นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 26–28 ตุลาคม 2564 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ถือเป็นบทสรุปของการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของบรูไนดารุสซาลาม ภายใต้แนวคิดหลัก "เราห่วงใย เราเตรียมพร้อม เรารุ่งเรือง" ซึ่งถือว่าเป็นปีที่มีความท้าทายในทุกมิติ ทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ และสถานการณ์ในภูมิภาค โดยเฉพาะสถานการณ์ในเมียนมา
สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ จะทรงเป็นองค์ประธานการประชุมสุดยอดทั้งหมด โดยมีผู้นำหรือผู้แทนของประเทศสมาชิกอาเซียน เลขาธิการอาเซียน ตลอดจนผู้นำของคู่เจรจา เข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย รัสเซีย และนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก และองค์การการค้าโลก ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 16 ในช่วงเริ่มต้นการประชุมด้วย เพื่อบรรยายสรุปเกี่ยวกับการบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 และการสร้างเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤตในอนาคต
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมการประชุมในกรอบอาเซียนทั้งหมดจำนวน 12 การประชุม ได้แก่ การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 39 การประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 22 การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 24 การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 9 การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 24 การประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ครั้งที่ 1 การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 24 การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 16 การประชุมระดับผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ สามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ครั้งที่ 13 การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 18 การประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 4 และพิธีปิดและส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียน
สำหรับประเด็นสำคัญที่นายกรัฐมนตรีจะจะผลักดัน อาทิ การรับมือกับการแพร่ระบาดและผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นประเด็นหลักในการหารือของทุกกรอบการประชุม โดยไทยสนับสนุนความร่วมมือในกรอบอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา เพื่อรับมือการแพร่ระบาดและผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของโควิด-19 อย่างรอบด้าน การฟื้นฟูและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับการใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อสร้างความสมดุลของสรรพสิ่งในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุค Next Normal และการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค เพื่อรับมือกับสภาพภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2565 กัมพูชาจะรับไม้ต่อในการเป็นประธานอาเซียน และในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และครั้งที่ 39 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 25 ฉบับ