xs
xsm
sm
md
lg

ซูเปอร์โพลเผยคนกรุงยี้ผู้ว่าฯ-ผู้สมัคร ไม่มีสัจจะ มีผลประโยชน์ทับซ้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายนพพล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจเรื่อง "คุณธรรม จริยธรรม ของผู้ว่าฯ กทม. และของผู้สมัคร และความเจ็บปวด (Pain Points) ของคน กทม. กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,320 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20-30 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา

เมื่อถามถึง ปัญหาคุณธรรม จริยธรรม ของผู้ว่าฯ กทม. และของผู้สมัคร "ที่ไม่พึงประสงค์" พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 81.8 ระบุ การไม่มีสัจจะ รับปากแล้วไม่ทำตามสัญญากับประชาชน รองลงมา คือ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 80.8 ระบุ ผลประโยชน์ทับซ้อน เกี่ยวโยงเครือญาติ และพวกพร้อง ร้อยละ 80.7 ระบุ เชื่อมโยงธุรกิจการเมืองของกลุ่มคนหนีคดี ทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 80.0 ระบุ ไม่ซื่อตรง หมกเม็ด ปิดบังประชาชน ร้อยละ 79.6 ระบุ สมยอม ผลประโยชน์ พรรคพวก กลุ่มผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 79.6 ระบุ เคยมีประวัติด่างพร้อย หนีการตรวจสอบ และร้อยละ 79.3 ระบุ เรียกรับผลประโยชน์ ตามลำดับ

ที่น่าเป็นห่วง คือ จุดแห่งความเจ็บปวดของประชาชน คน กทม. พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.4 ระบุ ปล่อยให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ จากการควบคุมอาคาร ผังเมือง ประชาชนเดือดร้อน ร้อยละ 79.9 ระบุ เวลามีปัญหา ประชาชนเดือดร้อน ปัดความรับผิดชอบ อ้างสารพัด ปัญหาซ้ำซากยังอยู่เหมือนเดิม แก้ตัวไปเรื่อย ไม่เห็นแก้ไขอะไร ร้อยละ 79.0 ระบุ กล้องวงจรปิด CCTV เสีย ดูไม่ได้ เมื่อต้องใช้ในคดี ร้อยละ 78.5 ระบุ ฝนตก น้ำท่วมอุโมงค์ อ้างไฟฟ้าขัดข้อง ร้อยละ 78.4 ระบุ ระบบการศึกษาของเด็ก กทม. ไม่มีคุณภาพมากพอ ร้อยละ 78.1 ระบุ ประชาชนต้องการความสะดวก ปลอดภัยทางถนน ปลอดภัยในชุมชน แต่ใช้งบประมาณไม่ตรงความต้องการ และร้อยละ 77.5 ระบุ โจรเข้าหมู่บ้าน ไม่ช่วยแก้ไข บอกว่าเป็นหน้าที่ของหมู่บ้านดูแลกันเอง

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามความต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า ในความตั้งใจจะเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.6 ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า ตั้งใจจะเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ในขณะที่ร้อยละ 1.4 ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร