วันที่ 5 ธันวาคม 2564 เวลา 16.35 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ออกจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เขตดุสิต เพื่อทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีคณะกรรมการโครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติ ฯ และประชาชน เฝ้า ฯ รับเสด็จ
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบประทับพระราชอาสน์ ทรงศีล (สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ถวายศีล)
จากนั้น เสด็จไปยังมณฑลพิธีวางศิลาฤกษ์ เสด็จ ฯ ไปยังโต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนทอง เทียนเงิน และธูป ที่โต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย แล้วทรงจุดธูปหางปักที่เครื่องสังเวย ทรงตั้งพระราชสัตยาธิษฐานถวายเครื่องราชสักการะ ทรงโปรยข้าวตอก ดอกไม้ ที่โต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย ทรงคม ทรงพระดำเนินไปยังแท่นวางศิลาฤกษ์ ฯ พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอุทยานเฉลิมพระเกียรติ ฯ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแผ่นอิฐทอง นาก เงิน และแผ่นศิลาฤกษ์ แล้วทรงวางแผ่นอิฐทอง นาก เงินและแผ่นศิลาฤกษ์ ลงในหลุมศิลาฤกษ์
พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 มีสัดส่วนสูง 5.19 เมตร มีขนาดเป็นสามเท่าของพระองค์จริง ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ มีความสูง 18.7 เมตร จากระดับถนนครีอยุธยา ตั้งอยู่ในลานรูปไข่ มีพื้นที่2,173 ตารางเมตร บนเนินสูง 7 เมตร โอบล้อมด้วยสวนป่าผสมผสาน โดยแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 ตั้งอยู่บนผังแปดเหลี่ยม ตามคติพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ต่อมา เสด็จเข้าพลับพลาพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก (พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก) เสด็จ ฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการทรงลาพระสงฆ์
เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปทอดพระเนตรจัดแสดงผังแม่บทโครงการ แนวคิดหลักการออกแบบโครงการ การจัดเส้นทางการสัญจรในโครงการ และทัศนียภาพในโครงกานิทรรศการอุทยานเฉลิมพระเกียรติ ฯ แล้วเสด็จ ฯ ไปยังบริเวณที่ทรงปลูกต้นไม้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปลูกต้นรวงผึ้งเป็นปฐมฤกษ์
(จำนวน 1 ต้น) อันมีถิ่นกำเนิดที่ประเทศไทย (พบมากทางภาคเหนือ) ฤดูการออกดอกเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เป็นไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 8 เมตร ใบรูปมนรีหรือขอบขนานปลายแหลมขอบใบเรียบ ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบสีเหลืองสด ขนาด 1.3–1.5 เซนติเมตร ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ผลกลมเป็นแบบแห้งไม่แตก ขนาด 0.5–1 เซนติเมตร ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับให้กลิ่นหอม
สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงปลูกต้นคำมอกหลวง (จำนวน 1 ต้น) เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ มีความสูง 7-15 เมตร เรือนยอดกลม โปร่ง หรือแผ่กว้าง มีดอกขนาดใหญ่สีขาวนวล แล้วเปลี่ยนเป็นดอก สีเหลืองทอง ปลายแยกเป็น 5 กลีบ มีกลิ่นหอม เส้นผ่าศูนย์กลาง ของดอก 5.5-7 เซนติเมตร ปลูกเป็นไม้ประดับใหก้ลิ่นหอม ใช้เมล็ดต้มเคี่ยวกับน้ำผสมเป็นยาสระผมฆ่าเหา
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดีกรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงปลูกต้นโมกหลวง (จำนวน 1 ต้น) โมกหลวงเป็นไม้ยืนต้น สูง 5-10 เมตร ทุกส่วนของต้นมีน้ำยาง สีขาว ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ รูปรีหรือขอบขนาน ปลูกเป็นไม้ประดับใหก้ลิ่นหอม เนื้อไม้สีขาว ใช้ทำของใช้ได้ เปลือกต้นมีรสขมฝาด มีสารแอลคาลอยด์ที่สำคัญ คือ คอเนสซีน (conessine) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย แก้ท้องร่วง
