นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic) ครั้งที่ 1/2565 โดยมีนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
นายอนุทิน กล่าวว่า จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มมีแนวโน้มลดลงและอยู่ในการควบคุม ประชาชนมีภูมิคุ้มกันที่มากเพียงพอ สามารถเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคติดต่อทั่วไปได้ จึงต้องเตรียมการเพื่อปรับรูปแบบการบริหารจัดการและการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ให้ประชาชนกลับมาดำเนินชีวิตในวิถีปกติใหม่ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม และบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันกำหนดแผน มาตรการ และแนวทางข้อเสนอ ให้สามารถควบคุมสถานการณ์และเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้อย่างเหมาะสม
นายอนุทิน กล่าวว่า การประชุมครั้งแรกวันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อกำหนดมาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุข มาตรการทางเศรษฐกิจ และมาตรการทางสังคมและองค์กร ให้มีความสมดุลสอดคล้องกัน รวมถึงการสร้างความร่วมมือของประชาชนในการรับมือและปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19 ที่เปลี่ยนมาเป็นโรคประจำถิ่นหรือโรคติดต่อทั่วไปได้อย่างปลอดภัย
นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากแผนและมาตรการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น ที่มี 4 ระยะ คือ ระยะต่อสู้กับโรค (Combatting) ระยะโรคทรงตัว (Plateau) ระยะโรคลดลง (Declining) และระยะหลังการระบาด (Post pandemic) ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในระยะทรงตัว จึงประกาศลดระดับการเตือนภัยโควิด-19 จากระดับ 4 มาเป็นระดับ 3 พร้อมดำเนินงานในแต่ละด้าน ดังนี้
ด้านสาธารณสุข เดินหน้าฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้มากกว่าร้อยละ 60 เน้นเฝ้าระวังการระบาดที่เป็นกลุ่มก้อน และผู้ป่วยปอดอักเสบ และผ่อนคลายมาตรการสำหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
ด้านการแพทย์ ปรับแนวทางการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก เน้นดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงอาการรุนแรง มีอาการรุนแรง และภาวะลองโควิด
ด้านกฎหมายและสังคม เตรียมการด้านกฎหมายของทุกหน่วยงานให้สอดคล้องกับการปรับตัวสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ลดการจำกัดการเดินทางและการรวมตัวของคนหมู่มาก ส่งเสริมมาตรการ Universal Prevention และมาตรการ COVID Free Setting
ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ชีวิตร่วมกับโรคโควิด-19 อย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ คาดว่าช่วงปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ สถานการณ์จะเข้าสู่ระยะโรคลดลง (Declining) และจะมีการผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงจะประกาศลดระดับการเตือนภัยเป็นระดับ 2