลุ่มไพรีทรอยด์กำจัดยุงลายบ้าน ด้วยวิธีการพ่นหมอกควันและพ่น ULV จำนวน 12 พื้นที่ ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก พิจิตร นครปฐม ฉะเชิงเทรา มหาสารคาม อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี พังงา สงขลา และ กทม. พบว่า ยังมีประสิทธิภาพควบคุมยุงลายบ้านได้ดี ฆ่ายุงลายบ้านได้มากกว่า 90%


กำลังโหลดความคิดเห็น