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงปลูกต้นรัตนพฤกษ์ (คูนสายรุ้ง) (จำนวน 1ต้น) เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงได้ถึง 10 เมตร ใบประกอบมี 8-10 คู่ ผลัดใบช่วงสั้น ๆ ในหน้าแล้ง และออกดอกทั้งต้นพร้อมผลิใบอ่อน ดอกออกเป็นช่อใหญ่ตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อเป็นพวงห้อยลง ดอกขนาด 3.5 -4.5 เซนติเมตร ฝักคล้ายฝักคูน ปลูกเป็นไม้ประดับ ให้กลิ่นหอม
เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ปลูกต้นสุพรรณิการ์ (จำนวน 1 ต้น) เป็นต้นไม้ผลัดใบสูง 7-15 เมตร กิ่งก้านคดงอ ใบรูปหัวใจแผ่น ใบแยกเป็น 5 แฉก ขอบใบเป็นคลื่น ดอกเป็นช่อออกกระจาย ที่ปลายกิ่งบานทีละดอก ดอกเหลืองมีกลิ่น กลีบบาง เกสรสีเหลือง รังไข่มีขน ผลกลมเมื่อแก่แตก 3-5 พู ภายในมีเมล็ดรูปไตสีน้ำตาล หุ้มด้วยปุยขาวคล้ายปุยฝ้าย ใบอ่อน นำมาต้มเอาน้ำสระผมและโรคบิด ดอกแห้งและใบแห้งใช้เป็นยาบ้ารุงกำลัง
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ไปยังรถยนต์พระที่นั่งประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินออกจากอุทยานเฉลิมพระเกียรติ ฯ ไปยัง พระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
สำหรับอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกิดขึ้นจากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้แนวพระราชดำริของทั้งสองพระองค์ ผ่านองค์ความรู้ เรื่อง "ป่าและน้ำ" ซึ่งเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบสวน และเป็นสถานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้พระราชทานไว้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของมนุษย์กับธรรมชาติ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เป็นสถานที่ศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป
อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ฯ สร้างบนพื้นที่อดีต "สนามม้านางเลิ้ง" เป็นที่ดินในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานให้เป็นสวนสาธารณะเพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชน ครอบคลุมพื้นที่ 279 ไร่ โดยเริ่มพัฒนาแบบตั้งแต่พุทธศักราช 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในพุทธศักราช 2567
อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ฯ แห่งนี้ เป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นหัวใจและศูนย์กลางของอุทยานเฉลิมพระเกียรติ ฯ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีแนวคิดการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อาทิ สระน้ำรูปเลข ๙ และสวนป่าธรรมชาติ ที่สอดรับกับแนวคิดเรื่องป่าและน้ำ สะพานหมายเลข ๙ เป็นเส้นทางเดินภายในนำสู่พระบรมราชานุสาวรีย์ ฯ สะพานหยดน้ำพระทัย น้ำพระราชหฤทัยดั่งสายน้ำที่หล่อเลี้ยงคนไทยมาตลอด 70 ปี สะพานไม้เจาะบากง จำลองสะพานไม้จากบ้านเจาะบากง อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานเมื่อพุทธศักราช 2524 และแก้มลิง พื้นที่รองรับน้ำในยามที่เกิดวิกฤตอุทกภัย บริเวณของอุทยานเฉลิมพระเกียรติ ฯ ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ กว่า 4,500 ต้น จัดวางคล้ายคลึงป่าธรรมชาติ ปลูกไม้ที่มีความหมายและมีประโยชน์ อาทิ การปลูกพืชกรองฝุ่น การปลูกไม้โตเร็ว เพื่อสร้างร่มเงา ต้นไม้ประจำจังหวัด ไม้หายาก และพืชบำบัดน้ำ สร้างระบบนิเวศ ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน นอกจากจะให้ความรู้หลากมิติที่เข้าถึงได้ง่าย ผู้คนยังได้รับความสุขจากธรรมชาติ ภายในสวนยังมีเส้นทางเดินและวิ่ง ทางปั่นจักรยาน มีสนามออกกำลังกายกลางแจ้ง ลานกิจกรรมและนันทนาการ ลานริมน้ำ ร้านค้าจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ลานจอดรถ และส่วนอำนวยความสะดวก มีการใช้พลังงานทดแทน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาบริหารจัดการเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน