พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กอายุตั้งแต่ 5-11 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมสำรวจข้อมูลเด็ก ซึ่งการตัดสินใจให้เด็กเข้ารับวัคซีนจะเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครอง ส่วนรูปแบบการให้วัคซีน กำหนดให้โรงเรียนเป็นจุดฉีดหลัก ร่วมกับจุดฉีดที่โรงพยาบาล และต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้เห็นชอบก่อนให้เด็กเข้ารับวัคซีน โดยตามแผนการฉีดของกระทรวงสาธารณสุข จะเริ่มดำเนินการกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้
สำหรับผลการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มอายุ 12-17 ปี ของกรุงเทพมหานคร จากจำนวนเป้าหมาย 499,800 คน ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 427,696 คน คิดเป็นร้อยละ 85.57 และเข็มที่ 2 จำนวน 387,391 คน คิดเป็นร้อยละ 77.51 นอกจากนี้ ยังเตรียมแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับนักเรียนอายุ 12 ปี ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร กลุ่มเป้าหมายจำนวน 16,391 คน เป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่อายุครบเกณฑ์ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 25-26 มกราคม 2565 โดยมีจุดฉีดวัคซีนทั้งหมด 18 จุดฉีด และให้บริการฉีด 9 จุดต่อวัน แบ่งเป็นวันที่ 25 มกราคม 2565 จาก 22 เขต จำนวน 8,604 คน และวันที่ 26 มกราคม 2565 จาก 28 เขต จำนวน 7,787 คน
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้เร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขยายจุดให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชนเพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากโรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 11 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งแล้ว กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับสถานพยาบาลของภาครัฐ สถานพยาบาลเอกชน และหน่วยงานต่างๆ ในการขยายจุดให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนครอบคลุมพื้นที่ และสะดวกต่อการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนมากที่สุด ปัจจุบันมีมากกว่า 100 แห่งทั่วพื้นที่ 50 เขต ซึ่งประชาชนสามารถลงทะเบียนขอรับวัคซีนได้ทั้งเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้น ได้ทางแอปพลิเคชัน QueQ โดยการให้บริการวัคซีนนั้น จะเป็นไปตามสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
สำหรับผลการดำเนินโครงการฉีดวัคซีนให้ผู้ป่วยติดเตียงถึงบ้าน ข้อมูลระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม 2564 – 16 มกราคม 2565 มีผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 10,471 ราย เข้าเกณฑ์ฉีด 5,916 ราย คิดเป็นร้อยละ 56.50 และดำเนินการฉีดวัคซีนแล้ว 5,256 ราย คิดเป็นร้อยละ 88.84 ในส่วนของการให้บริการฉีดวัคซีนของหน่วยบริการเคลื่อนที่ (BMV) ระหว่างวันที่ 7 กันยายน 2564 – 14 มกราคม 2565 ดำเนินการฉีดวัคซีน 40,790 เข็ม
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครเตรียมวางแผนดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือเข็มที่ 3 ให้กับผู้ป่วยติดเตียงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เพราะการรับวัคซีนแม้จะไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่ช่วยลดความรุนแรงของโรคและการป่วยหนักได้
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มคนที่ต้องใกล้ชิดกับกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ด้วยการปฏิบัติตามมาตรการ UP-DMHTA และควรตระหนักในเรื่องการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลา