ตามที่ปรากฏข่าวผ่านสื่อมวลชน กรณีที่บริษัทเครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีหนังสือแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทเกี่ยวกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ต่อกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 นั้น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย คปภ.ได้ออกหนังสือชี้แจงว่า ตามมาตรา 57 พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 กำหนดให้กรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยใดประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจ ให้ยื่นคำขออนุญาตคณะกรรมการ คปภ.ก่อน เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย
โดยคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ให้บริษัทต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จก่อนที่คณะกรรมการจะอนุญาตให้เลิกกิจการ อย่างน้อยดังต่อไปนี้
- วิธีจัดการหรือการโอนภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีผลผูกพันอยู่
- วิธีการบอกกล่าวให้ผู้เอาประกันภัยได้ทราบ และใช้สิทธิตามกฎหมาย
- การโอนหรือการขอรับเงินสำรองที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียน
- การจัดการทรัพย์สินและหนี้สิน
- ระยะเวลาของการดำเนินการตาม
ในกรณีที่คณะกรรมการอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และบริษัทประสงค์จะเลิกบริษัท การเลิกบริษัทให้มีผลนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและให้มีการชำระบัญชี
แม้ว่า บริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ต่อคณะกรรมการ คปภ. แล้ว แต่คณะกรรมการ คปภ. ยังไม่ได้อนุญาต ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณารายละเอียดต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายก่อนเสนอต่อคณะกรรมการ คปภ. พิจารณาต่อไป
สำหรับกองทุนประกันวินาศภัยได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพเท่านั้น ตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดภารกิจของกองทุนฯ ให้ครอบคลุมถึงกรณีบริษัทประกันภัยขอเลิกประกอบธุรกิจเอง
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก โดยยืนยันว่าตอนนี้ อาคเนย์ประกันภัย ยังไม่สามารถปิดหรือหยุดประกอบกิจการได้จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้เลิกกิจการจากคณะกรรมการ คปภ. โดยสำนักงาน คปภ. ได้ตั้งทีมงานประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สายกำกับธุรกิจและการลงทุน สายตรวจสอบ สายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย สายกฎหมายและคดี และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว